×

เด็กใหม่ 2: แนนโน๊ะ vs. ดวงดาว จารุจินดา หรือนี่คือรายการฟ้ามีตาภาคชุดนักเรียน?

12.05.2021
  • LOADING...
เด็กใหม่ 2 รายการฟ้ามีตาภาคชุดนักเรียน

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ในเรื่องเอาปัญหาสังคมมาเล่าผ่านชีวิตนักเรียน แม้จะทำให้การสร้างตัวละครขาดเสน่ห์ไปบ้าง แต่ก็ทำให้คนดูได้ฉุกคิดว่าปัญหาต่างๆ ในเรื่อง คือเรื่องที่ยังเกิดขึ้นจริงจวบจนทุกวันนี้ จนเกิดคำถามว่าเรากำลังผลิตคนประเภทไหนเข้าสู่สังคมกันอยู่
  • เราต่างมียูริในชีวิต คือมีคู่แข่งที่พยายามจะเหมือนเราทุกอย่าง หรือบางทีเราอาจเป็นยูริเสียเองที่พยายามเป็นอย่างคนอื่น โดยที่รู้ดีว่าไม่มีทางชนะ ทางที่ดีที่สุดก็คือการหาหนทางของตัวเอง 

ทันทีที่ เด็กใหม่ ซีซัน 2 สตรีมมิงทาง Netflix ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็มีบทวิจารณ์ดีๆ จากคนดูและหน้าเพจต่างๆ ล้นหลาม ผู้เขียนเองได้อ่านคอมเมนต์หนึ่งที่จับใจความประมาณว่า เด็กใหม่ ซีซันนี้เหมือน ฟ้ามีตา เวอร์ชันชุดนักเรียน เออ…ก็จริงของเขานะ

 

ดวงดาว จารุจินดา พิธีกรรายการ ฟ้ามีตา 

 

ฟ้ามีตา เป็นรายการทางช่อง 7 ที่มีอายุมากกว่า 14 ปีแล้ว ว่าด้วยเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผลกรรมมักออกมาเหมือนสูตรคณิตศาสตร์แบบ 1+1 = 2 บทโทรทัศน์ไม่มีความซับซ้อน เข้าใจง่าย โดยมี ดวงดาว จารุจินดา เป็นพิธีกรปูพื้นและสรุปผลกรรมแต่ละตอน จนแอบคิดว่าก็มีส่วนคล้ายกับแนนโน๊ะอยู่บ้าง เพียงแต่แนนโน๊ะเข้าไปร่วมสนุกในวิบากกรรมของตัวละครตัวอื่นๆ กับเขาด้วย รวมทั้งผลกรรมใน เด็กใหม่ ซีซัน 2 ก็มักออกมาแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน อย่างในอีพีแรกที่พูดถึงเรื่องการท้องในวัยเรียนของผู้หญิง ก็จบด้วยการให้ผู้ชายท้อง หรือขับรถชนคนอื่นตายก็้ต้องมาเจ็บปวดเพราะรถคว่ำในตอน มินนี่ 4 ศพ หรือเคยโดนกดขี่จากการถูกรับน้อง ก็ต้องมากลายเป็นรุ่นน้องที่โดนกดขี่เสียเอง ฯลฯ ทำให้มีหลายเสียงรู้สึกไม่ชอบเด็กใหม่ในซีซันนี้เอาเสียเลย 

 

 

ผู้เขียนเห็นด้วยในแง่ที่ว่าซีซันนี้ขาดความคมคายในการสร้างตัวละคร ต่างจากซีซันแรกที่ทำให้รู้ว่าความชั่วร้ายและผลกรรมอาจมีได้ในทุกรูปแบบและวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นครูหนุ่มผู้แสนดีอย่างครูวินในอีพีแรกของซีซัน 1 หรือสองสาวลูสเซอร์ ไอติมและแต้วในตอน ขอโทษ ขอโทษ ฯลฯ และผลกรรมอาจตกกับคนที่ไม่ได้มีความผิดอะไรอย่างยุ้ยในตอนความรักในโลกโซเชียล อีกทั้งผลกรรมก็อาจไม่ตามสนองในรูปแบบความรุนแรงทางร่างกาย แต่หมายถึงความทรมานในจิตใจ อย่างในตอน อัจฉริยะ และ Lost & Found รวมทั้งหลายๆ ตัวละครก็คือคนปกติธรรมดาที่ไปพบสถานการณ์จนเผยธาตุแท้ออกมา เพราะแนนโน๊ะไปเร่งปฏิกิริยา ความรู้สึกของคนดูจึงทั้งชอบ เกลียด และกลัวแนนโน๊ะไปพร้อมๆ กัน 

 

 

ส่วน เด็กใหม่ ซีซัน 2 เหยื่อของแนนโน๊ะมักเข้ามาในแบบที่มองปราดเดียวก็รู้ว่าเลว และแนนโน๊ะดูเหมือนจะเป็นฮีโร่ปราบเหล่าร้ายที่คนดูเอาใจช่วยเสียมากกว่า อาจจะเพราะว่าซีซันนี้ตั้งใจเอาปัญหาสังคมเชิงโครงสร้างมาใส่ในรั้วโรงเรียน ทุกอย่างเลยออกมาในโทนขาวจัด ดำจัด จนทำให้ขาดเสน่ห์แบบเดิมๆ ไป 

 

 

มาถึงข้อดีในซีซันนี้ตามความเห็นของผู้เขียนก็คือ การเอาปัญหาสังคมมาเล่าผ่านชีวิตนักเรียนนั่นแหละ แม้มันจะทำให้การสร้างตัวละครขาดเสน่ห์ไปบ้าง แต่ก็ทำให้คนดูได้ฉุกคิดว่าปัญหาต่างๆ ในเรื่อง คือเรื่องจริงที่ยังเกิดขึ้นจริงในโรงเรียนจนทุกวันนี้ จนเกิดคำถามว่าเรากำลังผลิตคนประเภทไหนเข้าสู่สังคมกันอยู่ และถ้าถอยห่างออกมามองให้กว้างขึ้นก็เห็นสังคมที่บิดเบี้ยวในหลายมิติ ซึ่งคิดว่าทีมผู้สร้างเองก็ค่อนข้างโฟกัสในเรื่องนี้เอามากๆ ทั้งสัญญะต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง อย่างภาพเทพีเธมิส เทพแห่งความยุติธรรมยืนเอียงๆ ในตอน มินนี่ 4 ศพ, การใช้สีขาวดำ การลงโทษที่ทำให้นึกถึงการปิดหู ปิดตา ปิดปากในตอน ห้องสำนึกตน รวมทั้งบทสนทนาที่กลายเป็นกระแสไวรัล ทั้ง พี่รู้ พี่มันเลว, การพิพากษาอาจจะไม่ได้อยู่ในศาล แต่อยู่ที่ว่าคุณมีเงินเท่าไร, พวกคนรวยส่วนใหญ่ก็มักมองคนจนแบบนี้ไม่ใช่เหรอ เป็นคนที่พวกเขาไว้ทำบุญ ทำทาน เป็นเครื่องประดับที่ทำให้พวกเขาดูเป็นคนดี ฯลฯ ส่วนนี้ช่วยดึงประสบการณ์ร่วมของคนดูให้เพลิน สะใจ จนเหมือนกลายเป็นแนนโน๊ะเสียเอง จนกระทั่งถึงอีพีที่ 7 ที่มีคำถามตอกหน้าจาก JennyX ว่าเธอทำผิดมากขนาดนั้นเชียวหรือ ทำไมต้องทำเธอขนาดนั้น และขยายความถึงอีพีสุดท้ายว่าเรามีสิทธิ์ขนาดไหนที่จะพิพากษาคนอื่น 

 

 

ซีซันนี้เราเริ่มเห็นแนนโน๊ะมีเลือดมีเนื้อมากขึ้น ทั้งจากการตั้งคำถามกับการกระทำต่างๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งการมาถึงของตัวละครยูริ ที่เป็นเหมือนฝาแฝดแต่พิพากษาด้วยวิธีการรวบรัดและรุนแรงกว่า เอาเข้าจริงก็คือผู้พิพากษาหลักที่ทำให้เหยื่อในหลายอีพีจบลงด้วยความรุนแรง ซึ่งถ้าหากไม่มียูริเราอาจได้เห็นผลกรรมที่ออกมาหลากหลายกว่านี้ก็เป็นได้

 

หลายกระแส ‘รำคาญ’ ตัวละครยูริ (จนถึงขั้นลามไปที่ตัวนักแสดงในเรื่องซึ่งไม่เกี่ยวเลย) คาแรกเตอร์แนนโน๊ะมีความแข็งแรงและมีเสน่ห์อยู่แล้ว เมื่อมีตัวละครอีกตัวพยายามขัดแข้งขัดขา แน่ละมันน่ารำคาญ ซึ่งก็เป็นไปตามความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากให้คนไม่ชอบยูริด้วย อีกอย่างก็คือการพยายามลอกเลียนคาแรกเตอร์บางอย่างของแนนโน๊ะ ดูแล้วก็ไม่ใช่ทางของ นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ที่รับบทนี้สักเท่าไร 

 

(ขวา) นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ในบทยูริ 

 

เราต่างมียูริในชีวิต คือมีคู่แข่งผู้พยายามจะเหมือนเราทุกอย่าง หรือบางทีเราอาจเป็นยูริเสียเอง คือพยายามเป็นอย่างคนอื่น โดยที่รู้ดีว่าไม่มีทางชนะ ทางที่ดีที่สุดก็คือการหาหนทางของตัวเอง ซึ่งก็เชื่อว่าเราคงได้พบกับยูริ และจุนโกะ อีกหนึ่งตัวละครที่เปิดตัวในอีพีสุดท้ายของซีซัน แต่กว่าจะถึงตรงนั้นก็อยากให้มีภาคแยกที่ทำให้เรารู้จัก และรักตัวละครสองคนนี้ก่อนที่จะได้ดู เด็กใหม่ ในซีซันต่อไป   

 

 

โดยรวมแล้วผู้เขียนคิดว่า เด็กใหม่ ซีซัน 2 ไม่ได้เลวร้าย และเมื่อรวมข้อดีข้อเสียกลับรู้สึกชอบด้วยซ้ำ เพราะไม่บ่อยนักที่คอนเทนต์ซีรีส์ของไทยจะลึกล้ำถึงขั้นให้คนดูคิดวิเคราะห์และถกเกียงกันอย่างสร้างสรรค์แบบนี้ และแอบภูมิใจเล็กๆ ที่ซีรีส์สัญชาติไทยเรื่องนี้ไปโด่งดังในหลายๆ ประเทศ เหมือนเป็นบทพิสูจน์อีกข้อว่าคนสร้างสรรค์คอนเทนต์ของไทยมีความสามารถมากพอที่จะแข่งขันในสังคมโลก 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising