×

หุ้นธนาคารและประกันปรับตัวขึ้นโดดเด่น หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่งจากถ้อยแถลง Fed วานนี้

05.03.2021
  • LOADING...
หุ้นธนาคารและประกันปรับตัวขึ้นโดดเด่น หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่งจากถ้อยแถลง Fed วานนี้

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวานนี้ (4 มีนาคม) อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 7 bps DoD สู่ระดับ 1.557% หลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แถลงว่าการที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นในระยะสั้น และยังแสดงความกังวลต่อความผันผวนของตลาดตราสารหนี้และภาวะตึงตัวทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของ Fed แต่พาวเวลล์ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการควบคุมกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้นักลงทุนในตลาดมีความผิดหวังต่อประเด็นนี้

 

กระทบอย่างไร: 

จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เมื่อวานนี้ส่งผลให้ในวันนี้ (5 มีนาคม) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น 2.69 bps สู่ระดับ 1.881% นอกจากนี้หุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มประกันภัยยังปรับตัวขึ้นดีกว่า SET Index นำโดยราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เพิ่มขึ้น 5.93%DoD, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มขึ้น 3.46%DoD, บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้น 2.76%DoD, ธนาคารทหารไทย (TMB) เพิ่มขึ้น 1.74%DoD, ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้น 1.61%DoD, ธนาคารกรุงไทย (KTB) เพิ่มขึ้น 0.83%DoD, บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เพิ่มขึ้น 0.93%DoD และ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) เพิ่มขึ้น 0.63%DoD

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จะเป็นปัจจัยบวกเชิงเซนทิเมนต์ต่อหุ้นกลุ่มธนาคารในระยะสั้น เนื่องจากตลาดมีความคาดหวังว่าอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อและเงินลงทุนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนเงินทุน (เงินฝากธนาคาร) จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่า ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรของธนาคารดีขึ้น 

 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจประกันภัยจะได้อานิสงส์ทางตรงจากผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

มุมมองระยะยาว:

ในช่วงถัดไปต้องติดตามการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งหากสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะมุมมองต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น และการใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X