×

การเมืองสหรัฐฯ ยังเข้มข้น ปี 2564 ความท้าทายการเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

23.01.2021
  • LOADING...
การเมืองสหรัฐฯ

แม้สถานการณ์ของสหรัฐฯ จะมีการเปลี่ยนสู่ยุคประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน แต่ยังมีความท้าทายในหลายด้าน ทั้งการเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคุกรุ่นนี้ THE STANDARD ชวนอ่านมุมมองที่น่าสนใจจากนักวิชาการผ่านงานเสวนา RoLD Virtual Forum หัวข้อ THE UNITED STATES UNDER BIDEN’S PRESIDENCY : A Test for Rule of Law and Shifting Global Landscape ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ 

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สมัยบริหารของทรัมป์เปลี่ยนแปลงอเมริกาในหลายด้าน ทั้งการยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ในองค์กรระหว่างประเทศ การสู้กับสภาวะโลกร้อน การประกาศสงครามทางการค้ากับจีน การถอนทหารออกจากซีเรีย หรือการไปจับมือพูดคุยกับผู้นำเกาหลีเหนือ ภายใต้หลักการ America First จึงเป็นผู้นำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก  

 

หากวิเคราะห์ลงไปที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ มองว่า จะมีถึง 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ต่อต้านชนชั้นนำ ซึ่งอาจไม่ได้ชื่นชอบทรัมป์ แต่ไม่ชอบตัวเลือกเดิมๆ ที่มักมีแต่ชนชั้นนำจากทั้งสองพรรค 2. กลุ่มที่สนับสนุนนโยบายของพรรครีพับลิกัน ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดรับชาวต่างชาติ ผู้ลี้ภัย และ 3. กลุ่มที่ชื่นชอบมีความเชื่อในตัวทรัมป์จริงๆ แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก แต่ก็เป็นกลุ่มที่สำคัญ

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือ บทบาทของทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้กลุ่มเสรีนิยมที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ หันมาสนใจการเมืองและออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 60 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ขณะที่ ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำที่มีลักษณะเฉพาะคือ สนใจในเรื่องของธุรกิจที่ต้องมีผู้ชนะและมีผู้แพ้ในการแข่งขัน ซึ่งต่างจากหลักรัฐศาสตร์ที่ใช้หลัก Win–Win จะไม่สร้างศัตรู ทำให้การบริหารประเทศและการลงเลือกตั้ง ทรัมป์ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับหลักนิติธรรมมากนัก 

 

โดยก่อนหน้าที่จะชนะการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ทรัมป์เคยถูกมองเป็นตัวตลกในการลงสมัครเลือกตั้ง แต่กลับยกประเด็นชาตินิยมแบบดั้งเดิมที่นักการเมืองคนอื่นไม่กล้าพูดในสาธารณะออกมานำเสนอ จนทำให้ได้รับความนิยมจากคนอเมริกันดั้งเดิมที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประเทศและได้เป็นประธานาธิบดี และเชื่อด้วยว่า ยังมีโอกาสที่ทรัมป์จะกลับมาลงรับสมัครชิงตำแหน่งในอีก 4 ปีข้างหน้า 

 

นอกจากนี้กรณีที่มีข้อถกเถียงกันอย่างกรณีสื่อลบบัญชีทรัมป์ออกจากโซเชียลมีเดียกับหลักการสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของอเมริกา 

 

วิบูลพงศ์มองว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ จะมีข้อตกลงที่อาจเรียกว่า มาตรฐานชุมชน ซึ่งผู้ใช้ต้องอ่านและยอมรับเงื่อนไขก่อน จึงจะสมัครบัญชีผู้ใช้งานได้ ดังนั้นแม้จะเป็นประธานาธิบดี หากละเมิดข้อตกลงการใช้งาน ก็ต้องถูกลบบัญชีโดยไม่ละเว้น นั่นก็คือความแข็งแรงของหลักนิติธรรมที่มาจากภาคเอกชน 

 

ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนประธานาธิบดี บรรยากาศของสหรัฐฯ ก็จะเปลี่ยนไป ดร.อาร์ม วิเคราะห์จากการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนของไบเดนว่า ไบเดนจะไม่ได้เข้ามาสร้างความตื่นเต้นอะไรในอเมริกา เพียงแต่จะนำอเมริกากลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนจะมีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ยกเลิกไปจะกลับมา นโยบายสร้างกำแพงที่ชายแดนเม็กซิโกถูกยกเลิกไป ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคโอบามา 2 นั่นเอง

 

ขณเดียวกัน วิบูลย์พงศ์วิเคราะห์จากจุดยืนของพรรคเดโมแครตจะแตกต่างจากในยุคของทรัมป์ โดยเฉพาะนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดนอาจมองลึกไปถึงการใช้แรงงานไม่เป็นธรรม การใช้วัสดุในการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไหม และไทยต้องเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อีก

 

ดังนั้นไทยควรเตรียมกระบวนการต่อรองกับสหรัฐฯ ในรูปแบบเชิงรุก เข้าไปอธิบายมาตรฐานเกี่ยวกับหลักนิติธรรมของไทยก่อน โดยอาจหาตัวกลางที่จะช่วยสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เข้าใจในปัญหาต่างๆ ของไทยได้ แต่ต้องทำให้เห็นว่า การต่อรองนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯ​ ด้วย 

 

นอกจากนี้ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ​ และจีน ดร.อาร์ม เห็นว่า หลักการนโยบายต่อจีนของไบเดนจะไม่ต่างจากยุคทรัมป์ เพราะความรู้สึกว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคาม จะเป็นมหาอำนาจรายใหม่ กลายเป็นความรู้สึกร่วมของทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน แต่อาจจะเห็นการรับมือที่เปลี่ยนไป โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบของ Tech War ซึ่งจะส่งผลกระทบใกล้ตัวกับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย มากกว่ายุคสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ซึ่งแข่งขันกันไปในอวกาศ

 

ดังนั้นไทยจึงต้องรีบวางกลยุทธ์ คิดถึงแนวทางการเจรจาเชิงรุก เพื่อรักษาผลประโยชน์ โดยคำนึงถึงค่านิยมหลักของมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ และส่วนที่อาจจะมีรุกอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ การขายวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งไทยอาจต้องถูกบีบให้เลือกระหว่างวัคซีนของอเมริกากับของจีน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X