วันนี้ (21 สิงหาคม) ที่รัฐสภา (เกียกกาย) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม กมธ. ชุดดังกล่าวว่า ความคืบหน้าการแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ชัดแล้วทั้งในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเห็นตรงกันให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. นั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหลือเพียงแค่ถกเถียงในรายละเอียดว่าจะมีจำนวนเท่าไร สัดส่วนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ตนมีข้อสังเกตเรื่องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนกันไว้ว่าห้ามแก้ หมวด 1-2 เหตุผลนั่นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ก็มีกรอบอยู่แล้วว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญห้ามกระทบรูปของรัฐ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้นใครที่กังวลใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่านไม่ต้องกังวล เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างนั้นเกินเพดาน เกินกรอบนี้ไม่ได้ และนอกจากนี้ที่สำคัญก็คือ ที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขใน 2 หมวดนี้อยู่บ่อยครั้ง อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็แก้ไขทั้ง 2 หมวด
“สังคมกำลังเข้าใจผิดว่าถ้าหากไม่เขียนล็อกไว้ในหมวด 1-2 จะเท่ากับการแก้ ซึ่งไม่จริง เพราะการจะแก้นั้นอยู่ที่ สสร. และตรงกันข้าม ถ้าไปล็อกไว้ เกิดว่าในอนาคตมีกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้จริงๆ แล้วแก้ไม่ได้ จะเกิดวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งคงจำกันได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 หลังผ่านประชามติไปแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ปรากฏว่าทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่า เห็นควรให้มีการแก้ไขหมวด 2 ซึ่งในท้ายที่สุด พล.อ. ประยุทธ์ กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ต้องมาหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขให้ได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่มีใครทราบหรอกว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ การไปเขียนล็อกล่วงหน้าทำให้เป็นเรื่องตายตัวเกินไป ดังนั้นฝ่ายที่คิดว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวไม่ต้องกังวล เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญโดย สสร. เกินกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้อยู่แล้ว” ปิยบุตร กล่าว
ปิยบุตรกล่าวอีกประเด็นสำคัญคือ ตนมองว่าการทำให้มี สสร. ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะเราไม่ทราบเวลาในการพิจารณาว่านานเท่าไร และเมื่อผ่านวาระ 1, 2 ไปอาจไม่ผ่านวาระ 3 ก็ได้ หรือเมื่อผ่านวาระ 3 ไปแล้ว อาจจะไม่ผ่านประชามติก็ได้ กว่าจะมี สสร. กว่าจะได้ร่างใหม่ กว่าจะร่างใหม่เสร็จต้องใช้เวลากี่ปี จึงเห็นว่าระหว่างนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้คิดเรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว และเรากลับเข้าสู่ระบบปกติแล้ว จึงเสนอให้มีการยกเลิก ส.ว. 250 คน ตามบทเฉพาะกาลทันที ในมาตรา 269-272 เพราะเมื่อยกเลิกไปแล้ว เกิดวันหนึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ต้องการผ่าทางตันทางการเมืองโดยการยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่มีนัยสำคัญ เพราะไม่มี 250 ส.ว. มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว
“เรื่องนี้สามารถทำไปได้พร้อมกับการตั้ง สสร. อยู่ที่จะทำหรือไม่ และยิ่งถ้าหาเจตจำนงร่วมกันได้ สามารถผ่าน 3 วาระได้เลย ไม่ต้องยื้อนาน เพราะตอนนี้สังคมก็กำลังจับตาดูว่ากระบวนการตั้ง สสร. นี้จะถูกยื้อไปนานแค่ไหน ตนไม่อยากให้ภาพออกมาว่าใช้เป็นข้ออ้าง ยื้อเวลาให้รัฐบาลอยู่ไปเรื่อยๆ เพราะเผลอๆ กว่า สสร. จะได้มา กว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ส.ว. ก็อยู่ครบเทอมพอดี และบางทีเกิดมีการยุบสภา ก็สามารถจะสืบทอดอำนาจได้ต่ออีกเพราะยังมี ส.ว. ช่วย นี่เป็นจุดอ่อนที่ถูกโจมตีมาโดยตลอด อยากให้ปลดออก แต่อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขตรงนี้ก็ต้องมีเสียง ส.ว. 84 เสียงเห็นด้วย ซึ่งภาพจะดูไม่ดีอย่างมาก ถ้าเกิด ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายปกป้องตัวเอง และสนับสนุนตัวเองให้อยู่ต่อ ดังนั้นบรรดา ส.ว. ต้องตระหนักว่าคุณเป็นจุดด่างดำของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คุณปฏิบัติการสืบทอดอำนาจได้สำเร็จแล้ว ถ้าอยากกลับมาเป็น ส.ว. อีก ก็ให้ไปใช้ช่องทางปกติตามมาตรา 107 จะสง่างามกว่า” ปิยบุตร กล่าว
ขณะที่ในการประชุม กมธ. วันนี้ จะมีการพูดคุยกันถึงเรื่องการทำรายงานเพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้ ปิยบุตรได้ทำความเห็นส่วนตัวต่อการแก้ไขครั้งนี้ จำนวน 20 หน้า โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม รวมทั้งเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับทราบด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ควรต้องแก้ไขเรื่องอะไร และแนวทางเป็นอย่างไรบ้าง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์