ค่ำคืนวันที่ 17 มีนาคม การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำลง หลังเสียเวลาและงบประมาณประชุมกันตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระที่ 3 ผ่านการประชุมในวาระแรกถึง 2 ครั้ง เพราะต้องเสียเวลาตั้งกรรมาธิการศึกษา ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าตั้งใจเตะถ่วง จนในที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันเสนอก็แท้งไป เหลือเส้นทางให้เลือกเดินใหม่ตามระบบ 2 แนวทาง
- 23-24 กันยายน 2563 ประชุมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ (ฝ่ายค้าน 5 ญัตติ รัฐบาล 1 ญัตติ) จบด้วยเสียงวิจารณ์ซื้อเวลา ตั้งกรรมาธิการศึกษา 30 วันก่อนลงมติวาระแรก
- กรรมาธิการศึกษา 30 วัน
- 18 พฤศจิกายน 2563 ประชุมรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรก ร่างของฝ่ายค้าน-รัฐบาล เปิดทางตั้ง สสร. ตีตกร่าง iLaw
- ตั้งกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
- 9 กุมภาพันธ์ 2564 ส.ส. รัฐบาล และ ส.ว. จับมือยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปมอำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
- 17 มีนาคม 2564 รัฐสภาหักโหวตคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3
สำหรับเส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้สามารถประเมินทางเลือกที่เหลืออยู่ได้ 2 เส้นทางคือ
ทางไปต่อ 1: เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในสมัยประชุมหน้า (22 พฤษภาคม ถึง 18 กันยายน 2564)
ทางไปต่อ 2: ทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล