จากวันนี้ยาวไปจนถึงต้นปีหน้า พลังงานของศิลปะได้กลับมาแต่งแต้มสีสันให้กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 กับ Bangkok Art Biennale งานที่เราอยากใช้คำว่า ‘ฤดูกาลแห่งศิลปะ’ แทน เพราะเป็นเทศกาลที่จัดยาวนานราว 4 เดือนตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไปจนถึง 31 มกราคม 2564 แถมยังหมุนเวียนไปยัง 10 สถานที่ทั่วกรุงเทพฯ แบบที่ผู้เข้าร่วมชมไม่อาจปริปากบ่นเบื่อได้
Bangkok Art Biennale ในปีนี้กลับมาในธีม ‘Escape Routes’ หรือ ‘ศิลป์สร้าง ทางสุข’ ที่ไม่ต้องสืบก็รู้ว่าต้องการพาไปสู่ ‘ทางออก’ ของสถานการณ์โลกอันแสนหนักอึ้งในปีนี้ ผ่านการสื่อสารจากงานศิลปะที่จะกระจายตัวอยู่ตาม 10 สถานที่จัดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งถูกวางแผนให้สอดรับตามลำดับเวลาในตารางการแสดงงานของเทศกาล โดยทาง Bangkok Art Biennale เองได้ออกแบบเส้นทางการเลือกเข้าชมงานให้เราได้เลือกกันตามสะดวก แบ่งเป็น River Route ซึ่งรวมสถานที่ใกล้ริมน้ำเจ้าพระยาไว้ ทั้งมิวเซียมสยาม วัดโพธิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร River City และ ล้ง 1919 และ City Route ที่มีทั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร The PARQ The Prelude ONE Bangkok และ BAB Box
ในบรรดางานทั้งหมดของศิลปิน 80 กว่าชีวิตที่รวมกันเติมพลังสร้างสรรค์ให้กับฤดูกาลศิลปะนี้ มาดูกันว่ามีไฮไลต์อะไรที่พลาดไม่ได้บ้าง
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkartbiennale.com
Law of Journey, Ai Weiwei
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เริ่มที่ผลงานเรือเป่าลมสีดำที่เต็มไปด้วยร่างผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้า งานชิ้นนี้มาจากการเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งใน 20 ประเทศของ Ai Weiwei ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งสื่อสารครอบคลุมผู้ลี้ภัยจากประเทศบังกลาเทศ อิรัก ซีเรีย ตุรกี ฉนวนกาซา เม็กซิโก เป็นต้น
Rising, Marina Abramović
สถานที่: The PARQ
Virtual Reality ชิ้นแรกของศิลปินชาวเซอร์เบีย ผู้สร้างสรรค์ทั้งงาน Conceptual และงานภาพยนตร์ ซึ่งสื่อสารถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านเพียงแค่เครื่องเล่น Virtual Reality และถังแก้วที่ตัวเธอเองอยู่ข้างในและกำลังจะจมน้ำจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับระดับน้ำทะเลทั่วโลก
How Does One Say Queen in Islam? (2020), Sarah Naqvi
สถานที่: ล้ง 1919
การบอกเล่าประวัติศาสตร์อิสลามใหม่ผ่าน Installation สื่อสารบทสนทนาในแบบที่ผู้หญิงในสังคมอิสลามเท่านั้นจะพูดกัน โดยผสมรวมเข้ากับเรื่องเล่า นิทาน และเพลงที่ผูกโยงกับเรื่องราวของวีรสตรีในโลกประวัติศาสตร์อิสลาม
Sky Mirror, Anish Kapoor
สถานที่: วัดอรุณวรราชวราราม
ในเมื่อพระปรางค์ของวัดอรุณวรราชวรารามคือสัญลักษณ์ของจุดสูงสุดของจักรวาลซึ่งสื่อถึงแนวคิดของ ‘ความว่างเปล่า’ สเตนเลสทรงกลมแววนี้จึงถูกวางบนสนามหญ้าของวัดเพื่อสะท้อนเมฆบนฟ้าและรูปทรงต่างๆ ที่สะท้อนเข้ามาและออกไปตามการหมุนของแสงอาทิตย์ระหว่างวันซึ่งสื่อถึงความว่างเปล่าเช่นเดียวกัน
I am Not from East or West . . . My Place is Placeless, Rushdi Anwar
สถานที่: BAB Box
ผลงานวิดีโอซึ่งเป็นอีกงานศิลปะเพื่อสื่อสารถือการอยู่ร่วมกันของผู้ลี้ภัยหลากหลายภูมิหลังในค่ายเดียวกัน ผ่านกระบวนการปรับตัวและประนีประนอมอัตลักษณ์บางอย่างของแต่ละคนเพื่อความอยู่รอดในภาวะที่ความเป็นความตายเข้ามาเป็นเงื่อนไขใหญ่ของชีวิต
Post Apis (Honey Vault), Ana Prvački
สถานที่: วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
คุณอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งผึ้งเคยเกือบสูญพันธุ์ไปจากโลก แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตสำคัญที่อยู่บนโลกมานับล้านปีเพื่อพยุงห่วงโซ่อาหาร งานศิลปะชิ้นนี้จึงสะท้อนความสำคัญของสิ่งมีชีวิตนี้ผ่านตู้เก็บน้ำผึ้งที่ทั้งล้ำค่าและตั้งอยู่ในพื้นที่แสนศักดิ์สิทธิ์ของวัด
Invisible World, Uttaporn Nimmalaikaew
สถานที่: วัดโพธิ์
ย้อนเวลาไปสู่อดีตผ่านจิตรกรรมบนผ้าที่เล่าถึงเรื่องราวบนภาพวาดบนผนังในวิหารของวัดโพธิ์ เราจะได้เห็นภาพผู้คนล้วนกำลังนั่งสมาธิเพื่อเข้าสู่ความสงบนิ่งของจิตใจในโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ทว่าในบริบทที่ตรงข้ามกับอดีตที่กลายเป็นเพียงเรื่องเล่า ภาพวาดฝาผนัง และความทรงจำเท่านั้น
Tooth Clinic, Note Kritsada
สถานที่: The PARQ
สำหรับงาน Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 2 นี้ Note Kritsada บอกเล่าช่วงเวลาที่อยากหลบหนีจากการไปพบหมอฟันซึ่งเป็นเหมือนฝันร้ายในวัยเด็กของหลายคน ผ่านงานวาดเส้น ประติมากรรมและแอนิเมชัน ไปดูกันว่าความงามที่แลกมาด้วยความเจ็บปวดมาตั้งแต่เด็กจะถูกสื่อสารออกมาอย่างไร
ภาพ: Bangkok Art Biennale
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า