×

จัดรำลึก ‘44 ปี 6 ตุลาคม 2519’ จาตุรนต์ชี้เข่นฆ่านักศึกษาเพื่อปูทางสู่รัฐประหาร เชื่อการเคลื่อนไหวปัจจุบันไม่ซ้ำรอย

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2020
  • LOADING...
44 ปี 6 ตุลาคม 2519

วันนี้ (6 ตุลาคม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงาน ‘ครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาฯ 2519’ ประจำปี 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมกันรำลึกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งไว้อาลัยวีรชนผู้สูญเสียในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ โดยภายในงานมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีวางพวงมาลา-ดอกไม้ และยืนไว้อาลัยแด่เหล่าวีรชนผู้สูญเสีย พร้อมทั้งมอบรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย’ ให้กับ อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก 

 

บุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นความต่อเนื่องของยุคสมัยที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมไทย การขับเคลื่อนประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาร่วมกับประชาชน และยังสะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองในเชิงอุดมคติ ภายใต้คำขวัญของการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาคม ที่ว่า “ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลากล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม” 

 

พร้อมพร พันธุ์โชติ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการรำลึกในวันนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนว่าเราต้องไม่พากงจักรความรุนแรงนั้นหวนกลับคืนมา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรายังต้องต่อสู้จนกว่าจะได้ซึ่งสิทธิและเสียงในการกำหนดสังคมที่เราอยู่ และกำหนดกติกาที่เราอาศัย

 

ขณะที่ ลัลนา สุริโย ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 44 ปีที่ผ่านไป เรารำลึก 6 ตุลาคมกันหลายครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีคนพยายามลบให้เหตุการณ์นี้เลือนหายไปจากความทรงจำ แต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าใด ภาพของวีรชนนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยก็ได้ฝังอยู่ในหัวใจและความทรงจำของชาวธรรมศาสตร์ทุกคนมาจนถึงปัจจุบัน โดยสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่รำลึก หากแต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้การเสียสละของวีรชนต้องสูญเปล่า ทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความเท่าเทียมและมีความเป็นประชาธิปไตย

.

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำนักศึกษา กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยอธิบายความหมายของเหตุการณ์ 6 ตุลาคมใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เกี่ยวข้องกับนักศึกษาทั่วประเทศและได้สร้างผลกระทบระดับประเทศ
2. นอกจากการสังหารโหดแล้ว วันเดียวกันยังมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ปิดฉากประชาธิปไตย ดึงประเทศถอยหลังกลับไปสู่ระบอบเผด็จการโดยนายทุน ขุนศึก ศักดินา นานถึง 12 ปี
3. เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่ไม่อาจแยกออกจากกัน

 

สำหรับสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เนื่องจาก 14 ตุลาคมได้ทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. พรรคการเมืองและรัฐสภามีบทบาท การบริหารไม่ได้อยู่ในมือข้าราชการฝ่ายเดียวอีกต่อไป ประชาชนมีสิทธิมีเสียง และเป็นเสียงที่ผู้มีอำนาจรวมถึงระบบราชการต้องฟังด้วยความรำคาญและทนไม่ได้

 

“การปลุกระดมให้เกิดความโกรธแค้นเกลียดชังจนถึงการเข่นฆ่านั้นมีการวางแผนและสั่งการอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การรัฐประหารในวันเดียวกัน โดยเหตุการณ์ 6 ตุลาคมถือเป็นกรณีต้นแบบของการกระทำความผิดร้ายแรงโดยไม่ต้องรับโทษ จนนำมาสู่อีกหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่าสังคมไทยไม่มีหลักนิติธรรม” จาตุรนต์กล่าว

 

จาตุรนต์กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคมให้บทเรียนสังคมไทยใน 3 ประเด็น ได้แก่

1. การใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหา แต่เพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น
2. การใช้ความรุนแรงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบ การฆ่าคนเพื่อรักษาโครงสร้างและระบบให้คงอยู่ต่อไป
3. การแก้ปัญหาเกิดจากการใช้การเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ การผ่อนคลายให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างกลับคืนและมีที่ยืนในสังคม

 

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันพบว่ามีจุดร่วมคือการเห็นปัญหาของบ้านเมือง มีความใฝ่ฝันอยากเห็นสังคมที่ดี ที่ผ่านมามีคำถามว่าใครหนุนหลังการเคลื่อนไหว สิ่งที่หนุนหลังคือวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง วิกฤตของระบบการศึกษา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และความผันผวนของโลก เมื่อนักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้สภาพเหล่านี้ทำให้พวกเขาได้ข้อสรุปว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต พวกเขาไม่มีอนาคต

 

“เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาไม่ได้ทำผิด ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบปรามเข่นฆ่า ความรุนแรงมาจากฝ่ายชนชั้นนำทั้งสิ้น ดังนั้นต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่าอย่าสร้างความเกลียดชัง อย่างสร้างเงื่อนไขเพื่อจะได้ใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษา ผมไม่เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้จะซ้ำรอย 6 ตุลาคม แต่จะมีโอกาสจะพัฒนาไปใกล้เคียงกับเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลาคม หรือพฤษภาคม 2535 และหากประชาชนพร้อมที่จะร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาต้องต่อสู้ไปตามลำพัง การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอาจยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอดีต” จาตุรนต์ระบุ

 

44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 44 ปี 6 ตุลาคม 2519

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X