×

ทำความเข้าใจ ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น’ กรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา

19.05.2021
  • LOADING...
ทำความเข้าใจ ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น’ กรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ประกาศคำแนะนำ ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว’ ไม่ต้องสวมหน้ากากอีกต่อไป ไม่ว่าจะทำกิจกรรมข้างนอกหรือข้างในอาคาร โดยในวันเดียวกันประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ออกมาแสดงความยินดีว่า “นี่คือหมุดหมายสำคัญ” และเชิญชวนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีด หรือฉีดยังไม่ครบให้ไปรับวัคซีนโควิด-19

“ก่อนอื่นต้องบอกว่าคำแนะนำนี้ยังใช้ไม่ได้กับไทยเสียทีเดียว”

เพราะ CDC หมายถึงวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐฯ โดย ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว’ ในที่นี้หมายถึงผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech หรือ Moderna ครบ 2 เข็ม หรือวัคซีน Johnson & Johnson ครบ 1 เข็มมาแล้ว 2 สัปดาห์ แต่ก็หมายเหตุไว้ว่าสามารถประยุกต์ใช้กับวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติได้ เช่น AstraZeneca (ยกตัวอย่างแค่ยี่ห้อเดียว)

 

 

จากภาพคำแนะนำของ CDC แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งซ้ายมือสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนฝั่งขวามือสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว สังเกตว่าฝั่งขวาเป็นสัญลักษณ์คนไม่สวมหน้ากาก และเป็นสีเขียวทั้งหมด ส่วนฝั่งซ้ายมีทั้งสัญลักษณ์สีเขียว-เหลือง-แดง และส่วนใหญ่ยังต้องสวมหน้ากากอยู่ ซึ่งตอนนี้คนไทยเกือบทั้งหมด (99%) ยังอยู่ในฝั่งซ้าย

 

ช่องตรงกลางเป็นกิจกรรมที่ CDC ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สังเกตว่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ

  1. นอกอาคาร
  2. ในอาคาร

 

โดยกิจกรรมสีเขียว – มีความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝั่ง ได้แก่ กิจกรรมนอกอาคารที่เป็นการเดิน วิ่ง ปั่นวีลแชร์หรือจักรยานร่วมกับคนในครอบครัวเดียวกัน (ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปิดสวนสาธารณะ) และการรวมกลุ่มกันขนาดเล็กนอกอาคารร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว เพราะจะถือว่าเกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ในกลุ่มย่อยขึ้นมาแล้ว

 

กิจกรรมสีเหลือง – มีความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ การรับประทานอาหารนอกอาคารกับคนที่มาจากหลายครัวเรือน (เช่น เพื่อนร่วมงาน) ส่วนที่เหลือเป็นกิจกรรมภายในอาคาร เช่น ร้านตัดผม ห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ ขนส่งสาธารณะ โดยที่จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด รวมถึงการรวมกลุ่มกันขนาดเล็กที่มีทั้งผู้ที่ฉีดและไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

สุดท้ายกิจกรรมสีแดง – มีความเสี่ยงสูง เป็นกิจกรรมที่มีการสร้างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจมากกว่าปกติภายในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นระยะเวลานาน เช่น การร้องเพลง งานนมัสการ (Worship) (สำหรับศาสนาพุทธน่าจะตรงกับการสวดมนต์บทสวดที่มีขนาดยาว) การออกกำลังกายระดับหนักมาก รวมถึงการรับประทานอาหารในร้าน

 

นอกจากนี้ ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว’ ไม่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงสหรัฐฯ แต่ยังต้องตรวจหาเชื้อ 3-5 วันหลังจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่วนเที่ยวบินในประเทศไม่ต้องทั้งหมด

 

สำหรับที่มาที่ไปของคำแนะนำนี้คือ 

  1. วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอาการรุนแรงและเสียชีวิต
  2. วัคซีนลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถลดปริมาณไวรัสในผู้ที่ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน และผลการสอบสวนโรคที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งในชิคาโก ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อจากผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว

 

ที่สำคัญคำแนะนำนี้จะเป็นแรงจูงใจผู้ที่ยังไม่ได้ฉีด หรือฉีดแล้วยังไม่ครบให้ไปรับวัคซีนโควิด-19 ตามที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่าประชาชนวัยผู้ใหญ่ 70% จะได้รับการฉีดวัคซีนภายในวันชาติ (4 กรกฎาคม) ที่จะถึงนี้ ซึ่งถือว่ามีความท้าทายมาก เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก แล้ว 47.1% ส่วน ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว’ มี 36.3%

 

อย่างไรก็ตาม แพทย์และนักระบาดวิทยาหลายคนในสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ของ CDC เนื่องจากวัคซีนอาจมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ใหม่ลดลง วัคซีนอาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการยังสามารถแพร่เชื้อได้ และประชาชนที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนจะอ้างว่าตนเองได้รับวัคซีนแล้วเพื่อที่จะไม่ต้องสวมหน้ากาก 

 

ซึ่งในประเด็นนี้ยังเป็นคำแนะนำ ที่แม้แต่สหรัฐฯ เองก็ค่อยๆ ผ่อนผันมาตรการควบคุม ไม่ได้เปิดประเทศในทีเดียว ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงต้องศึกษากันต่อไป 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X