×

ฉีกลุคอากงอาม่า วัยรุ่นก็จิบชาจีน-ญี่ปุ่นได้ที่ Peace Oriental Teahouse

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • Peace Oriental Teahouse คือมุมจิบชาที่ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ เจ้าของร้าน คัดสรรใบชามาด้วยตัวเอง เน้นเฉพาะใบชาคุณภาพดีและเสิร์ฟในแบบต้นตำรับเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาร้อนที่ขายยกกา หรือชาเขียวมัทฉะที่ตีในถ้วยด้วยแปรงชงชาไม้ไผ่ หวังแทรกวัฒนธรรมการจิบชาให้เข้าไปสู่ชีวิตประจำวันของคนไทยดังที่เราโอบรับวัฒนธรรมกาแฟเข้าอย่างจัง

     เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว Peace Oriental Teahouse (พีซ โอเรียนทัล ที เฮาส์) เปิดตัวด้วยร้านชาสุดเนี้ยบที่เปล่งออร่าความสงบอย่างเซนออกมาบนถนนเอกมัย แม้จะมีความเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ด้วยดีไซน์แบบมินิมัลและเฟอร์นิเจอร์สีสว่าง เพียงเวลาไม่นาน ร้านก็เป็นที่รู้จักในเรื่องชาตะวันออกจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวันที่ ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ เจ้าของร้าน คัดสรรมาด้วยตัวเอง เน้นเฉพาะใบชาคุณภาพดีและเสิร์ฟในแบบต้นตำรับเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาร้อนที่ขายยกกา หรือชาเขียวมัทฉะที่ตีในถ้วยด้วยแปรงชงชาไม้ไผ่

 

 

     หลังจากเปิดได้ประมาณปีกว่า ร้านก็ได้ขยายสาขาไปที่หัวมุมซอยสุขุมวิท 49/1 และเพิ่มตัวเลือกที่เหมาะกับวิถีคนเมืองที่เร่งรีบอย่างชาเย็นในแก้วพลาสติกที่สามารถถือออกไปดื่มนอกร้านได้

 

 

     และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ร้านสาขาเอกมัยได้ปิดตัวลงในเวลาใกล้ๆ กับที่ร้านสาขาใหม่ขยายมาเปิดที่พระรามเก้า ซึ่งมีวิวัฒนาการต่อจากร้านเดิม พร้อมกับการเติบโตขึ้นทีละน้อยของวัฒนธรรมชาในบ้านเรา และตัวของธีรชัยเองด้วย

 

 

The Vibe

     ต่างจากร้านแรกที่สงบและเป็นส่วนตัว โครงสร้างแบบตึกแถวที่มีผนังปิดถึงสามด้าน ทั้งร้านที่สุขุมวิท 49 และพระรามเก้ามีหน้าบ้านเป็นกระจกใสที่ทำให้มองเห็นทุกอย่างในตัวร้าน ที่สำคัญ ร้านนี้เป็นร้านแรกที่ตั้งอยู่ในตึกศูนย์การค้า ใครที่เคยไปสาขาอื่นๆ จะรู้สึกได้ถึงพลังงานที่เปลี่ยนไปจากแสงไฟที่ทำหน้าที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีแสงธรรมชาติมาเป็นตัวช่วย

     “เป้าหมายของเราคือการสร้างวัฒนธรรมชา ทำให้ชาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เหมือนที่ทุกคนรับเอากาแฟเข้ามาแล้ว” ธีรชัยพูดถึงเหตุผลที่ขยับขยายร้านมาสู่ศูนย์การค้าภายในตึกสำนักงานแห่งนี้ โดยมุ่งหวังให้เข้าถึงกลุ่มคนทำงาน เพื่อสร้างรากฐานการเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในเมือง

 

 

     ภายในร้านมีส่วนประกอบที่คุ้นเคยอย่างเคาน์เตอร์ชาขนาดใหญ่ที่พร้อมไปด้วยอุปกรณ์ชงชาหลากชนิด Tea Master Bar ที่นั่งหน้าเคาน์เตอร์สำหรับนักดื่มที่อยากสนทนากับกูรูเรื่องชา และมุมนั่งดื่มชาในร้าน เพื่อยืนยันว่าปรัชญาหลักของร้านยังคงหนักแน่น

 

 

The Tea

     “เร็ว ง่าย ไม่เสียแก่น” คือสามคำที่ธีรชัยบอกกับเราขณะอธิบายเมนูของร้านนี้ บนผนังหลังเคาน์เตอร์มีป้ายเมนูขนาดใหญ่ที่อ่านง่าย ระบุสรรพคุณ และเอกลักษณ์ของเครื่องดื่มแต่ละชนิดชัดเจน แบ่งเครื่องดื่มที่ขายเป็น 3 ประเภท สามารถใส่แก้วถือออกไปดื่มนอกร้านได้

 

 

     กว่าจะเป็นชาในเมนูนี้ก็ไม่ง่าย เพราะการทำชาที่ดีช่างขัดกับวิถีความเร่งรีบเหลือเกิน กว่าจะรอให้ชาเปิดใบและชงออกมาให้ได้ความเข้มข้นที่พอดี ธีรชัยก็ทดลองมาหลายวิธี ก่อนจะตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการใส่ใบชาเพิ่มเพื่อให้ใช้เวลาชงได้น้อยลง เราฟังแล้วก็ตั้งคำถามในใจว่าถ้าทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแบบนี้ ใบชาที่ได้จะยังเป็นเกรดดีๆ อยู่หรือเปล่า “ครับ” เป็นคำตอบจากธีรชัยที่ยืนยันว่าเขาใช้ชาที่ดีที่สุดสำหรับการชงแต่ละประเภท แต่ทำให้มีตัวเลือกน้อยลงเพื่อที่จะได้ปริมาณในการสั่งเพิ่มขึ้น ควบคุมต้นทุนไปในทางนั้น นอกจากนี้ความละเอียดที่เราเห็นยังรวมถึงการนำแก้วใส่น้ำแข็งมาแกว่งในชาที่เพิ่งชง เป็นการลดอุณหภูมิชาก่อนใส่น้ำแข็ง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิที่สูงของชาละลายน้ำแข็งเร็วเกินไปจนชืด

 

 

     เริ่มจาก Clear (120 บาท ทั้งร้อนและเย็น) ชาใสชงน้ำที่มีให้เลือกระหว่างชาเขียวมัทฉะ เซนฉะ โฮจิฉะ และชาอู่หลงไต้หวัน หยันฉา (yancha คือชาที่โตบนภูเขาหิน) และตันฉง (dancong) ประเภทต่อมาคือชานม ที่ร้านเรียกว่า Pastel (140 บาททั้งร้อนและเย็น) มีให้เลือกระหว่างชาเขียวมัทฉะ และชาเขียวคั่วไฟโฮจิฉะ

 

 

     ประเภทสุดท้ายคือหมวดหมู่ Herbal คือเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ชา (ชงใส 120 บาท, ใส่นม 140 บาท, ปั่น 180 บาท) ทั้งน้ำส้มยูซุ (yuzu) โยเกิร์ตน้ำผึ้ง และน้ำขิงผสมน้ำผึ้ง แก้วที่เราติดใจเพราะความหอมชัดของขิง แต่เผ็ดซ่ากำลังพอดี เพราะที่ร้านผสมทั้งขิงอ่อนและขิงแก่เข้าด้วยกัน ใส่น้ำผึ้งตัดรสให้กลมกล่อมแบบที่เราก็ชอบ แล้วคิดว่าแฟนน้ำขิงอย่างบรรดาคุณแม่เราก็จะชอบด้วย

     คอชาตัวยงก็ยังสามารถมาชิมชาคุณภาพดีอีกหลากชนิดที่บริการเฉพาะแบบร้อนและดื่มในร้านเท่านั้น โดยแบ่งเป็น 3 เกรด มีราคาเริ่มต้นที่ 180 บาท 220 บาท และ 450 บาทขึ้นไป

 

     สำหรับมือใหม่หัดจิบ ธีรชัยบอกว่าสิ่งที่สำคัญคือการเปิดใจ ไม่ต้องคิดอะไรมาก่อน ไม่ต้องคาดหวัง เพราะความเชื่อหลายอย่างเกี่ยวกับชาถูกบิดเบือนไปมากเหลือเกิน “มาเรียนรู้ใหม่ ให้เราทำหน้าที่ของเรา” รับรองว่าคนรักชาในร้านเป็นมิตร ไม่ได้เคร่งขรึมน่ากลัวอย่างที่คิด

 

 

The Other Things

     “เราไม่อยากเปิด Dessert Cafe เราจะไม่เพิ่มจำนวนขนม” คือสิ่งที่ธีรชัยบอกเราหลังจากถามถึงเมนูขนมของร้านใหม่ แต่เราก็ยังยืนยันว่าไอศกรีมชาเขียวของร้านนี้อร่อยกว่าทุกที่ที่เคยกินมา ทั้ง Koicha Cream (285 บาท) ไอศกรีมนมลูกกลมเนื้อเนียนที่วางอยู่บนชาเขียวมัทฉะตีข้น และ Matcha Extremist (285 บาท) ไอศกรีมชาเขียวมัทฉะรสเข้มหุ้มด้วยเปลือกที่ทำจากถ่านชาร์โคลบางกรอบ ซึ่งไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ตั้งใจให้ผงถ่านเข้าไปดูดซึมกาเฟอีนจากชาเขียวที่ใส่ไม่ยั้ง ไม่ให้เราได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ยังไม่ได้พูดถึงขนมตะวันออกอื่นที่ร้านคัดสรรมาเสิร์ฟอย่างขนมเปี๊ยะ ฝอยทอง ข้าวเหนียวมูน และโมจิซากุระอันเลื่องชื่อ ที่เจ้าของร้านบอกเหตุผลที่ยังเสิร์ฟอยู่เพียงว่า “ขนมทำให้คนอยากกินชาร้อน”

 

Open: จันทร์-ศุกร์ เวลา 7.00-21.00 น., เสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-21.00 น.

Address: ชั้น G อาคาร G Tower ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

Budget: เริ่มต้นที่ 120 บาท

Contact: 09 7267 2626

Website: www.facebook.com/peace.t.house

Map:

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising