×

แฟนบอลอังกฤษเตรียมคืนสนามสัปดาห์หน้า สูงสุด 4,000 คนต่อนัด และรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ

24.11.2020
  • LOADING...
แฟนบอลอังกฤษเตรียมคืนสนามสัปดาห์หน้า สูงสุด 4,000 คนต่อนัด และรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • รัฐบาลอังกฤษประกาศอนุญาตให้แฟนกีฬารวมถึงแฟนฟุตบอลได้กลับเข้ามาชมเกมในสนามได้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นสูงสุดนัดละไม่เกิน 4,000 คน
  • เกมนัดแรกที่คาดหวังว่าจะได้ต้อนรับแฟนกลับมาคือเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบปารีส แซงต์ แชร์กแมง
  • แต่ตามการจัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์แล้วอาจจะมีถึง 10 สโมสรที่ไม่สามารถเปิดรับแฟนบอลได้ รวมถึงแชมป์เก่าอย่างลิเวอร์พูล

 

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือนแล้วที่แฟนฟุตบอลอังกฤษไม่สามารถเข้าไปชมเกมในสนามได้หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เริ่มต้นขึ้นและยังคงไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี การรอคอยที่ยาวนานกำลังจะสิ้นสุดลง เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจะอนุญาตให้แฟนฟุตบอลกลับเข้ามาชมเกมในสนามได้อีกครั้งในสัปดาห์หน้าหลังการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

 

เกมที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นนัดแรกที่เปิดให้แฟนฟุตบอลเข้าสนามได้คือเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในข้อแม้ว่าหากเมืองแมนเชสเตอร์สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้นจนพ้นจากการถูกจัดระดับให้อยู่ใน Tier 3 

 

สำหรับการกดปุ่มไฟเขียวของรัฐบาลอังกฤษในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีความพยายามอย่างหนักจากฝ่ายกีฬาที่ต้องการให้ทางการกลับมาเหลียวแลหรือดูแลอย่างยุติธรรมบ้าง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการสั่งเลื่อนแผนที่จะให้แฟนกีฬากลับเข้ามาชมเกมในสนามได้เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม เพราะไม่มั่นใจกับการควบคุมสถานการณ์

 

แต่ในเวลาเดียวกันในภาคส่วนอื่น อย่างเช่น อุตสาหกรรมบันเทิง กลับอนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ต หรือปาร์ตี้ได้ทั้งๆ ที่ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดมากกว่าด้วยซ้ำไป

 

หรือในงานเปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติของ อาร์เซน เวนเกอร์ อดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ที่มีผู้ชมเข้ามาเต็มฮอลล์จนทำให้เกิดการวิจารณ์ว่าการให้คนเข้ามาชมในพื้นที่ปิดมากขนาดนี้ได้นั้นปลอดภัยกว่าการให้แฟนฟุตบอลเข้าไปนั่งชมเกมในสนามตรงไหน?

 

การเรียกร้องและกระแสกดดันที่หนักหน่วง เพราะการไม่มีแฟนบอลเข้าสนามส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมฟุตบอลในภาพรวม สโมสรทุกแห่งไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ขาดรายได้ที่สำคัญในวันแข่งขัน และหากปล่อยไว้แบบนี้อาจจะมีสโมสรที่ไม่สามารถยืนระยะไหวต้องล้มละลายเหมือนบิวรี อดีตทีมในระดับฟุตบอลลีกที่ล้มละลายไปเมื่อฤดูกาลที่แล้ว 

 

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องทบทวนก่อนจะตัดสินใจปรับท่าที 

 

สำหรับมาตรการที่ออกมามีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

 

  • อนุญาตให้แฟนกีฬาสามารถเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ โดยในสนามใหญ่ระดับชาตินั้นจะให้มึผู้ชมสูงสุดไม่เกิน 4,000 คนต่อนัด
  • แต่จำนวนผู้ชมที่จะเข้าในสนามได้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดภายในเมือง โดยจำนวนสูงสุด 4,000 คนนั้นเฉพาะเมืองในกลุ่ม Tier 1 
  • จะมีเพียงแฟนบอลเจ้าบ้านเท่านั้นที่ได้เข้าสนาม
  • ห้ามร้องเพลงเชียร์ในสนาม, ห้ามตะโกนเชียร์ และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตามมาตรการดังกล่าว เมื่อประเมินตามสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วในบรรดา 20 ทีมพรีเมียร์ลีกอาจจะมีเพียงแค่ 2 สโมสรที่จะมีผู้ชมสูงสุด 4,000 คนคือเซาแธมป์ตันและไบรท์ตัน ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของอังกฤษ

 

ขณะที่ 6 สโมสรในเมืองหลวงลอนดอนอย่างอาร์เซนอล, เชลซี, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, เวสต์แฮม, คริสตัล พาเลซ​ และฟูแลม นั้นจะสามารถเปิดรับผู้ชมได้ 2,000 คน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดอยู่ในกลุ่ม Tier 2 โดยยังมีอีก 2 ทีมที่อยู่ในกลุ่มนี้คือเลสเตอร์ ซิตี้และนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด

 

ส่วนที่เหลืออีก 10 ทีม ซึ่งรวมถึง 2 สโมสรจากเมืองแมนเชสเตอร์ และ 2 สโมสรจากเมืองลิเวอร์พูลจะต้องแข่งในสนามปิดไปก่อน เพราะสถานการณ์การระบาดอยู่ในกลุ่ม Tier 3 หรือกลุ่มที่มีความรุนแรงมากที่สุด

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้จะต้องมีการจับตาดูอย่างใกล้ชิดอีกครั้งว่าจะมีการควบคุมการระบาดได้มากและดีขึ้นขนาดไหน โดยจะมีการประกาศจากรัฐบาลอังกฤษอีกครั้งในวันพฤหัสบดีนี้ว่าสโมสรใดและเมืองใดจัดอยู่ในกลุ่มใดบ้าง

 

ไม่นับในประเด็นเรื่องของความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการแข่งขันที่มีการตั้งคำถามจาก แกรี เนวิลล์ อดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดว่าการแข่งขันจะเท่าเทียมกันได้อย่างไรหากบางทีมได้ลงแข่งท่ามกลางแฟนบอล และบางทีต้องลงแข่งในสนามปิด

 

แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกสำหรับการกลับคืนสู่ความเป็นปกติแม้จะไม่ใช่ความปกติแบบเดิมอีกครั้ง

 

ในขั้นต่อไปคือการที่ภาคกีฬาจะประสานความร่วมมือ (เชิงกดดัน) รัฐบาลในการร่วมกันออกแบบ ‘โรดแมป’ สำหรับการให้แฟนกีฬาได้กลับเข้ามาสู่สนามใน ‘เรือนหมื่น’​ อีกครั้งในอนาคตอันใกล้

 

โดยก่อนหน้านี้หลายสโมสรก็ไม่ได้รีรอ มีการพยายามหาทางในการสร้างความมั่นใจได้ว่าพร้อมที่จะรองรับแฟนฟุตบอลได้จริง เหมือนกรณีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีการศึกษาและออกแบบระบบที่เรียกว่า Biro-Secure Environment หรือระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อโรค ซึ่งเชื่อว่าหากใช้งานได้เต็มที่จะสามารถรองรับแฟนบอลให้เข้ามาชมเกมในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดได้ถึง 23,500 คนต่อนัด หรือคิดเป็นจำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม

 

ทั้งหมดนี้คือความพยายามของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันประคับประคองวงการฟุตบอลให้อยู่รอด ซึ่งไม่เพียงเฉพาะเกมในระดับสูงสุด เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเกมฟุตบอลระดับรองในลีกล่างไปจนถึงในระดับรากหญ้า (Grassroots) ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบ

 

อาจจะมีปัญหา มีความล่าช้า มีอุปสรรค และมีอะไรที่ไม่ได้ดังใจ

 

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

FYI
  • สำหรับสนามฟุตบอลที่มีความจุเล็กกว่า จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาชมไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ เช่น หากสนามที่มีความจุ 3,000 ที่นั่งก็จะได้รับอนุญาตให้ชมได้ 1,500 คน
  • กีฬาในร่มในกลุ่ม Tier 1 และ Tier 2 จะได้รับอนุญาตให้ชมได้สูงสุด 1,000 คนหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X