×

กสศ. เปิดตัว ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ สานฝันเด็ก ปวช.-ปวส. สร้างบุคลากรสายอาชีพชั้นนำ

โดย THE STANDARD TEAM
20.04.2021
  • LOADING...
ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ

วานนี้ (19 เมษายน) ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวถึงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทวีความรุนแรงขึ้น เด็กและเยาวชนในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลื่อนชั้นเรียนระดับต่างๆ แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองมากเพียงใดก็ตาม   

 

ดังนั้น ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จะเป็นหนึ่งในทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว และยังเป็นต้นแบบการลงทุนสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มีศักยภาพได้ศึกษาต่อในระดับสูง ให้ผลตอบแทนกลับสู่ประเทศไทยอย่างคุ้มค่า  

 

สืบเนื่องจากประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Student) หรือเด็กที่มีฐานะยากจนในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ แต่มีความรู้ความสามารถในระดับเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนดีในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุดประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มยากจน หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,111 คน จากการศึกษา OECD สำรวจเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีความคาดหวังต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 

 

แต่จากข้อเท็จจริง เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มต่ำสุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีโอกาสศึกษาต่ออยู่ที่ร้อยละ 32 หรือมีช่องว่างทางการศึกษาแตกต่างกันถึง 6 เท่า

 

เด็กกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านทุนการศึกษาให้เรียนต่อ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องออกนอกระบบการศึกษา หรือรับการศึกษาในมาตรฐานคุณภาพที่ไม่สามารถทำให้ศักยภาพได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ กลายเป็นแรงงานด้อยทักษะ ซึ่งจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์อันมีคุณค่าของประเทศไปอย่างน่าเสียดาย

 

ผลจากการวิจัยพบว่า การลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับสูง เป็นการสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพ และจะช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 10 และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคลต่อสถานประกอบการ และต่อสังคม และการลงทุนในลักษณะเช่นนี้ได้มีการทำในหลายๆ ประเทศ ที่เน้นการส่งเสริมให้คนกลุ่มน้อย คนยากจน คนชายขอบ ผู้ที่ไม่มีใครในครอบครัวเคยเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเลื่อนยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ (Generations)

 

แต่ระบบการศึกษาที่สนับสนุนสายอาชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง (ปริญญาตรี โท และเอก) มีน้อยกว่าสายสามัญ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ระบุว่า การศึกษาต่อในระดับสูงของนักศึกษาสายอาชีพมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ นักศึกษาที่จบระดับ ปวช. มีจำนวน  656,981 คน, จบ ปวส. จำนวน 362,161 คน และจบปริญญาตรี 9,819 คน ในขณะข้อมูลปี 2562 มีนักศึกษาสายอาชีพออกกลางคันถึง 80,000 คนต่อปี

 

ดังนั้น กสศ. จึงริเริ่มทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ ซึ่งเป็นทุนแรกของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เยาวชนช้างเผือกที่มีศักยภาพสูงและขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ระดับ ปวช. และ ปวส. ได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ประเทศไทย 4.0 โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนหากเรียนจนจบการศึกษา  

 

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับระบบหนุนเสริมนักศึกษารายบุคคล (Individual Development) ทั้งทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ, ทักษะในศตวรรษที่ 21, ทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills) อีกด้วย ถือเป็นการพัฒนาต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง ทำนองเดียวกับหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์

 

โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อทุน ‘ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ’ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับทุนศึกษาอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นแบบบุคลากรสายอาชีพชั้นนำของประเทศ เป็นผู้นำที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ ยกระดับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพ ที่สามารถเติบโตเป็นนักวิจัย ผู้ประกอบการ มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้น

 

สำหรับทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ดำเนินงานเป็นปีที่ 3 ศักยภาพของนักศึกษาทุนที่ผ่านมานั้น ทุกคนมีเกรดเฉลี่ยสะสมดีมาก GPAX ตั้งแต่ 3.00-3.99 และยังได้คิดค้นโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ โดยได้เข้าร่วมและมีผลงานการประกวดนวัตกรรมอาชีวศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ เช่น  

 

  • การประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ประเภทสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ เช่น ผลงานเครื่องดูดรังนกด้วยระบบสุญญากาศ  
  • การแข่งขันทำโครงงานระดับชาติ ผลงานเครื่องแลกเหรียญ 2 ระบบอัตโนมัติ   
  • การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรระดับภาค ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ผลงานผลิตภัณฑ์อาหารชาใบขลู่เสริมสมุนไพร   
  • การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรของคนรุ่นใหม่ระดับภาค ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ผลงานทรีตเมนต์บำรุงผมรังไหม

 

สำหรับแผนอนาคตนั้น พวกเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะศึกษาต่อในระดับสูงกว่าระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพเป็น นักวิจัย นักวิชาการ ครู อาจารย์  (เช่น ด้านดิจิทัล ประมง เกษตร) เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (เช่น วิศวกร โปรแกรมเมอร์) และเป็นเจ้าของกิจการ  

 

นอกจากนี้ ในระหว่างเรียน นักศึกษาทุกคนยังมุมานะทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เนื่องจาก 1 ใน 4 ของครอบครัวนักศึกษานั้นขาดเสาหลักของครอบครัวอย่างพ่อหรือแม่ โดยร้อยละ 36 ของครอบครัวนักศึกษาอยู่ในสถานะหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ชั่วคราว ขณะที่พ่อแม่ของนักศึกษาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาเป็นเกษตรกร ค้าขาย และลูกจ้างในโรงงานหรือสถานประกอบการ และหลายคนว่างงานหรือถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X