กองทัพเมียนมาออกอากาศและเผยแพร่ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ระบุ ยอดผู้เสียชีวิตหลังรัฐประหารอยู่ที่ 258 ราย ส่วนใหญ่เป็น ‘ผู้ก่อจลาจล’ และเสียชีวิตจากการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ขณะพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตขององค์กรด้านสิทธิฯ เป็นตัวเลขที่มากเกินจริง
วันนี้ (22 เมษายน) องค์กรด้านสิทธิฯ อย่าง สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง (AAPP) ที่ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี ระบุว่า ตัวเลขที่กองทัพเมียนมาแถลงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง สิ่งที่กองทัพเมียนมาทำคือ พยายามปัดความรับผิดชอบต่อการประหัตประหารประชาชนชาวเมียนผู้บริสุทธิ์ รวมถึงพยายามทำลายและปกปิดหลักฐานที่สะท้อนความโหดร้ายป่าเถื่อนของตน
นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ AAPP เป็นหนึ่งในองค์กรด้านสิทธิฯ ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในเมียนมามาโดยตลอด มีการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด ตัวเลขผู้เสียชีวิต ตัวเลขผู้ถูกจับกุม รวมถึงตัดสินโทษ ระบุชื่อ อายุ ชื่อพ่อแม่ รวมถึงลักษณะหรือสาเหตุการเสียชีวิตอย่างชัดเจน โดยมีอีกอย่างน้อย 50 รายที่ยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ พร้อมโต้กลับกองทัพว่า ตัวเลขที่รายงานไม่ได้เป็นตัวเลขที่ถูกปรับแต่งให้ดูมากเกินจริงแต่อย่างใด
ล่าสุด มีผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 739 ราย ถูกจับกุมกลายเป็นนักโทษทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 3,331 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการตัดสินโทษแล้ว 76 ราย บางรายได้รับโทษประหารชีวิต โดยกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเดินหน้าสร้างบรรยากาศของความกลัวให้แผ่ขยายไปทั่วสังคมเมียนมาอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐประหารผ่านมานานเกือบ 3 เดือนแล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ภาพ: Thet Aung / AFP
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: