×

มนุษย์เป็นสัตว์ดนตรีจริงไหม ดนตรีและเครื่องดนตรีมาจากไหน ย้อนประวัติศาสตร์หาต้นตอเสียงเพลงที่จรรโลงมนุษยชาติมาเนิ่นนาน

19.08.2021
  • LOADING...
ดนตรี

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • คนโบราณที่ไม่รู้จักทฤษฎีดนตรีมาก่อน เขาร้องเพลงแบบไหนกัน เสียงร้องเพลงมาจากเสียงคำรามได้ไหม หรือเป็นเสียงเกี้ยวพาน แล้วทำไมแมวหมากาไก่ถึงไม่รู้จักร้องออกมาเป็นเพลง หรือแม้กระทั่งนกกางเขนบ้านที่เปล่งเสียงออกมาเหมือนการร้องเพลงนั้น มันกำลัง ‘ร้องเพลง’ ในความหมายเดียวกับมนุษย์หรือเปล่า
  • การระบุให้ได้ว่า อะไรเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกเป็นเรื่องยากมาก นักวิจัยเพื่อหา ‘กำเนิดดนตรี’ อย่าง ฟรานเชสโก เดอร์ริโก (Francesco d’Errico) จากมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ในฝรั่งเศส บอกว่า งานวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้ความอุตสาหะและการอุทิศตัวอย่างมาก เพราะเรายืนยันไม่ได้เลยว่าสิ่งที่พบนั้นเป็นเครื่องดนตรีจริงหรือเปล่า
  • แม้จะสงสัยว่ามนุษย์อาจส่งเสียงเป็นท่วงทำนองได้ตั้งแต่หลายแสนปีก่อน แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าเสียงเหล่านั้นเป็นอย่างไร ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก เป็นคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ และพยายามอธิบายว่าทำไมมนุษย์ถึงเป็น ‘สัตว์ดนตรี’ (Musical Being)  

เวลาฟังดนตรี คุณเคยสงสัยไหมว่า – ใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ ‘เครื่องดนตรี’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

เวลาฟังเสียงร้องเพลง คุณเคยสงสัยไหมว่า – คนโบราณที่ไม่รู้จักทฤษฎีดนตรีมาก่อน เขาร้องเพลงแบบไหนกัน เสียงร้องเพลงมาจากเสียงคำรามได้ไหม หรือเป็นเสียงเกี้ยวพาน แล้วทำไมแมวหมากาไก่ถึงไม่รู้จักร้องออกมาเป็นเพลง หรือแม้กระทั่งนกกางเขนบ้านที่เปล่งเสียงออกมาเหมือนการร้องเพลงนั้น มันกำลัง ‘ร้องเพลง’ ในความหมายเดียวกับมนุษย์หรือเปล่า


มีปริศนาทางดนตรีมากมายที่ไม่มีคำตอบ หลายคำถามผุดเกิดขึ้นมาง่ายๆ ตั้งแต่เรายังเด็ก แต่เชื่อไหมว่ามันคือคำถามที่ตอบยากมากถึงมากที่สุด!


สำหรับมนุษย์ เคยเชื่อกันว่า เครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการค้นพบกัน คือขลุ่ยที่ทำจากกระดูก (Bone Flute) อายุ 43,000 ปี ซึ่งค้นพบในบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศสโลวีเนีย แต่ดินแดนนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล เรียกว่า Divje Babe Flute แต่บางคนก็เรียกมันว่าเป็น ‘นีแอนเดอร์ทัลฟลูต’


ชื่อ Divje Babe เป็นชื่อของแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในสโลวีเนีย มันมีลักษณะเป็นถ้ำแนวนอน ยาว 45 เมตร กว้าง 15 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย เชื่อกันว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมาอยู่ในถ้ำแห่งนี้ตั้งแต่ยุค 55,000 ปีก่อน และมีการขุดค้นเจอซากของวัตถุโบราณมากมายหลายอย่าง มีเตาไฟมากถึง 20 ชิ้น และมีวัตถุอื่นๆ อีกมากกว่า 600 ชิ้น


ในบรรดาข้าวของที่ค้นพบเหล่านี้ มีกระดูกกลวงๆ อยู่ 10 ชิ้นที่มีรูเรียงรายอยู่ คือดูแล้วคล้ายกับเป็นขลุ่ย แต่อย่าคิดว่าเหมือนขลุ่ยในปัจจุบันนะครับ เพราะรูที่ว่าไม่ได้มีหลายรู บางชิ้นมีเพียงสองรูเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่มีการค้นพบ คือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโบราณคดีก็ยังเดาไม่ถูกว่ามันคืออะไร


จนกระทั่งถึงปี 1995 นักโบราณคดีคนหนึ่งชื่อ อิวาน เติร์ก (Ivan Turk) ซึ่งทำงานอยู่กับสถาบันวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งสโลวีเนีย จึงได้ตั้งชื่อให้กับเจ้ากระดูกที่มีรูนี้ว่า ‘นีแอนเดอร์ทัลฟลูต’ ที่เขาตั้งชื่อให้แบบนี้ ไม่ได้แปลว่าเขารู้ว่ามันเป็นเครื่องดนตรีหรอกนะครับ แต่เพราะเขาเห็นว่ารูปร่างหน้าตาของมันคล้ายๆ ฟลูตเท่านั้นเอง เลยใช้ชื่อนี้โดยไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นฟลูตหรือเปล่า แต่ก็ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงข้ึนมาเลยว่า นี่คือเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกจริงไหม เพราะบางคนก็คิดว่า นี่อาจเป็นกระดูกที่ถูกเขี้ยวของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เจาะเข้าไปก็ได้ เนื่องจากมีรูอยู่แค่สองรู และไม่น่าจะใช้ในการ ‘สร้างเสียง’ ขึ้นมาได้


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันว่า เครื่องดนตรีแรกที่มนุษย์สร้างขึ้น น่าจะเป็นฟลูตหรือขลุ่ยนี่แหละครับ เพียงแต่ไม่ใช่ขลุ่ยอายุ 43,000 ปีที่ว่า แต่น่าจะเป็นขลุ่ยที่ ‘ใหม่’ กว่านั้น คือขลุ่ยที่พบในยุโรป มีอายุราว 35,000 ปี ซึ่งค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยทูบิเงน (Tübingen) ในเยอรมนี ในถ้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งน่าจะทำจากงาช้างแมมมอธ และมีรูอยู่ด้วยกันถึงสี่รู ไม่ใช่แค่สองรูเหมือนนีแอนเดอร์ทัลฟลูต


การระบุให้ได้ว่า อะไรเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกเป็นเรื่องยากมาก นักวิจัยเพื่อหา ‘กำเนิดดนตรี’ อย่าง ฟรานเชสโก เดอร์ริโก (Francesco d’Errico) จากมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ในฝรั่งเศส บอกว่า งานวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้ความอุตสาหะและการอุทิศตัวอย่างมาก เพราะเรายืนยันไม่ได้เลยว่าสิ่งที่พบนั้นเป็นเครื่องดนตรีจริงหรือเปล่า และเครื่องดนตรีจริงๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะทำจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย เช่น ไม้ เหมือนอย่างบางชนเผ่าที่ยังมีวิถีชีวิตแบบโบราณ ก็มีการเสาะหาไม้ที่ปลวกกินจนเป็นโพรงข้างใน แล้วนำมาทำเป็นเครื่องเป่าหรือเครื่องสี แต่ก็อย่างที่รู้อยู่ว่าไม้เป็นวัสดุที่ผุพังได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นหมื่นๆ ปี จึงไม่เหลือหลักฐานอะไรให้พิสูจน์ได้


นักวิจัยอีกคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คือ เอียน มอร์ลีย์ (Iain Morley) ซึ่งเคยเขียนหนังสือชื่อ The Prehistory of Music ก็เน้นย้ำแบบเดียวกันว่าเครื่องดนตรีโบราณเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากๆ ดังนั้นหลายคนจึงหันมาดู ‘วิวัฒนาการ’ ของร่างกายมนุษย์แทน


เชื่อกันว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการจนสามารถ ‘สร้างเสียง’ ของตัวเองให้มีหลายๆ เสียงได้ (ไม่เหมือนกับหมาแมวที่ทำเสียงได้แค่ไม่กี่เสียง) มาตั้งแต่ 530,000 ปีก่อนแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อกันว่ามนุษย์สปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างเช่นมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล น่าจะมีศักยภาพที่จะ ‘ร้องเพลง’ ได้


ถามว่าแล้วรู้ได้อย่างไรว่ามนุษย์เมื่อห้าแสนกว่าปีมีเสียงหลายเสียง คำตอบก็คือเพราะมีการพบซากฟอสซิลมนุษย์ยุคนั้น ซึ่งมีกระดูกรูปเกือกม้าเล็กๆ ในคอ ที่เรียกว่า ไฮออยด์ (Hyoid) โดยเจ้ากระดูกที่ว่านี้จะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้า เพราะกล่องเสียงมีวิวัฒนาการเคลื่อนลงต่ำ และอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เราสามารถเปล่งเสียงพูดและร้องเพลงออกมาได้ รวมทั้งมีการพบกระดูกไฮออยด์นี้ในมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล รวมถึงมนุษย์สปีชีส์อื่น เช่น มนุษย์ไฮเดลแบร์กด้วย โดยเชื่อกันว่ากล่องเสียงอาจจะเลื่อนลงต่ำมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ


ทว่าแม้จะสงสัยว่ามนุษย์อาจจะส่งเสียงเป็นท่วงทำนองได้ตั้งแต่หลายแสนปีก่อน แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าเสียงเหล่านั้นเป็นอย่างไร ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก เป็นคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ และพยายามอธิบายว่าทำไมมนุษย์ถึงเป็น ‘สัตว์ดนตรี’ (Musical Being) เขาเขียนไว้ในหนังสือที่ว่าด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยบอกว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาตินั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องเพศ เขายกตัวอย่างการร้องเพลงของนก ว่านกตัวผู้ที่ร้องเพลงเก่งช่วยดึงดูดนกตัวเมียมากกว่า ทำให้ได้ผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ออกไป เขาจึงคิดว่าการร้องเพลงของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ Sexual Selection หรือการคัดเลือกทางเพศ แต่ในตอนหลังแนวคิดนี้ก็ตกไป เพราะเรารู้อยู่ว่าไม่ได้มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ร้องเพลง ผู้หญิงก็ร้องเหมือนกัน ดังนั้นการนำไปเปรียบกับนกจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว

การศึกษาเรื่องดนตรีนั้นมีอยู่ด้วยกันสองค่าย ซึ่งมาจากคนละทาง แต่ค่อยๆ คลำทางจนมาเจอกันได้ ค่ายแรกเป็นค่ายทางชีววิทยาที่เชื่อว่าดนตรีและการร้องเพลงเกิดมาจากการปรับตัวทางร่างกาย แล้วทำให้มนุษย์เปล่งเสียงออกมาได้หลากหลาย จนในที่สุดก็เกิดคอนเซปต์ทางดนตรีขึ้นมา ค่ายนี้จะมีนักประสาทศาสตร์ที่พยายามค้นหาบริเวณของสมองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นที่สมองที่ทำงานเรื่องดนตรีและการ ‘ด้นสด’ (Improvisation) กับนักพันธุกรรมศาสตร์ที่พยายามแยกแยะยีนที่ช่วยในการเรียนรู้เรื่องดนตรีของเราออกมาด้วย เพราะคนแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้ดนตรีได้แตกต่างกัน แต่อีกค่ายหนึ่งเป็นค่ายทางสังคมที่เชื่อว่าดนตรีนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือมนุษย์มาอยู่รวมกันแล้วต้องมีการสื่อสาร ดังนั้นดนตรีและภาษาจึงเกิดขึ้นแทบจะพร้อมกัน และมีวิวัฒนาการไปด้วยกัน


ทั้งสองค่ายอาจมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่ก็เชื่อกันว่า คำอธิบายเรื่องดนตรีของมนุษย์นั้นต้องอาศัยทั้งสองค่าย เพราะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์เริ่มมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น ก็ย่อมต้องการการสื่อสารเพื่อรับรู้ถึงสภาวะอารมณ์ของกันและกัน และการส่งเสียงก็เป็นเรื่องสำคัญ


เลสลี ไอเยลโล (Leslie Aiello) และ โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เสนอว่าบรรพบุรุษของเราอาจจะเริ่มสื่อสารกันโดยใช้เสียงแสดงอารมณ์ออกมาก่อน แล้วการสร้างเสียงนี้ก็ค่อยๆ ไปเปลี่ยนแปลงอวัยวะของเราให้เปล่งเสียงได้ดีขึ้น สองอย่างนี้จึงดำเนินไปด้วยกัน และเกี่ยวพันไปถึงขนาดของสมองที่เริ่มใหญ่โตกว่าสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เมื่อราว 1.8 ล้านปีก่อน เพราะเมื่อมนุษย์เริ่มต้องสื่อสารด้วยวิธีที่ซับซ้อนขึ้น เราก็ต้องการการประมวลผลที่ซับซ้อนขึ้น ที่สำคัญ สมองที่ซับซ้อนนั้นกินพลังงานอย่างหนัก ดังนั้นมนุษย์จึงยิ่งต้องอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยกันหาอาหารมาหล่อเลี้ยงทั้งร่างกายและสมองด้วย การอยู่ร่วมกันนี้ก็ยิ่งไปเร่งกระบวนการสื่อสารเข้าไปใหญ่ แล้วสิ่งนี้ก็ไปเร่งกระบวนการวิวัฒนาการอีกทีหนึ่ง


จะเห็นว่า แค่เพียงเรื่องของดนตรีและเครื่องดนตรี ก็ทำเอามนุษย์เรางวยงงแล้วนะครับ ว่าเราเกิดรักชอบในเสียงดนตรีขึ้นมาได้อย่างไร และเราเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นดนตรีขึ้นมาจริงหรือไม่

 

และนี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องอีกมากมายที่มนุษย์ยังตอบคำถามไม่ได้ – เท่านั้นเอง

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X