×

‘ชาวเคิร์ด’ ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังต่อสู้เพื่อประเทศใหม่ของตัวเอง

28.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Kurdish Institute of Paris (2017) รายงานว่า ปัจจุบันมีชาวเคิร์ดทั่วโลกราว 36.4-45.6 ล้านคน โดยชาวเคิร์ดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตุรกี, อิหร่าน, อิรัก, ซีเรีย และกระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปกว่า 2 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก
  • การลงประชามติของชาวเคิร์ดในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรัก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาคมโลก โดยเฉพาะผู้นำตุรกีและอิหร่านที่เกรงว่าการลงประชามตินี้จะเป็น ‘ต้นแบบ’ ให้ชาวเคิร์ดภายในประเทศของตนออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องเอกราชอย่างที่เกิดขึ้นในอิรัก
  • ผลการลงประชามติเบื้องต้นพบว่า ผู้ลงคะแนนกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งประเทศเคอร์ดิสถานขึ้นโดยแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก ในขณะที่มีเสียงคัดค้านไม่ถึง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

     “ชาวเคิร์ดหรือ ชื่อคุ้นมาก เหมือนเคยได้ยิน แต่ไม่รู้จัก”

     “เคิร์ดคือชื่อประเทศใช่ไหม แล้วอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก”

 

 

     ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ตามหน้าสื่อต่างๆ เราจะเห็นว่ามีชาติพันธุ์มากมายพยายามที่จะสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้วยการเปิดโหวตหรือลงประชามติ เพื่อผลักดันให้เกิดการแยกตัวเป็นรัฐเอกราช ไม่ว่าจะเป็นชาวสกอตแลนด์ในสหราชอาณาจักร ชาวคาตาลันในสเปน และชาวเคิร์ดในตะวันออกกลาง (โดยเฉพาะในอิรัก) ที่เพิ่งจะมีการจัดลงประชามติไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ (25 ก.ย.)

 

 

ชาวเคิร์ด คือใคร

     เคิร์ด (Kurds) คือ มนุษย์ชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดชาติพันธุ์หนึ่งของโลกนับตั้งแต่ยุคโบราณ แต่ไม่มีอาณาจักรหรือดินแดนเป็นของตนเองอย่างแน่ชัด ด้วยความแตกต่างหลากหลายและความไม่มีเอกภาพภายในชนชาติเคิร์ดเอง เมื่อความคิดในการรวมกลุ่มเป็นอาณาจักร ดินแดน หรือรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้น ชาวเคิร์ดนี้จึงกลายเป็นเพียง ‘ชนกลุ่มน้อย’ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายรัฐอาหรับในตะวันออกกลางเรื่อยมาจนถึงปัจุบัน

     โดยในปี 1916 ชาวเคิร์ดในตะวันออกกลางพยายามเรียกร้องให้มีการจัดตั้งประเทศสำหรับชาวเคิร์ดขึ้นภายในภูมิภาค ผ่านข้อตกลงลับ ‘Sykes-Picot’ ระหว่างมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ที่ทำการตกลงลากเส้นเขตแดนให้แก่ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง แต่ความพยายามของชาวเคิร์ดกลับไร้ผลและจบลงด้วยการเป็นแค่เพียงเขตปกครองพิเศษภายในประเทศอื่นๆ อย่างตุรกี (Turkish Kurdistan) และอิรัก (Iraqi Kurdistan) เท่านั้น

     จากการสำรวจและเก็บข้อมูลของ Kurdish Institute of Paris ในปีนี้ (2017) ประเมินว่า ปัจจุบันนี้มีชาวเคิร์ดทั่วโลกราว 36.4-45.6 ล้านคน โดยชาวเคิร์ดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตุรกี, อิหร่าน, อิรัก, ซีเรีย และกระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปกว่า 2 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก

 

Photo: Safin Hamed/AFP

อัตลักษณ์ชาวเคิร์ดที่ถูกกดทับ

     ชาวเคิร์ด เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน จากความล้มเหลวในการจัดตั้งประเทศเอกราชของตนเองขึ้นในช่วงสงครามโลกและทำให้ต้องกระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ตามเส้นเขตแดนที่มหาอำนาจของโลกในขณะนั้นขีดไว้ให้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรัก ได้พยายามทำลายอัตลักษณ์และตัวตนของชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางในประเทศต่างๆ กับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดที่ยืดเยื้อและยาวนาน

     ในช่วงก่อนที่ ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ เขาได้ทำการกวาดล้างและโจมตีกลุ่มชาวเคิร์ดอย่างหนัก มีชาวเคิร์ดมากกว่า 1 แสนคนเสียชีวิต หมู่บ้านชาวเคิร์ดกว่า 4,000 หมู่บ้านถูกทำลาย จนทำให้ประชาคมโลกแสดงความกังวลต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดสงครามภายในประเทศจบลงด้วยข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอิรักและผู้นำกลุ่มชาวเคิร์ด ที่จัดตั้ง ‘เขตปกครองพิเศษชาวเคิร์ดแห่งอิรัก (Kurdish Autonomous Region : KAR)’ ขึ้นในปี 1970 ซึ่งให้สิทธิปกครองตนเองแก่ชาวเคิร์ด ก่อนที่จะบาดหมางกับรัฐบาลกลางของฮุสเซน จนท้ายที่สุด KAR จึงได้ประกาศเอกราชทางพฤตินัย (De Facto Independence) จากอิรักในปี 1991 เป็นต้นมา

     หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าโจมตีอิรักในปี 2003 โดยอ้างเหตุผลเรื่องการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ก่อนที่จะโค่นล้มระบอบเผด็จการของฮุสเซนลง และสร้างระบบการบริหารและปกครองประเทศอิรักขึ้นใหม่ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ด ‘Peshmerga’ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน จึงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้ ส่งผลให้คณะปกครองชั่วคราวของอิรักยอมรับสถานะการดำรงอยู่ของชาวเคิร์ดเพิ่มมากขึ้น และยินยอมให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองแก่ชาวเคิร์ดอย่างกว้างขวางอีกด้วย

 

Photo: Safin Hamed/AFP

เกิดอะไรขึ้นกับชาวเคิร์ดในอิรัก เมื่อเร็วๆ นี้

     ชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองพิเศษทางตอนเหนือของอิรัก (Iraqi Kurdistan) จัดให้มีการลงประชามติ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 ก.ย.) เพื่อปูทางไปสู่กระบวนการแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากอิรัก ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัฐบาลที่กรุงแบกแดดและประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค

     บรรดาชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการลงประชามติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การจัดลงประชามตินี้จะยิ่งทำให้ข้อตกลงต่างๆ และความขัดแย้งของรัฐบาลอิรักและรัฐบาลเคอร์ดิสถานยิ่งแตกร้าวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บรรดาผู้นำประเทศที่มีชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยภายในประเทศอย่างตุรกีและอิหร่าน ต่างใช้มาตรการทางทหารข่มขู่ ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับเคอร์ดิสถานหรือทางตอนเหนือของอิรัก เพื่อป้องกันการลุกฮือขึ้นของชาวเคิร์ดภายในประเทศ

     เรเจป ไตยิป เอร์โดกัน (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีของตุรกีแสดงความกังวลต่อการลงประชามติของชาวเคิร์ดในอิรักเป็นอย่างมาก เพราะนี่อาจจะเป็น ‘ต้นแบบ’ ที่ทำให้ชาวเคิร์ดภายในตุรกี ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องเอกราชอย่างที่ชาวเคิร์ดในอิรักทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้นายเรเจป ได้เตือนรัฐบาลเคอร์ดิสถานว่า การประกาศแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากอิรักอาจจะส่งผลให้ชาวเคิร์ดถูกคว่ำบาตรครั้งใหญ่ และทำให้ดินแดนเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรักถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือต่างๆ จากประชาคมโลก

 

Photo: Safin Hamed/AFP

 

ผลการลงประชามติและอนาคตของชาวเคิร์ดในอิรัก

     การลงประชามติเกิดขึ้นท่ามกลางการคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลกรุงแบกแดดที่ขู่จะตัดช่องทางการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศต่างๆ ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นรายได้หลักของเคอร์ดิสถานในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้มาร่วมลงประชามติกว่า 72.16 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนชาวเคิร์ดผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด

     ประชาชนชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ Hassan Shami refugee camp ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองโมซูลและเมืองเออร์บิล เมืองหลวงของเคอร์ดิสถานต่างเฝ้ารอการลงประชามติที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาอย่างใจจดใจจ่อ แม้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติจะออกแถลงการณ์เตือนว่า “การจัดลงประชามติอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยทั้งหมดกว่า 3 ล้านคนในค่ายผู้อพยพ” ก็ตาม

     จากสถานการณ์อันเลวร้ายก่อนหน้านี้ที่ดินแดนส่วนใหญ่แถบนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ISIS) ก่อให้เกิดความเสียหายและผู้อพยพจำนวนมาก ก่อนที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ด ‘Peshmerga’ จะเป็นอีกหนึ่งกองกำลังหลักที่ช่วยปลดปล่อยพื้นที่ที่ถูกยึดครองไปและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากการทำสงครามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้น

 

Photo: AHMED DEEB/AFP

 

     ซัลฮาบ ฮุสเซน (Salhab Hussein) หนึ่งในผู้ลี้ภัยที่มีสิทธิ์ลงประชามติดังกล่าว เผยว่า “พวกเราตกอยู่ภายใต้สงครามสู้รบกับกลุ่มไอซิสมานานเกือบ 3 ปี พวกเรารู้สึกเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายเหลือเกิน การที่ได้เห็นพวกเด็กๆ ได้ออกไปวิ่งเล่นข้างนอกบ้านได้อีกครั้ง เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงโหวตเพื่อชาวเคอร์ดิสถานทุกคน พวกเราไม่สนใจว่าใครจะปกครองพวกเราอยู่ จะเป็นชาวเคิร์ด ชาวอาหรับหรือชาวเติร์ดก็แล้วแต่ เราจะตอบแทนพวกเขาตราบเท่าที่พวกเขาทำให้พวกเราปลอดภัย”

     ผลการลงประชามติเบื้องต้นพบว่า ผู้ลงคะแนนกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งประเทศเคอร์ดิสถานขึ้น โดยแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก ในขณะที่มีเสียงคัดค้านไม่ถึง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยการประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในวันนี้ (28 ก.ย.) ทางด้าน มาซูด บาร์ซานิ (Massoud Barzani) ประธานาธิบดี (โดยพฤตินัย) ของเคอร์ดิสถานจะใช้ผลประชามติดังกล่าว เจรจาเดินหน้าขอแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากอิรักต่อไป

     การลงประชามติที่เกิดขึ้นนับเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของชาวเคิร์ดที่หวังจะมีประเทศเป็นของตนเอง ต่อจากนี้ไปชาวเคิร์ดยังจะต้องเผชิญด่านทดสอบอีกนับไม่ถ้วน ทั้งในเรื่องการเจรจา กระบวนการแยกประเทศ รวมถึงการบริหารประเทศด้วยตนเองและแรงเสียดทานจากประชาคมโลก หากสามารถจัดตั้งประเทศเคอร์ดิสถานได้จริง แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดพวกเขาเหล่านี้ก็กำลังเข้าใกล้ ‘ความฝันสูงสุด’ ที่พวกเขาเฝ้ารอมาตลอดอีกก้าวหนึ่งแล้ว

     ไม่แน่ว่า สมาชิกลำดับที่ 194 ของสหประชาชาติ อาจเป็นชื่อของ ‘ประเทศเคอร์ดิสถาน’ ก็เป็นได้

 

Photo: Delil Souleiman/AFP

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X