ทันทีที่ข่าวยุติการทำตลาดพร้อมขายโรงงานผลิตรถยนต์ของแบรนด์ Chevrolet ในประเทศไทยกลายเป็นหัวข้อที่ทุกคนกล่าวถึงและอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะมีช่วงหนึ่งของเนื้อข่าวกล่าวถึงคำว่า ‘Great Wall Motors’ เสมอ
ด้วยบริบท ‘เป็นผู้ซื้อโรงงาน’ ซึ่งทำให้ใครหลายคนคิดว่า Great Wall น่าจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยสานต่อลูกค้าให้ไม่เคว้งคว้างหลังการจากไปของ General Motors เจ้าของแบรนด์ Chevrolet
ความจริงคือที่ Great Wall เข้ามานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลรถยนต์ Chevrolet แต่อย่างใด ย้ำกันอีกครั้ง General Motors ยังคงให้ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินกิจการดูแลรถยนต์ Chevrolet ต่อไป
แล้วแบบนี้ Great Wall เข้ามาทำอะไร
ยังจำ Great Wall ได้ไหม
ถ้าใครที่ติดตามข่าวสารในแวดวงยานยนต์อยู่อย่างสม่ำเสมออาจจะเคยได้ยินชื่อของ Great Wall ในประเทศไทยมาแล้ว เพราะเมื่อปี 2013 Great Wall เคยขึ้นหน้าหนึ่งและเป็นข่าวหลักในหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจของไทย
ด้วยการประกาศลงทุนกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย พร้อมกับการนำรถหลากหลายรุ่นมาจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์ที่จัดในช่วงต้นปีนั้นด้วย
แต่แล้วจู่ๆ เรื่องราวต่างๆ ของ Great Wall ก็เงียบหายไปเหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งโรงงานที่ระบุว่าจะสร้างที่จังหวัดระยอง ทุกอย่างเป็นศูนย์ ไม่มีคำตอบใดๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นมาดูกันดีกว่าว่า Great Wall เป็นใคร มาจากไหน
Great Wall คือใคร
แค่ดูจากชื่อก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า Great Wall เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1984 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสร้างรถยนต์ประเภทปิกอัพและเอสยูวี ภายใต้แบรนด์ Great Wall ซึ่งเป็นรถปิกอัพ, Haval รถอเนกประสงค์เอสยูวี และ WEY รถอเนกประสงค์ระดับหรู และกำลังขยายไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยแบรนด์ Ora
ความน่าสนใจของ Great Wall อยู่ที่ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถปิกอัพและเอสยูวี โดยเป็นบริษัทเอกชนที่ผลิตรถยนต์รายแรกที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน (บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในจีนส่วนใหญ่จะถือครองหุ้นโดยรัฐ)
ดังนั้นการบริหารงานจึงมีความคล่องตัวกว่าแบรนด์อื่นๆ เห็นได้จากการเป็นแบรนด์แรกที่บุกทำตลาดในยุโรปและได้รับการตอบรับที่ดี
ทุนหนาแค่ไหน
จากรายงานของ Great Wall ที่ส่งให้ตลาดหลักทรัพย์เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชน ระบุตัวเลขสินทรัพย์ระดับ 5 แสนล้านบาท โดยรายได้มาในช่วง 2-3 ปีล่าสุด ปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท
และไตรมาส 3 ของปีที่แล้วมีกระแสเงินสดในมือพร้อมหมุนเวียนกว่า 40,000 ล้านบาท กำไรสะสมของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งดังกล่าวเกิดจากภาพรวมยอดขายในแต่ละปีของ Great Wall ที่ไต่จากระดับ 4-5 แสนคันในทศวรรษ 2000 มาอยู่ที่ระดับ 1 ล้านคันใน 3 ปีหลังจนถึงปัจจุบัน เทียบให้เห็นภาพ นี่คือยอดขายที่เท่ากับทั้งตลาดรวมทุกแบรนด์ของประเทศไทย
Great Wall มีเป้าหมายที่จะขายให้ถึงระดับ 2 ล้านคันในปี 2025 ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นได้จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศในการเพิ่มยอดขาย โดย Great Wall วางแผนขยายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน Great Wall มีฐานการผลิตในจีน 7 แห่ง และอยู่นอกจีน 5 แห่ง ได้แก่ เอกวาดอร์, มาเลเซีย, บัลแกเรีย, ตูนิเซีย และรัสเซีย ส่วนล่าสุดคือข่าวการเข้าซื้อกิจการโรงงานประกอบรถยนต์สองแห่งของ General Motors ที่อินเดียและไทย
เก่งมาจากไหน
ความเชี่ยวชาญในการสร้างรถยนต์ปิกอัพและเอสยูวีของ Great Wall นั้นต้องยอมรับว่าเกิดจากนโยบายของจีนที่บังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ รวมถึงเริ่มต้นด้วยการลอกเลียนแบบและการหยิบเอาเทคโนโลยีเก่าที่แบรนด์อื่นเลิกผลิตแล้วมาทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดความชำนาญ
จุดเริ่มต้นความสำเร็จของ Great Wall ต้องยกให้ปิกอัพรุ่น Deer ที่หยิบเอาโครงร่างของ Toyota Hilux Mighty-X ที่เลิกผลิตไปแล้ว (ไม่มีรายงานใดยืนยันว่าเป็นการซื้อเทคโนโลยีหรือการลอกเลียนแบบ) นำมาขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนแบรนด์ Great Wall ครองอันดับหนึ่งยอดขายปิกอัพทั้งในประเทศจีนและส่งออกได้ 21 ปีซ้อน
เมื่อเริ่มเชี่ยวชาญในการผลิตจึงได้เริ่มสร้างแบรนด์อย่าง Haval และ WEY ตามออกมา โดย Haval ได้รับรางวัลแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของแบรนด์รถยนต์จีนในปี 2018
ความสำเร็จดังกล่าวในปัจจุบันของ Great Wall ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำสัญชาติยุโรปอย่าง Continental, Bosch, Webasto, Ricardo, BorgWarner, ZF และ Hella
เหนืออื่นใด ล่าสุดปลายปี 2019 Great Wall ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ BMW ในการเป็นหุ้นส่วนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Mini ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานที่คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิตได้ในปี 2022
โดยรถที่ผลิตจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่ารุ่นแรกจะเป็น Mini Electric ที่เพิ่งจะเปิดตัวในตลาดโลกเมื่อปีที่แล้ว และเปิดตัวในไทยไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง
มีอะไรมาขายในไทย
จากแถลงการณ์ของ General Motors ระบุว่า Great Wall จะใช้โรงงานดังกล่าวของ General Motors เป็นฐานในการผลิตเพื่อทั้งขายในไทยและส่งออกไปยังอาเซียนและออสเตรเลีย ซึ่งรถรุ่นต่างๆ ในปัจจุบันของ Great Wall ได้แก่ ปิกอัพรุ่น Wingle Series และ P Series ส่วนเอสยูวีภายใต้แบรนด์ Haval ได้แก่ รุ่น F Series และ H Series เรียกได้ว่ามีไลน์การขายครบทุกขนาด
ด้วยความที่ไทยนั้นเป็นตลาดปิกอัพขนาด 1 ตันที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นอันดับ 2 ของตลาดปิกอัพรวมทั่วโลก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ Great Wall ตั้งท่าจะเข้ามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่อาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการในห้วงเวลานั้นทำให้ต้องยกเลิกไป
ดังนั้นการมาในครั้งนี้ของ Great Wall น่าจะมีการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี เพราะต้องไม่ลืมว่าขนาด General Motors ยังต้องถอยทัพไป
หากให้เปรียบ Great Wall เวลานี้ ดุจดั่งจอมยุทธที่อ่านคัมภีร์ยุทธแล้วฝึกในถ้ำลับจนเก่งกล้า พร้อมจะออกมาท่องยุทธภพได้
ส่วนจะมีวรยุทธ์เพียงพอจะประมือกับเหล่าจอมยุทธในไทยได้หรือไม่นั้น คงต้องจับตาตามดูกันต่อไป
และหวังว่า Great Wall จะมีอะไรน่าตื่นเต้นมาให้คนไทยบ้าง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์