×

จาก ‘หนังใหญ่’ พระนครไหวสู่ความยิ่งใหญ่ของ ‘โขน’ ที่สุดแห่งมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ

21.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การเชิดหนังใหญ่ครั้งนี้ใช้ตัวหนังใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ที่ฉลุขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2
  • โขนชักรอกจะกลับมาอีกครั้ง โดยโขนชักรอกนี้มีประวัติสืบย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นการใช้เชือกชักรอกคนแสดงเพื่อให้ลอยตัวได้สมจริงตามบทประเภทเหาะเหินเดินอากาศ
  • หนังใหญ่เปรียบเหมือนครูแห่งนาฏศิลป์ เพราะเป็นต้นกำเนิดของมหรสพสำคัญอย่างโขน และรวมศาสตร์ทั้งงานช่าง จิตรกรรม ดนตรี ขับร้อง ประพันธ์ และการร่ายรำเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นก่อนจะแสดงโขนจึงต้องมีการไหว้ครูด้วยการแสดงหนังใหญ่เป็นลำดับแรก
  • ในครั้งนี้มีการแสดงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘โขนกึ่งฉาก’ ที่ใช้ทั้งฉากและมัลติมีเดียแบบสามมิติเพื่อให้เกิดความสมจริงและยิ่งใหญ่

     ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเรียน นักศึกษา และอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศร่วม 1,000 คน ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อฝึกซ้อมการแสดงชุดยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นก็คือ ‘โขน’ นาฏศิลป์อันเป็นดั่งหัวใจของงานมหรสพสมโภชที่จะจัดแสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

     นอกเหนือไปจากความยิ่งใหญ่ของโขนที่รวบรวมเอาไว้ซึ่งทุกศาสตร์ของนาฏยไทยแล้ว บนเวที 1 ที่จัดแสดงโขนยาว 7 ชั่วโมงไปจนถึงรุ่งสางยังได้เพิ่มการเชิดหนังใหญ่เข้าไปเพื่อเป็นการไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย ให้รู้ว่าแท้จริงแล้วโขนคือการแสดงที่ถอดมาจากความพลิ้วไหวของเงาหนังใหญ่ซึ่งพาดทับลงบนจอขาว โดยมีรางไฟกะลามะพร้าวคอยสร้างชีวิตให้แผ่นหนังสามารถขยับเคลื่อนไหว จนเมื่อพัฒนาการมาเป็นโขนก็ยังคงมีธรรมเนียมการเล่น ‘โขนหน้าจอ’ ซึ่งก็หมายถึงการเล่นโขนหน้าจอหนังใหญ่นั่นเอง

     ท่าทางของโขนก็คือท่าทางที่ถอดมาจากคนเชิดหนังใหญ่ หรือละครเงา ซึ่งมีความสำคัญไม่ต่างกับการได้มาซึ่งช้างเผือกของพระมหากษัตริย์ เพราะหนังใหญ่รวมเอาทุกศาสตร์เอาไว้

สานต่อตำนานหนังใหญ่พระนครไหว

 

“ตัดไม้มาสี่ลำ        ทำขึ้นเป็นจอ

สี่มุมแดงยอ        กลางก็ดาดด้วยผ้าขาว”

 

 

     เสียง อาจารย์ประสาท ทองอร่าม หรือ ครูมืด ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย สำนักงานสังคีตศิลป์ ขับกลอนที่ฉายให้ภาพของละครเงาหรือหนังใหญ่เริ่มแจ่มชัดขึ้น หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาครูมืดบนจอโทรทัศน์ แต่อีกมุมหนึ่ง ครูมืดคือศิลปินผู้ชำนาญด้านนาฏศิลป์ไทยหลายแขนง โดยเฉพาะโขนและหนังใหญ่

     สาเหตุที่ศาสตร์ทั้งสองต้องอยู่คู่กันก็ด้วยหนังใหญ่คือต้นกำเนิดของโขน เรียกว่าสมัยก่อนถ้ายังเชิดหนังใหญ่ไม่ได้ก็ไม่ต้องพูดถึงการฝึกโขน ผิดกับปัจจุบันที่หนังใหญ่มีการกางจอแสดงน้อยครั้ง จึงทำให้ต้องนำนักแสดงโขนที่มีทักษะสูงมาต่อยอดเชิดหนังใหญ่ ใครเป็นลิงเชิดลิง ใครเป็นยักษ์เชิดยักษ์ เพื่อให้ยังคงเอกลักษณ์ท่าเต้นของตัวละครนั้นๆ เอาไว้

     “ท่าทางของโขนก็คือท่าทางที่ถอดมาจากคนเชิดหนังใหญ่ หรือละครเงา ซึ่งมีความสำคัญไม่ต่างกับการได้มาซึ่งช้างเผือกของพระมหากษัตริย์ เพราะหนังใหญ่รวมเอาทุกศาสตร์เอาไว้ ตั้งแต่ช่างแกะฉลุหนังที่ไม่ใช่จะใช้หนังอะไรก็ได้ ต้องใช้หนังวัว ซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งแสง ผ่านกรรมวิธีการทำหนังให้คงรูป ไม่งอ จากนั้นจึงนำมาแกะเป็นตัวหนัง ซึ่งใช้ลายไทยที่ละเอียด มีทั้งหนังเดี่ยวเป็นตัวละครเดี่ยวๆ หนังที่มีเรื่องราว เช่น หนังไหว้ หนังเกี่ยว หนังจับ เป็นหนังที่มีท่าทางประกอบอยู่ในหนัง นั่นแปลว่าก่อนจะแกะหนังได้ก็ต้องมีการคิดพล็อตหรือบทประพันธ์แต่ละตอน แต่ละฉากไว้ให้สมบูรณ์ และตัวหนังที่ใหญ่สุดคือ หนังเมือง หนังปราสาท หนักเป็นสิบกิโลกรัม เพราะต้องวาดฉากเมืองกับปราสาทลงไปในตัวหนัง และต้องมีตัวละครอยู่ในปราสาท หรือเมืองนั้นๆ ด้วย เวลาเชิดต้องเชิดคนเดียว และเต้นออกท่าทางไปด้วยแม้จะอยู่หลังจอก็ตาม นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมหนังใหญ่จึงไม่ใช้ผู้หญิงเชิด เพราะตัวหนังหนักมาก”

     นอกจากการใช้หนังวัวแล้ว ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดหนังใหญ่คณะหลวงพ่อฤทธิ์ที่โด่งดังยังระบุไว้ว่า ในบรรดาหนังใหญ่ตำรับโบราณนั้นมีหนังพิเศษที่เรียกว่าหนังเจ้า หรือหนังครู เป็นหนังฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ ซึ่งต้องแกะจากหนังพิเศษ เช่น หนังเสือ หนังวัวตายพราย (ตายโหง หรือตายท้องกลม) และบางตำราก็ว่าต้องแกะโดยผู้ที่ถือศีลเท่านั้น ส่วนตัวหนังที่ใช้เล่นในงานออกพระเมรุครั้งนี้ ส่วนหนึ่งแกะฉลุขึ้นใหม่ อีกส่วนนำมาจากหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ซึ่งเป็นหนังที่โด่งดังที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 2

 

 

หนังใหญ่ไม่เคยตาย

     แม้หนังใหญ่จะเป็นนาฏศิลป์ชั้นครูที่มีความเก่าแก่และมีผู้สืบสานน้อยลง ทว่าก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของแต่ละยุคสมัย โดยความต่างแรกของหนังใหญ่ยุคใหม่คือเรื่องของการจัดไฟ ที่ตามขนบแล้วต้องใช้กะลามะพร้าวเผาบนรางที่อยู่หลังฉากเพื่อให้น้ำมันในกะลาสร้างความพลิ้วไหวให้แก่รูปเงา แต่ปัจจุบันเมื่อมีการนำหนังใหญ่มาเล่นบนเวทีเดียวกับโขน การสร้างรางไฟ ที่บังไฟ จัดหาคอยเติมและควบคุมไฟกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก ทางเดียวที่จะทำได้คือการเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าในการสร้างแสงเงา

     ด้านวิธีการเชิดสมัยใหม่นั้นได้มีการผสมเทคนิคการเชิดนอกจอแบบหนังกลางวันเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน ซึ่งหนังกลางวันที่ว่าหมายถึงหนังใหญ่ที่เขียนสีลงไปเต็มตัวหนัง แล้วเปลี่ยนจากหลังฉากไปแสดงหน้าจอในยามกลางวันโดยไม่ต้องใช้แสงเงาแต่อย่างใด นี่จึงเป็นกำไรของคนดูที่จะได้เห็นการเชิดหนังใหญ่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังไปพร้อมกัน แต่เหนืออื่นใด หัวใจของหนังใหญ่ยังคงเป็น ‘คนทอดหนัง’ ซึ่งเปรียบได้กับผู้กำกับที่คอยจัดเรียงตัวหนังเป็นชุดๆ ตามท้องเรื่องที่จะแสดง

     เนื่องด้วยหนังใหญ่คือต้นตำรับของโขน เรื่องที่ใช้แสดงจึงเน้นความยิ่งใหญ่ของรามเกียรติ์เป็นส่วนใหญ่ ทว่าในปัจจุบันเมื่อคณะหนังใหญ่รวมทั้งตัวหนังเองมีผู้สานต่อน้อยลงมาก ตั้งแต่งานออกพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นต้นมาจึงได้ปรับการเล่นหนังใหญ่ให้รวมอยู่ในเวทีเดียวกับโขนและแสดงเพียง 2 ตอนคือ หนังใหญ่เบิกหน้าพระ ชุดพากย์สามตระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน

     “ชุดพากย์สามตระเป็นการไหว้ครู ก็จะได้เห็นหนังครู หนังฤาษี หนังพระอิศวรในตอนนี้ ถัดมาคือจับลิงหัวค่ำ เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากรามเกียรติ์ ในสมัยก่อนการแสดงหนังใหญ่ถือเป็นการแสดงที่ใหญ่มาก คนแห่แหนกันมาดู ดังนั้นก่อนจะเริ่มเล่นก็ต้องมีการแฝงคำสอน คติเตือนใจ เปรียบความดีเป็นลิงขาว เปรียบความชั่วเป็นลิงดำ ลิงดำทำผิดถูกจับได้ แต่สุดท้ายฤาษีก็ให้อภัยและสอนให้ลิงดำกลับตัว”

 

งดงามด้วยมรดกไทยในการแสดงโขน

 

 

     หลังจากหนังใหญ่จบลง ต่อไปก็เป็นชุดการแสดงที่หลายคนตั้งตารอคอย นั่นก็คือการแสดงโขนโดยกรมศิลปากร ที่มีนักแสดงรวมกว่าพันคนจากนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ พร้อมด้วยการเพิ่มโขนพระราชทาน ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดแห่งการฟื้นฟูงานช่างและงานศิลปะไทยแขนงต่างๆ เข้ามาในโขนหน้าพระเมรุ และเทิดพระเกียรติด้วยการแสดงรำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหน้าพระเมรุมาศ โดยใช้นักแสดงทั้งหมด 89 คน เท่ากับพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยการรำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นการนำทำนองเพลง อู่ทอง ของคุณมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ มาประพันธ์ใหม่เพื่อใช้ในงานมหรสพสมโภชครั้งนี้เท่านั้น

 

 

     “สำหรับโขนพระราชทานเพิ่งจะมีแสดงในงานออกพระเมรุครั้งนี้เป็นครั้งแรก เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนได้เห็นศิลปะงานประณีตศิลป์ไทยที่หาดูได้ยาก เพราะโขนพระราชทานได้ฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการทำหัวโขนที่ต้องใช้กระดาษข่อยที่น้ำหนักเบา ซึ่งนั่นก็ทำให้เราต้องไปรื้อฟื้นวิธีโบราณในการทำกระดาษข่อยขึ้นมา และกลายมาเป็นสมุดข่อยปาฏิโมกข์ หนึ่งในเครื่องสังเค็ด (หนึ่งสิ่งสำคัญที่ใช้ประกอบในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพของเจ้านายชั้นสูง ประกอบด้วย พัดรอง-ผ้ากราบ-ย่าม, ตู้สังเค็ด, หีบปาฏิโมกข์, ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์) สำหรับงานพระราชพิธีพระบรมศพ หรืออย่างผ้ายก แต่ก่อนเราใช้ผ้ายกอินเดียมาทำชุดโขน พอมีโขนพระราชทานก็เลยต้องไปรื้อฟื้นการทอผ้ายกของไทยขึ้นมาที่นครศรีธรรมราช หรืออย่างงานถักตาชุนเป็นผ้าสไบ เขียนลายไทยเป็นฉาก ก็มีการรื้อฟื้นเพราะโขนพระราชทาน ดังนั้นโขนพระราชทานจึงไม่ใช่แค่การแสดง แต่ยังเป็นการรื้อฟื้นมรดกทางศิลปะไทยให้กลับมาด้วย” ดร. สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ขยายความหมายของโขนพระราชทานที่มีค่ามากกว่าเรื่องการแสดง

     อีกสิ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในการแสดงโขนงานออกพระเมรุครั้งนี้คือโขนกึ่งฉาก ที่มีการใช้มัลติมีเดียสมัยใหม่ผสมผสาน รวมทั้งการกลับมาของโขนชักรอก ซึ่งรัชกาลที่ 1 เคยมีพระราชดำริให้จัดขึ้นในงานฉลองอัฐิของพระชนก โดยความพิเศษของโขนชักรอกคือการใช้เชือกและรอกผูกโยงนักแสดงให้สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้สมจริง และที่จะได้เห็นไม่บ่อยนักคือระยะเวลาการแสดงที่ยาวนานร่วม 7 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 7 ชุดการแสดง ตั้งแต่รามาวตาร ไปจนถึงชุดสีดาลุยไฟ-พระรามครองเมือง ซึ่งครูมืดได้กล่าวถึงการคัดเลือกชุดการแสดงว่า

     “โขนมีเป็นร้อยตอน ทางกรมศิลปากรเน้นคัดฉากรบที่สำคัญให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ใช้ตัวแสดงเยอะเต็มเวทีสมกับเป็นมหรสพสมโภชงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”

 

 

Photo: ศรัณยู นกแก้ว, ฐานิส สุดโต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X