“A resume is a foot in the door… เรซูเมก็เหมือนกับก้าวแรกที่จะเดินเข้าประตูนั่นแหละ” – วิคกี้ ซาเลมิ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของบริษัท Monster ผู้นำด้านการจัดหางานระดับโลกกล่าว
เอกสารในการสมัครงานที่สำคัญไม่แพ้แฟ้มสะสมผลงานก็คือ ‘เรซูเม (Resume)’ ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลติดต่อ ระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน การเข้าฝึกอบรม หรือทักษะความสามารถของเราเอาไว้โดยย่อ และเปรียบเสมือน ‘ภาพรวม’ ที่ทำให้ผู้จ้างงานเข้าใจว่าเราเป็นใคร สามารถทำอะไร หรือเคยทำสิ่งไหนมาแล้วบ้าง
การเขียนเรซูเมควรที่จะเน้นหรือชูเอาทักษะความสามารถของเราให้ออกมาอย่างเด่นชัดที่สุด ซึ่งถือเป็นการสร้างความประทับใจครั้งแรก อันมีบทบาทอย่างมากต่อการพิจารณาให้เข้ามาสัมภาษณ์งาน นอกจากนั้นการระบุความสำเร็จหรือประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงลงไปในเรซูเม ก็เป็นเหมือนตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถก้าวผ่านประตูนั้นไปได้ในที่สุด แต่การเขียนเรซูเมที่กระชับและไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป ทั้งดูน่าสนใจ โดยที่ใช้ตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวนั้นทำอย่างไร? เรามีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำให้เรซูเมเป็นที่น่าจับตามองของผู้รับสมัครงานมาฝากกัน
ตัดสินใจให้ดีว่าทักษะไหนที่ควรนำมาเสนอ
วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะทำให้เรซูเมของเราเหมาะกับการสมัครงานแต่ละแผนกหรือสาขานั้นก็คือ การหยิบยกเอาทักษะหลักๆ ที่จำเป็นต่ออาชีพนั้นมาเขียนหรือเน้นลงในเรซูเม ถึงแม้ว่าเราจะมีความถนัดมากมายหลายด้าน แต่การเขียนทักษะทั้งหมดลงไปในเรซูเมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ข้อมูลที่ผู้จ้างงานต้องอ่านมีมากเกินไปจนไม่น่าสนใจ
ซึ่งส่วนใหญ่บริษัททั่วไปมักจะลิสต์ทักษะที่สำคัญหรือความรับผิดชอบที่จำเป็นต่องานนั้นๆ ไว้ในคำอธิบายงาน ดังนั้นถือว่าโดยพื้นฐานแล้วเราทุกคนจะได้รับตัวช่วยก่อนสมัครงานอย่างแน่นอน จากนั้นก็เน้นทักษะที่เรามีและไม่ควรโกหกเด็ดขาด เพราะอาจจะมีปัญหาได้ในตอนสัมภาษณ์งาน
หากในกรณีที่คำอธิบายงานนั้นคลุมเครือ ให้ลองติดต่อคนที่ทำงานในบริษัทนั้นหรือทำงานในอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน แล้วสอบถามว่ามีทักษะไหนบ้างที่จำเป็นต่องานนั้นๆ หรือถ้าหากไม่รู้จะติดต่อใคร ก็ลองหาคำอธิบายงานที่ใกล้เคียงกัน แล้วจดว่ามีคีย์เวิร์ดอะไรบ้างที่คิดว่าน่าจะนำไปใช้กับงานที่เราอยากสมัครได้
ควรบาลานซ์ให้ดีระหว่างทักษะด้านอาชีพและทักษะด้านสังคม
การสมัครงานทักษะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชีพหรือ Hard Skills อย่างการใช้โปรแกรม การเขียนโค้ด การออกแบบ การคำนวณ ฯลฯ มักจะเป็นทักษะแรกที่ผู้จ้างงานใช้เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของตัวบุคคลว่าจะมีศักยภาพพอที่จะทำงานในด้านนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเป็นทักษะเชิงเทคนิคที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสายงานแต่ละสาย
แต่เหมือนที่ใครหลายคนพูดกันว่า “Hard Skills อาจทำให้คุณได้เข้าสัมภาษณ์ แต่ Soft Skills จะทำให้คุณได้งาน” ดังนั้น Soft Skills หรือทักษะที่เกี่ยวกับการเข้าสังคม อย่างการใช้ภาษา การติดต่อสื่อสาร การมองโลกในแง่ดี การทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ไขปัญหา บุคลิกภาพ ฯลฯ จึงกลายมาเป็นทักษะที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรับพิจารณาเข้าทำงาน
เครือข่ายจัดหาอาชีพชื่อดัง LinkedIn ได้ทำการสำรวจเทรนด์ทรัพยากรบุคคลระดับโลกปี 2019 แล้วพบว่า กว่าร้อยละ 92 ของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลและผู้จัดการด้านการจ้างงานให้ความเห็นตรงกันว่า ทักษะด้านการเข้าสังคม (Soft Skills) เป็นทักษะที่สำคัญมากกว่าทักษะด้านอาชีพ (Hard Skills)
วิคกี้ ซาเลมิ กล่าวเสริมว่า เวลาที่ผู้สมัครมาพร้อมกับเรซูเมที่คล้ายๆ กัน ส่วนมากผู้สัมภาษณ์จะเลือกคนที่ดูเข้ากับทีมหรือองค์กรได้ดีมากกว่า เพราะฉะนั้น ลองสังเกตเรซูเมของตัวเองให้ดีๆ ว่าเรามีทักษะเหล่านี้เพียงพอและสมดุลกันแล้วหรือยัง
เพิ่มน้ำหนักให้กับทักษะที่เรามี
การใส่ทักษะความสามารถลงในเรซูเมนั้นไม่ควรใส่มาลอยๆ หรือเลือกคำที่ดูนามธรรมจนเกินไป แต่ควรจะยืนยันด้วยตัวอย่างที่ดูเป็น ‘รูปธรรม’ เพื่อเพิ่มน้ำหนัก หรือพิสูจน์ว่าเรามีทักษะเหล่านั้นจริงๆ
“ทางที่ดีที่สุดคือ การรวมความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับทักษะนั้น อย่างการใส่ปริมาณเพื่อบอกเล่าเรื่องราว” อแมนด้า ออกัสติน ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ แนะนำ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสมัครงานในตำแหน่งพนักงานขาย แล้วเราต้องการจะบอกเล่าว่าเราเป็นพนักงานขายที่ดี มีประสิทธิภาพ ก็ให้ระบุลงไปด้วยว่าเราได้รับรางวัลพนักงานขายดีเด่นประจำเดือน หรือบอกเปอร์เซ็นต์การขายที่แน่ชัดกำกับไว้ด้วย
นอกจากนี้การใส่ทักษะด้วยคำกริยาที่ดูเป็นการกระทำที่ชัดเจน อย่างคำว่า วิเคราะห์, จัดระเบียบ, ส่งมอบ, สร้าง หรือพัฒนา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเรียกความสนใจให้กับผู้จ้างงานได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ดูเป็นรูปธรรมและเข้าใจง่าย
หาทักษะที่ไม่ถนัด แล้วพัฒนาให้ดีขึ้น
อย่ากลัวว่าเราจะขาดทักษะใดทักษะหนึ่งที่ทางบริษัทกำหนดไว้ในคำอธิบายงาน เพราะทุกอย่างไม่สายเกินกว่าจะเรียนรู้และพัฒนา และเมื่อเราได้ทักษะตรงนั้นมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องกลัวที่จะเติมลงไปในเรซูเม
สมมติหากเราจะสมัครงานในโรงพยาบาล ทักษะอย่างการใช้ซอฟต์แวร์ที่เก็บตารางเวลาหรือข้อมูลของผู้ป่วยนั้นจะเป็นทักษะที่เราจำเป็นต้องใช้ในการทำงานแน่นอน แต่ถ้าหากเราใช้โปรแกรมนั้นไม่เป็นก็ไม่ต้องกังวล เพราะเราสามารถเข้ารับการฝึกฝนหรือเรียนรู้ผ่านหลักสูตรออนไลน์ได้ตลอดเวลา เช่น ในเว็บ LinkedIn Learning หรือ Coursera ฯลฯ
ในประเทศไทยเอง มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการพัฒนาบุคลากร จึงได้เกิดเป็นเว็บไซต์ Thai Mooc ขึ้น เพื่อรวบรวมหลักสูตรออนไลน์จากหลายมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฯลฯ โดยหลักสูตรนำร่องก็จะมีหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการถ่ายภาพ การสร้างสรรค์สื่อ ภาษาอังกฤษ จิตวิทยา และการสร้างหน้าเว็บไซต์ ซึ่งผู้สมัครเข้าเรียนไม่จำเป็นจะต้องเป็นนิสิตหรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็ได้
Hard Skills เป็นทักษะที่ง่ายต่อการเรียนรู้ เพียงแค่ลงเรียนตามคอร์ส ซึ่งสมัยนี้มีคอร์สเรียนออนไลน์เยอะแยะที่ช่วยให้เราได้ความรู้เชิงเทคนิคที่จำเพาะต่อการทำงาน หรือแม้กระทั่งทักษะด้าน Soft Skills เอง ก็ไม่ยากต่อการพัฒนาเช่นกัน เพราะเป็นทักษะที่หมั่นฝึกฝนได้เรื่อยๆ ตลอดเวลาๆ เพียงแค่ต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เข้าใจตัวเอง และเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรให้มากขึ้นเท่านั้นเอง
อย่าลืมว่า ก่อนผู้จ้างหรือผู้สัมภาษณ์จะประเมินเราจากการสัมภาษณ์ พวกเขาจะต้องประเมินเราเบื้องต้นจากเรซูเมก่อนทั้งนั้น สำหรับใครที่คิดว่าเรซูเมนั้นไม่สำคัญหรือแค่ทำผ่านๆ ก็ได้ ลองกลับไปคิดดูและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ที่มากกว่าเดิม
ภาพ: Courtesy of 20th Century Fox
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: