อะไรคือ New Normal ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังผ่านโควิด-19? รัฐบาลต้องทำอย่างไรให้ประเทศมีศักยภาพด้านดิจิทัลมากพอจะต่อกรกับประเทศอื่นๆ จนก้าวขึ้นมาเป็น Hub ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในเวทีโลก?
เคน นครินทร์ คุยกับ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ในรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso
โลกหลังโควิด-19 จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ในมุมมองของคุณศุภชัย มองว่ามีอะไรบ้างที่เราควรจะสังเกตเป็นพิเศษ
ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว ทุกๆ วิกฤตการณ์มันจะสอนอะไรเราหลายๆ อย่างนะครับ แล้วถ้าเรามองในแง่ของโลกแล้วนี่ เรามักจะสามารถฟื้นกลับคืนขึ้นมาได้
แล้วยิ่งในยุคเศรษฐกิจที่เราเรียกว่าเป็น New Economy หรือว่า Digital Economy เรื่องของ Globalization ที่ทำให้โลกมันเป็นหนึ่งเดียว สองอันนี้รวมกันแล้วเราจะฟื้นตัวเร็ว เร็วขึ้นอีก แต่ทีนี้ถามว่าวิกฤตการณ์มันจะสอนอะไรเรา ในกรณีของโควิด-19 ผมคิดว่ามันจะสอนให้เรารักสุขภาพมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้นนะครับ แล้วก็สอนให้เราต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีเร็วขึ้น พฤติกรรมของเราจะมีการปรับเปลี่ยนเร็วขึ้นจากเดิมที่เราใช้วิถีชีวิตที่เราเคยคุ้นชิน ตอนนี่มันเริ่มมีวิถีชีวิตในรูปแบบที่เราอาจจะไม่คุ้นชิน แต่ว่า โอเค คนรุ่นใหม่อาจจะคุ้นชินกว่านะครับ คนบางรุ่นยังต้องอยู่ในช่วงที่ปรับตัว คนที่ปรับตัวช้าก็จะปรับตัวเร็วขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคน แต่ว่าองค์กรนะครับ อุตสาหกรรม ชุมชน สังคม หรือแม้กระทั่งที่เราบอกว่าเมืองเนี่ย ผมยังคิดว่าบางเรื่อง อย่างเช่น เราพูดกันถึงเรื่องของสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งสมาร์ท ซิตี้นี่นะครับ ก็จะปรับตัวเร็วขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นสมาร์ท ซิตี้ก็จะโฟกัสส่วนใหญ่ไปที่เรื่องของความปลอดภัยกับเรื่องของมลพิษ ความสะดวกสบาย อันนั้นคือสมาร์ท ซิตี้ที่ผ่านมา แต่สมาร์ท ซิตี้ในยุค หลังโควิด-19 จะกลายเป็นสมาร์ท ซิตี้ที่ทำอย่างไรให้สุขภาพดี หรือว่าสามารถที่จะป้องกันหรือปกป้องสุขภาพของเราได้ ก็เพราะมีมิติเหล่านี้ที่เราจะได้เรียนรู้เร็วขึ้น ปรับพฤติกรรมเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการปรับพฤติกรรมนี้ พอหลังโควิด-19 แล้วเราก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม มันก็จะอยู่ในหน่วยความทรงจำของเราอันหนึ่งว่า มันมีเรื่องนี้เกิดขึ้นนะ แล้วมันเคยมีอิมแพ็กต่อชีวิตเราค่อนข้างสูง
เพราะฉะนั้นพฤติกรรมเราจะมีการปรับเปลี่ยน แต่ผมก็คิดในทางบวกเสมอนะครับ สิ่งที่มันเป็นเรื่องที่มันยาก วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราและกับหลายๆ ประเทศ คือจะเรียกว่าทั้งโลกเลย มันมักจะสอนอะไรที่มีค่ากับเรา เราก็ต้องเอาไอ้สิ่งที่มีค่านั้นออกมาใช้ให้ได้
ในฐานะที่คุณศุภชัยก็มีตำแหน่งประธานสภาดิจิทัลฯ ด้วย อยากทราบข้อเสนอของทางสภาดิจิทัลฯ ว่ามีอะไรที่ประเทศไทยควรจะทรานส์ฟอร์มบ้าง
คือเป้าหมายของสภาดิจิทัลที่เมื่อก่อนเริ่มต้นคุยกัน ผมพูดนิดหนึ่งว่า เรามี 5 ข้อ ที่มองว่าเป็น Strategic Transformation ของประเทศในมุมของดิจิทัล ในมุมของ 4.0 นะครับ
1. เราบอกว่า กลับมาเรื่อง KPI ตัวชี้วัดของประเทศที่บอกว่าเรามีศักยภาพด้าน ดิจิทัลอะไรบ้าง เราวัดตัวเรากับสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า ซึ่งมันไม่เหมือนเดิม มันจะหลุดกรอบออกไปจากเดิมที่เราเคยวัดอยู่ เพราะฉะนั้นเราเรียกว่าเป็นการสร้างสแตนดาร์ดใหม่ หรือถ้าเกิดตัวชี้วัดใหม่มันก็ไปกำหนด ไล่ไปถึงเรื่องของระบบ Education หรือตัวชี้วัดของอุตสาหกรรมด้วย ตัวชี้วัดเหล่านี้เป็นการสร้าง Awareness อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้ยังเป็นเรื่องที่ดีที่สุดนะครับ แล้วให้คนได้มีความตระหนักรู้ ได้มีความรู้ ยังเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะฉะนั้นอันแรกเลยก็คือการสร้างตัวชี้วัดใหม่ องค์ความรู้ใหม่ที่จะสะท้อนตัวเราว่าเรามีศักยภาพด้านดิจิทัลแค่ไหน
ยกตัวอย่างได้ไหมครับว่าเช่นอะไรบ้างที่เป็นตัวชี้วัดใหม่
ตัวชี้วัดใหม่ อย่างเช่น เราบอกว่า Digital Infra นะครับ สัดส่วนของคอมพิวเตอร์ต่อประชากร หมายถึงว่าใช้เป็นนะ ไม่ใช่ตัวเดิมๆ ที่บอกว่า Mobile Penetration เท่าไร มือถือต่อประชากรเท่าไร หรือว่าบรอดแบนด์ต่อประชากรเท่าไร
อันนั้นเราชนะอยู่แล้ว
ตัวนั้นก็ด้วย แต่ว่าตัวนั้นเราก็ไปไกลแล้วเหมือนกันนะครับ แต่เป็นตัวใหม่ๆ ที่บอกว่าศักยภาพเราในการใช้เทคโนโลยีมันแค่ไหน แม้กระทั่งบางตัวซึ่งเป็นเบสิกดั้งเดิมเลยนะ เช่น ภาษาอังกฤษ ตอนนี้อาจจะต้องรวมภาษาจีนด้วย เพราะว่าองค์ความรู้ใหม่ๆ ของโลกเกิดขึ้นในภาษาอังกฤษกับภาษาจีน ถ้าประชากรส่วนใหญ่หรือว่าเด็กที่จบมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษยังเข้าไม่ถึง เราก็เรียนรู้ได้ช้ากว่าประเทศที่เขาเข้าถึง อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นตัวชี้วัดใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Digital Technology มันจะมีเรื่องของบุคลากรด้วย แต่อันนี้เดี๋ยวผมจะพูดในส่วนต่อไป มันจะมีเรื่องที่เรียกว่า Future Readiness คือความพร้อมต่ออนาคต เรามีการมองว่าวันนี้เราวัดแบบนี้ แต่ว่าวันข้างหน้าล่ะ ถ้าเราวัดแล้วน่าจะเป็นอย่างนี้ แล้ววันนี้ต้องวัดอย่างไร ความพร้อมต่ออนาคต เพราะฉะนั้นอันนี้คืออันที่ 1 นะครับ
2. ก็คือเมื่อสักครู่ผมบอกว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน แล้วก็ภาคประชาสังคม ซึ่งรวมภาควิชาการด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกันเอง ระหว่างเอกชนกับรัฐ ระหว่างภาคสังคม ความร่วมมือเหล่านี้ที่ผ่านมามันไม่เกิดขึ้น เหมือนเมื่อครู่เรายกตัวอย่างว่า บริษัทบริษัทหนึ่งมีหลาย Silo เราก็มีในภาคมิติของเศรษฐกิจของประเทศนี่เราก็มีหลาย Silo
ต่างคนต่างทำของตัวเอง
แล้วต่างคนต่างทำแต่ Objective เดียวกัน คือต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน มีศักยภาพในการแข่งขัน มีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ เราต้องการที่จะบอกว่ามี Disabution ของรายได้ ให้ทุกคนมีรายได้ที่ดีที่สูง ให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันหมดนะครับ แต่ว่าต่างคนต่างทำ ทำไมมันไม่มีเป้าหมายภาพรวมที่ว่าอันนี้เป็นเรื่องเชิงยุทธศาสตร์ที่เรามีเป้าหมายเดียวกัน สามารถร่วมมือกันได้แม้ว่าในบางมิติเราแข่งขันกัน หลายๆ ครั้งเรามักจะพูดว่ารัฐไม่ควรแข่งกับเอกชน ซึ่งก็จริง แต่ทุกวันนี้บางทีรัฐก็ยังแข่งกับเอกชนทำอะไรขึ้นมาแข่งกับเอกชนแต่ไม่ Sustain นะ แต่ใช้ Budget ซึ่งบางทีมันควรจะทำในสิ่งที่เอกชนไม่ได้ทำ และส่งเสริมให้เอกชนทำให้เกิดการแข่งขัน อย่าให้เกิดการครอบงำโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มีหลายๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม แล้วแต่ในระดับมีหลายๆ ผู้เล่นที่ทำให้เกิดการแข่งขัน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องของความร่วมมือ ซึ่งมิติเหล่านี้อยากจะสร้างให้มันเกิด
3. ก็คือเรื่องของ Digital Man Power คือคนที่ Digital Workforce คือคนที่ Literate ผมอยากจะยกตัวอย่างว่าเรามีเด็กนักเรียนที่จบใหม่ต่อปี เอาเป็นว่าจบมหาวิทยาลัยก็แล้วกันนะ น่าจะร่วมๆ 5 แสนคนนะครับ มีการลงทุนของคุณพ่อคุณแม่ก็ดี เศรษฐกิจลงทุนกับบุคลากรเหล่านี้ของประเทศจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย เสร็จแล้วออกมาแล้วไม่มีงานทำ หรือว่าถ้าบอกว่าแมตช์กับความต้องการของตลาด แมตช์แค่ 60% อีก 40% ไม่แมตช์ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการที่ไม่มีกลไกตลาดเข้ามาเชื่อมโยง ทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใสเพียงพอที่ฝั่งของเด็กผู้เรียน ผู้ปกครอง หรือคุณครูที่จะแนะนำเด็กออกมาแล้ว มันแมตช์กับงานได้ 90% หรือ 100%
ก็คือภาคธุรกิจกับภาคการศึกษาต้องคุยกันมากขึ้น
ใช่ แล้วภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวเองด้วยว่าจากที่เป็นธุรกิจอย่างเดียวกลายเป็นสถาบันการศึกษาด้วย เพราะเดี๋ยวนี้เราบอกว่าเราต้อง Upskill Reskill ถ้าเราไม่เป็นสถาบันศึกษาด้วย เราจะไป Upskill Reskill อย่างไร เราก็ต้องมองว่าพนักงานทุกคนยังเป็นนักศึกษาอยู่ในอีกมุมหนึ่ง ต้องพัฒนาทักษะต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้ในการที่จะสร้างคน แล้วก็ Supply กับ Demand ของตลาดที่จะให้แมตช์กัน ทำอย่างไรให้มันแมตช์กัน ก็กลับมาตรงเรื่องของข้อมูล แล้วก็ผลตอบแทน เพราะว่าคนก็อยากจะรู้ว่าฉันเรียนจบไปแล้วแนวโน้มของเงินเดือนฉันจะเป็นเท่าไร แล้วถ้าฉันเข้าบริษัทท็อป 50 ท็อป 500 SMEs Tier 1 SMEs Tier 2 SMEs Tier 3 ฉันเข้าไปใน Micro Retail Segment ฉันออกไปแล้วฉันจะไปเป็นผู้ประกอบการใหม่ ฉันจะเป็นนักธุรกิจใหม่ ธุรกิจขนาดเล็ก ฉันจะเป็น Tech Startup เอ๊ะ! แล้วผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ถ้ามีข้อมูล
มี Data มารองรับ
มี Data มารองรับมันก็จะเกิดการปรับตัวของตลาด เพราะว่าตลาดนักศึกษาเขาปรับตัวได้ไวอยู่แล้ว แล้วเขาพร้อมที่จะ Upskill หรือ Reskill อยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าแล้วจะไปทางไหนที่จะมี Incentive ผลตอบแทนให้ฉันได้ดี
ไม่อย่างนั้นก็จะเฮโลกันไปตามกระแสที่เกิดขึ้นว่า โอเค ฉันไปทางนี้เห็น Startup ดีก็ไป Startup เห็นฝั่ง Data Scientist ดีก็ไป จริงๆ มันมีทางเลือกอีกมากมาย อยู่ที่ว่าเราจะเปิดภาพให้เขาเห็นหรือเปล่า
ทีนี้บางทีเราก็บอกว่า ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ ใช้เวลา มีวิธีเร่งไหม ให้เกิดการปรับตัวระหว่าง Supply กับ Demand เร็วขึ้น มีไหมครับ มีนะครับ ผมยกตัวอย่าง อย่างรัฐบาลตอนนี้บอกผู้ใดก็ตามที่ตกงานให้ 5,000 บาท อันนี้เป็นมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือผู้ที่ตกงาน เพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจตอนนี้มีปัญหาคนเดือดร้อนมาก แต่เอาจริงๆ ในทางกลับกัน เราคิดว่าเป็นไปได้ไหมฉันให้ 5,000 บาท อย่าให้พนักงานตกงานแล้วช่วย Reskill พนักงานด้วย หรือแม้กระทั่งว่าเด็กจบใหม่ ถ้าเธอไปสร้างทักษะใหม่ ทักษะใหม่ตรงนี้ได้ Certificate จากโปรแกรมเหล่านี้ จากสถาบันเหล่านี้ออกมา ฉันก็ให้เธอ 5,000 บาทเหมือนกัน
น่าสนใจครับ มี Reward ให้
มันก็เหมือนกับว่าเรารู้แล้วว่าเด็กจบใหม่ตอนนี้งานที่จะทำมันยังไม่เหมาะกับตลาด แล้วตลาดก็ยังไม่ได้ต้องการ ตามหลักก็คือเขาจะกลายเป็นผู้ตกงานโดยปริยาย เพราะว่าตอนนี้ตลาดมันหดตัวอยู่ ธุรกิจไม่มีใครรับคนหรอกตอนนี้ ส่วนใหญ่นะ ก็มีแต่จะลดคน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าไปซัพพอร์ตตรงนี้สร้างทักษะใหม่ ทักษะใหม่นั้นมีความสอดคล้องกับความต้องการใหม่ ก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น อัตราการเร่งของการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น มากกว่าว่ารอให้กลไกตลาด Supply และ Demand มันมาเจอกันเองก็มี Incentive ก็คือ Incentive ในการปรับพฤติกรรมให้เร็วขึ้น เหมือนกับบางทีเรามีอย่าง… ผมมีลูกใช่นะครับ ก็แน่นอนแหละ เขาชอบเล่นเกม ก็จะให้เวลาเล่นเกมเยอะ สมมติถ้าเกิดเราบอกว่าเอาอย่างนี้แล้วกันนะ เธอทำเกรดให้ได้อย่างนี้ หรือว่าเธอทำการบ้านตรงนี้ให้เสร็จก่อน แล้วเธอได้เล่นเกมเท่านี้ มันก็จะมาช่วยกลายเป็นช่วยอัตราเร่ง หรือว่าเธออาจจะซื้อไอเท็มนี้ได้ถ้าเกิดว่าเธอสอบได้ตรงนี้ดีขึ้น มันก็เป็น Incentive ที่จะเร่งว่า เขามีความตั้งใจเรียนมากขึ้น เร็วขึ้น
เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของ Digitalization ของอุตสาหกรรมแล้ว อันนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สภาฯ เน้นในเรื่องของตัวชี้วัดของแต่ละอุตสาหกรรม แต่ละ Vertical หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมที่รวมไปถึงพวก Startup หรือว่า New Business หรือวัตถุดิบในรูปแบบใหม่ เป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะเห็นเกิดขึ้น แล้วส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเรื่อง Awareness อยู่ เป็นเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลตัวชี้วัด คือคนเรานี่ถ้าเกิดว่าเรารู้แล้วว่ามีกระจกส่องเรา แล้วเรารู้แล้วว่าตรงนี้ยังไม่ดี ตรงนี้ยังย้วยเกินไป ผมตรงนี้ยาวไป แขนตรงนี้อยากจะมีไบเซปส์เพิ่มขึ้นหน่อย ก็ต้องออกกำลังกายใช่ไหม ขาตอนนี้ถ้าดูส่องกระจกแล้วขาลีบเลย ถ้าตอนนี้ให้ไปวิ่งขึ้นเขานี่ก็คงแพ้เขา วิ่งไม่ได้หรอก แต่มีกระจกให้ส่อง ไม่อย่างนั้นก็จะเห็นแต่ความถนัดของตัวเองอยู่ในขณะนั้น แต่มองไม่เห็นว่าความพร้อมของตัวเองที่จะไปแข่งขัน ไม่มี
ประการสุดท้ายเราพูดถึงการเป็น Hub นะครับ หรือเป็น Hub ในเรื่องของ Innovation และเทคโนโลยีในบางเรื่องที่เราถนัดนะ ในระดับภูมิภาคแล้วก็ในระดับโลก ประเทศไทยจะเป็น Hub หรือเป็นเซนเตอร์ในด้านไหนได้บ้าง ถ้าให้ยกตัวอย่างนะ ประเทศไทยเราใน Asia Pacific แล้วกันนะครับ ในอาเซียน ข้อมูลที่เราผลิตออกมาจากผู้บริโภคเป็นต้นนะ สูง ผมว่าน่าจะสูงที่สุดในอาเซียน ยังสูงกว่าอินโดนีเซีย ดูจากอะไร ดูจากผู้ใช้ Facebook ผู้ใช้ LINE ผู้ใช้ Grab ผู้ใช้ Youtube ดูจากหลายๆ อย่าง คือการบริโภคข้อมูลและการสร้างข้อมูลนี่มหาศาล
ใช่, เราไม่แพ้ชาติใดครับอันนี้
ไม่แพ้ชาติใดเลย แต่ข้อมูลทั้งหมดตอนนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่สิงคโปร์ เพราะว่าบริษัทที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่ทำแพลตฟอร์มทั้งหมดเหล่านี้ไปตั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและการเก็บข้อมูลอยู่ที่สิงคโปร์ เพราะว่าสิงคโปร์ให้ Incentive ถ้าคุณมาตั้ง Data Center ที่นี่ Analytic Center ที่นี่นะครับ Cloud Technology ที่นี่ มาทำเรื่อง AI ที่นี่ คุณเอาไปเลยแบบนี้ แล้วถ้าคุณรับคนที่เรียนจบในสิงคโปร์ด้วย จ่ายเงินเดือนฟรีให้ 2 ปี ถ้าคุณโอนเขาไปมีประสบการณ์ระดับโลกในต่างประเทศด้วย จ่ายเงินเดือนให้อีก 2 ปี ไม่มีค่าใช้จ่าย ในแง่บุคลากร นี่เขาเทรนคนของเขาด้วย แต่เขาก็ดึงคนที่เก่งๆ จากทั่วโลกมาอยู่กับเขาด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราบอกว่า ข้อมูลในประเทศเรามันควรจะต้องอยู่ในประเทศเรา เพราะว่ามันคือข้อมูลที่ Generate ขึ้นมา เราบอกว่ามันก็ควรจะอยู่ในประเทศเรา เราให้ Incentive ที่ถูกต้อง มีกรอบของ Regulation กรอบของระเบียบกฎหมายต่างๆ ให้ถูกต้องนะครับ ประเทศไทยก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพของ Data Center Cloud Technology Analytic AI ในลำดับต่อไป เสร็จแล้วเราก็เริ่ม Groom Tech Startup เราบอกว่าถ้า VC มาลงทุนที่เมืองไทย แล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป็นผู้นำทางด้านของ Cloud Technology Analytic Data Center เราก็ส่งเสริมมี Match Fund กับ VC เป็นต้นนะ แล้วก็ระบบภาษีของผู้ที่มาลงทุนก็ดีกว่า คือเท่ากับหรือดีกว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษแล้วแต่ ไม่ว่าจะประเทศไหนในภูมิภาคนี้เราต้องไม่แพ้ใคร เพราะว่าผู้ลงทุนจะได้บอกฉันเจียดเงินมาที่นี่แล้วกัน ประเทศไทย
จะได้จูงใจเขา
เพราะว่าทุกวันนี้ถ้าถามว่า Tech Startup ที่เก่งๆ ของบ้านเราไปตั้งบริษัทอยู่ที่ไหน
ในสิงคโปร์
อันนี้เป็นที่รู้กันนะครับ เพราะฉะนั้นการสร้าง Ecosystem ตรงนี้ หรือระบบนิเวศที่ทำให้เราเป็นศูนย์กลางทางด้าน Innovation และเทคโนโลยีที่เรามีศักยภาพ อย่าไปฝันว่าไปทำบางอย่างที่เราไม่มีศักยภาพ
เอาที่เราถนัด
เอาที่เราถนัด เอาที่เราพอจะมีพื้นฐาน อย่างเช่นอีกอันหนึ่งตอนนี้เราเริ่มมีชื่อเสียงแล้ว เรื่องอะไร
เรื่องสาธารณสุขหรือเปล่าครับ
เรื่องสาธารณสุข เรื่องสุขภาพ อาจจะพระเจ้าให้มาด้วยบางส่วน แล้วเราก็ว่าเราก็มีศักยภาพพอสมควร
ทั่วโลกชื่นชมครับ
ทั่วโลกชื่นชม เราบอกว่าถ้าอย่างนั้นทางด้านของ Health Care นะครับ ทางด้านของ Health Care Health Tech ประเทศไทยพอจะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคได้ไหม Feed ตลาดอาเซียน 700 ล้านคน หรือว่าสนับสนุนตลาดในเอเชีย ซึ่งรวมจีน อินเดียทั้งหมดมี 3 พันล้านคน มีญี่ปุ่นอีก ทำไมเราถึงเป็นศูนย์กลางที่ดี ในเรื่องของ Health Tech ทำไมว่าถ้าเป็นทางด้านของการรักษาประเภท A B C โรคที่เป็นกันมากโดยคนเอเชียสัก 2-3 เรื่อง ประเทศไทยเราจะมีชื่อเสียงเป็นระดับโลก แล้วต่อไปมันก็ชนะกันที่รีเสิร์ช รีเสิร์ชก็คือเรื่องของข้อมูล Stats แล้วก็การวิเคราะห์ข้อมูล
ประเด็นเรื่องตัวกฎหมาย Incentive นี่น่าสนใจครับ เพราะว่าผมก็ได้พูดคุยกับ Startup บ่อย คุณศุภชัยก็คงได้คุยกับ Startup บ่อยเหมือนกัน ของประเทศไทยพอกำลังจะโตก็ต้องไปสเกลที่อื่น เพราะ Incentive ไม่ดีพอ หรือว่าแรงจูงใจในการดึงดูดโน้มน้าว VC หรือทุนอื่นๆ มาเมืองไทยกับที่สู้ประเทศรอบข้างไม่ได้ ตัวกฎหมายมันไม่เอื้อ ตรงนี้คุณศุภชัยคิดว่าเราสามารถที่จะแก้ไขได้ไหมครับ ปัญหาความท้าทายมันเกิดจากอะไรครับ
คืออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องใหม่ แล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง ตามให้ทันกับคู่แข่งหรือประเทศอื่นๆ ที่แข่งขันกับเรา แล้วเราต้องการดึงดูดทุนให้มาบ้านเราเป็นหลัก ต้องการดึงดูดเอาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ บอกว่าเรื่อง Technology Data Scientist ต่างๆ ให้มาเมืองไทย มันเป็นเรื่องใหม่ สมัยก่อนเราแทบจะบอกว่า คุณจะมาเมืองไทยต้องได้วีซ่า ต้องมาสัมภาษณ์ มายาก แต่สมัยนี้ถ้าเป็นประเทศที่เขาเป็นแนวบุก เขาไป Identify เลย เขาไป Identify เลยว่าคนนี้มีศักยภาพนะ ดึงมาทำประเทศเราเลยได้ไหม ดึงมาอยู่ประเทศเราเลย Compensation คูณ 2 คูณ 3 นะ ให้ Incentive มากมาย แล้วก็แทนที่จะอยู่เมืองไทยเนี่ย ดึงมาประเทศฉันเลย
เป็นเชิงรุกเลย
เป็นเชิงรุกเลย เขาไม่ได้ทำกับเฉพาะบุคลากรที่มีศักยภาพ เขาทำกับองค์กรด้วย เป็นเชิงบุกเป็นเชิงรุก ที่นี้เราจะบอกว่าเราจะจัดในเชิงที่เหมือน ทำเหมือนเดิม แล้วเราก็ไม่ได้ทำแย่นะ ถือว่าประเทศไทยเราก็ทำมาได้ดีระดับหนึ่ง แต่ผมมองว่าเราจะไปแบบก้าวกระโดด เราจะไปเป็นถึงขนาดที่เป็น Hub เป็นศูนย์กลางอันหนึ่งของโลกทางด้านของเทคโนโลยี ทางด้านของ Innovation เราก็ต้องทะยานตัวออกไป เราต้องเป็นแนวบุก ทีนี้การเป็นแนวบุก มันก็เหมือนกับต้องวางเป้าหมาย ต้องมีตัวชี้วัดใหม่ ต้องวางเป้าหมายใหม่นะครับ ถ้าไม่วางเป้าหมายใหม่ ไม่วางตัวชี้วัดใหม่ ในระบบของรัฐเดิมที่เป็นอยู่ไม่ทำไม่ผิด ทำเยอะผิดมาก ทำแล้วอาจจะเสียมากกว่าได้ เพราะว่ามันไปเริ่มทำเรื่องใหม่
ที่ไม่ได้อาจจะเป็นตัวชี้วัด ที่ไม่มีตัวชี้วัด
ที่ไม่มีตัวชี้วัดมันอาจจะมี เขาเรียกว่า มียุทธศาสตร์ มีแนวทางอยู่ มีความรู้ความเข้าใจ แต่ไม่มีใครกล้าทำ
ความตั้งใจดีแหละ ความเข้าใจดี ใช่เห็นด้วยครับ
ดี เราถามเราคุยกันทุกคนก็รู้เรื่องหมด บ้านคนอื่นเขาทำกันอย่างนี้ ทำไมไม่ทำ คนนั้นเขาทำอย่างนี้ทำไมไม่ทำ สาเหตุหลักก็เพราะว่าเราไม่ได้ตั้งเป้า ไม่ได้ตั้งตัวชี้วัดและไม่ได้ตั้งเป้า แต่เมื่อไรก็ตามที่ตั้งตัวชี้วัดและตั้งเป้าเนี่ย มันจะกลับกันเลย ฝ่ายบริหารของทางภาครัฐก็จะมาเร่งบุคลากรในรัฐบอกว่า ทำไมยังสู้เขาไม่ได้ เรามีเป้าหมาย ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเนี่ยก็จะพูดภาษาเดียวกันหมดว่าทำอย่างไรให้มันคืบหน้า เพราะว่าเรามีเป้าหมายอยู่ ต่อให้ทำผิด แต่ว่าทำเพื่อเป้าหมายก็ไม่ถูกลงโทษ เพราะกระบวนการของความล้มเหลวมันเป็นกระบวนการของความสำเร็จ การล้มเหลวเขาเรียกว่าบันไดสู่ความสำเร็จ แต่มันจะไปถึงเป้าหมายเดียวกัน ทำไมถึงทำแบบนี้แล้วมันพลาด ทำเพราะว่าอยากจะได้เป้าหมายอย่างนี้ พลาดแล้วเรียนรู้อะไร เพราะไม่มีตัวชี้วัด มียุทธศาสตร์ แต่ไม่มีตัวชี้วัด ไม่มีเป้าหมาย 12 เดือน 36 เดือน 5 ปี ตราบใดที่ไม่มีตรงนี้ ทุกคนก็ไม่กล้าทำ
ก็อยู่ใน Comfort Zone
ใช่ ทีนี้พอเราทิ้ง รัฐก็อาจจะกลัว เหมือนเอกชนเหมือนกันนะ เวลาเราบอกว่า นักลงทุนบอกว่าปีหน้าจะทำรายได้เท่าไร สามารถเพอร์ฟอร์มได้ตามที่กำหนดไว้ไหมอะไรอย่างนี้ เราก็จะกลัวเหมือนกันว่าจะทำไม่ได้ แต่ว่าก็ยังต้องกำหนดออกมา เพราะถ้าธุรกิจถ้าไม่มี Progress ก็คือถอยหลัง หรืออาจจะลงไปเลยในที่สุด เพราะฉะนั้น ภาคเอกชนจึงวางเป้าหมายออกมา แล้วแชร์เป้าหมายในองค์กร แล้วเป้าหมายส่วนใหญ่ก็จะเป็นเป้าหมายท้าทาย เพราะว่าคู่แข่งเขาก็คงไม่วางเป้าหมายที่ไม่ท้าทาย เพราะฉะนั้นผมก็มองว่า ถ้าภาครัฐเองก็วางเป้าหมายที่ท้าทายแล้วไม่ต้องกลัวว่าทำไม่ได้ ระหว่างเป้าหมายที่ท้าทายแล้วเราทำเต็มที่ ได้แค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับคู่เปรียบอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ยังไงแล้วเนี่ยเราก็ไม่ด้อยกว่าเขา มันไม่ได้วัดกันแค่บอกว่า คุณตั้งไว้ 10 แต่คุณทำได้ 6 แล้วคุณจะบอกว่าคุณทำไม่ดี ไม่ใช่ เพราะว่าคนอื่นเขาอาจจะทำได้ 5 เขาอาจจะทำได้ 4 แต่คุณทำได้ 6 แต่ถ้าคุณไม่วางเลย
คุณก็จะไม่ได้ทำเลย
มันไม่มีใครกล้าทำ แต่ถ้าคุณไปกลัวว่าเดี๋ยวไปตัวชี้วัดแล้วทำไม่ได้ จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว ไม่ใช่ เพราะเรามีคู่เปรียบ มันเหมือนกับโควิด-19 นะครับ โควิด-19 นี่ถ้าจะมองไปแล้วในระยะแรกๆ ข้อมูลเราก็ไม่ชัดเจน สถานการณ์ก็ยังไม่เหมือนกับตอนนี้ควบคุมได้ดีขึ้นมาก
ใช่, ตอนนี้เก่งมากครับ คนชื่นชมกันทั้งโลก
ตอนนี้คนก็คือความชื่นชม ตอนแรกๆ ก็ เอ๊ะ! ตัวเลขจะพูดดีไม่ดี ตัวเลขจริงตัวเลขกด ตัวเลขเอาคัดแบบว่าเอาเฉพาะที่มาจากต่างประเทศไหมหรืออะไรอย่างนี้ แต่ตอนหลังบอกเปิดหมด เป็นตัวเลขจริงหมด พอเราดูอย่างนี้ปุ๊บ เราเห็นทั่วโลกหมดว่าเราอยู่ตรงไหนของทั่วโลก แล้วเราทำได้ดีหรือไม่ดี อันนี้คือส่ิงที่ผมคิดว่า เราต้องอย่าไปกังวลว่าเดี๋ยวตั้งเป้าหมายวางเป้าหมายแล้วทำไม่ได้ วางเป้าหมายเถอะครับ เพราะเสร็จแล้วความสำเร็จของภาครัฐเนี่ย มันจะไม่ได้อยู่แค่บอกว่าเราได้เป้าหรือไม่ได้เป้า ไม่มีใครมา เลือกตั้งใหม่เขาคงไม่ได้ดูแค่ได้เป้าหรือไม่ได้เป้า ดูว่าเราเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ แล้ว แล้วเศรษฐกิจของเรามีความก้าวหน้าไหม ปากท้องดีขึ้นไหม ธุรกิจเติบโตไหม เศรษฐกิจแข็งแรงดีไหม ยั่งยืนดีไหม Employment คือการจ้างงานดีไหม จบมาแล้วมี Job Security ไหม มีผู้บุกเบิกมีผู้ประกอบการใหม่ๆ เกิดขึ้นกี่ราย มี IP หรือเรียกว่า International Property เกิดขึ้นอีกกี่ IP สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มันต้องตั้งเป้าหมายออกมา เราบอกว่าเราอยากให้ VC ต่างๆ ระดับโลกมาลงทุนที่เมืองไทย เราดึงทาเล้นจ์ ดึงผู้ที่มีศักยภาพจากทั่วโลกมาทำงานที่เมืองไทยมาตั้งบริษัทที่เมืองไทย ก็ต้องตั้งเป้าหมาย แล้วทุกคนก็ทำตามเป้าหมาย แล้วไม่ใช่รัฐทำคนเดียวนะ พอรัฐตั้งเป้าหมายใช่ไหม คนในรัฐก็พยายามจะสร้างเงื่อนไขที่มันทำได้ เอกชนเองนี่แหละก็อยากจะเห็นมันเกิด เพราะฉะนั้นก็จะไปดึงมา
รัฐก็อาจจะปลดล็อก แล้วเอกชนก็ไปช่วยทำอะไรอย่างนี้
มันจะกลายเป็นว่าเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน สรรพกำลังนี้มันเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดมันต่างคนต่างไป ไปคนละทิศคนละทาง กำลังมันไม่เกิด มันก็เหมือนเส้นฟางหลายๆ เส้น ดึงยังไงก็ขาด แต่ถ้ามันดึงไปในเส้นทางเดียวกัน เส้นฟางร้อยเส้นมารวมกัน มันดึงยังไงก็ดึงไม่ขาด มันก็มีศักยภาพ
ในฐานะที่เป็นประธานสภาดิจิทัลฯ คุณศุภชัยอยากเสนอดัชนีชี้วัดใหม่ อะไรที่คิดว่าน่าจะดีต่อประเทศบ้างครับ อาจจะยกตัวอย่างบางตัวอย่างก็ได้ครับ
คือเอาตัวอย่างง่ายๆ ว่า Incentive ในเชิงของการดึงดูดผู้ลงทุนนะครับ ในเรื่องของเทคโนโลยี อย่าพูดถึงเรื่อง Startup อย่างเดียวเลยนะ อาจจะมาลงทุนในบริษัทที่เป็น Tech Company หรือเป็น Software Company ในบ้านเรา ซึ่งอาจจะเป็นระดับของ SMEs เหล่านี้ก็ด้วย การดึงดูดตรงนี้ การลงทุนตรงส่วนนี้ แล้วเม็ดเงินที่มาลงจริง ทั้งรัฐทั้งเอกชนทั้งต่างประเทศเนี่ยเท่าไร อันนี้อันที่ 1 นะครับ
อันที่ 2 คือทรัพยากรบุคคล บุคลากรที่เราสร้างขึ้นมา คุณภาพอยู่ในระดับไหนของโลก มีจำนวนเพียงพอไหม บุคลากรที่เราดึงเข้ามาเราต้องดึงบุคลากรประเภทไหน เพื่อมาสอนบุคลากรไทยเราด้วย และในเวลาเดียวกันเขาก็เอาชื่อเสียงมาด้วย คุณไปดึงเอานักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ที่มีชื่อเสียงมา 10 คน อยู่ดีๆ มาทำงานอยู่เมืองไทย 3 ปี 5 ปี นักวิทยาศาสตร์ของโลกก็บอกว่าที่เก่งๆ แบบประเภทนี้อยู่เมืองไทยนะ
โลกมองเลยนะครับ
โลกมองเลย เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งเป้าหมายว่า บุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้เขามาเขาต้องมี Centive ถึงจะมา ไม่อย่างนั้นเขาก็อยู่ประเทศเขาดีกว่า เพราะฉะนั้นในแง่ของเรื่องของภาษีก็เหมือนกัน ในแง่ของ Compensation หรือว่าผลตอบแทนต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องดีเพียงพอ ประเทศไทยไม่ต้องห่วง น่าอยู่อยู่แล้ว พอพูดถึงประเทศไทยคุณเรียงมาเลย 100 ประเทศทั่วโลก คุณจะไปที่ไหน 1 ใน 3 เค้าก็ต้องชี้ประเทศไทย คือพระเจ้าให้มาอยู่แล้วนะ
ทั้งทำเลที่ตั้ง ภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ อะไรดีหมดเลยนะครับ
วัฒนธรรม คนของเรา นิสัยใจคอนะครับ ความเป็นชาวพุทธ ทุกอย่างเลย มันมีค่ามากนะครับ เพียงแต่ว่าเราต้อง Catalyze เราต้องสามารถเปลี่ยนสิ่งที่มีค่าเหล่านี้ให้มันเพิ่มมูลค่าขึ้นไปแบบก้าวกระโดด ทำอย่างไร ก็ดึงคน แต่ว่าต้องสร้างระบบนิเวศให้ครบ ก็คือต้องดึงคนมาให้ได้ สมมติเราตั้งเป้าเลยนะ เราบอกว่าบุคลากรในประเทศต้องมีทักษะด้านดิจิทัลภายใน 2 ปี 1 ล้านคน สมมติว่าเด็กจบใหม่ก็อาจจะได้แล้วสัก 5 แสนคน เพราะว่าเราเอามา Reskill ด้วยอะไรด้วยนะ อีก 5 แสนคน มาจากไหน ดึงจากทั่วโลกเลย 5 แสนคน ก็ไม่ได้เยอะ ประเทศไทยเรามี 70 ล้านคน จริงๆ แล้วเรามีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในเมืองไทย 5-6 ล้านคนนะ แต่ถ้าเราดึงเอาคนที่มีศักยภาพจากทั่วโลก
เป็น Talent เลยนะครับ
เป็น Talent รู้เรื่อง Coding รู้เรื่อง Data Science รู้เรื่อง Cloud Technology รู้เรื่องของ Analytic รู้เรื่องทางด้าน Automation อย่างดี แล้วเราบอกว่าเราต้องมีบุคลากรประเภทนี้ ถ้าเราจะเป็น Hub นะ เราต้องดึงมาอีกกี่แสนคน ก็ต้องตั้งเป้า คืออันนี้เป็นสิ่งที่เรียนว่าเราก็พยายามศึกษาเรื่องเหล่านี้อยู่ เพื่อที่จะหาตัวชี้วัด แต่อันนี้เป็นตัวชี้วัดง่ายๆ ถ้าเราลอง Imagine ว่า Tech Hub ของโลก หรือว่า Innovation Hub
Technology Hub ของโลก ถ้ามองเป็นประเทศก่อนนะ อเมริกา ทำไมอเมริกา เราอย่าพูดว่า Silicon Valley เลย Silicon Valley ได้อานิสงส์ของสหรัฐอเมริกานะครับ Tech Hub ของโลกอยู่ที่ไหนอีก ตอนนี้เรากำลังเชื่อว่าน่าจะอยู่ที่จีน มีเมืองใหญ่ๆ อยู่ที่จีน Tech Hub ของโลกน่าจะยังอยู่ที่ยุโรปที่เป็น Tech Hub ถ้าเราศึกษาให้ดี แต่ละประเทศที่เป็น Tech Hub ของโลก หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่นด้วยก็เป็น Tech Hub อันหนึ่งนะ ศึกษาให้ดี หัวใจสำคัญของความสำเร็จที่เขาเป็น Tech Hub ได้ เกิดขึ้นจากอะไร ถ้าไปศึกษาให้ดีนะ เราก็จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้มีมหาวิทยาลัยท็อปๆ ของโลก
Professor คุณครู นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเป็นระดับท็อปของโลก ทุกคนอยากไปเรียน อันนี้เป็นอันที่ 1 นะ สถาบันการศึกษา ถามว่าสมมติประเทศไทยเราบอกว่า เราจะเป็น Hub เราก็ต้องมองว่า สถาบัน มหาวิทยาลัยของเรา มีความเป็นผู้นำสูงพอในด้านที่เราต้องการเป็นในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลกไหม อันนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญ เป็นเป้าหมายที่ต้องตั้ง ถ้าไม่ได้มันก็หายไปแล้วหนึ่ง ระบบนิเวศใหญ่ๆ หายไปแล้ว
1 Key Factor ที่สำคัญที่สุด
คนก็จะบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่ประเทศไทยจะมาสร้างบุคลากรแบบนี้ เราจะมาตั้งที่ประเทศไทย เราขอไปตั้งที่เกาหลีใต้หรือไปตั้งที่สิงคโปร์ อีกที่หนึ่งคือเวียดนาม คนขยันขันแข็งกัน การศึกษาก็กวดขันกันอย่างดี ก็ไปเวียดนาม เขาต้องคิดแบบนี้ แต่ถ้าเราเห็นว่า เขาเห็นว่าประเทศไทยมี 4-5 มหาวิทยาลัย อันนี้เก่งด้านนี้ อันนี้เก่งด้านนี้ อันนี้เก่งด้าน นี้อันนี้เก่งด้านนี้ อย่างนี้ต้องผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพแน่ๆ ออกมาเสริม Tech Industry ได้ อันนี้เป็นอันที่ 1 นะ
อันที่ 2 ก็คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกที่เป็น Tech Hub ได้ เรื่องของ R & D เรื่องของ Innovation Center เรื่องของ Excellence Center ก็เป็นระดับโลก คือหมายความว่าอย่างไร คือเรามีสถาบันการศึกษาที่สุดยอดแล้วในด้านที่เราวางไว้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีศูนย์ R & D หรือมีการลงทุนในเรื่องของการค้นคว้าวิจัย รวมทั้ง Tech Startup คือมันก็กึ่งวิจัย กึ่งประกอบการ เพราะมันต้องลองของใหม่ ก็เหมือนกัน จริงๆ แล้วมันเป็นวิจัยของเศรษฐกิจ 4.0 Tech Startup นี่คือเป็นศูนย์วิจัยของเศรษฐกิจ 4.0 เพราะฉะนั้นเรามองอันนี้ว่า มาเชื่อมกับมหาวิทยาลัย แล้วตัวนี้ก็เชื่อมกับเอกชน เอกชนเป็นคนรู้ว่าวิจัยเรื่องอะไรดี จะได้ออกมาแล้วมีคนต้องการ
เขาต้องการแรงงานแบบไหน
มันออกมาแล้วมีความต้องการ ออกมาแล้วสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่โลกต้องการ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยต้องการ โลกต้องการ ก็ยกตัวอย่างตอนนี้โลกต้องการอะไรมากที่สุด
ต้องการวัคซีน
ถูกต้อง แต่ว่าประเทศไทยเราถ้าบอกว่า เรื่อง Health Tech เราดี Food Tech เราดี เรื่องของการควบคุมโรคเราดี เราเป็น Hub ในการผลิตวัคซีนได้ไหม
เป็นการคิดนอกกรอบมากครับ น่าสนใจมาก
ถ้าเกิดประเทศไทยเราบอกว่า เราก็ทำวัคซีนได้ เรามีศักยภาพพอไหมที่จะเป็นศูนย์กลางทำเรื่องวัคซีนได้ สมมติว่าใน Altitude ของช่วงนี้ของโลกในบรรยากาศใกล้เคียงกับเรา เป็นบรรยากาศใกล้เคียงกับเรา เพราะว่าโรคมันก็จะคล้ายกัน ความเป็นอยู่ก็คล้ายกัน บรรยากาศคล้ายกัน วิถีชีวิตคล้ายกัน อันนี้คือการที่ระหว่างเป้าหมาย วางยุทธศาสตร์แล้วเราต่อยอด ทำให้เกิดว่า เอาล่ะระบบนิเวศนี้ส่วนใหญ่แล้ว KPI มันก็มาจากยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์นี่ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะหมุนอยู่บน Key Success Factor ที่เราพูดถึงระบบนิเวศก็คือ Key Success Factor คือปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ เราถึงเรียกว่าระบบนิเวศปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ เพราะฉะนั้นปัจจัยที่บอกว่า
1. ดึงคนมาลงทุนให้เกิด Startup ดึงบุคลากร ดึงนักวิทยาศาสตร์ให้เกิด R & D ปัจจัยนี้เชื่อมโยงกับภาคเอกชน
2. สร้างสถาบันการศึกษาที่เป็นระดับโลกในแนวที่เรามีศักยภาพ แล้วทั่วโลกก็พร้อมจะเชื่อว่าถ้าคุณเน้นเรื่องนี้ คุณต้องเป็นที่ 1 ของโลกได้ หรือเป็นที่ 1 ของภูมิภาคนี้ได้ หรือในท็อปๆ แล้วเราก็สร้างทั้งสองอันนี้ขึ้นมาแมตช์กันนะครับ ก็จะทำให้มีโอกาส เป็น Hub ในระดับภูมิภาคหรือแม้กระทั่งในระดับโลก แต่ต้องมีตัวชี้วัดมีเป้าหมาย
โอ้! เห็นภาพครับ แล้วผมเห็นภาพว่า ไม่ใช่แค่ดัชนีชี้วัดเดียว ต้องมีหลายดัชนีชี้วัด เพื่อที่จะให้เกิดเป็นระบบนิเวศจริงๆ แล้วก็ไปสู่เป้าหมายเดียวกันทั้งหมดนะครับ เห็นภาพชัดมาก
แต่ต้องมีการลงทุนนะ อะไรก็ตามต้องมีการลงทุน เพราสมมติเราบอกว่าเราจะเป็น Hub ด้าน R&D การวิจัย เราจะมี Excellence Center ระดับโลกเชื่อมกับมหาวิทยาลัย คือเรานึกภาพว่าสมมติมหาวิทยาลัยชั้นนำ สมมติว่า จุฬาฯ บอกว่า ต้องเป็นชั้นนำในเรื่องของ Cloud Tech ในเรื่องของ Digital Technology ส่วนเทคโนฯ ลาดกระบัง เป็นในเรื่องของ Automation สมมติอย่างนี้นะ เกษตรศาสตร์ เป็นทางด้านของ Food Tech นี่เราตั้งเป้าอย่างนี้แล้ว เอ๊ะ! แล้วเราทำอะไรล่ะ ถึงไปทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีชื่อเสียงในระดับโลกในแต่ละด้าน
สิ่งที่ต้องการลงทุนก็คือ 1. เครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือในการทำวิจัย ในการทดสอบใน Discipline ต่างๆ แต่ละด้าน 2. บุคลากรระดับโลก ทีนี้เราบอกว่าบุคลากรบ้านเราก็มี ทำไมต้องไปเอาระดับโลก ต้องยอมรับว่าบุคลากรบ้านเรา เราก็ส่งเสริมด้วย บุคลากรระดับโลกเราก็ดึงมาด้วย ดึงมาในพื้นที่ที่เราอาจจะยังเห็นไม่ชัด เราอาจจะยังไม่ได้เก่งทุกด้าน ก็เอาอันนี้มาประกอบ เขามาถ่ายทอดในประเทศไทย 3 ปี 5 ปี เขาอาจจะกลับไป หรือถ้าเกิดว่าเราเห็นเขาดีเขาเก่งแล้วเขาอยากอยู่เมืองไทย ก็เปลี่ยนมาเป็นคนไทยเสียเลย
เราต้องลงทุน ทั้งเครื่องมือเอง ทั้งตัวบุคลากรเอง เราต้องกล้าลงทุน โดยที่มีตัวชี้วัด
ต้องกล้าลงทุน แต่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ต้องเป็นการลงทุนที่งอกเงย มันไม่เหมือนกับการที่อยู่ดีๆ เรามีงบประมาณกี่พันล้านกี่หมื่นล้านบาท แล้วเราก็ให้ไปเฉยๆ อันนี้มันเป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทน กลับมาตอบสนองยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ Productivity ศักยภาพของประเทศ มันงอกเงยเป็นเท่าทวีคูณ เป็นการลงทุนที่คุ้มที่สุด คือการลงทุนทางด้านของเทคโนโลยี บุคลากรด้านเทคโนโลยี เป็นการลงทุนที่คุ้มที่สุด เพราะว่าไม่ว่าเศรษฐกิจใดของโลกที่เติบโตได้ก็เติบโตได้จากการ Apply เทคโนโลยี นะครับ การ Apply เทคโนโลยี แล้วก็การสร้างบุคลากรคือคุณภาพของคนนะครับ ให้มีความคิดที่สร้างสรรค์มีความคิดที่เพิ่มมูลค่าอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนที่คิดแบบ Progressive คิดแบบก้าวหน้านะครับ อันนี้คือบุคลากรที่เราต้องสร้างนะ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องสร้างให้เขามีคุณค่าในเชิงสังคมด้วย คู่ขนานกันไป อันหนึ่งคือ Progress คือความเจริญรุ่งเรือง ที่เราต้องสอนให้คนเราคิดบวก คิดไปข้างหน้า คิดไม่อยู่กับที่ อีกอันหนึ่งก็คือคุณค่าทางสังคม ทำอย่างไรให้ร่วมมือกัน อยู่ด้วยกัน ทำอย่างไรให้เกิดความสงบ ทำอย่างไรให้เกิดความสร้างสรรค์
เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่มันต้องไปคู่ขนานกัน ซึ่งเราบอกว่าสอนทั้งคุณค่า สอนทั้งศักยภาพ หรือ Productivity หรือว่าสอนทั้งเศรษฐกิจ คุณค่าและเศรษฐกิจไปด้วยกัน ก็กลับมาหนีไม่พ้น เรื่องของระบบการศึกษา เพราะว่ามันเป็นการสร้างเด็กขึ้นมา เด็กที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างเวลาที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในเวลาเดียวกันก็มีคุณค่าทางสังคม ที่เข้าใจความยึดโยงความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความสงบสุข ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากแก้วที่สำคัญ ทำอย่างไรถึงจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาเป็นอย่างนี้ ส่วนองค์กรพอเป็นระดับองค์กรแล้วหรือเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐก็ดี เราก็มี Enforcement เรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใสเหล่านี้ก็เป็นระบบที่เราต้องการ Enforce เพื่อให้เกิดสุขภาพของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแรง เรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส แต่ตอนที่เราเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กไล่ขึ้นมา เราจะทำอย่างไรให้คนเราเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นการที่เราจะบอกว่าสร้างคัลเจอร์ก็ได้นะ
สร้างคัลเจอร์ของเด็กตั้งแต่เด็กเลย
แต่ไม่ได้ว่าเราไปให้ความรู้อย่างเดียว เราบอกว่าความรู้อันนี้ไปทำมาหากินอย่างเดียว แต่ว่าแล้วเราจะให้คุณค่าที่ยั่งยืนอย่างไร แล้วทำอย่างไรให้เขาเป็นคนที่มีจินตนาการ เพราะถ้าเราบอกว่าในที่สุดโลกเรา มนุษย์เรา ถูกทดแทนโดยเครื่องจักรได้ สิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้ก็คือจินตนาการ สิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้ก็คือ Compassion คือความรัก ความห่วงใย เกื้อกูลกัน ซึ่ง 2 สิ่งนี้อาจจะเป็นคุณค่าที่แท้จริงของมนุษยชาติ ในสเตปต่อไปอาจจะเป็นสิ่งที่เราต้อง Embed ลงไปในระบบการศึกษาและระบบสังคมของเรา
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Sub-editor ทิพากร บุญอ่ำ
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Music westonemusic.com