×

10 รายการแข่งขันทำอาหารที่จะปลุกความเป็นเชฟในตัวคุณ

14.07.2020
  • LOADING...

ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ช่องสตรีมมิง Netflix เพิ่งมีรายการทำอาหารรายการใหม่ที่ชื่อว่า Crazy Delicious แถมยังคว้าเอา Top Chef อเมริกาซีซัน 1-2 มาลงให้เราได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งนอกเหนือจากทั้งสองรายการนี้แล้ว ยังมีอีกหลายการแข่งขันจากหลายประเทศที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่เราอยากให้คุณใช้เวลาว่างๆ นั่งเปิดดู รับรองว่านอกจากคุณจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในจักรวาลอาหารรอบโลกแล้ว การได้ดูทั้งเชฟชื่อดังและเชฟจากทางบ้านปรุงอาหารตลอด 1 ชั่วโมงจากแต่ละตอน จะต้องปลุกความอยากลุกขึ้นมาหยิบโน่นปรุงนี่ขึ้นมาได้บ้างอย่างแน่นอน  

 

หากคุณเป็นคนชอบกินหรือชอบทำอาหาร นี่คือ 10 รายการแข่งขันที่มีให้ดูใน Netflix ที่เรายืนยันเลยว่าคุณไม่ควรพลาดจริงๆ 

 

 

Crazy Delicious (2020)

รายการแข่งขันทำอาหารสัญชาติอังกฤษที่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์มากพอๆ กับคุณภาพและความอร่อย โดยในแต่ละตอนผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านทั้งหมด 3 คนจะต้องแข่งกันทำอาหาร 3 รอบ 1. ทำอาหารจากวัตถุดิบหลักที่กำหนด 2. หยิบเมนูที่มีอยู่แล้ว (โดยทางรายการจะกำหนดให้) ขึ้นมาตีความใหม่ และ 3. สร้างมื้ออาหารที่รายการกำหนดในแบบของตัวเอง ตัดสินโดย 3 เชฟชื่อดังที่ทุกคำติชมของเขายังทำให้เราเรียนรู้เรื่องของอาหารได้ตลอดรายการ โดยนอกจากเราจะได้เห็นการตีโจทย์ของแต่ละคนแล้ว หน้าตาและการนำเสนอยังไม่ธรรมดาสมกับชื่อรายการที่แต่ละจานต้องทั้ง Crazy และ Delicious  

 

ความยาว: 1 ซีซัน แบ่งเป็น 6 ตอน  

 

อ่านเพิ่มเติม https://thestandard.co/crazy-delicious/ 

 

 

The Final Table (2018)

เชฟทั้ง 24 คนจากหลายประเทศทั่วโลก จับคู่กันเพื่อทำการแข่งขันแบบทีม โดยโจทย์ของแต่ละสัปดาห์จะวางตามธีมแต่ละประเทศ เริ่มจากทำอาหารประจำชาติ (เช่น ทาโก้ สำหรับตอนเม็กซิโก) และอาหารจากวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศนั้น (เช่น ถั่วลันเตา สำหรับตอนประเทศอังกฤษ) ก่อนที่ในอีพีสุดท้ายเชฟที่เหลือจะต้องแข่งแบบเดี่ยวเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ไฮไลต์ของรายการนอกจากคุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแต่ละตำรับอาหารมากขึ้นแล้ว เชฟชื่อดังของแต่ละประเทศยังมาเป็นแขกรับเชิญในแต่ละตอนอีกด้วย 

 

ความยาว: 1 ซีซัน แบ่งเป็น 10 ตอน  

 

 

Zumbo’s Just Desserts (2016)

รายการแข่งขันทำขนมจากออสเตรเลีย ที่ได้ Adriano Zumbo เชฟขนมหวานชื่อดังของออสเตรเลียมาดำเนินรายการ ผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านทั้งหมด 12 คนจะต้องแข่งขันกันในโจทย์สร้างสรรค์ 1 จานขนมหวานประจำวัน โดยผู้ที่มีคะแนนน้อยที่สุด 2 คนจะต้องแข่งกันเองในโจทย์ Zumbo’s Test หรือทำหนึ่งในขนมหวานชื่อดังของ Zumbo ขึ้นใหม่ ผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดจะตกรอบไปในแต่ละสัปดาห์ ไฮไลต์คือเหมือนมีปรมาจารย์ด้านขนมหวานมาสอนทำขนมถึงที่ แถมผู้ชนะในรายการนี้ยังได้มีขนมหวานของตัวเองในร้านของ Zumbo อีกด้วย  

 

ความยาว: 1 ซีซัน แบ่งเป็น 12 ตอน  

 

 

Sugar Rush (2018)

ถ้าคุณดู Zumbo’s Just Desserts แล้วติดใจ เราอยากให้ต่อกันที่ Sugar Rush รายการแข่งขันทำขนมสัญชาติอเมริกันที่ผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านทั้งหมด 4 ทีม ทีมละ 2 คน จะแข่งขันกันทำขนมตามธีมของแต่ละตอนแบ่งออกเป็น รอบแรก Cupcake, รอบที่สองจานของหวาน และ Cake สำหรับรอบชิงชนะเลิศ โดยมีกรรมการนำโดย Adriano Zumbo, Candace Nelson เชฟขนมหวานเจ้าของฉายา Cupcake Queen ผู้เป็นเจ้าของร้าน Sprinkles Cupcakes หนึ่งในอเมริกา

 

ความยาว: 2 ซีซัน แบ่งเป็น 8 และ 6 ตอนตามลำดับ 

 

 

Nailed It (2018)

จากกระแสการแชร์ภาพขนมหวานสุดพังในโลกโซเชียล Nailed It คือการแข่งขันทำขนมหวานอารมณ์ดีที่จะบอกคุณว่าใครๆ ก็ทำอาหารได้ โดยในแต่ละตอนจะมีผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านทั้งหมด 3 ท่าน เข้าแข่งขันในรอบ The Baker’s Choice หรือทำขนมหวานที่แต่ละคนเลือกได้จากที่กำหนดว่าจะทำชิ้นไหนออกมาให้เหมือน ก่อนผ่านไปยังรอบสองที่ต้องทำเค้กสุดอลังการออกมาให้เหมือนที่สุด ไฮไลต์คือการได้เรียนรู้เทคนิคการทำขนมหวานจากหนึ่งในมาสเตอร์แห่งขนมหวานคนสำคัญคนหนึ่งของโลกอย่าง Jacques Torres ผู้ที่มาเป็นกรรมการประจำรายการ 

 

ความยาว: Nailed It Original มีทั้งหมด 4 ซีซัน ซีซันละ 8 ตอน นอกจากนี้ยังมีตอนพิเศษคือ Nailed It Holiday อีก 2 ซีซัน Nailed It France, Nailed It Mexico และ Nailed It Spain 

 

 

The Chef’s Line (2017)

ถ้าเทียบกับรายการแข่งขันทำอาหารอื่นๆ The Chef’s Line จากออสเตรเลียมีความเป็นรายการอาหารมากกว่าแข่งขันดุเดือด ทุก 5 ตอนของรายการจะแข่งทำอาหารสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านแข่งขันกับเชฟจากร้านอาหารสัญชาตินั้นๆ ในออสเตรเลีย โดยไล่ไปทีละลำดับจากเชฟฝึกหัด, Station Chef, รองเชฟใหญ่ และรอบสุดท้ายแข่งกับเชฟใหญ่เพื่อหาผู้ชนะ ไฮไลต์คือกรรมการจะตัดสินอาหารด้วยวิธี Blind Tasting โดยจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำอาหารแต่ละจาน และแน่นอนว่าหลายจานจากทางบ้านชนะเชฟจากร้านอาหารด้วยเช่นกัน 

 

ความยาว: 1 ซีซัน แบ่งเป็น 30 ตอน   

 

 

Million Pound Menu 

Million Pound Menu แตกต่างจากทุกรายการในลิสต์นี้ตรงที่ว่า การแข่งขันจากจินตนาการของเชฟเจ้าของร้านจะถูกตัดสินจากมุมมองของนักลงทุนล้วนๆ ว่าพวกเขาคนใดคนหนึ่งพร้อมที่จะลงทุนให้เพราะเห็นความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจหรือเปล่า ในแต่ละตอนนักลงทุนจะคัดเลือกไอเดียจากเชฟที่ส่งเข้ามา ก่อนเลือก 2 ร้านอาหารให้ทดลองเปิดเป็นป๊อปอัพขึ้นมาจริงๆ และเมื่อเหล่านักลงทุนได้เห็นการทดลองเปิดแล้วจึงตัดสินใจว่าจะลงทุนกับโปรเจกต์นี้หรือไม่ 

 

ความยาว: 2 ซีซัน แบ่งเป็นซีซันละ 6 ตอน

 

 

The Big Family Cooking Showdown (2017) 

รายการแข่งขันทำอาหารจากอังกฤษที่ฟังแค่ชื่อก็อบอุ่นหัวใจ ในแต่ละตอนผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้านทั้งสองทีม ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกในครอบครัวสามคน จะต้องแข่งผ่านโจทย์ต่างๆ ทั้งหมด 3 รอบเพื่อหาผู้ชนะประจำตอนเพื่อเข้าไปแข่งอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศ ไฮไลต์คือความอบอุ่นที่สมาชิกในครอบครัวได้ทำอาหารร่วมกัน แถมยังได้เห็นสูตรเฉพาะของแต่ละบ้านอีกด้วย 

 

ความยาว: 2 ซีซัน แบ่งเป็น 12 และ 14 ตอนตามลำดับ

 

 

Top Chef (2005)

หนึ่งในรายการแข่งขันทำอาหารสัญชาติอเมริกันที่โด่งดังมากรายการหนึ่ง โดยเฉพาะความสำเร็จจากรางวัล Outstanding Reality-Competition Program จากเวที Primetime Emmy Awards ในปี 2010 รายการ Top Chef มีเวอร์ชัน Top Chef Thailand แล้วทั้งหมด 3 ซีซัน และหลายคนน่าจะทราบว่านอกจากเราจะได้รู้จักกับเชฟหน้าใหม่ๆ แล้ว การที่มีเชฟชื่อดังเป็นกรรมการ ก็เท่ากับเราได้เรียนรู้เรื่องอาหารอย่างไม่หยุดยั้งไปด้วยในตัว 

 

ความยาว: 2 ซีซัน แบ่งเป็น 12 และ 13 ตอน 

 

 

Chef & My Fridge (2014-2019)

ปิดท้ายด้วยรายการแข่งขังทำอาหารจากเกาหลีที่ดีกรีการแข่งขันอาจจะน้อยกว่ารายการอื่นๆ จะมีความเป็นทอล์กโชว์เสียมากกว่า ในแต่ละตอนรายการได้เชิญคนดังในวงการบันเทิงเกาหลีมาเป็นแขกรับเชิญพร้อมยกตู้เย็นมาไว้ในรายการ และเลือกเชฟประจำรายการ 2 คนต่อหนึ่งโจทย์ แข่งกันทำอาหารจากของในตู้เย็นของแขกรับเชิญว่าจานไหนเข้าตากรรมการมากที่สุด 

 

ความยาว: 1 ซีซัน แบ่งเป็น 26 ตอน   

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X