×

สถานการณ์น้ำยังน่าห่วง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-กลาง มีน้ำใช้ได้จริง 43% แม่น้ำโขงติดลบทุกสถานี

08.01.2020
  • LOADING...

วันนี้ (8 มกราคม) กรมชลประทาน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายการสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 พบว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ อยู่ที่ 46,475 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 61% ของทั้งหมด โดยมีปริมาตรน้ำใช้การได้จริงที่ 22,648 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 43% และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งตอนนั้นมีปริมาตรที่ 57,045 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 75% จะพบว่า ปริมาตรน้ำในปัจจุบันน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 10,570 ล้านลูกบาศก์เมตร 

 

โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พบว่ามีปริมาตรน้ำน้อยกว่า 30% ตอนนี้มีจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา, แม่มอก, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำพระเพลิง, ลำนางรอง, ทับเสลา, ป่าสักชลสิทธิ์, กระเสียว และคลองสียัด

 

ส่วนสถานการณ์บริเวณแม่น้ำโขงที่วิกฤตอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ล่าสุดแม่น้ำโขงทั้ง 6 สถานี มีระดับน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ติดลบทั้งหมด ดังนี้

 

  • อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย: มีน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ -10.90 เมตร จากระดับตลิ่งปกติ 12.80 เมตร
  • อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย: มีน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ -11.30 เมตร จากระดับตลิ่งปกติ 16.00 เมตร
  • อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย: มีน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ -10.42 เมตร จากระดับตลิ่งปกติ 12.20 เมตร
  • อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม: มีน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ -10.95 เมตร จากระดับตลิ่งปกติ 12.00 เมตร
  • อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร: มีน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ -10.90 เมตร จากระดับตลิ่งปกติ 12.50 เมตร
  • อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี: มีน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ -12.40 เมตร จากระดับตลิ่งปกติ 14.50 เมตร

 

ทางด้าน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ค่อนข้างน้อย แต่ได้มีการประกาศเตือนใน 14 จังหวัดแล้ว (วันที่ 7 มกราคม 2563) พร้อมให้การประปาส่วนภูมิภาคดำเนินการแก้ไขและชี้แจงข้อมูล พบว่า มีกว่า 20 จังหวัดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ แต่ได้เตรียมการตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยมีแผนงานโครงการที่จะนำน้ำมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดในช่วงนี้

 

“รัฐบาลมีแนวทางในการช่วยเหลือตามกฎหมายวางไว้แล้ว เมื่อประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ต้องสำรวจเพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือ โดยไม่นิ่งนอนใจ และจะหามาตรการการช่วยเหลือในฤดูกาลเพาะปลูกรอบหน้า” พล.อ. อนุพงษ์ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X