สารพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มักเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คอ หลอดลม และปอด ถ้าได้รับก๊าซพิษในปริมาณมาก อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างรุนแรงได้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่มีสีแต่มีกลิ่นฉุน พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่ก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ เมื่อหายใจเข้าไปในร่างกาย ก๊าซนี้จะแย่งที่กับออกซิเจนในการจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ ร่างกายจึงมีอาการของการขาดออกซิเจน ทำให้หายใจไม่สะดวก ซึ่งเป็นอันตรายมากเช่นกัน นอกจากกรณีสารพิษที่หายใจเข้าไปแล้ว ยังมีสารเคมีที่หากสัมผัสผ่านผิวหนังก็เป็นอันตรายเช่นกัน หากใครได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผิวหนัง รวมถึงมีการสูดดมสารเคมีเข้าไป มีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมีผ่านผิวหนัง
- ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีและเปลี่ยนเป็นชุดอื่นทันที
- ล้างผิวหนังที่มีการสัมผัสกับสารเคมีด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
- หากสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ล้างซ้ำๆ นาน 15 นาที
- อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
- รีบนำตัวส่งแพทย์ทันทีหลังปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จ
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารเคมีผ่านการสูดดม
- รีบย้ายออกมาในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์
- หากอาการไม่รุนแรงควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการสูดดมสารเคมี
- ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ผายปอดและนวดหัวใจ
- รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง: กรมแพทย์ทหารเรือ, หน่วยอาสาเพื่อประชาชน