×

คณะกรรมการอีอีซีแจง ‘มาตรา 44 ดันผังเมืองใหม่ 3 จังหวัดอีอีซี’ ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แค่ปรับผังเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • คำสั่ง คสช. ที่ 47/60 เรื่อง “ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC โดยจัดให้มีการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่
  • คำสั่งดังกล่าว เป็นการปรับปรุงการทำงานกรมโยธาธิการและผังเมืองให้กว้างขวาง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด หรือโครงการอื่นๆ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

     จากกรณีที่ทาง THE STANDARD ได้นำเสนอข่าว ‘บิ๊กตู่’ ใช้มาตรา 44 ดันผังเมืองใหม่ 3 จังหวัดอีอีซี นักวิชาการชี้ขัดกฎหมาย ฉวยโอกาส ขาดกาลเทศะ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ล่าสุด นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหนังสือชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า

     ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา EEC ครอบคลุม 3 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งต่อไปจะพัฒนาไปเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นศูนย์กลางการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่  

     คสช. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการวางแผนผังการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

     ในการพัฒนาดังกล่าว จึงได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 47/60 เรื่อง “ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC โดยจัดให้มีการวางผังเมืองและพัฒนาเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” อันจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่ เพื่อดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดทำ พรบ. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  

     ม.44 เรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมืองกับ สกรศ. ที่ต้องการให้มีการวางผังพื้นที่ 3 จังหวัดให้ต่อเนื่องกัน โดยใช้ข้อมูลผังเมืองเดิมที่มีอยู่นำมาปรับปรุงให้เป็นผังพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้ เป็นการปรับปรุงการทำงานกรมโยธาธิการและผังเมืองให้กว้างขวาง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด หรือโครงการอื่นๆ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

     โดยสาระสำคัญของ ม.44 ที่จะนำไปดำเนินการ มีดังนี้   

     1. ให้คณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย เพื่อให้ความเห็นชอบในเรื่องดังต่อไปนี้

          1) นโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  

          2) แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม  

          3) แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค  

          4) แผนการดำเนินงาน  

     ในเรื่องนี้ สกรศ. ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วและมีความก้าวหน้าพอสมควร และจะเร่งนำเรื่องเสนอ กรศ. โดยเร็ว ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดทำภาพรวมดังกล่าว สกรศ. ได้คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบ การเยียวยา ตามหลักการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตลอดเวลา

     2. ในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคนั้น สกรศ. จะได้ทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนผังทั้ง 2 ให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายได้ให้ความเห็นชอบ โดยจะคำนึงถึงความต่อเนื่องและเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคกับการพัฒนา EEC ใน 7 ระบบหลัก คือ

          1) ระบบสาธารณูปโภค  

          2) ระบบคมนาคมและขนส่ง  

          3) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  

          4) ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบกิจการเป้าหมายและการอยู่อาศัย  

          5) ระบบบริหารจัดการน้ำ  

          6) ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ

          7) ระบบป้องกันอุบัติภัย  

     ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนผังทั้ง 2 จะได้นำข้อมูลของผังเมืองรวมจังหวัดที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันมาเป็นข้อมูลหลักในการจัดทำแผนภาพรวม

     3. เมื่อจัดทำแผนผังทั้ง 2 เสร็จแล้ว สกรศ. จะได้ทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลัก ในการนำแผนผังดังกล่าวไปจัดทำผังเมืองขึ้นมาใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ในระหว่างการจัดทำผังเมืองใหม่ จะได้ใช้แผนผังทั้ง 2 ที่ได้รับอนุมัติแล้วไปพลางก่อน

     4. โดยกลไกการพิจารณาอนุมัติผังเมืองและทุกเรื่องสำคัญนั้น คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมรัฐมนตรีหลายท่านที่กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารอบคอบ ไม่ได้ให้อำนาจบุคคลใด หรือสำนักงานที่จะอนุมัติผังหรือดำเนินการได้โดยตนเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X