สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เตรียมเปิด ‘อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร’ บนพื้นที่ 54 ไร่ บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่แห่งที่ 4 และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานฯ วันที่ 27 มกราคม 2563 ก่อนเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป
ทางด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของอุทยานแห่งนี้ว่า อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรจะมีความพิเศษแตกต่างจาก 3 สถานที่ที่เปิดก่อนหน้านี้ อย่างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา และสงขลา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ทำให้อุทยานฯ เป็นสถานที่รองรับการดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่
- การศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์
- การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์
- การบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์
“อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรจะเป็นศูนย์รวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดาราศาสตร์ โดยจะเป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษา วิจัย บ่มเพาะ และสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ รวมถึงยังทำให้กลายเป็นศูนย์บริการด้านข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ต่างๆ อีกทั้งยังทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงด้านดาราศาสตร์ของไทยและศูนย์กลางของอาเซียน”
นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ระบุเพิ่มเติมว่า อาคารที่ตั้งในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรแห่งนี้ยังมีขึ้นเพื่อการทำงานที่หลากหลายกว่า เป็นแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย
- อาคารสำนักงานใหญ่ มีเพื่อวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์, ศูนย์ดาราศาสตร์วิทยุ, ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุดดาราศาสตร์, ศูนย์อบรมดาราศาสตร์นานาชาติ, และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก
- อาคารปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง รวมถึงห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก
- อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบดิจิทัล 360 องศา ความละเอียดสูงสุด 8k ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน เช่น การสำรวจระบบสุริยะ, เสียงแห่งเอกภพ, การเกิดเฟสดวงจันทร์ ฯลฯ
- อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาวและถ่ายภาพวัตถุบนท้องฟ้า
- ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง สำหรับจัดกิจกรรมเกี่ยวกับดาราศาสตร์เพื่อให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่
“สุดท้ายสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานที่แห่งนี้จะไม่เป็นเพียงสถานที่ที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจหลักของสถาบัน แต่ยังเป็นพื้นที่ช่วยสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวสร้าง แรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมพัฒนาคนให้มีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุและเป็นผล สร้างบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นรากฐานให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ต่อไป” ดร.ศรันย์กล่าวทิ้งท้าย
ภาพจากกล้องดูดาวของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
ทั้งนี้ กำหนดการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเยี่ยมชมอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีกำหนดการให้บริการดังนี้
อาคารนิทรรศการดาราศาสตร์
อังคาร – ศุกร์ เปิดให้บริการเวลา 09.00 – 16.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ เปิดให้บริการเวลา 10.00 – 17.00 น.
หยุดทุกวันจันทร์
อาคารท้องฟ้าจำลอง: มีกำหนดการเรียนรู้ชมท้องฟ้าและดวงดาว 30 นาที และชมภาพยนตร์เกี่ยวกับดาราศาสตร์อีก 30 นาที มีอัตราการเข้าชมแบ่งเป็น
นักเรียน-นักศึกษา 30 บาท และ บุคคลทั่วไป 50 บาท โดยมีกำหนดรอบฉาย ดังนี้
อังคาร – ศุกร์ รอบฉาย 11.00 น. และ 14.00 น.
เสาร์ รอบฉาย 11.00 น. / 14.00 น. และ 17.00 น.
อาทิตย์ รอบฉาย 11.00 น. และ 14.00 น.
หยุดทุกวันจันทร์