Q: หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 กินยาแก้ปวดชนิดแรงได้หรือไม่
A: ได้ โดยใช้ยาลดไข้/แก้ปวดเป็นลำดับขั้น เริ่มจากยาสามัญประจำบ้านซึ่งปลอดภัยที่สุดก่อนคือ ‘พาราเซตามอล’ ยี่ห้อใดก็ได้ หากไม่ดีขึ้นสามารถกินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออาจปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อใช้ ‘ยาแก้ปวดชนิดแรง’ หรืออีกชื่อว่า ‘ยากลุ่มเอ็นเสด’ (NSAIDs) ร่วมด้วย
อาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ที่พบบ่อย โดยเฉพาะวัคซีน AstraZeneca คือ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในผู้มีอายุน้อย เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ แต่อาการข้างเคียงส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ไม่เกิน 2-3 วันหลังฉีดวัคซีน และสามารถกินยาเพื่อบรรเทาอาการได้
โดยใช้ยาลดไข้/แก้ปวดเป็นลำดับขั้น เริ่มจากยาสามัญประจำบ้านเพราะมีความปลอดภัยที่สุดก่อน คือ #พาราเซตามอล ยี่ห้อใดก็ได้ (ยี่ห้อที่รู้จักกัน เช่น ไทลินอล ซาร่า ส่วนทิฟฟี่หรือดีคอลเจนจะมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ด้วย) ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
หรือคำนวณขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง ไม่เกินครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม (2 เม็ด) หากไม่ดีขึ้นสามารถกินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่มีน้ำหนักตัว
- 34-50 กิโลกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด
- 50-75 กิโลกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง
- > 75 กิโลกรัม กินครั้งละ 2 เม็ด
- ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง แต่ต้องไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม (8 เม็ด)
หรืออาจปรึกษาแพทย์/เภสัชกรเพื่อใช้ #ยาแก้ปวดชนิดแรง หรืออีกชื่อคือ #ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ ยาในกลุ่มนี้ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen; ชื่อการค้า Brufen), นาพรอกเซน (Naproxen), อิทอริคอกซิบ (Etoricoxib; Arcoxia), เซเลโคซิบ (Celecoxib; Celebrex)
แต่หลายท่านอาจเคยได้ยินว่าห้ามกินยากลุ่มนี้หลังฉีดวัคซีน ความจริงแล้วไม่ใช่ข้อห้ามอย่างเด็ดขาด หมายถึง ‘ถ้าจำเป็นก็สามารถกินได้’ เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ายากลุ่มนี้มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนข้อควรระมัดระวังคือห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจหรือโรคไตเรื้อรัง
หรือแพทย์บางท่านกังวลเรื่องการแพ้ยา เพราะหากแพ้ขึ้นมาจะแยกไม่ได้ว่าแพ้วัคซีนหรือแพ้ยา แต่ถ้าเคยกินยาแก้ปวดชนิดแรงมาก่อนแล้ว เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดประจำเดือน ก็สามารถกินได้ โดยกินตามขนาดยาบนฉลากและหลังอาหารทันทีเพราะยากลุ่มนี้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
สำหรับผู้ป่วยไมเกรน สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ว่า ‘ไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน’ ซึ่งรวมถึงยากลุ่มเอ็นเสด หรือยากลุ่มอื่นๆ ที่กินอยู่เป็นประจำ (เพราะมีการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยารักษาโรคนี้ในสังคมออนไลน์)
ทั้งนี้ หากมีอาการหลังฉีดวัคซีนรุนแรง เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หรือกินยาบรรเทาอาการเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
อ้างอิง: