หลังจากบังคับใช้คำสั่งล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นมากว่า 2 เดือน ในที่สุดรัฐบาลในแต่ละแคว้นของสหราชอาณาจักรก็ทยอย ‘คลายล็อก’ อนุญาตให้ประชาชนออกมาพบปะผู้คนนอกบ้านได้อีกครั้งตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่ยังคงไว้ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคม แม้ว่าจะยังมีเสียงทัดทานจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานสาธารณสุขบางส่วน ซึ่งมองว่าการผ่อนคลายดังกล่าว ‘เร็วเกินไป’ ในภาวะที่ผู้คนเริ่มเคร่งครัดกับการรักษาระยะห่างทางสังคมน้อยลงก็ตาม
THE STANDARD ชวนทุกท่านมาสำรวจวิถีชีวิตผู้คนในสองวันแรกของการคลายล็อกดาวน์ในเมืองคาร์ดิฟฟ์ของแคว้นเวลส์ ซึ่งผู้สื่อข่าวของเราลงพื้นที่ในจุดสำคัญของเมือง และร้อยเรียงเรื่องราวผ่านภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายในแต่ละภาพ เราพบว่า แม้เมืองจะยังคงไม่กลับมาคึกคักเต็มที่ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณของการออกมาพักผ่อนหย่อนใจของผู้คน ส่วนห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารหลายแห่ง ก็มีทั้งที่ปรับตัวแล้ว และกำลังปรับตัว วางมาตรการรอการกลับมาเปิดกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
ที่นี่คืออ่าวคาร์ดิฟฟ์ หรือ Cardiff Bay ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองที่ในอดีตเคยเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ผับ บาร์ แหล่งทำกิจกรรมทางน้ำ ตลอดจนแหล่งพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ
แม้กิจการจำพวกร้านอาหารและบาร์ส่วนใหญ่จะยังไม่กลับมาเปิดทำการจากผลกระทบของโควิด-19 แต่คนท้องถิ่นและชาวต่างชาติซึ่งมีทุกเพศทุกวัยก็เริ่มกลับมาใช้สถานที่แห่งนี้ในการพักผ่อนกันแล้ว
ผู้คนที่นี่ยังใช้สถานที่แห่งนี้ในการออกกำลังกาย ซึ่งมีทั้งการปั่นจักรยาน เดิน วิ่ง รวมถึงการแล่นเรือใบ
การออกกำลังกายนอกบ้านเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรอนุญาตให้ประชาชนทำได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อแนะนำให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไว้เสมอ
ภาพที่เราเห็นริมน้ำคือผู้คนส่วนหนึ่งมาอาบแดด สังสรรค์ และปิกนิก ทั้งในรูปแบบของครอบครัว คู่รัก และเพื่อนฝูง
แม้ปริมาณคนจะยังดูไม่หนาตา และคนแต่ละกลุ่มจะนั่งห่างกันอยู่พอสมควร แต่สำหรับในกลุ่มเดียวกันเองแล้ว การรักษาระยะห่างทางสังคมอาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในทุกกลุ่มเสมอไป
เด็กๆ ออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานใกล้กับบริเวณ Wales Millennium Centre ซึ่งถ้าจะเปรียบก็คงคล้ายๆ กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยของบ้านเรา
อุณหภูมิที่สูงถึง 28 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ของสหราชอาณาจักร พร้อมกับระยะเวลาที่แสงอาทิตย์สาดส่องบนท้องฟ้าในแต่ละวันอันยาวนานเป็นประวัติการณ์ เป็นตัวกระตุ้นให้ชาวสหราชอาณาจักรออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่อนคลายลง
อย่างไรก็ตาม ชายชาวเมืองคาร์ดิฟฟ์คนหนึ่งที่เราได้พูดคุยด้วยระบุว่า เขามีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดรอบที่ 2 ของโควิด-19 เพราะผู้คนยังรวมกลุ่มกันตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อกังวลของประธานสมาคมผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจะกร (ADPH) ซึ่งเชื่อว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ‘เร็วเกินไป’ ในภาวะที่ผู้คนเคร่งครัดต่อการเว้นระยะห่างทางสังคมลดลง
เช่นเดียวกับสวนสาธารณะใจกลางเมืองอย่าง Bute Park ที่นี่ผู้คนเริ่มออกมาปิกนิก พักผ่อน และอาบแดด เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน
ตัดภาพกลับมาที่ถนนคนเดินบริเวณใจกลางเมือง ในช่วงล็อกดาวน์ ถนนสายนี้เงียบเหงาจนดูคล้ายเมืองร้าง มีรถตำรวจคอยสอดส่องผู้กระทำผิดกฎการล็อกดาวน์เป็นระยะ แต่เวลานี้เราเริ่มได้เห็นผู้คนออกมาจับกลุ่มพูดคุยและเดินบนถนนเส้นนี้มากยิ่งขึ้นแล้ว
ข้อความยกย่อง เชิดชู และให้กำลังใจคนทำงานในภาวะวิกฤต เป็นสิ่งที่กำลังพบได้ทั่วไปตามป้ายบิลบอร์ดน้อยใหญ่ในเมือง อย่างภาพนี้ เป็นแคมเปญรณรงค์ให้ส่งข้อความให้กำลังใจคนทำงานผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อจะมาปรากฏบนบิลบอร์ดยักษ์ใจกลางเมือง
แต่มิใช่เพียงแค่บนป้ายบิลบอร์ดเท่านั้น คำขอบคุณยังถูกส่งต่อผ่านอีกหลายวิธีการ เช่น สติกเกอร์ข้างรถโดยสารประจำทาง หรืออย่างภาพที่เห็นนี้คือ การวาดภาพลงบนถนน แทนคำขอบคุณไปยังบุคลากรในระบบสาธารณสุขแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือกับโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
รถโดยสารประจำทางส่วนใหญ่ที่นี่ยังคงเดินรถด้วยความ (เกือบ) ว่างเปล่า
ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะดำเนินมาตรการควบคุมความปลอดภัยบนรถโดยสารอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ วันแรกของการล็อกดาวน์เราพบว่า รถประจำทางที่นี่ส่วนใหญ่ยังมีผู้โดยสารบางตามาก บางเที่ยว (ดังเช่นในภาพ) ไม่มีผู้โดยสารเลย และในเที่ยวที่มีผู้โดยสาร ทุกคนก็ดูพร้อมใจกันนั่งห่างกันโดยอัตโนมัติ ที่นั่งใกล้คนขับถูกปิดไม่ให้ใช้บริการ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างคนขับรถและผู้โดยสาร
วิถีใหม่ในร้านอาหาร
แม้ร้านอาหารส่วนใหญ่จะยังปิดให้บริการอยู่ แต่ร้านบางส่วนที่เปิดให้บริการก็ต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัย ทุกร้านไม่เปิดให้รับประทานอาหารในร้านตามคำสั่งของรัฐบาล บางส่วนเปิดให้บริการเฉพาะกับการสั่งแบบเดลิเวอรี ขณะที่ร้านค้าบางส่วนให้ซื้อกลับบ้านได้ ส่วนบางร้านที่ยังเปิดอยู่ก็ประกาศไม่รับเงินสดในการชำระค่าอาหาร เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและเหรียญ
การไม่ใช้เงินสดดูไม่เป็นปัญหาใหญ่นัก เพราะการใช้จ่ายโดยใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือการชำระผ่านโทรศัพท์มือถือแบบ Contactless เป็นวิธีการปกติของคนที่นี่ ควบคู่กับการใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์อยู่แล้ว ถึงจะไม่มีโควิด-19 มากระตุ้นก็ตาม
แต่ไม่ว่าแต่ละร้านจะเลือกวิธีการอย่างไร เรามักจะเห็นป้ายแบบนี้ในแทบทุกร้าน เพื่อกำชับให้ลูกค้าเว้นระยะห่างทางสังคมเสมอ
ร้านไก่ทอดแห่งนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านใจกลางเมืองคาร์ดิฟฟ์ที่กลับมาให้บริการซื้อกลับบ้าน หลังปิดให้บริการไปนานกว่า 1 เดือน และในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะกลับมาให้ซื้อกลับบ้านดังที่เห็นในภาพ ก็จะเปิดบริการเฉพาะการสั่งแบบเดลิเวอรีเท่านั้น
โต๊ะและเก้าอี้ถูกยกเก็บ หน้าร้านมีเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติให้ลูกค้าและพนักงานส่งอาหารทุกคน เครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติถูกปิดการใช้งานบางส่วน และมีสติกเกอร์บอกระยะห่างที่ต้องเว้นระหว่างกันอย่างชัดเจน
เมื่อร้านกาแฟใช้นั่งดื่มกาแฟไม่ได้
ร้านกาแฟอย่าง Starbucks ก็ต้องปรับตัว หลังเพิ่งเริ่มกลับมาให้บริการได้ไม่นาน ลูกค้าต้องสั่งเครื่องดื่มผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น และไปยืนรอหน้าร้าน จนกว่าพนักงานจะเตรียมเครื่องดื่มเรียบร้อย และนำมาวางไว้บนโต๊ะที่มีฉากพลาสติกกั้นระหว่างพนักงานกับลูกค้าชัดเจน
ขณะที่การสื่อสารระหว่างพนักงานและลูกค้าก็ต้องทำกันแถวๆ หน้าร้าน ดังที่เห็นในภาพ
พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรีเบื้องหน้าดูคึกคัก แต่เบื้องหลังคือยอดขายที่ลดลง
ท่ามกลางเมืองที่อยู่ภายใต้ภาวะล็อกดาวน์ ผู้คนจำนวนหนึ่งอาศัยบริการส่งอาหารเดลิเวอรีเป็นทางเลือกนอกจากการปรุงอาหารที่บ้าน พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรีเหล่านี้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือแม้แต่สกูตเตอร์ แล่นไปยังจุดต่างๆ ในเมืองตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว CNBC รายงานเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ผู้ขับรถขนส่งอาหารในสหราชอาณาจักรหลายคนประสบกับภาวะรายได้ลดลงจากการปิดตัวชั่วคราวของร้านอาหาร บางคนเป็นนักศึกษาที่ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่ารายได้ในช่วงนี้จะเพียงพอต่อค่าเล่าเรียนหรือไม่
เมื่อลูกค้าต้องต่อคิวรอเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต
แม้ซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังเปิดทำการได้ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ แต่พวกเขาก็ต้องหาวิธีการสร้างความปลอดภัยและมั่นใจให้กับลูกค้า หนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการในช่วงเวลาเดียวกัน หากมีลูกค้าเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ผู้มาทีหลังก็จะต้องยืนรอต่อคิวหน้าร้าน โดยเว้นระยะห่างกันแบบในภาพ
ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังหลายแห่งยังมีบริการเจลล้างมือและกระดาษทำความสะอาดตะกร้าช้อปปิ้งให้กับลูกค้า ทำแผ่นพลาสติกมากั้นระหว่างเคาน์เตอร์ชำระเงิน รวมถึงกั้นระหว่างพนักงานแคชเชียร์กับลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการประกาศเป็นระยะ ย้ำเตือนให้ลูกค้าเว้นระยะห่างกันระหว่างการเดินช้อปปิ้ง บางแห่งถึงกับมีพนักงานเข้ามาตักเตือน เมื่อลูกค้าที่มากันเป็นกลุ่มไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวเลยทีเดียว
นี่คือทางเข้าห้างสรรพสินค้าที่เต็มไปด้วยคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย
พนักงานห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เล่าให้เราฟังว่า ห้างจะกลับมาเปิดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่างอย่างเข้มข้น เช่น จะมีการจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการพร้อมกัน จัดการเดินในบริเวณห้างเป็นแนวเดียว และตีเส้นกั้นบริเวณหน้าลิฟต์โดยสาร เพื่อรักษาระยะห่างในการรอลิฟต์ ฯลฯ และพวกเขากำลังทำความสะอาดพื้นที่ในห้างกันอยู่
อย่างไรก็ตาม เขาให้คำตอบไม่ได้ว่าร้านค้าในห้างจะพร้อมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งครบทุกร้านหรือไม่
แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะกลับมามีความเคลื่อนไหว ถนนสายรองบริเวณใจกลางเมืองยังคงเงียบเหงา ร้านค้าส่วนใหญ่ยังคงปิดทำการ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่คุ้นตาหากเทียบกับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19
ก่อนหน้านี้รัฐบาลแคว้นเวลส์ประกาศว่า จะทบทวนมาตรการปิดร้านค้าอีกครั้งในวันที่ 18 มิถุนายน แต่ก็ส่งสัญญาณว่าร้านค้าต่างๆ ควรใช้ช่วงเวลาระหว่างนี้ในการเตรียมมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อรองรับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
และเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ทุกร้านอาหารที่จะเปิดทำการในช่วงเวลานี้ แม้มาตรการล็อกดาวน์จะผ่อนคลายลงแล้ว
ยังมีร้านอาหารจำนวนมากที่ประกาศปิดร้านต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ทางเลือกในการซื้อหาอาหารนอกบ้านของชาวเมืองยังคงมีอยู่อย่างจำกัด
บรรดาลูกจ้างต่างๆ ซึ่งรวมถึงลูกจ้างในอุตสาหกรรมการบริการที่ถูกพักงาน จะได้รับค่าจ้างจากภาครัฐที่ร้อยละ 80 ของค่าจ้างปกติ (แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ หรือราว 100,000 บาทต่อเดือน) เพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลก็เพิ่งจะประกาศขยายเวลาบังคับใช้มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวไปอีก 2 ระยะ จนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งสร้างความพอใจให้กับภาคอุตสาหกรรมการบริการเป็นอย่างมาก โดย เคต นิโคลส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมธุรกิจการบริการในสหราชอาณาจักร ชี้ว่า การขยายเวลามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวนั้นสมเหตุสมผล มีทิศทางที่เป็นบวก และเป็นการตัดสินใจในช่วงเวลาที่เหมาะสม
กำลังใจในยามวิกฤต
ข้อความด้านขวามือในภาพ เป็นหนึ่งในข้อความส่งกำลังใจให้กับทุกคน ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วเมืองในเวลานี้ ควบคู่ไปกับข้อความส่งกำลังใจให้กับบุคลากรในระบบสาธารณสุข
ท่ามกลางความสูญเสียต่อชีวิตและเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากโควิด-19 ข้อความสั้นๆ นี้อาจเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้ใครหลายคนฝ่าฟันช่วงเวลาอันไม่สวยงามนี้ไปได้
“Please believe these days will pass” โปรดเชื่อว่าวันเวลาเหล่านี้จะผ่านพ้นไป