ชื่อของ ยันม่าร์ (Yanmar) อาจไม่คุ้นหูคนไทยนักเมื่อเทียบกับแบรนด์ญี่ปุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องยนต์ แต่ในประเทศญี่ปุ่น สินค้าของยันม่าร์แทรกซึมอยู่ทุกอณูการใช้ชีวิต ตั้งแต่เครื่องจักรขนาดเล็กในอุตสาหกรรมครัวเรือนไปจนถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมหนัก เครื่องปั๊มน้ำ อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์การเกษตร รวมไปถึงสปีดโบ้ตและเรือสำราญขนาดใหญ่
อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าเราจะพาคุณไปอ่านเรื่องราวเครียดๆ หนักๆ สารพันประวัติและตัวเลขว่ายันม่าร์ผลิตอะไรได้เท่าไร แต่จะพาคุณไปสัมผัสประสบการณ์ความมันของกองเชียร์ฟุตบอลเจลีก (J-League) ที่ยันม่าร์สนับสนุนกันถึงอัฒจันทร์ และสนุกกับพิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ของยันม่าร์ที่เป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของแบรนด์
ทริปเริ่มต้นด้วยการเยือนสำนักงานใหญ่ของยันม่าร์ ณ ใจกลางเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตึกที่รวมเอาเทคโนโลยีล่าสุดของยันม่าร์ไว้ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากระบบแก๊สในตัวอาคาร การนำน้ำร้อนจากกระบวนการผลิตไฟฟ้ามาใช้หมุนเวียน หลังทัศนาบริษัทกันพอหอมปากหอมคอ มื้อเที่ยงเราฝากท้องกันที่ Premium Marche ร้านอาหารในตัวอาคารของยันม่าร์ที่นำผลิตผลทางการเกษตรจากเกษตรกรท้องถิ่นที่บริษัทสนับสนุนมาใช้ในร้าน ไม่ว่าจะเป็นผักสดนับ 20 ชนิด ข้าวสาร ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ สนนราคาแต่ละเมนูถือว่าไม่แพง มีตั้งแต่ 700-1,500 เยนโดยประมาณ และรสชาติก็อร่อยมาก
ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ห้องอาหาร Premium Marche จะเปิดให้บริการเฉพาะพนักงานยันม่าร์เท่านั้น แต่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดอื่นๆ ทางร้านจะเปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากคือบริเวณต้นไม้ใหญ่กลางห้องอาหารที่ล้อมด้วยกระจกแก้ว ดูผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร แต่แท้จริงแล้วบริเวณนี้มีไว้สำหรับเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้งธรรมชาติออกจำหน่าย เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าช่วงเช้าผึ้งงานจำนวนมากจะบินไปหาน้ำหวานยังปราสาทโอซาก้า และกลับรังมาในช่วงเย็น ผู้เขียนได้ลองชิมน้ำผึ้งแล้ว และพบว่ามันอร่อยมากทีเดียว!
แม้จะมาญี่ปุ่นบ่อยครั้งในหนึ่งปี แต่ยังมีเช็กลิสต์หลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ หนึ่งในนั้นคือการเชียร์กีฬาเบสบอลและฟุตบอลในสนามจริง ซึ่งอย่างหลังนั้นยันม่าร์หยิบยื่นประสบการณ์มาให้ มีหรือผู้เขียนจะพลาด เราไม่เพียงมีโอกาสเชียร์สโมสรเซเรโซ โอซาก้า ถึงขอบสนามเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใหญ่ใจดีพาเยี่ยมชมถึงห้องพักนักกีฬา ชนิดที่ว่าเห็นทุกข้าวของเครื่องใช้ ดูบรรยากาศการซ้อมจริงๆ ทั้งทีมเล็ก ทีมใหญ่ รวมถึงฟุตบอลภายในของพนักงานยันม่าร์เองที่สามารถมาใช้ซ้อมย่อยตามจุดต่างๆ ของสโมสรด้วย
เชียร์ฟุตบอลในสนามมาก็หลายหน แต่บรรยากาศของเจลีกนั้นแตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจน ให้ความรู้สึกแบบกีฬาสีมากๆ มีผู้นำเชียร์พาเชียร์ ร้องเพลงอึกทึก ข่มขวัญคู่ต่อสู้กันตั้งแต่ยังไม่เตะ มีการแปรอักษรคล้ายงานบอลประเพณี ทว่าทั้งหมดอยู่ในความสงบและเรียบร้อยมาก คู่ที่เราดูเป็นฟุตบอลดาร์บี้แมตช์ระหว่างเซเรโซ โอซาก้า กับกัมบะ โอซาก้า ที่จัดขึ้น ณ สนามยันม่าร์ สเตเดียม นากาอิ ทีมพี่น้องเมืองโอซาก้า เหมือนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่างไรอย่างนั้น พอทีมไหนเตะลูกเข้าประตู ทุกคนจะร้องเฮกันทั้งสนาม แม้กระทั่งฝ่ายตรงข้ามด้วย ใช่ว่าจะเงียบสงบเสงี่ยมขึ้นนะ กลับส่งเสียงร้องเชียร์ทีมตัวเองหนักหน่วงไปอีก ระหว่างเชียร์ก็มีขนมนมเนยและเบียร์สดขายกันตลอดเวลา
คนญี่ปุ่นชอบเชียร์กีฬามาก เราเห็นคนโอซาก้าทุกเพศทุกวัยมาเชียร์กันเต็มสนาม มีอุปกรณ์เชียร์ครบ ทั้งผ้าเชียร์ เสื้อทีม ซึ่งแต่ละตัวก็ดีไซน์สวยเหลือเกิน มีหลากแบบให้เลือก ที่สำคัญบริเวณสนามมีที่นั่งเฉพาะสำหรับผู้พิการด้วย สะดวกสบาย สะอาด และของกินอร่อยเกือบหมดทุกร้าน (เอ๊ะ หรือเพราะว่าหิว) พอฟุตบอลเลิก ทุกคนก็เก็บขยะทิ้งลงถังโดยพร้อมเพรียง ไม่ต้องบอก ซึ่งประเด็นนี้ต้องขอชื่นชม
นอกจากพาเชียร์ฟุตบอลถึงขอบสนาม ยันม่าร์ยังพาเราไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ยันม่าร์ (Yanmar Museum) ที่จังหวัดชิกะ อยู่ห่างจากโอซาก้าไปราว 2 ชั่วโมงเศษ ชิกะเป็นเมืองเล็กๆ ในคันไซที่ครอบครองทะเลสาบบิวะ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ด้วยความเป็นเมืองเล็ก เงียบสงบ และนักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่าน สถานที่เที่ยวในชิกะจึงมักอยู่ริมทะเลสาบ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังมีไม่มาก พิพิธภัณฑ์ยันม่าร์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งแฮงเอาต์ใหม่ของเมือง
ในวันหยุด คุณจะเห็นชาวเมืองชิกะพาลูกเด็กเล็กแดงมาเดินเล่นยังพิพิธภัณฑ์ ซึ่งด้านในไม่เพียงแต่แสดงประวัติต่างๆ ของยันม่าร์ แต่ยังแปลงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ให้กลายเป็นเครื่องเล่นสนุกๆ มีการเก็บแต้มสะสมคะแนนเพื่อรับรางวัล ระหว่างนั้นก็สอดแทรกแนวคิด A Sustainable Future หรืออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นปรัชญาที่ยันม่าร์ยึดถือมาตลอด
ด้านบนสุดของพิพิธภัณฑ์ยังมีบ่อน้ำร้อนแช่เท้า มีสวนบนดาดฟ้าไว้นั่งชิลพักผ่อน สามารถนั่งรับลมเอื่อยๆ ได้ตามสบาย
แม้ว่าเราจะไม่คุ้นชินกับแบรนด์ยันม่าร์เท่าไรนัก แต่ประสบการณ์การเชียร์บอลและเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็ทำให้เราสนุกได้ไม่รู้เบื่อ เปิดโลกการท่องเที่ยวแบบใหม่ให้ผู้เขียนได้มาก และที่แน่ๆ เช็กลิสต์หนึ่งอย่างในลิสต์ก็สำเร็จลุล่วงแล้ว
- ยันม่าร์ก่อตั้งขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1912 เป็นบริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในปี 1933 และต่อมาก็ขยายกิจการครอบคลุมถึง 7 กลุ่มธุรกิจทั่วโลก กลุ่มยันม่าร์มองไปยังอนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้าตามวิสัยทัศน์ A Sustainable Future หรืออนาคตที่ยั่งยืน จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์