จากวันแรกที่กระเป๋าผ้าใบรถบรรทุกบินตรงมาจากซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เดินทางมาถึงประเทศไทยครั้งแรกให้ลูกค้าได้เลือกซื้อกันผ่านหน้าร้านมัลติแบรนด์คุณภาพดีของผู้ชายอย่าง Pronto จนถึงวันนี้ที่ Freitag เปิดร้าน F-Stores by Pronto ในกรุงเทพฯ ที่กลายเป็นร้าน F-Store สาขาใหญ่ที่สุด และมีสินค้าครบที่สุดในทวีปเอเชีย และอีกหนึ่งสาขาในประเทศไทย ที่ศูนย์การค้า One Nimman จังหวัดเชียงใหม่ สาวก Freitag คงดีใจสุดขีดที่มีโอกาสได้เลือกซื้อรุ่น และลายที่หลากหลายครบถ้วนจนเต็มร้านทั้ง 2 สาขาในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ลูกค้าชาวไทยเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์ Freitag รองจากสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิดของแบรนด์นี้เอง
Freitag in Thailand
ในงานวันเปิดตัวร้านใหม่ F-Stores by Pronto สาขากรุงเทพฯ เราได้พบกับตัวแทนจาก Pronto ผู้นำเข้าแบรนด์ Freitag เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ด้วยความเชื่อที่ว่ากระเป๋าผ้าใบรถบรรทุกแบรนด์นี้จะต้องเป็นที่ถูกใจกลุ่มลูกค้าชาวไทย จนทำให้ทีม Freitag ฝั่งเอเชีย ที่เคยวางแผนจะตีตลาดแค่ยุโรป และฝั่งเอเชียคือประเทศญี่ปุ่น ต้องหันมาให้ความสนใจประเทศไทย และลองร่วมมือกับ Pronto เพื่อจำหน่ายกระเป๋าจากแบรนด์ Freitag ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และด้วยกระแสตอบรับที่ดีวันดีคืน เดินไปไหนก็ต้องเห็นคนหิ้วกระเป๋า Freitag อยู่ทุกที่ ทำให้ Freitag นำทีมโดย มาร์คัส ฟรายถาก (Markus Freitag) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ และ เจนนีน (Jeannine) ที่ดูแล Freitag ฝั่งเอเชีย มาเปิด Freitag Pop Up Store แห่งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2016 และก็ยิ่งปลุกกระแสให้แบรนด์ Freitag เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
For what reason?
นอกจากเหตุผลที่ทีม Freitag จะเห็นถึงความล้ำหน้าด้านแฟชั่น และมุมมองเรื่อง Upcycle ที่น่าสนใจของบ้านเรา คือยอดขายที่สูงลิ่วจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยนี่แหละ ยิ่งล่าสุดกับโปรเจกต์กระเป๋าเดินทางรุ่นแรกของ Freitag รุ่น ZIPPELIN ใน Kickstarter ยอดการร่วมลงขันจากประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับสองของโลก Freitag จึงต้องบินตรงมาเอาใจลูกค้าในประเทศไทยอีกครั้งด้วยการเปิดหน้าร้านดีไซน์ใหม่ให้เป็นร้าน F-Store อย่างเป็นทางการ และเพิ่มผู้จัดการฝั่งเอเชียอีกคนมาดูแลสาขาบ้านเรา คือคุณดักลาส (Douglas) จากสิงคโปร์
กระเป๋าเดินทางรุ่น ZIPPELIN (www.kickstarter.com)
About the F-Store.
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เราได้พบกับคุณคอร์ซิน โฮลิสติก (Corsin Holistic) ดีไซเนอร์และสถาปนิกผู้ออกแบบร้าน F-Store ที่เล่าถึงที่มาของการสร้างร้าน F-Store ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แม้ก่อนหน้านี้จะมีการประชุมหาทำเลที่ตั้งอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ และใกล้เคียงสไตล์ Freitag ที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเลือกตึกสองชั้น หน้าต่างกลม บริเวณสยามแสควร์ซอย 7 ที่เดียวกับทำเล Pop Up Store ด้วยโครงสร้างตึกที่คอร์ซินออกปากบอกว่าสวย และการเดินทางที่สะดวก ใจกลางแหล่งช้อปปิ้งในกรุงเทพฯ คอร์ซินตื่นเต้นกับโปรเจกต์แรกที่จะได้ออกแบบ F-Store ร้านแรกนอกเหนือจากสาขาในยุโรป และการร่วมมือกับทีม Pronto ของประเทศไทย ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ออกแบบร้านได้ตามความต้องการอย่างเต็มที่ ทั้งการเพิ่มพื้นที่จาก Pop Up Store ที่เคยมีชั้นเดียว ให้เป็นสองชั้น ตามที่คอร์ซินถือหลักในการทำงานว่าถ้าจะทำอะไรก็ใส่ให้เต็มที่ที่สุด แล้วแถมความพิเศษ ความน่าสนใจลงไปในงานออกแบบด้วย ทำให้เราเห็นลูกเล่นน่ารักๆ ในร้าน F-Store ทั้งสาขาเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
This is F-Awesome
ภาพรวมการออกแบบร้าน F-Store คือการปรับใช้สไตล์ที่มาจากเฮดควอเตอร์หลักที่ซูริก และมีกลิ่นอายของการออกแบบยุค Post-Industrialism เข้าไป ความท้าทายของการออกแบบร้าน F-Store คือพื้นที่จัดแสดงสินค้าที่ต้องเห็นรูปแบบ และลายของสินค้าทุกชิ้นอย่างที่ร้านมีอย่างชัดเจน ซึ่งต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก คอร์ซินจึงลดรายละเอียด ตกแต่งร้านด้วยความเรียบง่าย เพื่อจัดแสดงสินค้าให้ได้มากที่สุด ทำให้สาขาเชียงใหม่มีการติดตั้งกำแพงโชว์กระเป๋า Freitag ที่สูงที่สุดเท่าที่ Freitag เคยทำมา ส่วนในสาขากรุงเทพฯ ก็มีลูกเล่น ที่แฝงความเป็นไทยลงไป นั่นคือกำแพงบริเวณทางเข้าร้านที่เรียงรายไปด้วยกระเป๋า Freitag รุ่น Miami Vice หลากสีหลากลาย ให้ลูกค้าเลือก ‘สอย’ ได้ตามใจ (หรือจะให้พนักงานสอยให้ก็ได้นะ) ซึ่งคอร์ซินบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากคัลเจอร์แบบไทยๆ อย่างการ ‘สอยมะม่วง’ พร้อมมีพื้นที่ไว้จัดนิทรรศการ F-exhibition ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาประวัติความเป็นมาตั้งแต่กระเป๋ารุ่นแรกๆ ของ Freitag และได้เห็นกระเป๋ารุ่นแปลกๆ จากสวิตเซอร์แลนด์ โดยลูกค้าชาวไทยที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการแล้วเกิดชอบรุ่นไหนเป็นพิเศษ ทาง Freitag ก็จะมีใบให้เลือกโหวตรุ่นนั้นๆ ให้กลับมาผลิตเพื่อจำหน่ายอีกครั้งได้ ส่วนบริเวณนอกร้านจะมี Projection Mapping ที่ฉายวิธีการสร้างสรรค์กระเป๋า Freitag ลงบนตึกให้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่กลางสยามสแควร์
Freitag F-irm
อีกเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจอีกอย่างเบื้องหลังแบรนด์ Freitag คือการที่ Freitag ปรับใช้โมเดลธุรกิจแบบที่เรียกว่า Holacracy ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2016 ตามการชักชวนของแดเนียล ฟรายถาก (Daniel Freitag) ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่พยายามเลิกล้มระบบลำดับชั้น ระบบคนตำแหน่งใหญ่มีอำนาจมากกว่าในบริษัท เราอาจจะคุ้นชินกับโมเดลธุรกิจการปกครองในบริษัทแบบพีระมิด ที่มีเจ้านาย มีซูเปอร์ไวเซอร์แต่ละตำแหน่ง แต่ที่ Freitag ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันและมีหน้าที่ของตัวเองชัดเจนที่ต้องรับผิดชอบ ต่างคนต่างมีบทบาทที่จำเป็นต่อองค์กรเท่ากันหมด และต้องสามารถหมุนเวียนหน้าที่ไปรับผิดชอบหน้าที่อื่นๆ ได้ ยกตัวอย่างตำแหน่งหน้าที่ใน Freitag ที่มีการตั้งชื่อน่ารักๆ อย่าง ‘People Scout’ ที่ดูแลการหาพนักงานใหม่ ‘Onboarding Compass’ ผู้ดูแลพนักงานใหม่เมื่อเข้าทำงาน และ ‘Moneypenny’ คนดูแลเรื่องเงินเดือนพนักงาน ข้อดีของการแบ่งหน้าที่ดังกล่าวทำให้ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเองอย่างชัดเจน และโปร่งใส Freitag ยังใช้ซอฟต์แวร์ที่ใช้ชื่อว่า Glassfrog ที่สนับสนุนระบบการทำงานแบบ Holacracy ในองค์กรต่างๆ ด้วย
- กระเป๋า Freitag ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลต่างๆ อย่างเช่น ตัวกระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก (ที่ผ่านอายุการใช้งานมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี) สายสะพายจากเข็มขัดนิรภัย ขอบกระเป๋าจากไส้ในล้อจักรยาน
- ร้าน F-Store ในประเทศไทยทั้งสาขาเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ถือเป็นร้าน F-Store ที่สร้างเสร็จเร็วที่สุดในโลก