×

รู้จัก เซิ่นอี๋ฉิน สตรีหนึ่งเดียวในคณะมนตรีแห่งรัฐ กับกำแพงการเมืองจีนที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่

14.03.2023
  • LOADING...

เซิ่นอี๋ฉิน อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกุ้ยโจว ได้สร้างประวัติศาสตร์ก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง 1 ใน 5 มนตรีแห่งรัฐของจีน (State Councillor) ซึ่งถือเป็นสตรีผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองเมื่อดูจากกลไกการบริหารปกครองของจีน

 

โดยการแต่งตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้มีขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนได้เปิดเผยรายชื่อของสมาชิกโปลิตบูโร 24 คนที่เป็นชายล้วนครั้งแรกในรอบ 20 ปี การเปิดตัวในตำแหน่งใหม่ของเซิ่นอี๋ฉินจึงถือเป็นหนึ่งในประกายความหวังที่สว่างวาบขึ้นมาว่า ระบบการเมืองจีนยังอาจพอมี ‘ที่ว่าง’ ให้กับผู้หญิง ท่ามกลางวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่ผสานตัวอยู่ในสังคมจีนมาอย่างเหนียวแน่นนานหลายศตวรรษ

 

THE STANDARD ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเซิ่นอี๋ฉิน ว่าเธอเป็นใคร มีเส้นทางชีวิตเป็นอย่างไรถึงได้ไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง และอนาคตของผู้หญิงในระบบการเมืองจีนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

เซิ่นอี๋ฉินคือใคร

 

เซิ่นอี๋ฉิน วัย 63 ปี เป็นสตรีที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไป๋ (Bai) โดยเธอก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกุ้ยโจวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้ารับบทบาทใหม่ โดยที่ผ่านมานั้นเซิ่นอี๋ฉินเดินบนถนนสายการเมืองด้วยการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดในมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทผู้นำในสถาบันการศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์ และการทำงานในหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเมืองและกฎหมายของกุ้ยโจว

 

นอกจากนี้เซิ่นอี๋ฉินยังเป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของมณฑลกุ้ยโจว ภายหลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 เธอก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกุ้ยโจว ส่งผลให้เธอกลายเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ระดับมณฑล

 

ทั้งนี้ ในวันที่ ซุนชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรี ก้าวลงจากตำแหน่ง มีกระแสคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าเซิ่นอี๋ฉินจะถูกปรับตำแหน่งให้ก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกของโปลิตบูโรและรับหน้าที่แทนซุนชุนหลาน ถึงแม้ในท้ายที่สุดเซิ่นอี๋ฉินจะไม่สามารถไต่ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ดังกล่าวได้ แต่เช่นนั้นเธอก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีสัดส่วนของผู้หญิงอยู่ที่เพียง 5% จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 205 คน

เส้นทางชีวิตหญิงแกร่งแดนมังกร

 

เซิ่นอี๋ฉินเกิดในเขตจื้อจิน (Zhijin) ของมณฑลกุ้ยโจว โดยเธอสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกุ้ยโจว และเริ่มทำงานในสถาบันการศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1982 ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรองอธิการบดีในปี 1995 หลังจากนั้นเธอได้ไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ระดับมณฑลในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990

 

ในเวลาต่อมา เธอได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเขตปกครองตนเองของชนชาติเฉียนหนาน (Qiannan) ปู้อี (Buyei) และแม้ว (Miao) ในมณฑลกุ้ยโจว ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2001 ก่อนที่จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำถงเหริน (Tongren) ซึ่งเป็นเมืองในมณฑลกุ้ยโจวในช่วงต้นปี 2003

 

ต่อมาในเดือนเมษายน 2007 เซิ่นอี๋ฉินซึ่งมีอายุ 47 ปีในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ระดับมณฑล (Provincial Party Standing Committee) โดยได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาอยู่ในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการ นอกจากนี้เธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ระดับมณฑลในเดือนต่อมา ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นกรรมการเสริม (Alternate Member) ของคณะกรรมการกลางชุดที่ 17

 

ต่อมาในปี 2012 เซิ่นอี๋ฉินได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจว และเป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการกิจการการเมืองและกฎหมายของมณฑลในปี 2015 หลังจากนั้นต่อมาอีก 3 ปี เธอก็ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจว ส่วนในปี 2020 เธอได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกุ้ยโจว ส่งผลให้เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่เคยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าว

ผู้จงรักภักดี

 

นักวิเคราะห์มองว่า หนึ่งในจุดเด่นที่สำคัญของเซิ่นอี๋ฉินคือความจงรักภักดีที่มีต่อสีจิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์ โดยในการประชุมระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับมณฑลเมื่อเดือนธันวาคม 2022 เธอได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ทุกๆ คนจะต้องมีความภักดีต่อผู้นำระดับสูง โดยกล่าวว่า “ความภักดีต่อบรรดาผู้นำกลายเป็นลักษณะทางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และผู้ปฏิบัติงานในกุ้ยโจว และเป็นสีสันทางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของนิเวศวิทยาการเมืองของกุ้ยโจว”

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของเธอก็เคยเกิดจุดด่างพร้อยขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการสกัดโควิดที่เข้มงวดทั้งในระดับมณฑลและในระดับประเทศได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างหนัก บวกกับในกุ้ยโจวเคยเกิดเหตุที่รถบัสซึ่งบรรทุกประชาชนหลายสิบคนไปยังศูนย์กักตัวเกิดอุบัติเหตุรถชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 27 คน และบาดเจ็บอีก 20 คน ซึ่งโหมกระพือความโกรธแค้นให้ปะทุขึ้นในหมู่ชาวกุ้ยโจวอย่างมาก

 

มาในวันนี้ เซิ่นอี๋ฉินได้รับการเลือกให้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐของจีน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความอาวุโสต่ำกว่ารองนายกรัฐมนตรีแต่สูงกว่ารัฐมนตรี โดยมีบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบกำกับดูแลงานของกระทรวงต่างๆ อย่างไรก็ตาม เธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ยังต้องเจอกับอุปสรรคที่ ‘ไม่อาจก้าวข้ามไปได้’ หรือก็คือการไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่านี้อาจเป็นเรื่องที่มีโอกาสค่อนข้างต่ำ เนื่องจากระบบการเมืองและวัฒนธรรมของจีนนั้นมีความผูกพันกับแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่นั่นเอง

โอกาสของสตรีบนเส้นทางการเมืองจีน

 

เคอร์รี บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านจีนแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ในกรณีของเซิ่นอี๋ฉินนั้น เธอมีประสบการณ์ในด้านการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) และการสร้างพรรคมาก่อน ทั้งยังมีอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกับสมาชิกโปลิตบูโรหลายคนที่เพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งไป เช่น ไช่ฉี (Cai Qi) ซึ่งเป็นคีย์แมนเบอร์ 5 ประจำโปลิตบูโร หวังฮู่หนิง (Wang Huning) สมาชิกเบอร์ 4 ของโปลิตบูโร นักทฤษฎีคนสำคัญของพรรคที่เขียนนโยบายให้ทั้งสีจิ้นผิง หูจิ่นเทา และ เจียงเจ๋อหมิน รวมถึง ติงเซวียเสียง (Ding Xuexiang) คีย์แมนเบอร์ 6 อีกหนึ่งพันธมิตรคนสำคัญของสีจิ้นผิงที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์

 

บราวน์กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทำงานในพรรคคอมมิวนิสต์น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เธอก้าวมาอยู่จุดนี้ได้ และดูเหมือนว่าตัวสีจิ้นผิงเองก็ชื่นชอบคนที่มีประสบการณ์การทำงานในระดับท้องถิ่นอย่างโชกโชนมากเป็นพิเศษ

 

เซิ่นอี๋ฉินได้ทำงานภายใต้สังกัดของ ลี่จ้านซู (Li Zhanshu) ประธานคณะกรรมการถาวรประจำสภาประชาชนแห่งชาติ รวมถึง เฉินหมินเออร์ (Chen Miner) และ จ้าวเค่อจื้อ (Zhao Kezhi) ซึ่งล้วนเป็นพันธมิตรคนสำคัญของสีจิ้นผิง ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในมณฑลกุ้ยโจว นอกจากนี้อดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทาก็เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกุ้ยโจวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 1985

 

ในระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกุ้ยโจว และผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจวนั้น เธอได้แก้ปัญหาเรื่องของความยากจนในท้องถิ่น รวมถึงโครงการด้าน Big Data และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย

 

อย่างไรก็ตาม วิกเตอร์ ชิห์ (Victor Shih) รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวว่า การดำรงตำแหน่ง 1 ใน 5 มนตรีของรัฐของเซิ่นอี๋ฉิน นับเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน เส้นทางอาชีพของเธอตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ‘ผู้หญิงจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย’ หรือถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเพศอยู่

 

ชิห์กล่าวว่า ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ซึ่งได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลนั้นมีประสบการณ์ในตำแหน่งสูงสุดของแต่ละมณฑลมาก่อน แต่สำหรับเซิ่นอี๋ฉินนั้นเธอไม่เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดของมณฑลกุ้ยโจวมาก่อนเลย โดยชิห์มองว่า การที่ผู้หญิงจะได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งสูงสุดในระดับเขตและมณฑลนั้นถือเป็นกรณีที่พบได้ยากมากในจีน ซึ่งมีสังคมแบบชายเป็นใหญ่

 

ชิห์กล่าวว่า สำหรับเซิ่นอี๋ฉิน เธออาจไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งใหญ่กว่านี้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ ด้วยข้อจำกัดที่ว่าเธอไม่ได้เป็นสมาชิกในโปลิตบูโร ซึ่งแปลว่าเธอจะไม่มีอำนาจทางการเมืองมากพอที่จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับมณฑลหรือระดับรัฐมนตรีให้ทำตามคำสั่งของเธอได้ ซึ่งนี่ก็อาจทำให้ผู้คนติเตียนเธอได้ว่าเป็นมนตรีแห่งรัฐที่ ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ ซึ่งชิห์มองว่ามันไม่ยุติธรรม เพราะเธอถูกขัดขวางโอกาสนั้นมาตั้งแต่ต้น

 

เฉินหมิงลู่ อาจารย์อาวุโสแห่งคณะสังคมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยซิดนีย์ และศูนย์จีนศึกษา กล่าวว่า แวดวงการเมืองจีนเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงในสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับความก้าวหน้าทางอาชีพการงานในระบบการเมืองของผู้ชาย

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนไม่เคยคัดเลือกสตรีให้ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกของโปลิตบูโรเลย (ยกเว้นแต่บรรดาภรรยาของผู้นำการปฏิวัติ) จนกระทั่งในปี 2002 เป็นครั้งแรกที่จีนได้เลือกให้ผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามานั่งเก้าอี้สมาชิกโปลิตบูโร ซึ่งมีทั้งหมด 24 คน และหลังจากนั้นอีกประมาณ 10 ปี จีนก็ได้เพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงเป็น 2 คนในโปลิตบูโรชุดเดียวกัน

 

และถึงแม้ในประวัติศาสตร์จะมีผู้หญิงแค่ไม่กี่คนที่ก้าวไปถึงจุดนั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเธอก็ได้รับแต่บทบาทที่สอดคล้องกับเพศของตัวเอง เช่น ดูแลปัญหาของสตรีโดยเฉพาะ รวมถึงงานที่ไม่มีความโดดเด่นมากเท่ากับเพศชาย

 

เฉินหมิงลู่กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้หญิงในระบบการเมืองจีนนั้นไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะ ‘มันไม่เคยอยู่ในระดับที่เรียกว่าดี’ มาแต่ไหนแต่ไร

 

เจียงซินฮุย รองศาสตราจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า มีปัจจัยหลายอย่างรวมกันที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้ผู้หญิงเติบโตไปได้มากกว่านี้ ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดทางสถาบันและวัฒนธรรมของจีนด้วย เพราะสำหรับผู้หญิงแล้ว การจะรับโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ๆ ที่จะเป็นรากฐานให้พวกเธอไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่านั้นเป็นเรื่องยากกว่าชาย เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของการย้ายถิ่นฐานด้วย เนื่องจากในสังคมจีนผู้หญิงยังมีหน้าที่ที่ต้องปรนนิบัติดูแลครอบครัวของตัวเองด้วย ทำให้เป็นเรื่องยากที่พวกเธอจะสามารถย้ายที่อยู่ตามงานที่ตัวเองได้รับการโปรโมต

 

แต่ถึงเช่นนั้น เจียงซินฮุยมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากเฉินหมิงลู่ เพราะเธอกล่าวว่าตัวเองคิดว่าผู้หญิงในจีนมีโอกาสทางการเมืองมากขึ้น เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2017 จะเห็นได้ว่าสัดส่วนข้าราชการใหม่ในจีนเป็นหญิงมากกว่าชาย

 

“แต่ถึงแบบนั้นฉันก็ยังมีความกังวลอยู่ว่ามันจะกลายเป็นพีระมิดสามเหลี่ยมที่ผู้หญิงจำนวนมากเป็นฐาน เพราะได้รับแต่ตำแหน่งที่ต่ำกว่า ขณะที่สัดส่วนของผู้หญิงที่ไต่ขึ้นไปอยู่พีระมิดชั้นบนๆ นั้นน้อยเหลือเกิน” เจียงซินฮุยกล่าว

 

ส่วนบราวน์กล่าวว่า แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายประเทศที่ผู้หญิงเผชิญกับความไม่ก้าวหน้าทางการเมืองในลักษณะนี้ แต่จีนดูเหมือนว่าจะล้าหลังกว่ามาก เพราะพรรคคอมมิวนิสต์มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ยึดติดกับสังคมชายเป็นใหญ่ และขาดความหลากหลายในพรรค ซึ่งระบบที่เข้มแข็งดังกล่าวได้ขัดขวางความก้าวหน้าของสตรี ทั้งที่จริงแล้วตอนนี้จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติ ซึ่งต้องการมุมมองที่แตกต่างของบรรดาผู้นำที่ควรเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากกว่านี้

 

แต่ดูเหมือนว่าในเวลานี้จีนจะต้องการคนแค่ประเภทเดียว และมีแนวทางเดียวในการบริหารประเทศ

 

แฟ้มภาพ: Guizhou Daily official Wechat account Via China Daily

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising