×

คนรุ่นใหม่เขามองหางานแบบไหนกันครับ

27.11.2019
  • LOADING...
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • คนรุ่นใหม่มองหาการทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย งานที่เขาทำแล้วจะรู้สึกว่าได้เปลี่ยนแปลงโลกที่เขาอยู่จริงๆ
  • ข้อสังเกตหนึ่งที่ผมเจอก็คือ คนรุ่นก่อนเริ่มต้นจากการมองว่าตัวเองมีความถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ความแตกต่างคือ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เริ่มจากความถนัดอย่างเดียว แต่มองไปถึงความถนัดที่เขามีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย 
  • เมื่อก่อนองค์กรจะหยิบยื่น 3 เรื่องเพื่อดึงดูดพนักงานคือ เงินเดือน โบนัส และตำแหน่ง นั่นคือการหยิบยื่นข้อเสนอที่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงก่อนเลย เป็นการบอกว่าเขาจะ ‘ได้’ อะไร
  • สิ่งที่องค์กรจะยื่นข้อเสนอให้คนรุ่นใหม่จึงต้องเป็นการบอกว่า งานนี้จะเปิดโอกาสให้เขาได้ ‘ทำ’ อะไร และสิ่งที่ทำจะสร้าง ‘ผลกระทบ’ ให้คนอื่นอย่างไร ให้เงินเยอะ ตำแหน่งสูง แต่ให้ไปทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองทำได้แค่หายใจงืดๆ ไปวันๆ รอรับคำสั่งจากหัวหน้าที่เหยียบย่ำเขาตลอดเวลา พูดอะไรก็ไม่ฟัง งานแบบนี้เขาไม่เอา เขาอยากทำงานที่มีความหมาย ตื่นมาแล้วได้ทำอะไรดีๆ คุ้มค่ากับการตื่นขึ้นมามีชีวิตอยู่ งานแบบนั้นแหละครับที่เขาอยากทำ

Q: ผมต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่เยอะ อยากรู้ว่าคนรุ่นใหม่เขามองหางานแบบไหนกันครับ

 

A: ผมเคยมีโอกาสถามคนรุ่นใหม่หลายคนว่าเขามองหางานแบบไหน หลายครั้งก็เป็นผมที่ถามตัวเอง และผมก็เชื่อว่าหลายคนก็คงถามตัวเองแบบนี้อยู่เหมือนกันว่า “เราอยากทำงานแบบไหนกัน (วะ)” น้องคนหนึ่งบอกผมว่า “ผมอยากทำงานที่มีอิมแพ็กต่อสังคมจริงๆ งานที่ทำแล้วได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง พี่ดูอย่าง Google สิ เขาทำอะไรทีก็มีผลต่อโลกหมด”

 

ไม่ใช่แค่ Google ที่เป็นชื่อที่ผมได้ยินบ่อยๆ ว่าเป็นองค์กรที่เขาอยากทำงานกัน ยังมี Apple, Facebook ฯลฯ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การเป็นองค์กรต่างชาติที่เติบโตจากการเป็นสตาร์ทอัพ แต่ประเด็นที่คนรุ่นใหม่มองหาคือการทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย

 

งานที่เขาทำแล้วจะรู้สึกว่าได้เปลี่ยนแปลงโลกที่เขาอยู่จริงๆ

 

ข้อสังเกตหนึ่งที่ผมเจอก็คือ คนรุ่นก่อนเริ่มต้นจากการมองว่าตัวเองมีความถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่ความแตกต่างคือ คนรุ่นใหม่ไม่ได้เริ่มจากความถนัดอย่างเดียว แต่มองไปถึงว่าความถนัดที่เขามีจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย

 

วิธีการมองหางานของคนรุ่นใหม่ก็แตกต่างจากเดิมครับ เมื่อก่อนองค์กรจะหยิบยื่น 3 เรื่องเพื่อดึงดูดพนักงานคือ เงินเดือน โบนัส และตำแหน่ง นั่นคือการหยิบยื่นข้อเสนอที่ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงก่อนเลย เป็นการบอกว่าเขาจะ ‘ได้’ อะไร แต่ยุคนี้ อย่างที่เล่าไปครับว่าคนรุ่นใหม่มองหางานที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีความหมายมากกว่า สิ่งที่องค์กรจะยื่นข้อเสนอให้คนรุ่นใหม่จึงต้องเป็นการบอกว่า งานนี้จะเปิดโอกาสให้เขาได้ ‘ทำ’ อะไร และสิ่งที่ทำจะสร้าง ‘ผลกระทบ’ ให้คนอื่นอย่างไร ให้เงินเยอะ ตำแหน่งสูง แต่ให้ไปทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองทำได้แค่หายใจงืดๆ ไปวันๆ รอรับคำสั่งจากหัวหน้าที่เหยียบย่ำเขาตลอดเวลา พูดอะไรก็ไม่ฟัง งานแบบนี้เขาไม่เอา เขาอยากทำงานที่มีความหมาย ตื่นมาแล้วได้ทำอะไรดีๆ คุ้มค่ากับการตื่นขึ้นมาชีวิตอยู่ งานแบบนั้นแหละครับที่เขาอยากทำ

 

ที่จริงวิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ เรื่องคลาสสิกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือ เมื่อยุค 80’s ตอนที่ สตีฟ จ็อบส์ ไปชวน จอห์น สกัลลีย์ มาร่วมงานที่ Apple ซึ่งขณะนั้นจอห์นทำงานอยู่ที่ Pepsi ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เทียบกันแล้วงานที่ Pepsi ซึ่งขณะนั้นคือยักษ์ใหญ่ของโลกน่าจะมั่นคงกว่างานที่บริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Apple ซึ่งก่อตั้งมาไม่นานด้วยซ้ำ

 

สตีฟพยายามเชิญชวนจอห์นอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งสตีฟถามคำถามที่เปลี่ยนความคิดของจอห์นได้สำเร็จ “คุณอยากขายน้ำหวานไปตลอดชีวิต หรืออยากออกมาเปลี่ยนโลกกับผม”

 

จอห์นเลือกที่จะเปลี่ยนโลกแทนที่จะขายน้ำหวานครับ

 

ไม่ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องเงินเดือน โบนัส ตำแหน่ง แต่ยื่นข้อเสนอว่างานนี้มีความหมายอย่างไรกับโลก นอกจากการมีความหมายแล้ว สิ่งที่คนรุ่นใหม่มองหาคือคุณภาพชีวิตที่ดี 

 

ผมได้มีโอกาสคุยกับ พี่เจี๊ยบ-กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลของ AIS วิธีคิดหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ที่พี่ได้คือ แทนที่เราจะคิดว่าเราจะให้ Benefits เขาว่าป่วยแล้วจะได้ค่าห้องเท่าไร เบิกค่ารักษาได้เท่าไร ทำไมองค์กรไม่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาไม่ป่วย ทำอย่างไรให้เขามีสุขภาพดี แล้วเราไปสร้าง Benefits ให้เขามีสุขภาพดีแทน น่าจะเป็นการดูแลชีวิตพนักงานที่ยั่งยืนกว่า น่าสนใจนะครับ ไม่รอให้พนักงานป่วยพะงาบๆ ก่อนแล้วค่อยดูแล แต่ดูแลพนักงานไม่ให้ป่วยก่อน

 

เรื่องสุดท้ายคือ คนรุ่นใหม่มองหาโอกาสได้เรียนรู้ เมื่อไรก็ตามที่เขาทำงานแล้วรู้สึกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม เขาก็จะไปครับ นี่เป็นเหตุผลที่องค์กรควรให้ความสำคัญกับเทรนนิ่ง เทรนนิ่งที่ดีควรเปิดกว้างพอให้พนักงานได้ตัดสินใจเองว่าอยากเรียนรู้อะไรทั้งด้าน Hard Skill หรือ Soft Skill อยากเรียนอะไรให้มาบอก แล้วองค์กรจะสนับสนุน พอเขาเป็นคนเลือกเองว่าอยากเรียนอะไร เขาจะไม่มองว่าเทรนนิ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่มองว่าการพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องเสียเวลา

 

นอกจากเทรนนิ่งแล้ว การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้จากการลงมือทำงาน เราจะได้เรียนรู้อะไรจากงานที่ไม่ท้าทายความสามารถ งานซ้ำซาก แต่เราจะได้เรียนรู้จากงานที่ได้ใช้ความสามารถ งานที่ท้าทาย งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่เราไม่คุ้นเคย งานที่ต้องร่วมมือกับคนอื่น และการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดได้

 

ถ้าแต่ละวันเราสามารถตอบได้ว่า วันนี้เราได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานบ้าง และเราพบว่ามันมีคำตอบอยู่เรื่อยๆ นั่นแหละครับ งานที่ทำให้เราเรียนรู้ไม่รู้จบ

 

ที่จริงแล้ว ถ้าเราตัดคำว่าคนรุ่นใหม่ออก ผมคิดว่าทั้งการทำงานที่มีคุณค่า คุณภาพชีวิตที่ดี และการได้เรียนรู้ไม่รู้จบ ก็เป็นสิ่งที่ดีต่อทุกคนทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นคนรุ่นใหม่หรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนจากคำถามว่า “คนรุ่นใหม่มองหางานแบบไหน” เป็น “งานแบบไหนที่เป็นมนุษย์มองหา” ผมคิดว่าผมก็คงตอบด้วยคำตอบเดิมครับ

 

หวังว่าทุกคนคงจะหางานแบบนั้นเจอนะครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter) 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising