สหราชอาณาจักรกำลังจะเริ่มการศึกษาที่เรียกว่า ‘Human Challenge Study’ โดยให้อาสาสมัครจำนวน 90 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี ได้รับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ระบุว่า ‘ปลอดภัย’ และ ‘อยู่ภายใต้การควบคุม’ ภายในหนึ่งเดือนข้างหน้า เพื่อเพิ่มความเข้าใจว่าไวรัสส่งผลกระทบต่อมนุษย์ได้อย่างไร
ทั้งนี้ กระทรวงธุรกิจ พลังงาน และกลยุทธ์อุตสาหกรรม (BEIS) ของสหราชอาณาจักร ระบุผ่านแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า การศึกษาดังกล่าวซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมเกี่ยวกับการทดสอบทางคลินิกของสหราชอาณาจักรแล้ว และการศึกษาในเบื้องต้นนี้ยังจะช่วยให้แพทย์เข้าใจว่าระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อไวรัสอย่างไร และระบุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแพร่เชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึงวิธีที่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่เชื้อเข้าสู่สิ่งแวดล้อม
แม้การทดลองในลักษณะนี้จะเป็นครั้งแรกของโลกกับโควิด-19 แต่ก็ไม่จัดว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะเคยมีการทดลองในลักษณะนี้กับโรคอื่นมาแล้ว เช่น อหิวาตกโรค, ไทฟอยด์, มาลาเรีย หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่
ผู้สนับสนุนการศึกษาในลักษณะนี้ระบุว่า การศึกษาแบบนี้มีประสิทธิภาพมากกว่า อาศัยจำนวนอาสาสมัครที่น้อยกว่ามาก เนื่องจากนักวิจัยทราบแน่ชัดว่าทุกคนจะต้องได้รับเชื้อไวรัส รวมถึงยังสามารถให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้รวดเร็วขึ้น ทว่า นักวิจารณ์หลายคนแสดงความกังวลถึงการได้รับเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวิธีการรักษาแบบที่ปลอดจากความล้มเหลว และกล่าวว่าผู้ที่มีอายุน้อยและมีสุขภาพดีนั้นไม่ใช่ตัวแทนของประชากรในวงกว้าง
BEIS กล่าวว่า ไวรัสที่ใช้จะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 แทนที่จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ โดยเน้นย้ำว่า ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความเสี่ยงต่ำในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า บรรดานักวิจัยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Royal Free Hospital และ North Central London Adult Critical Care Network ซึ่งเป็นเครือข่ายเกี่ยวกับการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และอยู่ในภาวะวิกฤต เพื่อให้มั่นใจว่าการศึกษาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ในการดูแลผู้ป่วยในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หลังจากการทดสอบในระยะเริ่มต้น อาสาสมัครจำนวนไม่มากนักจะได้รับวัคซีนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยในการทดลองทางคลินิก เพื่อช่วยในการระบุวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
“การศึกษาการติดเชื้อในมนุษย์ไม่เพียงแต่จะช่วยเร่งการพัฒนาวัคซีนเท่านั้น แต่ข้อมูลจากการศึกษานี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกสำคัญๆ ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรตั้งแต่ในทันทีที่เราติดเชื้อ ซึ่งอาจมีส่วนในการให้ข้อมูลในการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาใหม่ๆ” ดร.ชาร์ลี เวลเลอร์ หัวหน้าฝ่ายวัคซีนของ Wellcome มูลนิธิการกุศลระดับโลกในสหราชอาณาจักร กล่าว
“การรักษา, วัคซีน และการทดสอบที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกันจะช่วยให้ชุมชนทั่วโลกสามารถป้องกันตนเอง และทำให้การระบาดใหญ่สิ้นสุดลงโดยเร็ว” ดร.ชาร์ลี ระบุกับศูนย์สื่อวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยการลงทุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นมูลค่า 33.6 ล้านปอนด์ และนักวิจัยกำลังสนับสนุนให้ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี ซึ่งตามแถลงการณ์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่า เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 ร่วมเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้ โดยอาสาสมัครจะได้รับค่าตอบแทนจากเวลาที่พวกเขาใช้ในการร่วมการทดสอบนี้ด้วย
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชากร 15 ล้านคนภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว แต่ก็ถือว่าสหราชอาณาจักรเองได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่นกัน โดยจนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 4 ล้านราย
ภาพ: CDC / API / Gamma-Rapho via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: