ธรรมชาติของมนุษย์ นอกเหนือจากความพยายามในการเข้าใจตนเองแล้ว ประเด็นทางสังคมก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสนใจ และส่งผลสำคัญทั้งในแง่การใช้ชีวิต รูปแบบการแสดงพฤติกรรมตอบสนอง และสภาวะอารมณ์ เพราะความเป็นมนุษย์ไม่อาจแยกขาดจากความเป็นสังคม
และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้มนุษย์จะอยู่ร่วมในสังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน และมีโครงสร้างทางการเมืองการปกครองเดียวกันเป็นกรรมวิธีในการเคลื่อนไปของสังคม ก็สามารถมีความเห็นที่แตกต่างกัน และบุคคลในสังคมก็สามารถแสดงทัศนะที่แตกต่างต่อสังคมอันเกิดจากกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป และเมื่อบุคคลในสังคมสะสมความเห็นแย้งนั้นไว้ภายใน กระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคม ตอกย้ำไปสู่ลักษณะอารมณ์ของผู้คนที่ได้รับจากสภาวะสังคมที่ขัดแย้ง ปัญหาวิกฤตการณ์ทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อวิกฤตการณ์ทางอารมณ์
ภาวะเครียดทางการเมือง หรือ Political Stress Syndrome (PSS) มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองและสังคมอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อบุคคลมีความเครียดในระดับสูงจะส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพจิตด้านต่างๆ ได้แก่
- ด้านจิตใจ
เมื่อบุคคลอยู่ในสภาวะความเครียดเป็นเวลายาวนานอาจส่งผลให้เกิดอารมณ์อื่นๆ ตามมาอย่างควบคุมได้ยาก อาทิ ความกังวล โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์ของบุคคลหรือสังคมที่ตัวเราไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด ความเศร้า อาจเกิดขึ้นได้เมื่อผิดหวังจากผลทางสังคม หรือไร้ความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความโกรธ เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางความคิดที่แตกต่าง และผลกระทบของความคิดว่าตนได้รับความอยุติธรรม
- ด้านร่างกาย
ในสภาวะที่เผชิญกับความเครียด จะเกิดการตอบสนองอย่างอัตโนมัติให้เกิดความตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคม อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว, หายใจไม่เต็มอิ่ม, ใจสั่น, ไม่ค่อยมีสมาธิทำงาน, กินข้าวไม่อร่อย, นอนไม่หลับ
- ด้านพฤติกรรม
บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรือสนใจการเมืองเป็นอย่างมาก อาจเกิดการขาดความสมดุลในกิจวัตรประจำวันอื่นๆ คิดวนซ้ำในประเด็นที่สนใจ กระทั่งตัดสินใจกับสิ่งอื่นในชีวิตได้ยาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในการแสดงความเห็นต่างด้วยการโต้แย้ง กระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง
อาการดังกล่าวอาจมีระดับของความรุนแรงกับแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณของการรับรู้ข้อมูล การตีความสถานการณ์ตามประสบการณ์ และสภาวะด้านจิตใจก่อนหน้าของบุคคลนั้น (สามารถประเมินตนเองได้จากแบบสำรวจภาวะสุขภาพจิตหลังวิกฤตเหตุการณ์รุนแรง GHQ-12) ทว่า การรู้เท่าทันอาการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกัน น่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้บุคคลสามารถดูแลตัวเองไปพร้อมกับการรับข้อมูลและแสดงความเห็นทางสังคมได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ลดการรับข้อมูลข่าวสาร จากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงลบ โดยพยายามมากขึ้นที่จะสรุปเอาเนื้อหาของข่าวมากกว่าการรับอารมณ์ที่นำเสนอผ่านข่าวสารมาเป็นอารมณ์ของตนเอง พยายามมากขึ้นที่จะเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการหุนหันเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งในทันที
บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง, การดูแลครอบครัว, การทำงาน และการพักผ่อน สำหรับการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่อง 40 นาที ถึง 2 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลผ่านการสังเกตอาการต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น) หรือใช้วิธีการในการรับข่าวสารตามเวลา อาทิ เปิดดูข่าวสารวันละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 20 นาที
ควรมีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจโดยกระตุ้นให้เกิดการรู้ตัว และรู้จังหวะของการหายใจไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวและผ่อนคลายของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำกิจกรรมที่ตนเคยสนุกและชื่นชอบ ทั้งในรูปแบบเดี่ยวและกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่นที่ส่งเสริมความรู้สึกผ่อนคลาย
สื่อสารความเห็นต่างอย่างระมัดระวัง แม้ความเห็นแตกต่างเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์มีและควรได้รับการเคารพ แต่การสื่อสารความแตกต่างออกไปในขณะที่มีอารมณ์เชิงลบ อาจนำไปสู่รูปแบบการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม และเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน สะสมเป็นตะกอนของอารมณ์เชิงลบกับตนเอง
ด้วยความเคารพในสิทธิ และด้วยความปรารถนาแห่งวิชาชีพ เราหวังเพียงให้ ‘คนไทย’ ก้าวผ่านวิกฤตการณ์นี้อย่างค่อยๆ เป็นไปด้วยความเข้าใจในอารมณ์ตนเองไปพร้อมกับความเข้าใจความเห็นต่างในสังคม
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล