ร้อนแรงมากๆ สำหรับวงการสื่อเวลานี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ ‘ทราย เจริญปุระ’ นักแสดงสาวมากฝีมือ ควงคู่ทนายเกิดผล แก้วเกิด บุกโรงพักสถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ แจ้งความสื่อดัง ‘สำนักข่าวสปริงนิวส์’ และบรรดากลุ่มนักเลงคีย์บอร์ด ที่ได้เข้ามาคอมเมนต์ใต้ข่าวกันอย่างคึกคะนอง
ต้นเหตุมาจากพาดหัวข่าวที่ทำให้เธอเสียหาย ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง สื่อความหมายทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเธอเป็น ‘ลูกทรพี’ แถมยังมีการนำภาพที่เธอยืนคู่กับมารดาตอนที่มาส่งเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและอัลไซเมอร์ ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี มาใช้ประกอบด้วย แม้ภายหลังจะมีการออกแถลงการณ์จากสำนักข่าวดังกล่าวเพื่ออธิบายถึงความ ‘คลาดเคลื่อน’ และมีบุคคลโทรศัพท์ไปทำความเข้าใจแล้วก็ตาม
หลังจากเข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ ‘ทราย เจริญปุระ’ เข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง เพื่อยื่นพยานหลักฐานและให้การเพิ่มเติม โดยได้แจ้งความดำเนินคดีเพิ่มอีก 4 ราย รวมจำนวนผู้ถูกแจ้งความ 7 รายแล้ว และเธอได้มอบหมายให้ทนายความไปหาเพิ่มเติมอีกถ้ามีกรณีแบบนี้
เปิดใจ ‘ทราย เจริญปุระ’ ประกาศ เดินหน้าสู้ไม่ถอย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ในการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับสำนักข่าวดังกล่าว ทราย เจริญปุระ ให้สัมภาษณ์ว่า
“ต้องทำให้เป็นคดีตัวอย่างกันบ้างทั้งทางสำนักข่าวและกลุ่มคนที่เข้ามาโพสต์คอมเมนต์หลายราย ซึ่งกรณีสำนักข่าว ต้องมีการกลั่นกรองกันหลายขั้นตอนก่อนลงข่าวไป มันไม่ใช่การสะกดคำผิดนะ หรือแมวพิมพ์มือลั่นลงเว็บข่าว ได้เห็นข่าวแว็บแรกนี่อึ้งไปเลย มันไม่โอเค ไม่ใช่จะมาพาดหัวข่าวยังไงก็ได้”
จากนั้นในเวลาต่อมา สำนักข่าวดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองหรือบาดหมางกับทราย เจริญปุระ เป็นการส่วนตัว และการนำเสนอข่าวเป็นไปด้วยความสุจริตและปราศจากอคติ
ทั้งนี้การพาดหัวข่าวเป็นลักษณะของการตั้งคำถามเพื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติ และให้ประเด็นมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามทีมข่าวโซเชียลมีเดียสปริงนิวส์ จะดำเนินคดีเอาผิดบุคคลที่สามที่นำเอาประเด็นดังกล่าวไปขยายความกล่าวหาทำให้เกิดความเข้าใจผิด (คลิกอ่านที่นี่)
ทรายบอกว่า แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาภายหลังจากที่เธอเข้าแจ้งความ แต่ไม่ปรากฏคำว่า “ขอโทษ” แต่อย่างใด
เธอให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงการเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันนี้ (14 พ.ย.) ว่าเป็นการนำพยานหลักฐานมาให้เพิ่มเติม และ ดำเนินคดีเพิ่มอีก 4 ราย ซึ่งในรายละเอียดการดำเนินคดี นอกจากข้อหาหมิ่นประมาท ก็จะต้องดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
“จริงๆ แล้วอาชีพทรายกับสื่อมวลชนอยู่ร่วมกันมานาน อยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขตลอด มีอะไรก็พูดคุยได้ ครั้งนี้ถือว่ามากเกินไป ก็เข้าใจว่านักข่าวต้องทำตามหน้าที่ มีเสรีภาพสื่อ แต่อันนี้เป็นเสรีภาพที่มากเกินไป ไม่ใช่ว่าอยากเขียนอะไรก็เขียนได้ ทรายว่ามันไม่ใช่ แม้จะมีการพยายามติดต่อมาขอโทษ แต่เป็นการขอโทษในทางส่วนตัว แต่ตอนที่คุณเขียนข่าวมันออกไปในทางสาธารณะ มันก็ไม่โอเค”
ทรายบอกว่าเธอต้องเผชิญเรื่องแบบนี้มานานมากเกือบ 8 ปี ครั้งนี้เลยสุดจะทน
ขณะที่สภาพจิตใจตอนนี้ก็ดีขึ้น ตอนแรกไม่อยากบอกแม่ แต่คิดว่ามาวันนี้แม่คงรู้ ทรายจึงตัดสินใจบอกแม่ ซึ่งแม่ก็ให้กำลังใจ ให้สู้ต่อไป
“สำหรับคนที่เป็นสื่อไม่ใช่ไม่ดีทุกคน มันก็เหมือนทุกๆ งานทุกๆ ที่ ที่มันมีคนดีและไม่ดี บางทีไม่ใช่เรื่องของสื่อ เขาทำหน้าที่ของเขา แต่คอมเมนต์ต่างหากที่เป็นปัญหา ตัดสินเรารุนแรงกว่า รวมทั้งการที่อยากได้ยอดเยอะๆ อยากได้ไลก์ อยากให้เป็นประเด็น มันทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความเห็นอกเห็นใจ การพยายามเข้าสู่ความจริงมันน้อยลงไป”
ทรายย้ำอีกว่า เวลาที่ต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ พอเสียหายไปแล้วมานั่งแก้ข่าวคนก็ไม่ได้สนใจที่จะฟังแล้ว
‘สื่อ’ อยากได้ยอดไลก์ แต่ไม่แคร์ ‘ความน่าเชื่อถือ’
ต่อปรากฏการณ์นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อ THE STANDARD ว่า
ปัจจุบันสื่อออนไลน์แข่งขันกันที่ยอดของผู้ชมเป็นหลัก ซึ่งพูดกันตรงๆ ก็เป็นเรื่องรู้ๆ กันอยู่แล้วสำหรับคนในวงการ การพาดหัวข่าวหากเป็นกรณีของหนังสือพิมพ์ ก็จะดูไม่รุนแรงเท่าไร แต่พอขยับมาเป็นการพาดหัวข่าวในออนไลน์ “ต้องแรง ต้องมีหมัดฮุก” สร้างความเร้าใจให้กับคนที่เข้ามาอ่าน เพื่อหวังยอด หวังเอ็นเกจเมนต์มากๆ
“เหตุการณ์ของคุณทราย สะท้อนถึงการออกมาปกป้องสิทธิของเธอ แม้จะไม่ได้เป็นเคสแรกๆ ที่ประกาศฟ้องสื่อ ที่ผ่านมาก็มี แต่สิ่งที่ทำให้ดูแตกต่างก็คือในฐานะ นักแสดงที่ต้องอยู่กับสื่อ เมื่อหันกลับไปดูเราก็จะเห็นว่าน้อยมากที่นักแสดงจะมีปัญหากับสื่อ ยิ่งนักแสดงที่มีช่องมีสังกัดด้วยแล้วยิ่งยาก เธอก็แสดงให้เห็นว่าเธอต้องการปกป้องสิทธิของเธอ”
ผู้ช่วยศาตราจารย์พิจิตรา บอกอีกว่า การแข่งขันที่สูงขึ้นของสื่อทำให้บางทีการนำเสนอเน้นไปที่ความหวือหวา ทำให้มันไม่ยั่งยืน พอทำแบบนี้แม้จะไวรัล แต่ทำให้แบรนด์ของสำนักข่าวตกต่ำลง โดนแหล่งข่าวแจ้งความ เสียเครดิต สุดท้ายเป็นการไปลดทอน ‘ความน่าเชื่อถือ’ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากที่สุด เพราะการที่สำนักข่าวขาดความน่าเชื่อถือแล้ว คนอ่านก็จะไม่สนใจอีกต่อไป ฐานของคนที่เคยเชื่อมั่นก็จะลดลงจนแทบไม่เหลือสำหรับบางคน
สื่ออาวุโส มอง ‘ทราย’ ฟ้องสื่อ เป็นสิทธิ และเห็นว่าสื่อต้องรับผิดชอบ
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่คร่ำหวอดในวงการสื่อมาหลายสิบปี และเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของสังคม ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า เรื่องนี้ไม่รู้ใจคนเขียนข่าว แต่จากที่เคยทำข่าว เขียนข่าว แก้ไขข่าวในฐานะบรรณาธิการ มองว่า การใส่เครื่องหมายคำถาม ‘?’ หลังคำว่า ‘ลูกทรพี’ มองได้ 2 มุม
1. ไม่ได้เจตนา ไม่ได้ฉุกคิดเลยว่ากำลังพิจารณาบุคคลในข่าวเป็นลูกทรพี แต่คำว่า ลูกทรพี อาจมาจากคำที่มีคนอื่นๆ กำลังใช้กล่าวหาบุคคลในข่าว เป็น ‘hot topic’ ณ ขณะนั้น ผู้เขียนข่าวจึงเอามาตั้งคำถามว่า อย่างนี้ลูกทรพีจริงหรือ ซึ่งนัยหนึ่ง เหมือนเปิดโอกาสแก้ต่างให้บุคคลในข่าวที่กำลังถูกกล่าวหา
2. ตั้งใจเพื่อเรียกยอดวิว เพราะเมื่ออ่านทั้งข้อความจนจบ จะรู้สึกว่าไม่น่าคิดแบบโลกสวย เนื่องจากมันชวนให้ผู้อ่านงงๆ ว่าน่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่สวยระหว่างแม่ลูก เข้าข่าย clickbait เพื่อประโยชน์ของสื่อ มากกว่าประโยชน์ของผู้บริโภคสื่อและบุคคลในข่าว
“นับว่าผิดจริยธรรมการทำสื่อในแง่ของการจำกัดความเสียหาย harm และ damage limitation ซึ่งสื่อต้องทำงานอย่างระมัดระวังไม่ให้บุคคลหรือสังคมเสียหายโดยไม่จำเป็น”
“กรณีคุณทรายเห็นว่าเป็นสิทธิที่คุณทรายฟ้องได้ และควรฟ้องเมื่อรู้สึกว่าตนเองได้รับความเสียหาย และสื่อสารมวลชนควรต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบตามบทบาทและหน้าที่ซึ่งต้องมีจริยธรรมตามอาชีพ ทุกวันนี้เหมือนคนทำสื่อหลายคนละเลย ลองไปถามว่าอะไรคือจริยธรรมของอาชีพ อาจนึกไม่ออกก็ได้”
อ้างอิง:
- Facebook: จุลสารราชดำเนิน
- www.voicetv.co.th/read/S15Sbxwyf
- www.matichon.co.th/news/729058