“ต่อไปนี้เธอไม่ใช่ลูกฉัน!” ประโยคนี้อาจเหมือนบทซีรีส์ดราม่าเกาหลีมากกว่าเรื่องจริง แต่นี่คือประโยคที่คิมซูกึน-พ่อของคิมซองจู พูดกับเธอทางโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศ เหตุเกิดจากการที่ลูกสาวแชบอลตระกูลใหญ่อย่างเธอปฏิเสธการคลุมถุงชนที่พ่อแม่จัดหาให้ หนำซ้ำเธอยังเลือกแต่งงานกับแฟนต่างชาติที่คบหากันไม่นาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ตระกูลใหญ่เช่นอาณาจักร ‘แดซองกรุ๊ป’ ย่อมยอมรับไม่ได้ คิมซองจูในวัยปลาย 20 จึงถูกตัดขาดจากตระกูล สถานะ ‘เจ้าหญิงแชบอล’ หายวับไปกับตา และตอนนั้นเธอเหลือเงินในบัญชีประมาณ 50,000 บาทเท่านั้น
ทั้งหมดในย่อหน้าด้านบน คือเหตุการณ์ต้นยุค 80 ที่เกาหลีใต้ยังถูกครอบงำด้วยแนวคิดปิตาธิปไตย และผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการยอมรับให้รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว
ปี 1985 คิมถูกตัดขาดจากทางบ้าน หุ้นของอาณาจักร ‘แดซองกรุ๊ป’ ที่ทำธุรกิจด้านพลังงานก็ไม่มีการแบ่งมาให้เธอสักหุ้น เธอมีเงินเหลือติดบัญชี 5 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น แต่สิ่งที่คิมมีคือวุฒิการศึกษาจาก LSE รวมถึงความรู้จากฮาร์วาร์ด พร้อมความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิง แม้จะไม่มีใบบุญพ่อให้พึ่งพา แต่เธอจะพาตัวเองฉายแสงให้ได้
ด้วยความที่ตอนนั้นคิมอยู่ที่อเมริกาพอดี เธอจึงตัดสินใจเริ่มต้นอาชีพแรกที่กรุงนิวยอร์ก โดยการสมัครทำงานด้านแฟชั่นที่ห้าง Bloomingdale’s แม้ตลอดชีวิตจะไม่เคยศึกษาด้านแฟชั่นมาก่อน แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจและความฉลาดด้านธุรกิจที่ฉายออกมา (ส่วนหนึ่งอาจถูกบ่มเพาะจากครอบครัว) ทำให้ มาร์วิน ทรอบ (Marvin Traub) รับเธอเข้าทำงาน ณ ห้างแห่งนี้ (ต่อมาทรอบกลายเป็นประธานของห้าง) ที่นี่เองที่คิมได้เรียนรู้เกี่ยวกับแบรนด์แฟชั่นหรูจากต่างประเทศ ได้ลับคมฝีมือด้านการตลาด การขาย และการปรับแบรนด์ให้เข้ากับตลาดโลคัล จนเธอมีเขี้ยวเล็บและพร้อมฉายแสงแล้ว
ภาพจากงาน Vogue Salon – Der Berliner Salon AW 18/19
เครดิตภาพ: Andreas Rentz/Getty Images for Der Berliner Salon
ปี 1988 เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งโอลิมปิก ขณะเดียวกันเศรษฐกิจเกาหลีก็เริ่มเฟื่องฟูและผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น แบรนด์แฟชั่นหรูหลายแบรนด์จึงเริ่มหันมาสนใจตลาดเกาหลี ในช่วงนี้เองที่คิมตัดสินใจบินกลับประเทศบ้านเกิด เธอก่อตั้งบริษัทของตนเอง ชื่อ Sungjoo Group ในปี 1990 และมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Gucci ซึ่งตัดสินเลือกร่วมงานกับเธอเพราะมองว่า 1. เธอคือลูกสาวแชบอลที่น่าจะมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันดีกับคนดังมากหน้าหลายตา 2. เธอเคยทำงานด้านแฟชั่นกับห้าง Bloomingdale’s มาก่อน และ 3. เธอดูเป็นคนเก่งและชาญฉลาด ซึ่งคิมเคยเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า ข้อสองและสามนั้นเป็นจริง แต่ข้อหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่คนอื่นคิดเอาเอง เพราะเรื่องจริงคือครอบครัวตัดญาติขาดมิตรกับเธอแล้ว
ภาพเปิดช็อป MCM Boutique Opening ที่ The Plaza Retail Collection ในนิวยอร์กปี 2008
เครดิตภาพ: Mike Coppola/WireImage
ในต้นยุค 1990 Sungjoo Group ของคิมถือเป็นทัพหน้าในการนำพาแบรนด์แฟชั่นหรูต่างประเทศมาบุกตลาดเกาหลีใต้ รวมถึงขยายไปยังตลาดเอเชียอื่นๆ เช่น จีนและฮ่องกง แบรนด์ที่ไว้วางใจร่วมงานกับ Sungjoo Group มีตั้งแต่ Mark & Spencer, Sonia Rykiel, Yves Saint Laurent รวมถึง Gucci ครั้นในปี 1992 แบรนด์เยอรมันอย่าง MCM ได้ปรึกษาคิมเรื่องการบุกตลาดเอเชีย ด้วยภาพลักษณ์ของ MCM ในยุคนั้นที่ยังไม่ดูหรูพอในตลาดแฟชั่นโลก คิมจึงให้คำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่าตลาดเอเชียคงเป็นเรื่องยากสำหรับ MCM “ทำไมเราไม่เป็นพันธมิตรกันล่ะ” คิมยื่นข้อเสนอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่าง Sungjoo Group กับ MCM
การสร้างเนื้อสร้างตัวของคิมและ Sungjoo Group ในตลาดเกาหลีใต้นั้นใช่ว่าจะปูพรมด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง โดยหลังจากขาขึ้นในต้นยุค 90 ที่พาแบรนด์แฟชั่นหรูบุกเบิกตลาดเอเชียจนได้รับการยอมรับ แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 1997 Sungjoo Group ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทของคิมสูญเงิน 30 ล้านดอลลาร์ภายในข้ามคืน แต่เลือดนักสู้ในตัวคิมนั้นเข้มข้นขั้นสุด เนื่องจากไม่กี่ปีก่อน Sungjoo Group ในฐานะผู้นำเข้าแบรนด์ Gucci ในตลาดเกาหลี ได้สร้างช็อป Gucci ให้ยิ่งใหญ่และมียอดขายสูง คิมจึงเจรจาให้ทาง Gucci มาซื้อช็อปกลับไป ซึ่งผลการเจรจาหนนั้น Gucci ยอมจ่ายเงินให้ Sungjoo Group จำนวน 27 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิมได้ใช้เงินจำนวนนั้นในการตั้งต้นธุรกิจใหม่ แม้สภาพเศรษฐกิจสังคมของเอเชียหลังวิกฤตต้มยำกุ้งจะไม่ค่อยเป็นใจนักก็ตาม
ภาพจากโชว์ MCM x Christopher Raeburn SS17
เครดิตภาพ: Ian Gavan/Getty Images for Christopher Raeburn
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คิมหันมาโฟกัสกับแบรนด์ MCM มากขึ้น ก่อนที่ต่อมาในปี 2005 จะตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ MCM อย่างเป็นทางการ และเริ่มใช้คนดังในแถบเอเชียให้มาโปรโมตแบรนด์มากขึ้น สินค้าเด่นของ MCM คือ กระเป๋าเป้สะพายหลัง ซึ่งคิมใช้ทักษะธุรกิจอันเฉียบคมของเธอในการสร้างกระเป๋าเป้ MCM ให้กลายเป็น The Must Item ที่คนดังฝั่งเอเชียเลือกใช้ ตั้งแต่ดารานักแสดงและไอดอลเกาหลี ดารานักแสดงจีนและคนดังฝั่งฮ่องกง ไปจนถึงผู้มีชื่อเสียงฝั่งญี่ปุ่น นอกจากนี้ในปี 2011 เธอยังสร้างช็อป MCM ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในช็อปที่เป็นหมุดหมายของนักช้อปทั่วเอเชีย
ภาพจากงาน MCM Rodeo Drive Store Grand Opening Event
เครดิตภาพ: Vivien Killilea/Getty Images for MCM
ปัจจุบัน แบรนด์ MCM ที่นักธุรกิจเกาหลีอย่างคิมดูแลอยู่นั้น ขยายช็อป MCM ไปมากกว่า 400 สาขา ใน 15 ประเทศทั่วโลก และตั้งเป้าทำยอดขายให้ได้ปีละ 2 พันล้านดอลลาร์ (เป้าหมายก่อนโควิด-19 ระบาด) ยอดขายส่วนใหญ่มาจากตลาดเอเชีย 70% และอีก 30% มาจากตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา
ด้วยผลงานการทำธุรกิจที่โดดเด่น ทำให้คิมได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นแบบนักธุรกิจหญิงจากหลากหลายองค์กร เช่น ปี 1997 ได้รับเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็น Global Leader of Tomorrow, ปี 2009 ได้รับรางวัล Ethics in Business จาก EU, ปี 2012 ได้รับเลือกให้อยู่ในลิสต์ Top 50 นักธุรกิจหญิงเอเชีย จาก Forbes รวมถึงได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน Asia’s 25 Hottest CEO จากนิตยสาร Fortune ในปีเดียวกันด้วย
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าชีวิตของคิมจะไม่เจอกับข้อวิพากษ์จากสังคมเลย ความที่เธอเคยรับบทบาทเป็นประธานร่วมในคณะทำงานของอดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเย อีกทั้งคิมยังสนิทกับชเวซุนซิล ซึ่งเป็นคนของพัคกึนฮเยที่โดนข้อหาทุจริต ทำให้มีข้อครหาว่าทาง Sungjoo Group อาจจะได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากสายสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองในยุคอดีตประธานาธิบดีพัค คณะกรรมาธิการแฟร์เทรดของเกาหลีใต้จึงทำการตรวจสอบเรื่องนี้ ก่อนจะเปิดเผยว่าเป็นแค่ความเข้าใจผิด
เครดิตภาพ: Amy Sussman/Getty Images for Marie Claire
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคดีทุจริตของอดีตประธานาธิบดีพัคนั้นเป็นคดีดังที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของนักธุรกิจใหญ่ในเกาหลีใต้จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงชื่อเสียงของ ‘คิมซองจู’ ที่ต้องมัวหมองลงด้วย หลัง Sungjoo Group ถูกตรวจสอบ เธอจึงหลีกเลี่ยงการออกสื่อนับจากนั้น
ปัจจุบัน คิมอายุ 65 ปี ตำแหน่งปัจจุบันคือ ประธาน และ Chief Visionary Officer ของ Sungjoo Group รวมถึงกุมบังเหียนดูแล MCM ในตลาดทั่วโลกด้วย แม้ในช่วงหลังอาณาจักร MCM จะไม่โดดเด่นเท่าแต่ก่อน ทั้งยังเจอผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด แถมตัวเธอยังเจอวิกฤตชื่อเสียงมัวหมอง ทว่าอย่าเพิ่งประมาทเขี้ยวเล็บของผู้หญิงคนนี้ไปเสียล่ะ
เพราะวิกฤตต่างๆ ที่เธอเจอมาตลอดชีวิต มันฉายชัดมากว่า เธอแกร่งและเก่งในการอยู่รอด
มาจับตาดูกันว่า นักธุรกิจหญิงที่เคยแหกกฎตระกูลแชบอลอย่างเธอ จะพลิกเกมและพา Sungjoo Group กลับมาฉายแสงอีกครั้งได้เมื่อไรกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://youtu.be/QnZQwkuXuNs
- https://www.thenationalnews.com/lifestyle/fashion/kim-sung-joo-is-elegantly-disrupted-1.745572
- https://en.wikipedia.org/wiki/Kim_Sung-joo_(entrepreneur)
- https://aeworld.com/fashion/boss-lady-ms-kim-sung-joo/
- https://www.kimsungjoo.com/en/about/ceo.asp
- https://en.wikipedia.org/wiki/MCM_Worldwide
- https://book.naver.com/bookdb/book_detail.nhn?bid=67003
- https://www.theretailsummit.com/all-insights/sung-joo-kim
- https://jmagazine.joins.com/forbes/view/288779
- https://www.cnbc.com/video/2014/06/03/cnbc-meets-sung-joo-kim-part-one-.html
ในปี 2000 คิมซองจูเคยออกหนังสือธุรกิจชื่อ Wake Up Call: A Beautiful Outcast มีส่วนหนึ่งที่วิพากษ์ปิตาธิปไตยที่ขับเคลื่อนธุรกิจใหญ่ในเกาหลี นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่ปลุกปลอบขวัญและให้กำลังใจผู้หญิงในการลุกมาทำธุรกิจด้วย