เปิดมุมมองชัชชาติในประเด็นร้อน ‘แฮมทาโร่’ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่หรือเพียงน่าเที่ยว เศรษฐกิจเส้นเลือดฝอยต้องเริ่มที่ตรงไหน การเชื่อมจุดให้ชีวิตสำคัญอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่เปรียบเสมือนหินก้อนใหญ่ในชีวิตของเขา
ปรากฏการณ์ม็อบแฮมทาโร่
ม็อบแฮมทาโร่เป็นปรากฏการณ์ที่เต็มไปด้วยพลัง โดยมีคีย์เวิร์ดคือความสนุก ทิศทางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ช่วงนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก เพราะว่าไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้มาก่อน พวกเขาเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีพลังบริสุทธิ์ มีจำนวนมาก และเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจที่เราคงต้องเรียนรู้กันไป
ปรากฏการณ์นี้ชวนให้คิดถึงเนื้อหาบทที่ 19 ของหนังสือ 21 Lessons for the 21st Century โดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาในศตวรรษนี้ ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว คำแนะนำจากผู้ใหญ่อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นอมตะ แต่เป็นความลำเอียงที่ล้าสมัย จึงมองว่าต้องหาจุดผสานกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ แต่อาจจะไม่แฟร์ถ้าเราตัดสินคนหรือจัดกลุ่มคนด้วยอายุ เพราะคนที่มีอายุแต่ทันสมัยก็ยังมีอยู่ สุดท้ายคงต้องมีตัวกลางที่ทำให้เข้ามาคุยกันได้ด้วยเหตุด้วยผล
ยกตัวอย่าง ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีจากไต้หวันที่ทำแพลตฟอร์มให้คนมาแสดงความเห็นโดยไม่ทะเลาะกันบนหน้าแพลตฟอร์ม เพราะตั้งระบบให้ห้าม Reply ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะช่วยให้รวบรวมประเด็นได้ดีโดยไม่ต้องทะเลาะกันด้วยอารมณ์จากการโต้ตอบกันไปมา
ดิจิทัลเชื่อมต่อวิถีชีวิต
แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างคนแต่ละเจเนอเรชันในอนาคต โลกดิจิทัลทำให้คนรุ่นใหม่ค้นหาสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะอาจจะหาเฉพาะข้อมูลที่สะท้อนสิ่งที่ตัวเองสนใจเพียงอย่างเดียว เป็น Confirmation Bias หรือ Echo Chamber แต่ถ้าเราสอนให้เขารู้จักคิด เขามีโอกาสจะหาข้อมูลได้หลากหลายแล้วก็ตัดสินใจได้ดีขึ้น
“ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว และหลายๆ เรื่องเขารู้ดีกว่าเราเยอะ ข้อมูลของเขาดีกว่าเรา แล้วเขาก็มีมุมมองที่ไม่ถูกความลำเอียงเข้าไปบดบังมาก ลองฟังเขา คุยกันแล้วอาจจะได้ข้อมูลที่ดี แต่บางอย่าก็ต้องไกด์เขาเหมือนกัน ประสานกันระหว่างประสบการณ์กับความคิดใหม่ๆ ถ้ามาแมตซ์กันได้มันก็จะเป็นพลังที่ดี
“คีย์เวิร์ดคือคำว่า ‘ทันสมัย’ การพยายามเปิดรับข้อมูลหลายด้าน คนที่บอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ถ้าคุณไม่พยายามไปหาความรู้เพิ่ม สุดท้ายน้ำร้อนจะกลายเป็นน้ำเย็นแล้วไม่มีประโยชน์เลย แล้วผมคิดว่านั่นคือหัวใจของการอยู่รอดในอนาคต เพราะเมื่อเริ่มที่การเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากหลายทาง เราจะเห็นว่าเราไม่ได้รู้อะไรมากมายนัก ซึ่งจะช่วยลดทิฐิของตัวเองลงได้”
หินก้อนใหญ่ในชีวิต
ชีวิตในวันนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนัก นอกจากบทบาทการเลี้ยงดูลูกชายวัย 20 ปีก็มีแค่สองอย่างหลักๆ คือออกกำลังกายกับอ่านหนังสือ ทุกคนมีโถแก้ว 1 ใบ คือเวลา 24 ชั่วโมง เรามี 3 อย่างคือหินก้อนใหญ่ กรวด และทราย หินก้อนใหญ่คือสิ่งสำคัญที่สุด ทรายคือเรื่องไม่จำเป็น หลายครั้งที่เราใส่ทรายลงไปจนเต็ม จนไม่มีที่สำหรับครอบครัว ไม่มีที่สำหรับการออกกำลังกาย ไม่รู้จะอ่านหนังสือตอนไหน แต่ถ้าเราเอาหินใส่ลงไปก่อนมันจะมีที่เสมอ โดยทุกวันจะตื่นราวตี 3 ครึ่งเพื่อดูข่าว เช็กอีเมล แล้วรีบไปออกกำลังกาย จากนั้นไปทำงาน ประชุม ลงพื้นที่ อ่านหนังสือตอนเย็น 2-3 ชั่วโมง อยู่กับลูกที่นั่งดูทีวีหรือเล่นเกมใกล้ๆ กัน แล้วเข้านอนตั้งแต่ 3-4 ทุ่ม
ไม่หยุดอยากรู้อยากเห็น
“เราอยากรู้อยากเห็น เราก็ไปหาความรู้มาตอบ” ช่วงที่ผ่านมาความสงสัยนำพาไปหาคำตอบว่าการที่คนซื้อของเป็นหมื่นๆ ล้านในวันคนโสด วันที่ 11 เดือน 11 ใครได้ประโยชน์บ้าง ทำไมแพลตฟอร์มขายสินค้าเหล่านี้ขาดทุนถึง 3-4 พันล้านแต่ก็ยังอยู่ได้ คำตอบที่ได้พบจาก เรย์ ดาลิโอ ซึ่งเป็น Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือภาวะขาดสมดุลที่เงินบางส่วนไหลไปหาสตาร์ทอัพใหม่ๆ จน Overprice มาก เงินกำลังท่วมโลก เพราะคนที่มีเครดิตจะเอาเงินเท่าไรก็ได้ แต่คนจนที่ไม่มีเครดิตเลยจะกู้เงินไม่ได้ และส่วนหนึ่งเกิดจาก Quantitative Easing การปั๊มเงินของธนาคารกลาง จนทำให้เกิดทฤษฎีใหม่ออกมาชื่อว่า Modern Money Theory หรือ Modern Monetary Theory ซึ่งมีแนวคิดว่าถ้าคุณเป็นประเทศที่มีเงินตราของตัวเอง ออกเงินตราของตัวเองได้ คุณสามารถสร้างหนี้ได้ไม่จำกัด ไม่กู้เงินต่างประเทศก็สามารถพิมพ์เงินได้ไม่จำกัด นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ญี่ปุ่นมีหนี้ต่อ GDP 200% โดยที่ยังอยู่ได้ เพราะการขาดทุนของภาครัฐคือความร่ำรวยของภาคเอกชน ในประเทศ Zero Sum ถ้ารัฐขาดทุน ขาดดุล จะไปเป็น Surplus ภาคเอกชน พอรวมกันแล้วก็คือ Zero Sum
ชัชชาติมองว่านี่เป็นแนวคิดที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำ Monetary Policy ของไทยได้เช่นกัน เพราะเงินดอลลาร์ที่ออกมาท่วมตลาดทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรติดลบแล้วบางแห่ง ส่งผลให้ราคาทองคำขึ้นสูงอย่างในทุกวันนี้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะคนไม่ลงทุน แต่ไปซื้อทองแทน เป็น Butterfly Effect เพราะทั้งโลกต่างเชื่อมโยงกัน
“ผมคิดว่าของไทยเองเราอาจจะมีความคิดเดิมที่เราต้องจำกัดหนี้ไม่เกิน 60% ของ GDP แต่อาจจะใช้ไม่ได้แล้วกับโลกปัจจุบัน ต้องมาช่วยกันคิดแล้วว่า New Normal มันอาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นวิธีคิด New Thinking เพราะ Normal มันเป็นผลของ Thinking”
ประเทศไทยในมุมมองของชัชชาติ
ด้านสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่เรื่องเศรษฐกิจ หัวใจของประเทศไทยคือการท่องเที่ยวกับการส่งออก ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 12-15% ของ GDP แต่ลดลงไปราว 80% ในพื้นที่ที่อาศัยนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก “ผมไปเดินซื้อเสื้อแฮมทาโร่ที่มาบุญครองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เห็นห้างร้านปิดไปครึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเลย อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว มีตัวเลขว่าการท่องเที่ยวทำให้เกิดการจ้างงาน 1 ใน 6 ของแรงงานในประเทศไทย กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาต้องใช้เวลาอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย” เพราะว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีถึง 40 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีราว 10 ล้านคน การดึงคนต่างจังหวัดมาเที่ยวในกรุงเทพฯ ด้วยสายการบินโลว์คอสต์ หรือกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้นจึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ผ่านการให้ข้อมูล การอำนวยความสะดวก แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับคนไทยกันเองด้วย
นอกจากนี้ชัชชาติยังมองว่า Bubble Travel ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้ง่ายนัก เพราะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ก่อน บทบาทนี้อยู่ที่การท่าอากาศยานต้องเริ่มคิดในภาคเอกชน ใช้ประโยชน์จากระบบ APPS ซึ่งสกรีนคนก่อนออกบอร์ดดิ้งพาสให้ นอกจากเดิมที่มีข้อมูลอาชญากรรมแล้วอาจจะเพิ่มเติมข้อมูลด้านสุขภาพหรือผลการตรวจคัดกรองโควิด-19 เข้าไปด้วย
ภาคการส่งออกของไทยก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะว่าคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา อันดับสองคือจีน ซึ่งตัวเลขไม่ได้ลดลง แต่การส่งออกไปยังออสเตรเลียและญี่ปุ่นลดลงเยอะ จึงต้องดูเป็นเซกเตอร์ แล้วแต่อุตสาหกรรม “หัวใจของการรับมือโควิด-19 คือต้องพยายามยอมรับความจริง อย่าคิดว่ามันจะผ่านไปง่ายๆ ต้องมานั่งกางดูว่ารายได้ของเราเท่าไร มีใครจะช่วยเราได้บ้าง เราอยู่ในอุตสาหกรรมไหน ความเสี่ยงเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องติดตามข่าวรอบตัวเหมือนกัน ไม่ใช่คิดว่าเราตื่นขึ้นมาอีกทีแล้วมันจะผ่านพ้นไป ไม่ใช่ มันจะอยู่กับเราอีกนาน”
ปรับตัวจากสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
ชัชชาติเสนอว่าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวแล้วได้รับผลกระทบอยู่ควรเน้นทรัพยากรที่มีอยู่แล้วก่อน ดูแลพนักงานที่มีอยู่ให้ดี อย่าเพิ่งใช้เงินเก็บก้อนสุดท้ายไปลงทุนเพื่อสร้างสิ่งใหม่ เพราะเวลานี้มีความเสี่ยงสูง แต่ต้องพยายามสิ่งที่มีมาปรับปรุง “อย่าไปหวัง New Normal ผมคิดว่า Next Normal สำคัญกว่า ต่อไปอาจจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาก็ได้ แต่เราอยู่ไม่รอด เพราะฉะนั้นคุณต้องดู Next Nornal ก่อนว่าสัปดาห์หน้าจะอยู่อย่างไร สุดท้ายในระยะยาวคนก็โหยหาประสบการณ์ที่สัมผัสด้วยตัวเอง หัวใจคือเราต้องการเสื้อชูชีพที่จะให้ผ่านไปถึงจุดนั้น อาจจะไม่สวยหรู แต่ดูแลกันไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้” นี่จึงเป็นช่วงสำคัญของรัฐบาลที่ต้องมาทำหน้าที่เป็น Employer of the Last Resort ธนาคารกลางทำหน้าที่เป็น Lender ให้ยืมเงิน ช่วยอุดหนุน รัฐบาลอาจจะต้องเป็นคนจ้างงาน ให้เงินเอกชนไปจ้างงานต่อ สหรัฐอเมริกาทำโปรแกรม PPP (Paycheck Protection Program) ออกเงินมา 60-70 ล้านล้านบาทเพื่อให้เอสเอ็มอีกู้ไปจ่ายค่าแรง จ่ายค่าเช่า ให้เงินเดือนพนักงานเพื่อช่วยให้อยู่ในบริษัทได้ เนื่องจากปลดล็อกดาวน์แล้วโอกาสกลับมายาก โดยดำเนินการผ่านธนาคารกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้ธนาคารไม่ต้องรับความเสี่ยง
ความน่าสนใจคือความยืดหยุ่นของคนที่มีความสามารถเฉพาะทางสูง เงินเดือนเยอะ ถ้าบริษัทเราหยุดหรือปิดกิจการ โอกาสหางานก็ไม่ง่ายเท่าแม่บ้าน พ่อครัว รปภ. ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดระลอกแรก พวกเขาต้องหยุดงานเพื่อ Social Distancing แต่เมื่อธุรกิจกลับมาเปิดทำการอีกครั้งก็กลับมาทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะความยืดหยุ่นสูง ไปทำงานที่ไหนก็ได้
การจ้างงานสำคัญกว่าตัวเลข GDP
ปัญหาของการช่วยเหลือของรัฐบาลไทยคืองบประมาณช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ไปเพียง 1 แสนล้าน เพราะเงื่อนไขเยอะมาก แต่ภาระตกอยู่กับธนาคาร ทำให้ปล่อยกู้เฉพาะคนกลุ่มเดิมๆ ที่มีเครดิตดีเท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ “นาทีนี้มันต้องมาทั้งสเกลและสปีด ขนาดเงินที่ลงมาช่วยต้องช่วยได้ ไม่ใช่ให้ธนาคารเขารับความเสี่ยงแทนแบงก์ชาติ”
ชัชชาติมองว่าเอสเอ็มอีคือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง แม้ในประเทศไทยจะมีเอสเอ็มอี 3 ล้านราย แต่ก็มีอัตราการจ้างงานเกือบ 10 ล้านคน แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อตัวเลข GDP มากนัก แต่ความหมายสำคัญคือการจ้างงานมากกว่า เพราะเงินได้กระจายลงมาถึงคนตัวเล็กตัวน้อย ดังนั้นอาจถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโฟกัสจาก GDP มาเน้นตัวเลขการจ้างงานมากขึ้น ปัญหาของประเทศไทยคือไม่มีตัวเลขการจ้างงานที่ชัดเจน คนทำงานนอกระบบและรับจ้างรายวันเยอะมาก จึงไม่มีตัวเลขการจ้างงานที่แท้จริง
วิกฤตโควิด-19 จึงเป็น Wakeup Call ครั้งใหญ่ที่ทำให้เห็นว่าโครงสร้างของประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกกับการท่องเที่ยวเยอะมาก เราจึงควรต้องกลับมาพิจารณาการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้ดีขึ้นในระยะยาว สนใจประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะเมื่อ Connectivity ง่ายขึ้น ความไว้ใจก็สร้างได้ง่ายขึ้น
บริหารงบประมาณเพื่อสร้างความไว้วางใจ
การบริหารในภาวะวิกฤตควรมาจากส่วนกลางที่เห็นภาพรวมมากกว่า เพราะท้องถิ่นจะมองไม่เห็นคนอื่น คู่ค้ากับรัฐบาลตามงบประมาณปกติ อย่างผู้รับเหมาต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเดิมๆ จึงไม่มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐอาจจะต้องเป็นการรวมศูนย์เหมือนกับหลายๆ ประเทศ เงินช่วยเหลือมาจากนโยบายของรัฐบาลกลาง ดูปัญหาของแต่ละเซกเมนต์แล้วกระจายลงไป เพราะถ้ากระจายอำนาจมากเกินไปจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตกที่ไม่ได้เห็นภาพรวม แต่ในภาวะฉุกเฉิน การที่ส่วนกลางมีข้อมูลที่ดีน่าจะเป็นตัวช่วยนำทางได้ดีกว่า
“ผมพยายามโปรโมตเรื่อง Trust Economy ปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 มาจากความไม่ไว้ใจ นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาจนหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ส่วนหนึ่งคือลงทุนด้าน Trust Infrastructure ได้ไหม ง่ายๆ คือห้องน้ำสาธารณะ แต่ละชุมชนมีศูนย์สาธารณสุขที่ดี จ้างคนในชุมชนดำเนินการ ศูนย์สาธารณสุขชุมชน ระบบคัดกรองที่กระจายลงมาในชุมชน” อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นอย่างการผลิตหน้ากากอนามัยหรือถุงมือยาง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนต้องการมากกว่าการสร้างถนน ช่วยเอสเอ็มอีสร้างมาตรฐาน โดยมีกลยุทธ์ในการใช้งบประมาณที่สร้างประโยชน์ จับต้องได้ วัดผลได้จริง”
กรุงเทพฯ คือทวิภพ
กรุงเทพฯ เป็นสองโลกที่คู่ขนานกันไปคือโลกทางกายภาพและโลกดิจิทัล คนไทยลงทุนกับโลกทางกายภาพเกือบทั้งหมด แต่แพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ในมือต่างชาติหมดเลย ภาวะนี้จะทำให้เกิดความไม่สมดุล ภาครัฐตามไม่ทัน เก็บภาษีจากกายภาพเยอะ แต่เก็บภาษีจากฝั่งดิจิทัลไม่ทัน เพราะการเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว
ชัชชาติมองว่าคนไทยควรพยายามทำแพลตฟอร์มของตัวเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่สามารถ Localize ได้อย่างการเดินทาง การส่งอาหาร ซึ่งคนไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มที่แข่งขันได้ ถ้ารัฐให้ความช่วยเหลือ “เริ่มคิด เริ่มทำของเราเองได้ไหม แต่มันไม่ได้เหมาะสำหรับทุกอย่าง ต้องเลือกทำด้วยว่าอะไรที่มันมีประโยชน์จริงๆ ในบางส่วนอาจจะไม่ต้องไปแข่งขันในสิ่งที่มันแน่นอยู่แล้ว อาจจะทำเรื่องเฮลท์แคร์ที่เป็นจุดเด่นของเรา”
แต่ปัญหาที่เห็นชัดๆ คือประเทศไทยไม่มีข้อมูลที่ดี ทำให้เราบริหารจัดการได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ กรุงเทพฯ มี 50 เขต 44 สำนัก แต่ข้อมูลยังเป็นไซโลอยู่ คนที่ลำบากหรือต้องการความช่วยเหลือต้องลงทะเบียนกันไม่รู้กี่รอบ การทำข้อมูลชุมชน เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณสุข รายได้ต่างๆ ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเรามีข้อมูลแล้วจะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
กรุงเทพฯ เมืองน่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่
กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับหนึ่งหลายต่อหลายครั้ง แต่ในลิสต์ของเมืองน่าอยู่กลับเป็นอันดับที่ 98 หัวใจคือการทำให้เราเป็นเมืองน่าอยู่ ต้องดูแลพื้นที่สาธารณะให้มีคุณภาพ เพราะสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นเมืองน่าเที่ยวด้วยตัวมันเอง เหมือนกับญี่ปุ่นที่เป็นเมืองน่าอยู่ที่น่าเที่ยวด้วย “ถ้าเราทำให้เมืองน่าอยู่ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นเมืองน่าเที่ยว อย่าไปทำโครงการเมกะโปรเจกต์มาก มีแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ข้างหน้า แต่เราต้องนั่งมอเตอร์ไซค์เข้าบ้าน เรามีอุโมงค์ยักษ์เป็นหมื่นล้าน แต่น้ำยังท่วมแถวซอยบ้านอยู่เลย เมืองน่าอยู่มันต้องได้อยู่สำหรับทุกคน” เป็นที่มาของคำว่า Better Bangkok ซึ่งหมายถึงชีวิตคนตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเข้านอน
“ผมคิดว่าชุมชนในกรุงเทพฯ อ่อนแอสุดๆ เลย เปราะบางมากนะ เพราะชุมชนในกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีเงินวันเดียว คุณจะไปหาน้ำเปล่าที่ไหนกินได้ เราไม่มี Safety Net คนต่างจังหวัดทำสินค้า OTOP ขายได้ แต่คนในกรุงเทพฯ ขายแรงงาน เป็นเฟืองตัวหนึ่งของระบบใหญ่” ชัชชาติยกตัวอย่างชุมชนโมราวรรณ อ่อนนุช 66 ที่มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงลงมือปลูกผักสวนครัวกินเอง สิ่งสำคัญจึงเป็นการ Match Resource กับ Demand สร้างมูลค่าจากของที่เหลือ ทำให้เกิด Economic Activity ใช้ทรัพยากรที่ว่างเปล่ามาพัฒนาได้ ชัชชาติมองว่ากรุงเทพฯ ปัญหาเยอะจริง แต่เป็นปัญหาซ้ำๆ ถ้าแก้ปัญหาบางชุมชนได้ก็สามารถซ้ำไปที่ชุมชนอื่นๆ ได้เช่นกัน
กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้ด้วยการฟัง
ระบบการปกครองของกรุงเทพฯ ค่อนข้างล้าสมัย ผู้อำนวยการแต่ละเขตยังเป็นการแต่งตั้งทั้งหมดอยู่เลย ให้ความสำคัญกับชุมชนเส้นเลือดฝอยให้มากขึ้น เอาการตัดสินใจลงไปอยู่ใกล้ประชาชนให้มากขึ้น โดยคำว่ากระจายอำนาจไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกตั้งเท่านั้น แต่ใช้เทคโนโลยีกระจายอำนาจ อาจจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มให้คนโหวต หรือให้คะแนนผู้อำนวยการเขต “แค่เปลี่ยนมายด์เซต มีวิธีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากเลยที่จะขยับการตัดสินใจไปใกล้คนให้มากขึ้น หัวใจคือจะนำเทคโนโลยีไปเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานได้อย่างไร ถ้าเป็นผมจะให้ขึ้นข้อมูลของทุกเขตที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ เลย ที่ประชาชนด่ามา สีแดงอยู่ตรงไหน แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อไร”
โดยชัชชาติเน้นย้ำที่การทำเส้นเลือดฝอยกระจายอำนาจ ให้สาธารณูปโภคต่างๆ ลงไปถึงเส้นเลือดฝอยให้มากที่สุด หัวใจของเมืองคือการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของระบบการเดินทางทางกายภาพและดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานต้องดี ระบบการเชื่อมโยงทางอินเทอร์เน็ตและการบังคับใช้กฎหมาย (Rule of Law) ความยุติธรรมเป็นตัวตัดสินใจสำคัญ เพราะกฎหมายที่ยังไม่เป็นมาตรฐานสากล หรือการเดินทางลำบาก โครงสร้างพื้นฐานไม่ดีพอที่จะเอื้อให้เกิดการสร้างงานที่มีประสิทธิภาพให้คนรุ่นใหม่หรือโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่
ลงพื้นที่เพื่อเข้าใจปัญหา
หลักของ Design Thinking ซึ่งเริ่มต้นจาก Empathize เข้าใจปัญหาก่อน อย่าเพิ่งด่วนสรุปเอง โดยยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของรถเมล์สาย A1 ในช่วงที่ชัชชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัญหาแท็กซี่ที่สนามบินดอนเมืองไม่เพียงพอในช่วงสงกรานต์ จึงเข้าไปสังเกตด้วยตัวเองแล้วพบว่าผู้โดยสารไม่ได้ต้องการแท็กซี่มากขึ้น แต่ต้องการรถเมล์ที่สะดวก จึงให้รถเมล์สาย A1 มาจอดประตูที่ใกล้ที่สุด ให้ผู้โดยสารนั่งออกจากสนามบินเพื่อมาต่อ BTS หรือ MRT กลับบ้าน หลังจากนั้น A1 ก็เป็นรถเมล์ที่มีรายได้มากที่สุดของกรุงเทพฯ
อีกคนที่เป็นตัวอย่างการทำงานแบบลงพื้นที่เพื่อเข้าใจปัญหาคือ อนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งได้ร่วมงานกันขณะทำงานอยู่ที่ Q House “เวลาที่นัดผมคุยงาน ท่านมักจะนัดที่ฟู้ดคอร์ตของห้างเทอร์มินัล 21 เพราะท่านจะไปดูลูกค้า ไปดูคนขาย ผมว่าท่านคือเจ้าพ่อ Empathize เลย ลงรายละเอียด ไปดูว่าทำไมพอถึง 3 ทุ่มแล้วร้านก๋วยจั๊บถึงเลิกขาย จนได้พบว่า Cash Flow ไม่พอจึงเปลี่ยนให้ให้เร็วขึ้น จากรอบ 2 สัปดาห์มาเป็น 1 สัปดาห์ จ่ายเงินให้เขาเร็วขึ้น เขาก็มีเงินมาหมุนต่อ”
ผู้นำต้องอยากรู้อยากเห็น
“ผู้นำต้องรู้เยอะๆ อย่างที่บอกว่าต้องมีความอยากรู้อยากเห็นเยอะๆ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว ผู้นำก็ต้องมีความรู้ที่กว้าง คุณไม่สามารถเอาสิ่งที่คุณไม่รู้หรือคนอยากจะรู้ในอนาคตมาสร้างโซลูชันให้บริษัทตอนนี้ได้ คุณเอาเฉพาะประสบการณ์ที่คุณมีอยู่มาทำโซลูชันได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณยังไม่รู้ไม่มีความหมายเลย หัวใจของผู้นำคือคุณต้องมีประสบการณ์ มีความรู้หลายๆ ด้าน ผมทำงานหลายด้าน จากอาจารย์ไปเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาเป็นซีอีโอ แล้วผมมาดูเรื่องเมือง ทั้งหมดมันคือการสะสมจุดทั้งนั้น ไม่มีใครรู้ว่าตอนผมเป็นอาจารย์ ผมไปเป็นที่ปรึกษาให้ทางรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ไปนั่งอ่านมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เที่ยงวันถึงเที่ยงคืนวันจันทร์เป็นเวลา 2 ปี” เมื่อเวลาที่ต้องมาเป็นรัฐมนตรีจึงทำให้เชื่อมจุดต่างๆ เข้าหากันได้อย่างรวดเร็ว ระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อรู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้เรื่องการเงินจึงไปเรียน MBA เรียน XMBA หลังรัฐประหาร จึงได้นำความรู้นั้นมาใช้ในการทำงานเป็นซีอีโอของ Q House
“ขอให้คุณมีจุดเยอะ ถ้าคุณมีจุด คุณสามารถครีเอตได้ แต่ถ้าคุณไม่มีจุด ถึงแม้คุณจะเป็นคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน คุณมีแค่ 2 จุด คุณลากเส้นได้แค่เส้นตรง” ผู้นำจึงต้องรู้ลึกด้านหนึ่งและรู้กว้างไปพร้อมกัน นอกจากนั้นต้อง Leading by Example ต้องนำด้วยการทำเป็นตัวอย่าง “ผู้นำอาจจะไม่ได้ซับซ้อนมากสำหรับผม เรามีความรู้ที่กว้าง เราทำในสิ่งที่อยากให้ลูกน้องเป็น แล้วก็ Empathize ลูกค้า เราให้ความสำคัญกับทุกปัญหาจริงๆ ถ้ามีอะไรก็โทรหาผมโดยตรงเลย”
สะสมจุดเพื่อโซลูชันของชีวิต
การสะสมจุดคือความอยากรู้อยากเห็น ในอนาคตการเรียนรู้จะสำคัญกว่าการศึกษา เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองสำคัญกว่า ยกตัวอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ที่เรียน Calligraphy การออกแบบตัวอักษร Apple จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบเป็นอย่างมาก ชัชชาติแนะนำว่าทำให้การเรียนรู้เป็นกิจวัตร เพราะเป็นหินก้อนใหญ่ในชีวิตเช่นกัน ต้องพยายามเรียนรู้ “เด็กหลายคนพูดถึงเรื่องทำงานตามแพสชัน ผมคิดว่างานในโลกนี้มีไม่พอสำหรับแพสชันของทุกคน มันโชคดีมากเลยถ้าคุณหางานที่ตรงกับแพสชันได้ แต่ถ้าไม่ตรงก็อย่าไปคิดอะไร งานคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตรอด ส่วนแพสชันไปหาเอานอกงานได้”
เราอาจจะไม่สามารถหาแพสชันจากงานได้ เพราะงานคือสิ่งที่ชีวิตต้องการจากคุณ ส่วนแพสชันคือสิ่งที่คุณต้องการจากชีวิต “ผมเชื่อว่าต้องอดทน คนที่มีความยืดหยุ่นสูงอยู่รอดได้ง่ายกว่า หัวใจคือเอาชีวิตและครอบครัวให้รอด สะสมความรู้เพิ่มเติม ถึงเวลาจำเป็นแล้วเราเชื่อมจุดได้ เราจะมีโซลูชันให้กับชีวิต
“แพสชันของผม ฟังดูอาจจะตอแหลหน่อยนะ คือการทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น ตอนเป็นอาจารย์ก็ทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น พอเป็นนักการเมืองก็ทำให้คนเดินทางสะดวกขึ้น กลับบ้านเร็วขึ้น พอมาทำงานอสังหาริมทรัพย์อยู่ก็มาช่วยแก้ปัญหาให้คนที่ซื้อบ้านไปมีความสุขขึ้น” เพราะฉะนั้นแพสชันอาจจะไม่ใช่ตัวเนื้องาน แต่เป็นเรื่องความประทับใจ เพราะทุกคนมีภาระในชีวิต การช่วยแบ่งเบาลงได้บ้างก็ทำให้ตัวเองมีความสุขขึ้นได้ ซึ่งสำหรับชัชชาติแล้ว โชคดีที่สิ่งนี้ตรงกับงานที่ผ่านมาในชีวิตพอดี
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Co-Producer & Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Project Manager ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์, ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Social Media Admin สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์
Archive Officer ชริน จำปาวัน
Music westonemusic.com