จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้วงการสุขภาพและความงามมีตัวช่วยใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตมากขึ้น ทั้งการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ การสำรวจหาสกินแคร์หรือเครื่องสำอางที่ตอบโจทย์เพียงแค่คลิกเดียว หรือแม้แต่คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนังต่างๆ ก็สามารถตรวจสอบและรับการวินิจฉัยโรคผ่านแอปพลิเคชัน Google ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยระบุสภาพผิว รวมถึงเส้นผมและเล็บได้ โดยพิจารณาจากรูปถ่ายที่ผู้ป่วยอัปโหลดเข้าไป หลังจากมีการเปิดตัวเครื่องมือนี้ ก็มี ดร.แอนดรูว์ มิลเลอร์ อดีตประธานแพทย์ผิวหนังแห่ง Australasian College of Dermatologists ออกมาแสดงท่าทีกังวลว่าเครื่องมือดังกล่าวอาจนำไปสู่ผลการวินิจฉัยที่เกินจริง
ก่อนหน้านี้ BBC News ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับเครื่องมือ AI ของ Google ซึ่งจะเปิดตัวปลายปีนี้ สิ่งที่มันทำได้นั้นค่อนข้างน่าทึ่ง เพราะสามารถระบุสภาพผิวหนัง เส้นผม และเล็บ โดยจะพิจารณาจากรูปภาพที่ผู้ป่วยอัปโหลดเข้าไป โดยเคลมว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับเครื่องการรับรอง CE สำหรับใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในยุโรป โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งให้ความเห็นว่า ความก้าวหน้าของระบบ AI สามารถช่วยให้แพทย์มอบการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้น และ AI ตัวนี้สามารถตรวจจับสภาพผิวได้มากถึง 288 รูปแบบ แต่มันก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทดแทนการวินิจฉัยทางการแพทย์
จากข้อมูลการประชุมด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 พฤษภาคม) Google เปิดเผยว่า มีการค้นหาบน Google เกือบ 1 หมื่นล้านครั้ง ด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาผิวหนัง เล็บ และเส้นผม ในทุกปี ด้วยเหตุนี้ Google ได้พัฒนา ‘เครื่องมือช่วยเหลือด้านผิวหนัง’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ สำหรับใครก็ตามที่มีความกังวลเกี่ยวกับผิวหนังต่างๆ โดยผู้ใช้แอปฯ สามารถใช้โทรศัพท์เพื่อถ่ายภาพผิว ผม หรือเล็บ จำนวน 3 ภาพ จากมุมต่างๆ จากนั้นระบบ AI จะประมวลผลจากภาพและวิเคราะห์ข้อมูลออกมาให้แก่ผู้ใช้งาน
แต่ข้อเท็จจริงคือ เครื่องมือนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การวินิจฉัยหรือใช้แทนคำแนะนำทางการแพทย์ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากแพทย์ผิวหนังโดยตรงอีกที รวมถึงการทดสอบเพิ่มเติม เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น
แอปฯ นี้เป็นเพียงแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ที่วิเคราะห์ข้อมูลที่อาจเป็นไปได้ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปค้นคว้าเพิ่มเติมต่อได้นั่นเอง
ดร.แอนดรูว์ มิลเลอร์ อดีตประธานแพทย์ผิวหนังแห่ง Australasian College of Dermatologists ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง ก็ออกมาให้ความเห็นว่า การตรวจสอบผิวหนังผ่านรูปถ่ายอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ปัญหาโรคผิวหนัง หากภาพถ่ายหรือวิดีโอที่สตรีมมิงมีคุณภาพที่ไม่ดี อาจนำไปสู่ผลการวินิจฉัยที่เกินจริงไปได้ แต่ทั้งนี้ หากวงการแพทย์สามารถพัฒนาและทำงานร่วมกันได้กับเทคโนโลยีที่คุณภาพดี ก็อาจมีประโยชน์ในการช่วยวางแผนการรักษาโรคผิวหนังให้กับผู้ป่วยได้อย่างสะดวกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าปัจจุบัน
อ้างอิง: