×

ทำความเข้าใจสิ่งที่เหลืออยู่ของความขัดแย้ง จากหญิงสาวผู้ไปเรียน Heritage Management ที่เนเธอร์แลนด์

08.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time  index

02.28 ตัดสินใจไปเรียนโบราณคดีที่เนเธอร์แลนด์

05.50 ตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไลเดน

10.38 บรรยากาศในมหาวิทยาลัยและเมืองไลเดน

17.15 การเรียนแบบดัตช์

22.30 โบราณสถานแบบ Conflicted Heritage

31.12 Heritage ต่างชาติ vs Heritage ไทย

34.36 แนะนำคนที่อยากไปเรียนต่อโบราณคดีที่เนเธอร์แลนด์

มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ สนใจในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก หลังจบปริญญาตรีด้านโบราณคดีที่ประเทศไทย เธอก็ตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Heritage Management ที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ตอกย้ำว่าเธอสนใจศาสตร์แห่งการจัดการความทรงจำเหล่านี้ โดยเฉพาะความทรงจำจากความขัดแย้ง หรือ conflict heritage ที่เธอสนใจเป็นพิเศษ จนจับทางรถไฟสายมรณะ conflict heritage ชื่อดังของไทยมาทำธีสิสจบที่นั่น

 

ไปฟังว่าสำหรับคนเรียนโบราณคดีเฮอริเทจคืออะไร ควรบริหารจัดการอย่างไร และมันให้อะไรกับคนเสพและบริหารความทรงจำเช่นเธอ

 


 

ไปเรียนโบราณคดีที่เนเธอร์แลนด์

หลังจากเตย-มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ จบจากโบราณคดีที่ ม.ศิลปากร ตอนที่เรียนอยู่ก็พบว่าอาจารย์ที่เรียนด้วยมักจะจบจากมหาวิทยาลัยในอเมริกาหรืออังกฤษซะเยอะ การเรียนโบราณคดีทางฝั่งยุโรปเมนแลนด์ไม่ค่อยโด่งดังในไทยเท่าไร รวมกับที่เคยไปอ่านรีเสิร์ชของไลเดนก็ดูน่าสนใจ เลยว่าจะไป

 

ไลเดนเป็นชื่อเมืองและเป็นชื่อมหาวิทยาลัยประจำเมือง มีอายุยาวนานเป็นร้อยปี สมาชิกราชวงศ์ออเรนจ์ของดัตช์ก็มักจะจบจากที่นี่กันทั้งนั้น เด่นเรื่องวิทยาศาสตร์ สายสังคมเหมือนกัน

 

เคยชอบประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็คิดว่าประวัติศาสตร์มันตัน มันมีแค่เท่าที่เราอ่าน แต่โบราณคดีมันมีเพิ่มมาเรื่อยๆ ตามที่เราขุดค้น เหมือนถ้าเป็นตำรวจ เรียนประวัติศาสตร์ก็เหมือนอ่านรีพอร์ต ก็รู้เท่านั้น แต่โบราณคดีเหมือนเราได้ลงไซต์ ได้สืบสวน สืบค้น ก็เลยอยากเรียนโบราณคดี ซึ่งพอได้เรียนก็แฮปปี้มาก ไม่เคยไม่อยากไปเรียนเลย พอจบมาเลยคิดว่าอยากเรียนสิ่งที่เราชอบอีกสักปีหนึ่ง เพราะรู้ว่าเราอาจไม่ได้ทำงานทางนี้ก็ได้ เพราะประเทศไทยก็ไม่ได้มีพื้นที่ให้กับงานประเภทนี้เท่าไร

 

History มันไม่ใช่การเล่าความจริงทั้งหมด แต่คือการเลือกความจริงมาเล่าเพียงส่วนหนึ่ง

 

 

 

ตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไลเดน

ไปเรียนด้าน Heritage Management เอก Conflicted Heritage เพราะสนใจพวก difficult heritage ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ความขัดแย้งในสังคม เพราะเฮอริเทจก็มีหลายแบบ วัดพระแก้ว วัดอรุณฯ ก็ใช่ แต่อย่างทางรถไฟสายมรณะก็เป็นเหมือนกัน แต่เน้นไปที่ความตาย ความเศร้า ซึ่งเป็นฟีลที่ niche เพราะไม่ค่อยทำเงิน ขายยาก

 

พอได้ไปเรียนที่นั่นรู้สึกโลกทลายมาก เพราะอยู่มหาวิทยาลัยที่เมืองไทยเราก็เรียนเก่ง แต่พอไปที่นั่นมีแต่คนยุโรป แล้วก็เรียนคนละแบบกับเรา จะมีการให้เราไปอ่านบทความล่วงหน้าสัก 50-100 หน้า แล้วแต่ พออ่านแล้วมาในห้องเรียนก็จะหยิบเคสมาพูด โยงไปถึงเรื่องที่เราอ่านมาแล้ว ทำให้เราต้องคิด ต้องอ่านมาก่อน คะแนนจะเป็นการดิสคัสในห้องเรียน เรียนจบแล้วก็ต้องเขียนรายงานส่งอีก

 

คอร์สมันแน่นมาก แม้ว่าเขาจะเขียนไว้ว่าจบได้ใน 1 ปี แต่ก็ไม่ค่อยมีคนจบ 1 ปีหรอก เพื่อนหลายคนก็ต้องยืดเวลาจบไปเป็น 2 ปีบ้าง 1 ปีครึ่งบ้าง เตยก็พยายามจนจบได้ในปีเดียว เพราะจ่ายค่าเรียนเองด้วย อยากทำงานแล้วด้วย ไม่อยากรบกวนเงินที่บ้านมากแล้ว

 

“เราต้องพยายามมากกว่าเขา เพราะเราไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษขนาดนั้น

ต้องอ่านก่อนเขา ทำงานก่อนเขา ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นตัวถ่วง”

 

บรรยากาศในมหาวิทยาลัยและเมืองไลเดน

หลักสูตรปริญญาโทของเนเธอร์แลนด์บังคับสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะเขาคิดว่าข้อมูลทางวิชาการส่วนมากก็เป็นภาษาอังกฤษ ก็ต้องให้คนดัตช์ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีด้วย

 

เมืองไลเดนชิลล์กว่าอัมสเตอร์ดัมเยอะ มีคาเฟ่ มีร้านคอฟฟี่ช็อปที่ขายกัญชาถูกกฎหมาย เพราะถือว่าเป็น soft drug เขามองว่าถ้าห้าม สุดท้ายคนก็กินอยู่ดี แต่ถ้าทำให้ถูกกฎหมายแล้วเก็บภาษีซะ มันก็จะควบคุมได้ อีกอย่างคือมันก็ไม่ได้อันตราย

 

หรือการค้าประเวณีก็จะมีรัฐเข้าไปดูแล มีการตรวจสุขภาพ ไม่มีแมงดา ไม่มีผู้มีอิทธิพล เพราะมันถูกควบคุมดูแลหมด

 

ไลเดนเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ไม่มีการล้อมรั้ว แคมปัสกระจายไปทั้งเมือง เราก็ปั่นจักรยานไปเรียน ทุกคนต้องปั่นจักรยานเป็น ไม่งั้นจะเป็นปัญหาชีวิตมาก ลำบากกว่านี้เยอะ ค่ารถบัสก็ไม่ได้ถูก

 

และด้วยความที่เมืองต่ำกว่าน้ำทะเล ทำให้มีคลองเยอะมาก วิวก็จะเป็นคลองกับตึกสองฝั่ง บ้านเรือนก็จะหน้าตาแคบๆ แต่สูง เพราะการเก็บภาษีหน้าบ้าน ช่วงวันหยุดเมืองก็เงียบ เพราะนักศึกษาก็กลับประเทศกันหมด เป็นเมืองที่มีแต่คนมาเรียนเป็นส่วนมาก มีร้านขายของที่มีผงเครื่องเทศเอเชีย อาหารไทย ก็แก้คิดถึงบ้านได้เหมือนกัน

 

อีกอย่างที่แปลกมากคือเนเธอร์แลนด์ไม่มีอาหารประจำชาติ ถามเพื่อนชาวดัตช์ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็จะบอกว่ามีปลาแฮร์ริ่งที่เป็นปลาดองแค่นั้น

 

ส่วนที่พักก็จะมีโควต้าของสถาบันที่ให้สิทธิ์นักศึกษาต่างประเทศก่อน ตอนนั้นก็ได้แชร์บ้านกับนักศึกษาไต้หวัน

 

 

การเรียนแบบดัตช์

ไลเดนเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องรีเสิร์ชมากๆ ทุกคนต้องหาข้อมูลตัวเองเป็น เราต้องไปขวนขวายมาเสนออาจารย์เอง ไม่ใช่อาจารย์ที่ต้องป้อนความรู้ให้เรา การเข้าห้องเรียนคือเราต้องมีอะไรมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ด้วย รวมถึงอาจารย์

 

มีวิชาปรัชญาโบราณคดีที่โหดมากๆ สอบครั้งเดียวเต็ม 100 คะแนน ผิดสองข้อก็ตกแล้ว เลยต้องตั้งกรุ๊ปขึ้นมาเก็งข้อสอบ

 

รูมเมตก็มีผลกับการเรียนเหมือนกัน ตอนแรกไม่อยากได้รูมเมตเอเชียนะ เพราะไหนๆ มาต่างประเทศแล้วก็อยากได้รูมเมตต่างวัฒนธรรมกับเรามากๆ แต่ปรากฏว่าเป็นเพื่อนที่เราสบายใจด้วยมาก

 

“รู้สึกว่ารูมเมตไต้หวันเป็นเหมือนบ้านให้เราได้กลับไปหา

กลับมาก็ได้กินอาหารเอเชีย ดูซีรีส์เกาหลีด้วยกัน ผลัดกันทำอาหารให้กันกิน

เราคุยกับเขาได้เปิดกว่า วัฒนธรรมมันใกล้กัน ไปข้างนอกมันฝ่าฟันแล้ว

กลับมาก็อยากสบายๆ”

 

มีคนไทยที่ไลเดนเหมือนกัน เจอคนไทยที่มาเรียนกฎหมายที่นี่ ซึ่งเป็นสายวิชาที่ฮิต

 

โบราณสถานแบบ Conflicted heritage

เคยไปโปแลนด์ ไปดูค่ายเอาชวิตซ์ (Auschwitz concentration camp) เป็นค่ายที่นาซีจับคนยิวมารมแก๊สแล้วเผา คนที่ถูกส่งมาที่นี่คือตายแน่ๆ เข้าเตาเผาแน่นอน ตอนไปถึงคือรู้สึกว่าแค่เข้าไปก็เศร้าแล้ว ความตายมันมีกลิ่น มีบรรยากาศ มีดิสเพลย์เส้นผมของคนตาย ที่เกิดจากการกล้อนผมชาวยิวมาทำถุงเท้า หรือฟันทองก็แงะออกมา หมด เราเห็นความเป็นอัตลักษณ์ของคนจากการฆ่าหมู่ตรงนี้ เห็นผมเป็นกองๆ เห็นกระเป๋ามีชื่อ ก็เป็นที่ที่เศร้ามาก

 

โปแลนด์ค่อนข้างขายความเศร้าอยู่แล้ว เพราะช่วงสงครามโลกโปแลนด์โดนแรงกว่าที่อื่น เพราะเขามองว่าโปแลนด์ไม่ใช่ยุโรปแท้ เป็นยิว เลยมีหลายไซต์ที่พูดถึงความรุนแรงช่วงสงคราม อย่างในวอร์ซอว์ ก่อนสงครามคนอยู่เป็นแสน แต่พอสงครามจบเหลือคนหลักพัน คนตายเยอะมาก โดนจับเข้าค่ายบ้าง โดนยิงทิ้งบ้าง

 

ธีสิสของเตยก็ทำเรื่อง Dark heritage ที่ไทย ตอนสมัย ป.ตรีก็ทำเรื่องสถานีรถไฟธนบุรี ที่เขามาตั้งฐานเป็น junction ไปที่พม่า เชื่อมกับทางรถไฟสายมรณะ พอ ป.โท ก็ทำเรื่องรถไฟสายมรณะทั้งสายเลย เราก็คิดว่าถ้าไม่ใช่คนไทยก็คงทำไม่ได้ แล้วก็คิดว่าไลเดนก็จะได้มีข้อมูลเรื่องนี้ไปด้วย นักโทษสงครามที่นี่ก็มีคนดัตช์ด้วย อยากให้เขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นตรงนี้ด้วย

 

 

คิดยังไงกับประโยคว่า ‘ผู้ชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์’

ก็คิดว่าจริงค่ะ ปกติเราแบ่งเป็นคนชนะกับคนแพ้อยู่แล้ว คนชนะได้บริหารทรัพยากร และได้รับความเชื่อมั่นมากกว่า เสียงดังกว่าคนแพ้ สังคมตอบรับมากกว่า ทำให้คนชนะสามารถเขียนประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งเราต้องเข้าใจว่ามันอาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้ แต่เป็นความจริงของเขาที่อยากให้เราเห็นอย่างนั้น ประวัติศาสตร์มันเลย crack ได้ตลอดเวลา เพราะมันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

 

มันมีคำที่บอกว่า ‘ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์เหมือนคุณตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์คุณตาบอดสองข้าง’ สุดท้ายทุกวันนี้ก็ไม่เชื่ออะไรเลย เหมือนเรารู้เยอะเข้าแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่จริงเท่าไรแล้ว เราไม่ค่อยอินแล้ว

 

นักโบราณคดีต้องเป็นคนไม่เชื่อ ต้องพร้อมจะเปลี่ยนความคิด เพราะทุกอย่างมีข้อถกเถียงได้ตลอด ถ้าเชื่อมากเราจะเหมือนปิดตาตัวเอง เหมือนการถกเถียงในสังคมมันไม่เหมือนวิทยาศาสตร์ที่มีข้อสรุป เพราะสังคมมันเปลี่ยนตลอด แล้วเราไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นกับมันมาก ไลเดนจะสอนไม่เหมือนอังกฤษ อังกฤษเหมือนเป็นคนโรแมนติก ทุกอย่างต้องรักษาไว้ แต่ไลเดนมองว่า ถ้าเฮอริเทจหนึ่งชิ้นไม่สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ ต้องพึ่งพาเงินรัฐบาลตลอด ก็อาจจะไม่ควรอยู่ก็ได้ เพราะเมืองที่โตขึ้น คนก็ต้องการใช้สถานที่ เราไม่สามารถเก็บทุกอย่างในอดีตไว้ได้ตลอดไป เราต้องเลือกสิ่งที่รีพรีเซนต์ตรงนั้น และอยู่ได้ด้วยตัวเองจริงๆ

 

“เพราะว่าเงินต้องเอาไปช่วยคนจน ช่วยคนเจ็บ ไหนจะ refugee อีก

ฉะนั้นประวัติศาสตร์มันเก็บไว้ทุกอย่างไม่ได้

แค่จดจำ บันทึกไว้ มันก็ทำหน้าที่ของมันแล้ว”

 

ไซต์ประวัติศาสตร์ไม่ควรรู้สึกแย่ที่ต้องเข้าหาสปอนเซอร์ เราควรวิ่งเข้าไปหาด้วยซ้ำ เพื่อหางบประมาณให้เราอยู่ได้ เพราะบางทีเราอนุรักษ์ไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ ก็ไม่ควรอยู่ บางคนบอกว่าเสียดาย มันเป็นประวัติศาสตร์​ เป็นของเก่า แต่คุณไปดูมันจริงๆ หรือเปล่า การมีอยู่ของมันคุ้มกับค่าดูแลมั้ย ทำอย่างอื่นมีประโยชน์กว่ามั้ย ดัตช์ก็จะมองแบบนี้ เป็นมุมมองที่เรียลิสติกดี

 

Heritage ต่างชาติ vs Heritage ไทย

เตยเคยไปเป็นอาสาสมัครที่มิวเซียมแอนน์ แฟรงค์ กลับมาที่ไทยก็ยังทำอยู่ เพราะทางนั้นก็อยากโปรโมตเรื่องสิทธิเด็ก เรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ไทยไม่ค่อยรู้จักแอนน์ แฟรงค์ เท่าไร รู้สึกได้ว่าโรงเรียนที่ไทยก็ไม่ค่อยตอบรับ ทั้งที่เรามาจัดให้ฟรี เพราะอาจารย์ก็ไม่อยากเพิ่มงานให้ตัวเอง งานอาจารย์ก็มีเยอะแล้ว สุดท้ายก็ได้โรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง เสียดายแทนเด็กไทยเหมือนกัน เพราะงานนี้มันฟรี

 

เฮอริเทจของไทย เตยรู้สึกว่าการไม่จำกัดคนนี่น่าเสียดาย อย่างวัดพระแก้วก็แน่นเกินไป คนเข้าไปไม่ได้เสพศิลป์แล้ว ไม่ได้เสพบรรยากาศ อย่างที่ยุโรปพวกแวร์ซายส์เขาจำกัดคนเข้า ต้องต่อคิวยาวมาก เพราะต้องการให้คนได้ดู ไม่ใช่ถ่ายมาติดแต่คน ไทยก็ไม่ได้จัดการแบบนี้ ที่ไม่ดังก็ไม่โปรโมต คนก็กระจุก ไม่ค่อยกระจายรายได้

 

หรืออย่างรถไฟมรณะที่เตยทำธีสิส เราก็รู้สึกว่ามันทำอะไรได้เยอะกว่านี้ เรื่องก็เล่าได้ แต่เขาไม่ได้สนใจจะทำให้มันดีขึ้น ตอนนี้มันเหมือน touristic railway ไปน้ำตกแล้วกลับบ้าน หรือไปขี่ช้าง ทั้งที่มันมีเลเยอร์ของสงครามโลกที่มันพูดได้ เหมือนเขาไม่ค่อยอยากพูด

 

แต่ไม่ค่อยโทษหน่วยงานนะ เพราะสงครามมันขายยาก แล้วคนก็ไม่ค่อยอยากไปเศร้า ตอนที่ทำรีเสิร์ช ก็เจอคนออสเตรเลีย ที่ไม่มีความเศร้าในประเทศเท่าไร ก็ต้องมาเศร้าที่อื่น เป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจจะมา grieve แต่คนไทยก็มาเที่ยวน้ำตก ไม่รู้ว่าคืออะไร เหมือนเป็นสายรถไฟที่พาคนที่มีความสนใจต่างกันมากๆ มาด้วยกัน แล้วมันก็ไม่ได้ถูกเล่าเท่าที่มันเล่าได้

 

 

แนะนำคนที่อยากไปเรียนต่อโบราณคดีที่เนเธอร์แลนด์

ควรดูคอร์สให้ละเอียด อย่าดูแต่ชื่อกับ ranking ดูให้หมดเลยว่าใครสอน ให้คำแนนเป็นยังไง อ่านหลักสูตรว่าใช่ที่เราอยากเรียนหรือเปล่า และควรจะมีไอเดียของธีสิสไปแล้ว เพราะเวลาปีเดียวมันเร็วมาก

 

อาจารย์ที่ปรึกษาก็ควรดูไว้ก่อนไป เพราะเราอยู่กับเขาทั้งปี ต้องศึกษาไปก่อน ให้หาคนที่เป็นที่ปรึกษาให้เราได้จริงๆ อยากให้เลือกอาจารย์ที่ปรึกษามากกว่ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เพราะมันสำคัญมาก

 

“ลองไปประเทศที่ไม่ค่อยมีคนไปบ้างก็ได้ ลองกล้าไปที่แปลกๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะมันไม่ได้แค่เรียน เราใช้ชีวิตมีประสบการณ์ เป็นหนึ่งปีที่เราเรียกกลับมาไม่ได้ เราก็ต้องเต็มที่กับมัน”

 


Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest มนสิชา รุ่งชวาลนนท์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X