×

บรรยง พงษ์พานิช คุยเรื่องม็อบ ทฤษฎีเม่นแห่งตลาดทุน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

24.08.2020
  • LOADING...

 

คนรุ่นใหม่ในสายตาของ เตา บรรยง เป็นอย่างไร จุดเริ่มต้นของการควบรวมของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และปัจจัยที่สำคัญของการควบรวมกิจการที่ดีคืออะไร เจาะลึกทฤษฎีตลาดทุนและตลาดการเงิน ถูกออกแบบมาเพื่ออะไร ทำงานอย่างไร และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำเป็นอย่างไรสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

เคน นครินทร์ คุยกับ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ในรายการ The Secret Sauce

 

มุมมองที่มีต่อคนรุ่นใหม่

ผมเป็นคนรุ่นเดือนตุลา และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ควรเปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่ เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เราต้องกลับมาพิจารณาว่ามีอะไรที่ผิดแปลกไป เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤตก็จะเกิดอาการแทรกซ้อน คนกลุ่มนี้เป็นห่วงอนาคต จึงเป็นไปได้อยู่แล้วที่เขาจะกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้เติบโตในดินแดนที่มีโอกาสหรือเจริญรุ่งเรือง และนั่นไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้อง ตัวผมเองเชื่อมั่นมาตลอดว่าองค์ประกอบสำคัญของสังคมที่พัฒนาแล้วคือ ประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขในทางเศรษฐกิจที่มี 3 เป้าหมายด้วยกันคือ มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน 

 

ประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จทั้ง 3 เรื่อง ความมั่งคั่ง เราเป็นประเทศที่เติบโตเกือบจะต่ำที่สุดในระดับประเทศกำลังพัฒนา และเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ที่แย่มาก คน 1% ถือครองทรัพย์สินถึง 76% ส่วนความยั่งยืน เราเป็นประเทศที่เปราะบาง ไม่สมดุล แม้ในช่วงโควิด-19 เราจะประสบความสำเร็จมากในด้านสาธารณสุข แต่เราก็ใช้ต้นทุนสูงมากเช่นกัน รวมถึงเรายังเป็นประเทศที่พึ่งพาบางอุตสาหกรรมมากเกินไป และมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร ผมมองว่าการเรียกร้องหรือเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องจัดการ และเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่จากประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผมกังวลที่สุดคือ ต้องระวังอย่าให้ไปถึงขั้นที่เกิดการปะทะจนมันลุกลามและเอาไม่อยู่ เพราะมันสามารถทำให้ประเทศชาติหยุดชะงักไปชั่วอายุคนได้เลย สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมเห็นด้วยที่เขาไม่นิ่งเฉย แต่เขาต้องพยายามผลิตข้อเรียกร้องให้ออกมาเป็นรูปธรรมด้วย เพราะหมื่นคนก็หมื่นความต้องการ มันเลยต้องอาศัยกระบวนการกลั่นกรองและตกผลึกว่าความต้องการคืออะไรกันแน่ สำหรับคนที่อยู่ในอำนาจ ผมมองว่าเป็นโอกาสที่เขาจะพัฒนาด้านสาธารณสุขที่เป็นจุดแข็งของเรา และแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเท่าที่จะทำได้ จากนั้นก็ทำการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องที่มาของอำนาจ เพื่อให้สามารถลงจากเวทีได้อย่างสง่างาม 

 

โลกในตอนนี้คาดการณ์ได้ยากมาก ประเด็นสำคัญคือ สมัยนี้การคาดการณ์มีความสำคัญน้อยกว่าการทำตัวเราให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มี 2 คำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ คือ Resilient หมายถึงความพร้อมที่จะผจญกับแรงกระแทก กับ Agility หรือความคล่องตัว ทั้งสองคำนี้ก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ระดับครอบครัว ระดับองค์กร และเมื่อไปถึงระดับสังคมมันยิ่งยากและซับซ้อนขึ้น โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สังคมไทยเรามีทั้งความพร้อมรับแรงกระแทกและความคล่องตัว

สมัยนี้การคาดการณ์มีความสำคัญน้อยกว่าการทำตัวเราให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

จุดเริ่มต้นของการควบรวมของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) 

ผมทำงานมา 43 ปี เริ่มไต่เต้าตั้งแต่การเป็นเสมียนขึ้นมาจนเป็นอย่างทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงมันทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ผมได้เรียนรู้ตลาดทุนสากล ตลาดทุนโลก การซื้อกิจการจากต่างชาติ จนเราตัดสินใจควบรวมกิจการระหว่างธนาคารเกียรตินาคินกับกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ภัทร เพื่อขยายฐานและขยายขอบเขตการบริการ ทำให้เราสามารถดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุดได้ดีขึ้น การควบรวมกิจการเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ จากงานวิจัยบอกไว้ว่า ประเทศไหนที่การควบรวมทำได้ง่าย แปลว่าประเทศนั้นจะสามารถเพิ่ม Productivity ได้มาก เพราะมันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พลังทวี แต่เดิมเราเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีคนเพียง 400 คน และมีเงินทุนจำกัด เราจึงต้องการเงินทุนเพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกิจที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ด้วยความที่ธนาคารเกียรตินาคินมีความเชี่ยวชาญในบางเรื่องที่พอมารวมกันแล้วลงตัวจนเกิดเป็นพลังทวี คำว่าลงตัวไม่ได้หมายถึงดีที่สุดในโลก แต่เป็นอะไรที่สามารถทำให้เพิ่มมูลค่าได้ 

การควบรวมกิจการเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ จากงานวิจัยบอกไว้ว่า ประเทศไหนที่การควบรวมทำได้ง่าย แปลว่าประเทศนั้นจะสามารถเพิ่ม Productivity ได้มาก เพราะมันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พลังทวี

หลักของธุรกิจสมัยใหม่ ต้องเป็นการให้บริการและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มากขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของตลาดการเงินดีขึ้น เพราะตลาดการเงินเป็นหัวใจของเศรษกิจทั้งโลก การควบรวมกิจการทำให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบของเราทำได้ดีมากขึ้น แน่นอนว่าเรามีสิ่งที่สูญเสียไป มีพนักงานบางคนไม่สามารถอยู่รอดได้ รวมถึงตัวผมเอง ที่ตอนนี้อยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แต่ไม่มีเงินเดือน แต่ที่ทำเพราะต้องการให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีขึ้น ตอนนี้เราสามารถให้บริการลูกค้าคนไทยที่เป็นนักลงทุนได้ทั่วโลกแล้ว แต่ก่อนภัทรไม่สามารถให้บริการกู้เงินได้ ส่วนธนาคารเกียรตินาคินก็ทำได้แค่ให้กู้ สำหรับธุรกิจขนาดย่อยและขนาดกลางในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น พอมารวมกันจึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกันได้

 

ทฤษฎีตลาดทุนและตลาดการเงิน

หน้าที่หลักของตลาดการเงินคือการเป็นตัวกลางที่สามารถจะตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งแรก เจ้าของทรัพยากรหรือคนที่ร่วมสะสมทรัพยากรไว้ในรูปแบบของเงิน กับอีกฝั่งคือคนที่จะมานำเงินส่วนนี้ไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แท้จริงแล้วตลาดการเงินเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 400 กว่าปีนี้เอง แต่มันเพิ่มบทบาทความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เงินและตลาดการเงินเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกมากที่สุดอย่างหนึ่ง เงินทำให้มนุษย์สามารถเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพได้มากมาย ตลาดการเงินมี 3 หน้าที่หลัก ดังนี้

 

1. ทำหน้าที่ทำให้เกิด Payment หรือการจ่ายเงิน เพราะถ้าไม่มีการจ่ายเงินก็ไม่มีการค้า และถ้าไม่มีการค้า ทุกคนก็ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง การค้าทำให้เราสามารถทำสิ่งที่เราเก่งหรือถนัดมากที่สุดได้

 

2. ทำหน้าที่ Resource Allocation คือการรวบรวมทรัพยากรซึ่งก็คือเงินที่สะสมไว้ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับคนที่สมควรได้รับ นั่นก็คือคนที่สามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลิตภาพและผลิตผลได้ ดังนั้นการจัดสรรจึงต้องมีการติดตามว่าทรัพยากรที่นำไปใช้ได้ผลจริงหรือเปล่า เราจึงมีระบบ Corporate Governance เพื่อให้เจ้าของทรัพยากรสามารถติดตามทรัพยากรตัวเองได้ 

 

3. ทำหน้าที่ Reallocation สำหรับกรณีของคนที่นำเงินไปลงทุนไม่สามารถสร้างผลิตภาพและผลิตผลได้สำเร็จ เราก็ต้องมีวิธีเอาเงินที่ให้ไปกลับคืนมา

 

ตลาดทุนที่ดีต้องทำให้เกิดระบบ Payment ที่ดี ซึ่งมี 3 เงื่อนไขด้วยกันคือ Accurate หรือจ่ายเงินได้ถูกต้อง เงื่อนไขต่อมาคือ Speed หรือความเร็ว และสุดท้าย ต้นทุนต้องต่ำ เพราะการลงทุนทุกวันนี้ ต้นทุนต้องแข่งขันได้ ที่สำคัญการจัดสรรทรัพยากรต้องทั่วถึง เพราะทุกวันนี้คนชายขอบหรือแม้แต่ SMEs ก็ยังเข้าไม่ถึงตลาดการเงิน 

 

ตลาดการเงินที่ดีต้องมีองค์ประกอบของตลาดที่ดีคือ 1. มีกฎระเบียบที่ดี 2. มีคนคุมกฎระเบียบที่ดีและมีความรู้ความเข้าใจ 3. มี Facility ที่ดี มีผู้ให้บริการที่พร้อม มีตัวกลางที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ และมีนักลงทุนที่มีคุณภาพ การจะทำให้เกิดโครงสร้างหรือกลไกแบบนี้ได้คือไปดูประสบการณ์ของคนอื่น การใช้ภูมิปัญญาของโลกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเราไม่ใช่คนแรกในโลก พอเรารู้ว่าเขาผ่านบทเรียนอะไรมาและเข้าใจเหตุผลของเขา เราก็สามารถนำมาดัดแปลงให้เข้ากับเราได้ ผมทำธุรกิจด้วยวิธีนี้มาตลอด ฟังดูเหมือนง่าย แต่เวลาทำจริงต้องอาศัยความอดทน มุ่งมั่น มีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งของตัวเราเองและคนที่มาร่วมกันทำด้วย

 

ในแง่ของขนาด เราอาจจะไม่ใหญ่ เรามีพนักงาน 4,000 คน ซึ่งเทียบแล้วไม่ถึง 2% ของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม แต่ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดในโลกในธุรกิจที่เราทำ โดยเราจะดูก่อนว่าเรามีโอกาสจะดีที่สุดในโลกไหมในเรื่องนั้นๆ ถ้าไม่มีโอกาสเลย เราอาจจะไม่ทำ เราใช้ทฤษฎีเม่นคือการสลัดขนของตัวเองวิธีเดียว แต่ก็ชนะทุกครั้ง ความหมายก็คือ เราจะทำเฉพาะสิ่งที่เราถนัด เชี่ยวชาญ และมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาให้เป็น The Best ได้เท่านั้น คำว่าดีที่สุดผมเป็นเป้าหมายที่ไม่มีวันไปถึง เป็นเป้าหมายที่อยู่ตลอดกาล เพราะวันไหนที่เราคิดว่าเราดีที่สุดในโลกแล้ว มันก็จบ และในมิติของการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพไม่มีคำว่าพอเพียง องค์ประกอบแรกที่สำคัญหรือความสามารถที่จะทำให้เราไปถึงตรงนั้นได้คือ คน โครงสร้างต่างๆ และเครือข่าย ซึ่งไม่ใช่พรรคพวก แต่เป็นคนที่สามารถมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งระบบทุนนิยมที่ดีจะต้องมีการออกแบบให้ผลประโยชน์ของปัจเจกกับผลประโยชน์ของส่วนรวมไปด้วยกันได้

คำว่าดีที่สุดผมเป็นเป้าหมายที่ไม่มีวันไปถึง เป็นเป้าหมายที่อยู่ตลอดกาล เพราะวันไหนที่เราคิดว่าเราดีที่สุดในโลกแล้ว มันก็จบ และในมิติของการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพไม่มีคำว่าพอเพียง

ความจำเป็นของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผมมองว่ารัฐจำเป็นต้องเพิ่มขนาด ขยายตัว และมีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะลดหนี้สาธารณะอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตลาด ที่สำคัญคือต้องยอมรับการแข่งขัน สำหรับเกียรตินาคินภัทร เราเชื่อในระบบกลไกตลาดที่เสรี และมีแข่งขันอย่างเท่าเทียม เพราะในระบบตลาดที่ดี ทุกกำไรที่คุณได้ล้วนมาจากการที่คุณสร้างประโยชน์เท่านั้น คนไม่สร้างประโยชน์ไม่มีทางได้กำไร เราเชื่อในโลกาภิวัตน์ เพราะโลกทั้งโลกที่พัฒนาขึ้นมาได้ก็เพราะมีการแชร์ความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรร่วมกัน ยิ่งช่วงที่เกิดปัญหา ผมจะนึกถึงคำว่า Don’t waste a good crisis ผมจึงมีข้อเสนอว่าให้ใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นในการแปรรูปวิสาหกิจไปเลย เพราะมันมีข้อพิสูจน์มาแล้วมากมายว่าได้ประโยชน์ในระยะยาวอย่างแน่นอน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์, พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

Music westonemusic.com

Interns ภูมิ ทรงศรีพิพัฒน์, ณัชชา ขอเพิ่มทรัพย์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X