- เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน Sinovac (CoronaVac) ของจีนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech, Moderna และ AstraZeneca โดยวัคซีนดังกล่าวอนุมัติใช้ฉุกเฉินกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองเฟสที่ 3 ในบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี
- ข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนยังมีความคลุมเครือ โดยผลการทดลองในคนเฟส 3 ที่ตุรกีพบว่า วัคซีน CoronaVac มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสสูงถึง 91.25% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขจากการทดลองในบราซิลที่มีประสิทธิภาพระหว่าง 50-90% แต่ยังคงต้องรอรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
- วัคซีน CoronaVac เป็นคนละตัวกับ Sinopharm ที่ได้ข้อมูลประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสไม่ตรงกันระหว่างจีนกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- วัคซีนของ Sinovac ใช้วิธีการพัฒนาด้วยการนำเอาอนุภาคไวรัสที่ตายแล้ว (Inactivated vaccine) มากระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสในร่างกายมนุษย์ โดยมีข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยงต่อการตอบสนองของโรคขั้นรุนแรง ขณะที่ Pfizer และ Moderna ใช้เทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA หรือใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของไวรัสเพื่อมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- ข้อดีของวัคซีนจาก Sinovac ที่เห็นได้ชัดคือการเก็บรักษาในระดับอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือเก็บในตู้เย็นมาตรฐานทั่วไปได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับวัคซีนจาก AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ
- ไทยสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก Sinovac จำนวนทั้งหมด 2 ล้านโดส โดยคาดว่าจะจัดส่งถึงไทย 200,000 โดสในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ 800,000 โดสในช่วงปลายมีนาคม และอีก 1 ล้านโดสในช่วงปลายเมษายน
- นอกจากไทยแล้ว มีอินโดนีเซียและสิงคโปร์ที่ลงนามสั่งซื้อวัคซีนจาก Sinovac แล้ว ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์กำลังอยู่ระหว่างการหารือข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า