×

แว่วเสียงในความเงียบ ความเป็นไปของชีวิตคนกลางคืนในห้วงอาลัยของคนทั้งประเทศ

09.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • คุณรู้หรือไม่ว่าศิลปินหรือนักดนตรีกลางคืน หากขยันรับงานหลายๆ ที่ในคืนเดียว พวกเขาจะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้สบายๆ ที่ราวอาทิตย์ละเกินหมื่นบาท เฉลี่ยดูแล้วพวกเขาสามารถทำรายได้ต่อเดือนในระดับเรือนครึ่งแสนได้
  • ในบาร์หรือโรงแรมบางแห่งมีการเปลี่ยนเพลงที่เล่น ลดปริมาณเพลงเร็ว เพลงสนุกๆ รวมไปถึงการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงหรือขับร้อง ถือเป็นบรรยากาศใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็น ซึ่งศิลปินทุกคนก็ต่างตั้งใจนำเสนอบทเพลงเหล่านั้นออกมาให้ได้ดีที่สุด
  • ปัญหาที่พบในช่วงนี้คือการแจ้งข่าวเรื่องการขอความร่วมมือที่ไม่ตรงกัน บางร้านก็ปิด บางร้านก็เปิด บางร้านก็มีดนตรี บางร้านไม่มี ซึ่งโดยปกติแล้วทาง สน. พื้นที่จะเป็นผู้แจ้งในเรื่องการขอความร่วมมือจากร้าน แต่ในบางช่วงบางตอนก็มีความเข้าใจไม่ตรงกัน

     “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความเหมาะสม”

     ถ้อยคำจากกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตหลังตะวันตกดินต่างให้ความคิดเห็นและกล่าวคล้ายๆ กัน เมื่อเรากำลังเริ่มต้นสำรวจชีวิตของกลุ่มคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในตอนกลางคืน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นคนที่ทำงานในร้านอาหาร บาร์ หรือสถานที่อโคจรที่จำเป็นจะต้องปรับตัวกันอีกครั้งในช่วงเดือนแห่งการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

     ในแง่ของงานดนตรีกลางคืน เราคงไม่ได้พูดถึงกลุ่มศิลปินเบอร์โตที่ทำรายได้ต่อโชว์ในราคาหลักหมื่นถึงแสนบาทขึ้นไป กลุ่มคนเหล่านั้นก็ต่างได้รับผลกระทบจากงานโชว์ที่ยกเลิกหรืองดไปในช่วงเดือนตุลาคมนี้ แต่นั่นก็ดูจะไกลตัวเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ ส่วนที่เรากำลังพูดถึงอยู่คือกลุ่มศิลปินตัวเล็กๆ ที่ต่างใช้ชีวิตหาเงินเลี้ยงชีพจากเสียงดนตรี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีแง่มุมอันน่าสนใจแตกต่างกันไป

     คุณรู้หรือไม่ว่าสำหรับศิลปินหรือนักดนตรีกลางคืน หากขยันรับงานหลายๆ ที่ในคืนเดียว พวกเขาจะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้สบายๆ ที่ราวอาทิตย์ละเกินหมื่นบาท ซึ่งนั่นยังไม่รวมค่าทิปต่างๆ ที่เป็นกำไร เฉลี่ยดูแล้วพวกเขาสามารถทำรายได้ต่อเดือนในระดับเรือนครึ่งแสนได้ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาที่งานถูกงดด้วยเหตุจำเป็น พวกเขาต้องปรับตัวกันอย่างไรเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา

     อีกกลุ่มคนหนึ่งที่น่าพูดคุยด้วยไม่น้อยเลยก็คือกลุ่มพนักงานบริการและผู้ประกอบการของร้านอาหารหรือบาร์ ซึ่งได้รับผลกระทบพอกัน เพราะหากมีการงดสิ่งรื่นเริงและความบันเทิงแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย แต่เราก็คงไม่ได้ไปพูดถึงประเด็นของรายได้ที่หดหายแต่อย่างใด เรากำลังจะพูดคุยถึงความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ที่ต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้

ยิ่งได้มีโอกาสขับร้องหรือบรรเลงในช่วงนี้ เราก็จะยิ่งคิดถึงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญทางด้านแจ๊ซ ถือเป็นบรรยากาศใหม่ๆ ที่เราเองก็ไม่เคยเห็น และเรารวมถึงศิลปินทุกคนก็ต่างตั้งใจนำเสนอบทเพลงเหล่านั้นออกมาให้ได้ดีที่สุด

     “เราเซฟเงิน เราเก็บเงินแต่เนิ่นๆ”

     เราถามถึงการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวที่กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ และนี่คือคำตอบของ ลิต้า-กนกอร กฤษณะภาณุ วัย 25 ปี นักร้องสาวที่เป็นทั้งครูสอนร้องเพลงและนักร้องกลางคืน โดยส่วนใหญ่แล้วงานที่เธอรับมักจะเป็นแนวดนตรีตั้งแต่ป๊อปทั่วไปจนถึงงานแจ๊ซที่ร้องตามโรงแรมใหญ่ๆ

     “เรารู้สึกใจหายที่เวลาหนึ่งปีผ่านไปเร็วมาก เรายังไม่รู้สึกเลยว่าพระองค์จากเราไปไหน ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เราคิดตลอดว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรหากว่าจะต้องงดความรื่นเริงอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจ หลังจากเหตุการณ์ปีที่แล้วเราจึงเริ่มเก็บเงินเพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่หมายถึงศิลปินกลางคืนหลายๆ คนก็ทำแบบนี้ ทุกคนเริ่มเซฟเงินแต่เนิ่นๆ งดการเที่ยว งดการดื่ม งดการใช้จ่ายสิ้นเปลือง เพราะเรารู้ดีว่าในเดือนนี้งานของเราจะน้อยลง นี่คือการเตรียมความพร้อมของพวกเรา

     “เรารับงานติดกันไม่หยุดเลย ทุกวัน รับงานติดกันมาแบบนี้ 3 เดือนแล้ว เราไม่ได้พักเลย นั่นก็เพราะเรามองถึงอนาคตความเป็นอยู่ของเรา”

     ลิต้ากล่าวกับเรา ก่อนที่เราจะเริ่มถามถึงคนรอบตัวของเธออย่างสมาชิกในวงคนอื่นๆ ว่าพวกเขาปรับตัวกับสถานการณ์นี้อย่างไร

     “ทุกคนปรับตัวหมดค่ะ อย่างศิลปินที่ร่วมวงกันบางคน ปกติเล่นด้วยกันที่นี่ได้เงินเท่านี้ แต่หากว่ามีงานที่จะต้องไปแทนในช่วงเวลาเดียวกันที่ได้เงินมากกว่าไม่กี่ร้อย เขาก็จะรับ ซึ่งเราเข้าใจนะ เงินไม่กี่ร้อยที่เพิ่มขึ้นมาอาจดูน้อย แต่กับพวกเรามันสำคัญจริงๆ เพราะทุกคนไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างในอนาคต”

     แล้วในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ทางร้านและตัวคุณเองวางแผนการเล่นดนตรีกันอย่างไร เราถามต่อ

     “แล้วแต่ร้านค่ะ บางร้านก็จะเล่นอยู่อย่างปกติ แต่จะลดความสนุกลงไปค่อนข้างเยอะ บางร้านงดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมยาวไปจนถึงสิ้นเดือนเลย ซึ่งขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมของแต่ละร้าน บางร้านก็ย้ายตำแหน่งการเล่นจากที่เคยเล่นนอกร้าน ก็เปลี่ยนเข้าไปเล่นในอาคารเพื่อลดความโจ่งแจ้ง และให้เกียรติบรรยากาศโดยรอบด้วย”

     ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ หลังจากเราได้สังเกตการณ์จากการเดินสำรวจถนนรามบุตรีและถนนข้าวสารที่นอกจากจะมีระดับความ ‘ดัง’ ของเสียงเพลงที่ลดลงแล้ว หลายๆ ร้านจากเดิมที่เคยมีวงเล่นอยู่ข้างนอกบริเวณถนนหน้าร้านหรือชานร้าน ก็ปรับเปลี่ยนให้พวกเขาเข้าไปเล่นภายในอาคารเพื่อความเหมาะสมและเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น

     “ทุกคนปรับตัวจริงๆ อย่างบางร้านที่แจ้งว่าให้เราหยุดเล่นดนตรี เขาก็จะซัพพอร์ตเราในแง่อื่น อย่างร้านหนึ่งย่านสุขุมวิทที่เราเล่นให้เขา เขาก็ดูแลเราดี คือนอกจากจะแจ้งให้หยุดเล่นด้วยเหตุอันสมควร เขายังคงจ่ายเงินให้กับเราตลอดทั้งเดือน ซึ่งที่เขาให้เป็น 30% ของรายได้จริงที่เราเคยได้ เขาบอกว่าถือว่าเป็นการช่วยเหลือกันและกันในช่วงเวลาเช่นนี้

     นอกจากบางร้านที่มีนโยบายงดการเล่นดนตรีทั้งหมด หรือนโยบายการดูแลศิลปินของร้านที่แตกต่างกัน เรากลับพบว่ายังมีร้านจำนวนหนึ่งที่ใส่ใจไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การสับหลีกเพลย์ลิสต์ของพวกเขาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

     “อย่างในร้าน บาร์ หรือโรงแรมที่เล่นเพลงแจ๊ซ เราก็จะมีการเปลี่ยนเพลงที่เราเล่น ลดปริมาณเพลงเร็ว เพลงสนุกๆ โดยการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงหรือร้อง ซึ่งบทเพลงเหล่านั้นมีความไพเราะมากๆ อยู่แล้ว ยิ่งได้มีโอกาสขับร้องหรือบรรเลงในช่วงนี้ เราก็จะยิ่งคิดถึงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญทางด้านแจ๊ซ ถือเป็นบรรยากาศใหม่ๆ ที่เราเองก็ไม่เคยเห็น และเรารวมถึงศิลปินทุกคนก็ต่างตั้งใจนำเสนอบทเพลงเหล่านั้นออกมาให้ได้ดีที่สุด” ลิต้ากล่าวกับเรา

 

     “ปิดร้านเราเข้าใจ แต่ต้องมีช่วงเวลาที่ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน”

     ถ้อยความจาก กิ๊ก-ภารวี ตันบุตร ผู้จัดการร้านอาหารแซ่บอินดี้ ซอยประดิษฐ์มนูธรรม 25 วัย 37 ปี ซึ่งเป็นคำตอบหลังจากเราถามถึงสถานการณ์ของการทำงานของช่วงนี้ในปีที่แล้วจนวนกลับครบมาอีกรอบ

     “ส่วนหนึ่งมันเสียรายได้ ทั้งของเราและของน้องๆ ในร้าน แต่ใครจะไม่เข้าใจบ้างล่ะว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร พระองค์เป็นเสมือนพ่อของพวกเราชาวไทยทุกคน จะมีใครที่ไม่สามารถทำเพื่อพระองค์ได้บ้าง”

     กิ๊กกล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ คงไม่ต้องบอกกันซ้ำๆ ว่าเหตุการณ์นี้กระทบกระเทือนจิตใจของคนไทยมากน้อยแค่ไหน

     “แต่ที่เรามองว่าเป็นปัญหาคือการแจ้งข่าวในเรื่องการขอความร่วมมือที่ไม่ตรงกัน บางร้านก็ปิด บางร้านก็เปิด บางร้านก็มีดนตรี บางร้านไม่มี ซึ่งโดยปกติแล้วทาง สน. พื้นที่จะเป็นผู้แจ้งในเรื่องขอความร่วมมือจากร้าน แต่ในบางช่วงบางตอนก็มีความเข้าใจไม่ตรงกันว่าเปิดได้ถึงกี่โมง ปิดเมื่อไร อะไรแบบนั้น เราเลยอยากเข้าใจตรงกันกับทางเขตเพื่อที่พวกเราจะได้เตรียมตัว

     “น้องๆ ในร้านขาดรายได้ เขาก็มาบอกพี่เสมอนะ เราคุยกันเรื่องปัญหานี้บ่อยๆ พอร้านต้องปิดเร็วหรือไม่ให้บริการ ทุกคนสูญเสียรายได้หมด จากที่เคยได้กันปกติก็จะเหลือแค่วันละไม่กี่ร้อยบาทไว้ใช้ประทังชีวิต บางคนก็ย้ายข้าวของมานอนที่ร้าน ซึ่งเราเองก็อยู่กันแบบครอบครัว ก็ดูแลซึ่งกันและกันเสมอ”

     ครบรอบหนึ่งปีแล้วรู้สึกอย่างไร และคุณมีการเตรียมตัวรับมืออย่างไร เราถามเธอต่อ ก่อนที่เธอจะนิ่งคิดและค่อยๆ ตอบเราด้วยแววตาเศร้า

     “เป็นความเสียใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลยค่ะ พี่ยังใจหายอยู่เลย พี่เสียใจมากๆ และสิ่งที่พี่จะทำได้คือถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เราต้องทำใจและเข้าใจว่าวันนี้ไม่มีพระองค์อยู่กับเราแล้ว หนึ่งปีมันผ่านไปเร็วมาก ซึ่งเราก็บอกกับตัวเราและน้องๆ ว่าเราต้องประหยัด ใช้เงินอย่างรอบคอบ เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไป น้อมนำเอาคำที่พระองค์ทรงสอนให้เรารู้จักพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งเป็นแกนหลักสำหรับพี่ในการดำเนินชีวิตตอนนี้เลยค่ะ”

พอวนกลับมาครบหนึ่งปีในช่วงนี้ เราก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม ยังรู้สึกเหมือนปีที่แล้วเลยนะ เรายังรับไม่ได้ต่อการสูญเสียครั้งนี้ แต่สิ่งที่เราคิดถึงเสมอคือทุกส่ิงที่พระองค์ทรงสอนพวกเราไว้ เราจะยังน้อมนำมาใช้เสมอ

     “ยังรู้สึกเหมือนปีที่แล้วเลยนะ พูดแล้วน้ำตาจะไหล”

     อีกหนึ่งมุมมองจากเจ้าของร้านแซ่บอินดี้ บอล-ณัฐนนท์ จินดาพราหมณ์ ผู้เป็นเจ้าของมุมมองในประเด็นนี้ทั้งในแง่การเป็นผู้ประกอบการและในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ตั้งใจถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

     “เราเองก็พยายามติดต่อกับหลายๆ คนที่เรารู้จักเพื่อจะได้เข้าไปร่วมช่วยงานอาสาสมัครอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือและหยิบยื่นสิ่งที่เราและร้านของเราจะช่วยได้”

     บอลกล่าวถึงแนวทางปฏิบัติของตัวเองและร้านของเขาในช่วงเดือนตุลาคมนี้

     “เราชะลอทุกอย่างไว้หมดเลย โดยเฉพาะเรื่องดนตรีสดและโชว์ต่างๆ ของศิลปิน แต่เราก็ยังเปิดบริการทุกวันในส่วนของร้านอาหาร เราลดความครื้นเครงลง ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีการขอความร่วมมือจากทางเขตมาโดยตรงนะ เราเลือกก่อน เป็นแนวทางของเราเพื่อตอบแทนพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราพอจะสามารถทำได้ และถ้าหากมีนโยบายอะไรหลังจากนี้ เราก็จะทำให้พระองค์ เราจะทำให้ดีที่สุด

     “ในช่วงนั้นของปีที่แล้วผลกระทบเยอะมาก ทั้งรายได้ ทั้งลูกน้องในร้าน แต่เราเข้าใจว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในชีวิตเราก็ได้ เราเลยต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันให้ดีและเหมาะสมที่สุด”

     ในฐานะคนที่ต้องแบกรับภาระทั้งร้านและลูกจ้างไว้ คุณรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไรในตอนนั้นและในปัจจุบัน เราถามบอลต่อ

     “เมื่อตุลาคมปีที่แล้ว มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้กำลังใจกันนะ เราทุกคนรู้สึกเหมือนกัน ใจสลายเหมือนกัน เราเลยต้องให้กำลังใจพวกเขา เราบอกลูกน้องทุกคนเสมอว่าให้อดทน เดี๋ยวทุกอย่างจะผ่านไป พวกเขาท้อนะ ลูกค้าน้อย ทิปก็น้อย ส่วนตอนนี้เราก็ให้โอกาสในช่วงที่ร้านต้องหยุดบริการ ให้น้องๆ ได้กลับภูมิลำเนาของตัวเอง มาแจ้งได้เลยว่าอยากจะกลับช่วงไหน ตอนไหน

     “พอวนกลับมาครบหนึ่งปีในช่วงนี้ เราก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม ยังรู้สึกเหมือนปีที่แล้วเลยนะ เรายังรับไม่ได้ต่อการสูญเสียครั้งนี้ แต่สิ่งที่เราคิดถึงเสมอคือทุกส่ิงที่พระองค์ทรงสอนพวกเราไว้ เราจะยังน้อมนำมาใช้เสมอ” บอลกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

 

     นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชีวิตกลางคืนที่ยังต้องดิ้นรนเพื่อหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องและใช้ชีวิตต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเข้าใจและตั้งใจร่วมกันคือการปรับตัว ลดทอนความครื้นเครงเพื่อให้เหมาะสมกับช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเป็นการถวายความอาลัยครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยทุกคน

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising