×

พลังของเรื่องเก่าเล่าใหม่ ทำไมฟังเรื่องเก่ากี่ครั้งก็ยังจับใจเสมอ

22.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • พฤติกรรมการชอบของใหม่มากกว่าของเก่าของคนส่วนใหญ่ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เรา ซึ่งในทางจิตวิทยาเราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Novelty Seeking หรือการที่คนส่วนใหญ่ชอบมองหาของใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เพราะเชื่อว่าของใหม่ๆ มักจะสามารถกระตุ้นอารมณ์ของเรามากกว่าของเก่าๆ ที่เคยได้ลิ้มรสมันมาก่อน
  • จากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ แดน กิลเบอร์ต, กัส คูนี และ ทิม วิลสัน พบว่าคนเรามักจะมีพฤติกรรม Novelty Seeking อย่างนั้นจริงๆ แต่เรื่องราวใหม่ๆ กลับไม่ได้มีพลังกับสมองของเราอย่างที่คิดกัน

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะชอบของใหม่มากกว่าของเก่า ไม่ว่าจะเป็นหนังใหม่ๆ, สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ, อาหารที่เราอาจยังไม่เคยทานมาก่อน หรือแม้แต่แฟนใหม่…

 

พฤติกรรมการชอบของใหม่มากกว่าของเก่าของคนส่วนใหญ่ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เรา ซึ่งในทางจิตวิทยาเราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Novelty Seeking หรือการที่คนส่วนใหญ่ชอบมองหาของใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เพราะเชื่อว่าของใหม่ๆ มักจะสามารถกระตุ้นอารมณ์ของเรามากกว่าของเก่าๆ ที่เคยได้ลิ้มรสมันมาก่อน

 

แต่มันเป็นอย่างนั้นเสมอไปจริงๆ หรือครับ

 

จากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ แดน กิลเบอร์ต, กัส คูนี และ ทิม วิลสัน พบว่าคนเรามักจะมีพฤติกรรม Novelty Seeking อย่างนั้นจริงๆ โดย แดน กัส และทิม ได้สุ่มคนมากลุ่มหนึ่ง หลังจากนั้นจึงถามคนที่ถูกสุ่มมาว่า

 

“วันนี้คุณจะมานั่งฟังนักพูดคนหนึ่ง คุณว่าคุณน่าจะชอบแบบไหนมากกว่ากันระหว่างเรื่องใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน หรือสิ่งที่เคยรู้และมีความคุ้นเคยกับมันมาก่อนอยู่แล้ว”

 

สรุปว่าคนที่ถูกสุ่มมาต่างก็ตอบกันเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาน่าจะชอบฟังนักพูดคนนี้เล่าในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยฟังมาก่อน มากกว่าเรื่องที่เขาทราบและคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

 

หลังจากนั้นนักวิจัยทั้งสามก็แบ่งคนที่ถูกสุ่มออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้คนกลุ่มแรกเข้าไปฟังนักพูดเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนกลุ่มที่สอง ก็จัดให้ไปฟังนักพูดเล่าเรื่องที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว

 

เมื่อฟังเสร็จ นักวิจัยทั้งสามก็ให้คนทั้งสองกลุ่มให้คะแนนความพึงพอใจของตัวเองกับเรื่องที่พวกเขาเพิ่งฟังจบไป

 

คุณคิดว่าค่าเฉลี่ยของความพอใจของเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องเท่ากันไหมครับ

 

ใช่ครับ ค่าเฉลี่ยมันไม่ได้เท่ากันเลย แต่ผลที่ได้กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจของกลุ่มที่ฟังเรื่องคุ้นเคยกลับสูงกว่าอีกกลุ่มที่ได้ยินเรื่องราวใหม่ๆ เป็นครั้งแรก

 

พูดง่ายๆ ก็คือคนชอบ ‘เรื่องเก่าแต่เอามาเล่าใหม่’ มากกว่าเรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อยากจะฟังเรื่องที่ไม่เคยฟังมาก่อนมากกว่า

 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าเรื่องเก่ามันสนุกกว่าเรื่องใหม่นะครับ (อันนี้ทางทีมวิจัยได้ควบคุมความแตกต่างในการออกแบบการทดลองของเขาไว้เรียบร้อยแล้ว) แต่มันเป็นเพราะว่าวิธีการเล่าเรื่องของคนเรานั้นมักจะมี ‘Gap’ ของการให้ข้อมูลเยอะ (คือคนที่เล่าไม่มีทางที่จะสื่อสารข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เขาเล่าได้ และจะต้องมีการตกบกพร่องของข้อมูลในการสื่อสารทุกครั้งเสมอ) แต่สำหรับเรื่องที่เรามักจะคุ้นเคยอยู่แล้ว สมองของเราสามารถ ‘Fill in The Gap’ ได้ 

 

พูดอีกอย่างก็คือ ในเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว เราสามารถต่อเติมข้อมูลที่ขาดหายจากการเล่าในสมองของเราให้มันเต็มได้

 

และด้วยเหตุผลนี้นี่เองทำให้การฟังเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วมักจะเพลิดเพลินมากกว่าเรื่องที่เราไม่เคยฟังมาก่อน ถึงแม้คนส่วนใหญ่มักจะเลือกฟังเรื่องใหม่ๆ มากกว่าเรื่องเก่าก็ตาม (ถ้าเลือกได้)

 

มันก็เลยอธิบายได้ว่าทำไมเวลาที่คนเราหลายคนดูหนังเก่าๆ เรามักจะรู้สึกฟินและอินมากกว่าหนังใหม่ๆ ที่เราไม่เคยดูมาก่อน

 

และนี่ล่ะครับคือพลังของการเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่

 

อ่านเพิ่มเติม

 

Cooney, G., Gilbert, D. T., & Wilson, T. D. (2017). The novelty penalty: why do people like talking about new experiences but hearing about old ones?. Psychological science, 28(3), 380-394.

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X