ย้อนกลับไปในช่วงที่มรสุมโควิด-19 พัดกระหน่ำประเทศไทยเมื่อเดือนที่ผ่านมา ‘ล็อกดาวน์’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคนไทยจำนวนมาก จากเมืองที่เคยมีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่ กลายเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ท้องถนนที่เคยเต็มไปด้วยรถราแน่นขนัดกลับแปรเปลี่ยนเป็นถนนโล่งๆ อยู่หลายสัปดาห์ ออฟฟิศที่กลายเป็นบ้านหลังที่สองของใครหลายคนถูกทิ้งร้าง เพราะหลายบริษัทต้อง Work from Home เพื่อป้องกันโรคระบาด
เมื่อผู้คนไม่กล้าออกจากบ้าน ‘สตรีทฟู้ด’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเสน่ห์และสีสันให้กรุงเทพฯ คือหน่วยธุรกิจเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยอดขายที่เคยทำได้ในแต่ละวันหายไปกว่าครึ่ง จากการที่แต่ละร้านไม่สามารถรองรับลูกค้าที่เข้ามานั่งทานได้ เหลือเพียงยอดขายจากเดลิเวอรีที่แม้จะเติบโตอย่างมาก แต่ก็ไม่อาจทดแทนรายได้ที่เคยมีได้
เมื่อวิถีชีวิตคน ‘เปลี่ยน’ ร้านค้าสตรีทฟู้ดทั้งหลายจึงต้อง ‘ปรับ’ เพื่อเอาตัวรอด และรองรับความต้องการของลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
กินที่ร้านไม่ได้ คิดเมนู DIY ให้ลูกค้าทำเองที่บ้าน ทางรอดของสตรีทฟู้ดยุคโควิด-19
จากจุดขายที่ความสดใหม่ เสิร์ฟเมนูร้อนๆ ควันหอมกรุ่น แต่เมื่อลูกค้าไม่สามารถแวะมาทานที่ร้านได้อีกต่อไป สตรีทฟู้ดหลายรายจึงต้องปรับตัว และคิดค้นเมนู DIY ให้ลูกค้าสั่งไปทำเองที่บ้านแบบง่ายๆ แต่ยังได้ความอร่อยและคุณภาพของอาหารที่ไม่ต่างจากเดิม
ในช่วงโควิด-19 ที่มาตรการล็อกดาวน์ยังคงเข้มข้น เราได้เห็นการปรับตัวอย่างน่าสนใจของสตรีทฟู้ดชื่อดังหลายเจ้า ทั้งก๋วยเตี๋ยวนายใช้ดอนเมือง ที่ออกเซต DIY ที่มาพร้อมกับเครื่องแน่นๆ ที่ปรุงพร้อมทาน แต่ความเด็ดอยู่ที่เส้น ซึ่งลูกค้าสามารถนำไปลวกในน้ำเดือดๆ ด้วยตัวเองที่บ้านได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงกลายเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นหนุบหนับ ได้รสชาติต้นตำรับเหมือนไปนั่งทานที่ร้าน
เช่นเดียวกับร้านบะหมี่เฮ่งกี่ ร้านในตำนานที่มีอายุเก่าแก่กว่า 90 ปีย่านประตูผี ที่ปรับตัวให้ลูกค้าสั่งแบบ DIY แยกเส้นและเครื่องมาปรุงเองแบบสดๆ ตามใจได้ที่บ้าน เคล็ดลับอยู่ที่เส้นบะหมี่ฟรีซแบบ Cold Aging ที่เด้งหนึบจนอยากสั่งแล้วสั่งอีก
ส่วนร้านยำแหนมข้าวทอดเจ๊อ้อม ร้านดังในย่านลาดพร้าว 63 ก็ใช้โมเดล DIY เตรียมเครื่องยำพร้อมส่วนผสมครบสูตรไว้ให้พร้อมสรรพ อยากทานเมื่อไรก็แค่คลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน เท่านี้ก็ได้ยำแหนมสดใหม่เหมือนมีเจ๊อ้อมมายำให้ทานถึงบ้าน
การปรับตัวของร้านตัวอย่างเหล่านี้แม้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ได้ใจคนกักตัวอยู่บ้านไปเต็มๆ ทำให้ร้านยังสามารถยืนระยะอยู่ได้ ถึงยอดขายจะหดหายไปบ้างก็ตาม
#Saveสตรีทฟู้ด โครงการช่วยพ่อค้าแม่ค้าสู้โควิด-19 จากดีแทค
นอกเหนือไปจากการปรับตัวของพ่อค้าแม่ค้าสตรีทฟู้ดที่เราได้เห็นกันไปแล้ว ช่วงที่ผ่านมายังมีโครงการน่าสนใจที่ช่วยต่อลมหายใจให้สตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ หลายๆ ร้านด้วย
โดย ดีแทค รีวอร์ด ได้ทำแคมเปญ #Saveสตรีทฟู้ด ช่วยร้านอาหารริมทางสู้ภัยโควิด-19 โดยดีแทคมอบส่วนลด 50 บาททุกวันศุกร์ ให้ลูกค้าได้อิ่มอร่อยกับเมนูชื่อดังของร้านสตรีทฟู้ดผ่านแอปฯ foodpanda, GET หรือสามารถเรียกเมสเซนเจอร์ไปรับอาหารผ่านแอปฯ Skootar เพื่ออุดหนุนร้านค้าสตรีทฟู้ดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ยังคงมียอดขายอยู่ได้แม้ลูกค้าจะไม่ได้มาหาที่ร้านเหมือนอย่างเก่า
แค่นั้นยังไม่พอ เพราะ ดีแทค รีวอร์ด ยังร่วมกับเพจ ‘ไม่อร่อยไม่กิน’ (Eat Good Food Only) เพื่อช่วยกันรีวิวร้านสตรีทฟู้ดเจ้าอร่อยหลายๆ ร้าน เพื่อให้ลูกค้าเลือกสรรมื้ออาหารในแต่ละวันได้ง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมี Facebook Live พิเศษเพื่อโปรโมตและรีวิวร้านสตรีทฟู้ดให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน นำโดย จูน สาวิตรี, อ้น ศรีพัน และ บอล ไม่อร่อยไม่กิน
นอกจากนี้ดีแทคยัง #Saveสตรีทฟู้ด อย่างต่อเนื่องด้วยการเผย ‘คัมภีร์ 100 ร้านความอร่อย’ รวมลิสต์ร้านสตรีทฟู้ดในตำนาน เฟ้นเลือกร้านอร่อยเด็ดสารพัดเมนู ทั้งคาว หวาน จะข้าว จะเส้น ของกินเล่น ขนมหวาน ครบถ้วนในเล่มเดียว เรียกง่ายๆ ว่าถ้านึกไม่ออกว่าจะทานอะไร คัมภีร์ลับฉบับนี้มีคำตอบมื้ออร่อยให้คุณได้แน่นอน ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์ลูกค้าที่โหยหาสตรีทฟู้ดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ยังคงยืนระยะต่อไปได้แม้ในยามวิกฤตที่กินเวลาเนิ่นนาน ซึ่งคุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ #Saveสตรีทฟู้ดได้ที่เว็บไซต์ http://dtac.co.th/s/bible100HF
แม้จะยังไม่รู้ว่ามรสุมโควิด-19 จะพัดผ่านไปเมื่อไร มาตรการล็อกดาวน์ที่ตอนนี้ค่อยๆ คลี่คลายจะกลับมาเข้มงวดอีกหรือไม่ แต่เชื่อว่าการปรับตัวและการยื่นมือมาช่วยเหลือกันและกันแบบนี้จะยังเป็นภาพที่จะอยู่คู่กับเราต่อไป โดยหวังว่าวันหนึ่งเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ด้วยรอยยิ้มไปด้วยกัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า