เมื่อวานนี้ (15 กันยายน) นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา จับมือจัดตั้ง ‘AUKUS’ ไตรภาคีด้านความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิกขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยให้กองทัพของออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อร่วมมือปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงกับอีก 2 ประเทศ
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า “พวกเราต่างยอมรับและเห็นความสำคัญของการสร้างหลักประกันด้านสันติภาพและความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกในระยะยาว เราจำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับทั้งสภาพแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคนี้ และวิธีที่อนาคตของแต่ละประเทศจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและเฟื่องฟูของอินโดแปซิฟิกที่มีเสรีและเปิดกว้างตลอดหลายทศวรรษข้างหน้า”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียชี้ว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงครั้งใหม่นี้จะช่วยทำให้ภูมิภาคนี้ปลอดภัยและมั่นคงมากยิ่งขึ้น “ขอให้ผมชี้แจงให้กระจ่างว่า ออสเตรเลียไม่ได้กำลังจะได้รับอาวุธนิวเคลียร์หรือก่อตั้งโครงการนิวเคลียร์ เราจะยังคงปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ที่เคยลงนามไว้ทุกประการ”
ทางด้านนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้จะผลักดันการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สำหรับออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงการที่ซับซ้อนและต้องใช้เทคนิคมากที่สุดในโลก ออสเตรเลียเป็นหนึ่งประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเรา เป็นชาติที่มีความเกี่ยวดอง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและเป็นหุ้นส่วนโดยธรรมชาติของความร่วมมือนี้”
หลายฝ่ายมองว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นความพยายามในการที่จะป้องปรามอิทธิพลของจีนในอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะในแถบทะเลจีนใต้ที่ยังคงมีข้อพิพาทเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์อีกทั้ง AUKUS อาจสั่นเคลื่อนดีลมูลค่าหลายพันล้านที่รัฐบาลออสเตรเลียเคยลงนามจะซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 ส่งผลให้ฝรั่งเศสในสถานะชาติยุโรปที่เป็นพันธมิตรที่ยาวนานของออสเตรเลียอาจถูกสั่นคลอน
ด้านโฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า ทั้ง 3 ประเทศควรนำเอาความคิดแนวยุคสงครามเย็นและความอคติออกไปได้แล้ว พร้อมทั้งระบุว่า ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ทั้งสหรัฐฯ และออสเตรเลียก็ยังเคยร่วมมือกันจัดตั้งพันธมิตรสี่เส้าด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ ‘Quad’ ขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2007 ร่วมกับอินเดียและญี่ปุ่นด้วยจุดประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน ก่อนที่จะกลับมาประชุมหารือกันอย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2017 และคาดว่า Quad จะจัดประชุมขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยมีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ
ภาพ: Win McNamee / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2021/9/15/uk-and-us-to-help-australia-acquire-nuclear-powered-submarines
- https://www.aljazeera.com/news/2020/11/25/what-is-the-quad-can-us-india-japan-and-australia-deter-china
- https://www.washingtonpost.com/politics/2021/09/15/us-will-share-nuclear-submarine-technology-with-australia-part-new-alliance-direct-challenge-china/
- https://www.theguardian.com/world/2021/sep/16/cold-war-echoes-as-aukus-alliance-focuses-on-china-deterrence