วันนี้ (10 พฤศจิกายน) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งบริษัท Pfizer ได้ประกาศว่าผลวิเคราะห์ขั้นต้นชี้ ประสิทธิผลป้องกันไวรัสกว่า 90%
นพ.นคร กล่าวสรุปประเด็นว่า ตามที่บริษัท Pfizerได้ประกาศผลการวิเคราะห์เบื้องต้นในการทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ซึ่งได้ประกาศว่ามีแนวโน้มว่าจะมีประสิทธิผลในการป้องกันประมาณ 90% คำถามคือมันบอกอะไรเราบ้าง
- ยืนยันโอกาสอย่างมากที่จะมีวัคซีนในระยะเวลาอันใกล้นี้
การพัฒนาของ Pfizer ทำให้ตอนนี้มีโอกาสอย่างมาก และเพิ่มความหวังอย่างมากขึ้นในการที่จะมีวัคซีนใช้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะตอนนี้มีมากกว่า 30 บริษัทที่พัฒนา และมี 11 บริษัท ทำการทดสอบในคน
ทั้งนี้ วัคซีนทุกรูปแบบที่พัฒนาอยู่ วางอยู่บนพื้นฐานของการใช้ Spike Protein ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การทดสอบของ Pfizer บอกเราว่า การทดสอบบนสมมติฐานนี้มีแนวโน้มที่จะได้ผลใกล้เคียงกัน
- ไทยมีรูปแบบวัคซีนใกล้เคียงกับ Pfizer
การพัฒนาวัคซีน mRNA ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านั้นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้คาดหวังประสิทธิผลถึง 90% โดยองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ที่มากกว่า 50% ก็ถือว่าใช้การได้แล้ว และไทยก็มีรูปแบบการพัฒนาวัคซีน mRNA อยู่ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีรูปแบบพัฒนาไม่ต่างจาก Pfizer
- วัคซีนมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง
Pfizer ทำการทดสอบในระดับ 43,000 คนที่จะได้รับวัคซีน และได้ทยอยรับไปแล้ว 38,000 คน ซึ่งทำให้เรามั่นใจมากขึ้น อย่าลืมว่าเรากำลังพัฒนาวัคซีนในระยะเร่งด่วน แต่ถึงแม้จะเร่งด่วนอย่างไรก็ต้องไม่ละเลยความปลอดถัย เพราะมันสำคัญไม่แพ้ประสิทธิผลของวัคซีน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังมีอาสาสมัครที่ต้องติดตามผลอยู่ต่อไปอีก
คำถามต่อมา สิ่งที่ต้องรอติดตามหลังจากนี้คืออะไร
- Pfizer ยังต้องติดตามผลต่อไปอีกสักพักหนึ่ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจอย่างชัดเจน พร้อมกันนั้นเขาต้องขอยื่น อย. สหรัฐฯ เพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งต้องรอดูว่า อย. สหรัฐฯ จะให้ขึ้นทะเบียนแบบอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน หรือต้องขอหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ อย. สหรัฐฯ
- ประสิทธิผลของวัคซีน 90% นั้นอยู่ได้นานแค่ไหน
สิ่งต้องรอดูประสิทธิผลของวัคซีนเมื่อเวลาผ่านไป ว่าการฉีดวัคซีนแล้วได้ผล 90% จะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะการฉีดในระยะเวลาผ่านมาแล้ว 2 เดือน แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะมีเหตุการณ์ที่ภูมิคุ้มกันค่อยๆ ลดลงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีกหรือไม่ สิ่งนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องตามกันต่อ
- รอการค้นพบ 1 คำตอบสำคัญ นำไปสู่การผลิตวัคซีนได้ในวงกว้าง
สุดท้าย โครงการวิจัยของ Pfizer เราหวังให้ค้นพบว่า ภูมิคุ้มกันตัวไหนเป็นตัวกำหนดในการกระตุ้นการป้องกันโควิด-19 เพราะตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ และอยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานทั้งสิ้น แต่การที่มีวัคซีนที่มีประสิทธิผลจะทำให้เรารู้คำตอบข้อนี้
หากพบข้อนี้ จะทำให้การพัฒนาวัคซีนที่กำลังเดินตามได้รับการพัฒนาเร็วขึ้น และการค้นพบประเด็นนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตวัคซีนในวงกว้างที่ใช้กันได้ทั่วโลก
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล