×

บางสิ่งเลือนหาย และต้องทิ้งไป ‘Something Missing’ การแสดงโดยกลุ่มละครเกาหลีใต้และไทย

13.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. read
  • Something Missing คือผลงานจากการแลกเปลี่ยนและร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงร่วมสมัยระหว่างสองกลุ่มละคร Physical Theatre ได้แก่ กลุ่ม B-Floor จากประเทศไทย และ Momggol จากประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้แนวความคิดของประสบการณ์ชีวิตที่มีบางสิ่งหายไป
  • การแสดงนี้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 เคยจัดแสดงในเทศกาล Low Fat Art Fest ณ ทองหล่อ อาร์ต สเปซ ได้รับรางวัลการแสดงที่ใช้ร่างกายยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลละครกรุงเทพ 2015 ต่อมาได้รับการพัฒนาและจัดแสดงที่ประเทศเกาหลีใต้ และกำลังจะจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

การแสดงร่วมสมัยอันน่าสนใจชุดหนึ่งกำลังจะจัดแสดงขึ้นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 12- 17 ธันวาคม 2560 นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่กล่าวว่าน่าสนใจเพราะสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลงานความร่วมมือกันระหว่างสองกลุ่มละครแนว Physical Theatre ซึ่งเน้นวิธีการสื่อสารโดยใช้ร่างกายเป็นหลัก โดยกลุ่มหนึ่งนั้นเป็นกลุ่มละครร่วมสมัยของไทยที่มีผลงานมากว่าทศวรรษ อย่างบีฟลอร์ (B-Floor)  จากประเทศไทย และอีกกลุ่มคือ กลุ่มละครมัมโกล (Momggol) ซึ่งทั้งสองกลุ่มใช้เวลาทำงานร่วมกันถึง 3 ปีในการสร้างสรรค์การแสดงชุด ‘Something Missing’ ขึ้นในหลายวาระ

 

การแสดงชุดนี้เคยจัดแสดงขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลีมาแล้ว ในแต่ละครั้งที่จัดแสดงในแต่ละเวอร์ชันก็จะมีความแตกต่างกัน เพราะผู้กำกับของฝั่งไทย และเกาหลีก็จะสลับหน้าที่กันเป็นผู้นำในการกำกับทิศทางของชิ้นงาน ล่าสุด Something Missing ได้ฤกษ์จัดแสดงขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้มีผู้กำกับการแสดงฝั่งไทยรับหน้าที่เป็นผู้นำ

 

THE STANDARD ยิง 6 คำถามเกี่ยวกับการแสดงชุดนี้ ให้ผู้กำกับ ธีระวัฒน์ มุลวิไล แห่งกลุ่มละครบีฟลอร์เป็นผู้ตอบ ซึ่งเราเชื่อแน่ว่าเมื่อหลายคนได้อ่านถึงแนวคิด รวมถึงกระบวนการอันน่าสนใจในการสร้างสรรค์ น่าจะอยากตีตั๋วไปชมการแสดงชุดนี้กันขึ้นมาบ้าง

 

 

Q: แรงบันดาลใจของการแสดงเรื่อง Something Missing

ก็มาจากการที่ทั้งผู้กำกับและนักแสดงของทั้งฝั่งไทยและเกาหลีใต้ ได้มาพูดคุยกันแชร์ประสบการณ์เรื่องประเทศตัวเอง ว่าเรามีเหตุการณ์อะไรคล้ายคลึงกัน หรือมีอะไรที่แตกต่างกัน แล้วมาลงตัวที่ประเด็นนี้ นั่นคือประสบการณ์ชีวิตที่มี ‘บางสิ่ง’ หายไป

 

Q: ‘บางสิ่งที่หายไป ถูกทำให้ลืม และต้องทิ้งไป’ ที่อยู่ในคำโปรยของการแสดงเรื่องนี้ได้แก่อะไรบ้าง

จริงๆ มันมีหลายอย่างด้วยกันนะ ทั้ง ‘เรื่องเล่า’ ที่เราหลงลืมไปแล้ว ความเชื่อ คุณค่าบางอย่าง ประวัติศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่างเกาหลีใต้และไทยคือ ‘การชำระและบันทึกประวัติศาสตร์’

 

Q: การที่กลุ่มละคร B-Floor ซึ่งเป็น Physical Theatre จากประเทศไทย ทำงานร่วมกับ Theatre Momggol จากประเทศเกาหลีใต้ เป็นอย่างไรบ้าง พวกคุณค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้าง

อย่างแรกเลยคิดว่าการทำงานครั้งนี้เป็นงาน collaboration ที่นานและต่อเนื่องที่สุดที่เคยทำมา เพราะเราใช้เวลาในการพัฒนาและจัดแสดงในหลายวาระอย่างต่อเนื่องมาถึง 3 ปี ซึ่งก็ทำงานกับกลุ่มละครที่สื่อสารโดยใช้ร่างกายเป็นหลักเช่นเดียวกัน และเป็นกลุ่มละครจากต่างแดนด้วย แต่จริงๆ แล้วเราก็เคยทำงานร่วมกับกลุ่มละครอื่นๆ มาก็เยอะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแบบครั้งเดียวจบ มีประสบการณ์ที่ดีบ้างแย่บ้าง แต่ครั้งนี้นั้นต่างออกไป คือมันเหมือนกับการที่เราได้เจอเพื่อนที่รู้ใจ เราพบว่ากลุ่มละครทั้งสองสนใจในประเด็นที่คล้ายๆ กัน การทำงานก็เลยไปด้วยกันได้เร็ว ไม่เฉพาะแต่ผู้กำกับเท่านั้น แต่นักแสดงทุกคนก็เหมือนเป็นทีมเดียวกัน เราแชร์กันได้ทุกเรื่อง

 

ในสองปีก่อนเราโฟกัสที่การสร้างชิ้นงาน และวิธีการทำงานของสองผู้กำกับ ซึ่งจริงๆ มันก็ได้เห็นมุมมองหรือวิธีคิดผ่านการทำงานที่แตกต่าง เรายังได้แชร์เทคนิคการแสดงโดยใช้ร่างกาย จนในช่วงปีที่สามก็ร่วมกันสร้างงานที่คำนึงถึงวิชวลเพิ่มมากขึ้น

 

สิ่งที่เรานำเสนอไม่ไช่ประเด็นไหม่ แต่ก็น่าสนใจว่า ทำไมสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่องคงยังอยู่ ทำไมเราจึงยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้มาเนิ่นนาน อันนี้น่าตั้งคำถาม และถ้าผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสัยและมีคำถามร่วมไปกับเราด้วย แค่นั้นการแสดงก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว

 

 

Q: การแสดงชุดนี้แสดงขึ้นในหลายโอกาส ในแต่ละครั้งที่จัดแสดงมีการพัฒนาไปอย่างไร

ในเวอร์ชันฉบับที่จัดแสดงในปี 2015 ประเด็นที่เราสนใจกันคือเรื่อง Censorship ที่มีอยู่ในทั้งสองประเทศ นั่นคือของทั้งประเทศไทยและประเทศเกาหลี ซึ่งอาจจะต่างกันในเนื้อหา แต่วิธีการของการใช้อำนาจรัฐ รวมถึง self censorship ก็มีความคล้ายคลึงกัน เพราะที่เกาหลีช่วงรัฐบาลก่อนหน้านั้นก็มีศิลปินที่ทำงานในประเด็นต้องห้าม ได้ถูกแบล็กลิสต์ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุน จนกระทั้งปีนี้ เมื่อเปลี่ยนประธานาธิบดี จึงได้รับการปลดล็อก การแสดงชุด Something Missing ในครั้งแรกมีผู้กำกับคือ จองยอน (Jongyeon Yoon ผู้กำกับการแสดงฝั่งเกาหลีใต้) แล้วผมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับฯ เขาสนใจนิทานพื้นบ้านเกาหลีเรื่องพระราชามีหูเป็นลา และกรณีเรือเซวอนที่จมลงทำให้นักเรียนเสียชีวิตไปสี่ร้อยกว่าคน ซึ่งเป็นความตายที่หลายฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องไม่สามารถให้คำอธิบายได้ และเป็นข้อแคลงใจนานนับปี

 

เมื่อถึงปี 2016 เราสลับบทบาทกัน คราวนี้ผมทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ Something Missing ในชื่อตอนที่ว่า ‘Rite of passage’ ซึ่งเกี่ยวโยงกับพิธีกรรม ความตาย และลัทธิศาสนาเถื่อน ที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่ ของลัทธิ People Temple ในปี 1978 ซึ่งนำโดยบาทหลวงจิม โจนส์ ผมได้จำลองสถานการณ์ของการสร้างศาสนาและความเชื่อของกลุ่มคนที่นำไปสู่ความรุนแรงและความตาย จริงๆ มันก็เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในบ้านเราในขณะนั้น ซึ่งผมคิดว่าเราได้เห็นการล่าแม่มด การทำร้ายคนที่คิดต่างไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

 

 

Q: และสำหรับเวอร์ชันล่าสุดนี้มีอะไรที่แตกต่างไปจากเวอร์ชันก่อนๆ บ้าง

เราได้คุยกันและได้ข้อสรุปว่าจะเอาทั้งสองภาคมารวมกัน แสดงในพื้นที่โรงละคร แทนที่จะเป็นงานแบบ ‘Site Specific’ เหมือนที่เคยทำกันมา เวอร์ชันก่อนการแสดงครั้งนี้ได้เกิดขึ้นในเกาหลีเมื่อเดือนที่แล้ว จองยอนได้กำกับงานชิ้นนั้น เขาได้นำเอาบทละครร่วมสมัยที่คนพอจะรู้จักมา parody ทำให้เป็น chapter และมีการใช้จักรยานเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราว มีการทำฉากใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และเขาได้ลงแบบฝึกหัดการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งนำมาเป็นฐานในการออกแบบการเคลื่อนไหว (choreography) และผมก็นำมาพัฒนาเพิ่มเติมในเวอร์ชันล่าสุดที่กำลังเล่นในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างจากเวอร์ชันที่เกาหลีคือผมเล่น parody ล้อไปกับเวอร์ชันที่เขาทำอีกที ซึ่งก็จะทำให้มีบรรยากาศที่ต่างกันไป ของเขาจะมีความเข้มข้น ลึก และค่อนข้างมีตรรกะที่มาที่ไป แต่ขณะที่เวอร์ชันนี้จะเพี้ยนและมีความฮาเป็นที่ตั้ง

 

Q: ความมุ่งหวังของการสร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ มุ่งหวังให้ผู้ชมดูแล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร

สิ่งที่เรานำเสนอไม่ไช่ประเด็นไหม่ แต่ก็น่าสนใจว่า ทำไมสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่องคงยังอยู่ ทำไมเราจึงยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้มาเนิ่นนาน อันนี้น่าตั้งคำถาม และถ้าผู้ชมเกิดความรู้สึกสงสัยและมีคำถามร่วมไปกับเราด้วย แค่นั้นการแสดงก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว

 

 

Photo:  Courtesy of B-Floor Theatre

FYI
  • Something Missing กลับมาจัดแสดงในกรุงเทพฯ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2560 นี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Performative Art Festival #6  
  • บัตรราคา จ่ายหน้างาน 600 บาท, โอนล่วงหน้าก่อนวันแสดง 470 บาท นักเรียนนักศึกษา และกลุ่ม 5 คนขึ้นไป คนละ 370 บาท จองบัตรได้ที่ 09 4494 5104 หรือ [email protected]
  • กลุ่มละครมัมโกล (Momggol) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อนำเสนอประสบการณ์และความทรงจำของชีวิตโดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร กลุ่มละครมัมโกลใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเผยแผ่เรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและถูกหลงลืมไป นอกจากนี้ยังทำโครงการพัฒนาการศึกษาด้านศิลปะและละครกับชุมชน
  • กลุ่มละครบีฟลอร์ (B-Floor) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยเน้นการสร้างสรรค์งานศิลปะการแสดงร่วมสมัยที่ใช้องค์ประกอบทางศิลปะอื่นๆ ร่วมไปกับการใช้ร่างกายในการเล่าเรื่อง งานของบีฟลอร์มักวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปในสังคม
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X