“ผมเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียด และผมอาจจะเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียดมากกว่าเดิมอีกหลายร้อยเท่า ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง”
คือหนึ่งในประโยคที่สรุปชีวิตตลอดระยะเวลา 44 ปี นับแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก และอีก 22 ปี ที่กินสัดส่วนครึ่งหนึ่งของชีวิตนับตั้งแต่วันที่ ขจรเดช พรมรักษา หรือ กบ บิ๊กแอส เริ่มต้นชีวิตอย่างเป็นทางการบนถนนสายดนตรี
และร่วมเดินทางกับเพื่อนๆ ผ่านจุดสูงสุดดิ่งลงเหว พบความเปลี่ยนแปลงที่เขาเปรียบเทียบเหมือนขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา เรียนรู้ผ่านความเจ็บปวด สังเกตสิ่งรอบข้าง และสร้างผลงานของตัวเองออกมาไม่หยุด จนได้รับการยอมรับในฐานะนักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเพลงของศิลปินมากมาย รวมทั้งบทบาทใหม่ในการเป็นโชว์ ไดเรกเตอร์ให้กับคอนเสิร์ต G19 กว่าจะร็อกเท่าวันนี้, Bodyslam Fest วิชาตัวเบา และ Genie Fest 2020: Rock Mountain ที่จัดขึ้นในปีหน้า
THE STANDARD POP ขอพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจชีวิตของคนดนตรีช่างฝัน แนวคิดอัลบั้มใหม่ ภาวะของศิลปินที่ดำดิ่งอยู่กับอารมณ์ และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของวงการดนตรีไทยที่เขาเชื่อว่า สุดท้ายแล้วธรรมชาติจะเป็นผู้คัดสรรและจัดการทั้งหมดด้วยตัวเอง ผ่านมุมมองของคนอายุ 44 ปี ที่นอกจากจะกล้ายอมรับว่าตัวเองเคยเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียดที่สุด เรายังรู้สึกว่า เขาเป็น ‘มนุษย์’ ช่างสังเกตเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเป็นกลาง เข้าใจ และทะลุปรุโปร่งมากที่สุด
ขอสำรวจชีวิตในภาพรวมก่อน คุณเป็นคนอายุ 44 ปี ที่กลัวตัวเลขอายุมากขึ้นขนาดไหน ทั้งในเรื่องการทำงาน ชีวิต และทุกๆ อย่าง
ไม่กลัวในมุมของชีวิต แต่มุมการทำงานเพลง การเป็นวงบิ๊กแอสมันเริ่มรู้สึกได้ชัดเจนว่า เราจะอยู่อีกเจนฯ หนึ่งแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องเพลงจะมีอิทธิพลกับคนในยุควัยรุ่น เปรียบเทียบกับตัวเองก็ได้ว่า เพลงที่เรายังรัก ยังโหยหา ฟังทีไรภาพในอดีตลอยมา เป็นเพลงยุคที่เราเป็นวัยรุ่น
แต่วันนี้เมื่อเราอายุ 40 ต้นๆ ภาษาที่ใช้ ทัศนคติที่มอง เราไม่สามารถกลับไปพูดเรื่องเดิม ณ วันนั้นได้แล้ว เราจะพูดในมุมมองของคนที่ผ่านโลกมาแล้ว 40 กว่าปี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำลังครุ่นคิดว่า เราจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่แบบเพื่อน แบบพี่ หรือเป็นที่พึ่งทางเพลงให้กับเขาในรูปแบบไหนได้บ้าง
เพราะเรายังอยากคุยกับเขาอยู่ อยากสื่อสาร อยากเรียนรู้ไปกับเขาว่าวัยรุ่นเป็นอย่างไร แต่เรียนรู้ได้อย่างไรในเมื่ออายุเท่านี้ เป็นความท้าทายที่พูดตรงๆ ว่าเรายังไม่อยากแก่ ไปเล่นงานเฟสติวัลที่มีวงวัยรุ่นเล่นอยู่ ที่ผ่านมาบิ๊กแอสอาจจะเล่นเป็นวงท้ายๆ แต่วันนี้เราเล่นเปิดให้ได้นะ เราเล่นตรงไหนก็ได้ แต่ขอมีส่วนร่วมขบวนไปกับเขาได้บ้าง
ได้พยายามเรียนรู้และสื่อสารเรื่องเหล่านั้นไปมากขนาดไหนแล้ว
เพลง ฆ่าคนด้วยมือเปล่า ที่เพิ่งปล่อยออกไปชัดเจนที่สุด ถ้าฟังผ่านๆ ทุกคนจะเดินมาบอกผมว่า แหม วัยรุ่นเลยนะ เขียนเรื่องเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย แต่ถ้าขุดลงไปในเนื้อเพลงจริงๆ จะรู้ทันทีว่า มันพูดผ่านคนที่ผ่านโลกมาพอสมควรแล้ว
เพราะมันขึ้นด้วยประโยคว่า คนเราบทจะทิ้งกันไป ทำไมง่ายลงทุกวัน เพียงพิมพ์ตัวหนังสือสั้นๆ แล้วก็ส่งมา แสดงว่าไอ้คนนี้มันเคยผ่านการบอกด้วยการส่งจดหมาย นัดเจอ หรือวิธีบอกเลิกที่ยากกว่านี้มา เหมือนที่คนพูดติดปากว่า เด็กสมัยนี้ คนสมัยนี้ มันคือประโยคที่คนแก่พูดชัดๆ ฟังเผินๆ เหมือนอยากเป็นวัยรุ่น เปล่าเลย เราแค่อยากพูดเรื่องปัจจุบันในสายตาของคนอายุ 40 กว่าๆ เท่านั้นเอง
เพลง ฆ่าคนด้วยมือเปล่า ผลงานล่าสุดของวงบิ๊กแอส
“เหมือนตอนเป็นเด็กแล้วอยากโต เราต้องแก่แดดให้ได้ เพื่อให้คนมองว่า โอ้โห มึงแม่งโคตรเข้าใจความรักเลยว่ะ แต่โตขึ้นน่าจะเป็นเรื่องการยอมรับความจริง ว่าจริงๆ แล้วมึงไม่เข้าใจหรอก ยอมรับมันเสีย โลกใบนี้แม่งโหดฉิบหายเลยว่ะ แล้วก็ตั้งคำถามกับมันว่าเกิดอะไรขึ้น”
เกิดความเปลี่ยนอะไรขึ้น เพราะถ้าฟังเพลงในช่วงอัลบั้มแรกๆ ของวงบิ๊กแอสที่ยังเป็นวัยรุ่น จะเต็มไปด้วยเพลงรักที่มองการเลิกราด้วยความเข้าใจ เช่น ทางผ่าน, รักเขาให้เท่าฉัน, หลอกได้หลอกไป ฯลฯ แต่เมื่ออายุมากขึ้น กลับเริ่มสงสัยว่า ทำไมการเลิกกันถึงเป็นแบบนี้
เออ ผมไม่เคยคิดมุมนี้เหมือนกันนะ แต่ถ้าให้วิเคราะห์เร็วๆ ผมคิดว่า ตอนเริ่มเขียนเพลงใหม่ๆ หรือบิ๊กแอสมีชื่อเสียงใหม่ๆ มันไม่เข้าใจหรอก พยายามอยู่กับการโดนทิ้งให้ได้ เหมือนเป็นการบำบัดตัวเอง อย่างเพลง ทางผ่าน บอกว่ายินดี แต่จริงๆ แล้วยินดีหรือเปล่า ไม่รู้ แต่ต้องพยายามเข้าใจมันให้ได้
เหมือนตอนเป็นเด็กแล้วอยากโต เราต้องแก่แดดให้ได้ เพื่อให้คนมองว่า โอ้โห มึงแม่งโคตรเข้าใจความรักเลยว่ะ แต่โตขึ้นน่าจะเป็นเรื่องการยอมรับความจริง ว่าจริงๆ แล้วมึงไม่เข้าใจหรอก ยอมรับมันเสีย โลกใบนี้แม่งโหดฉิบหายเลยว่ะ แล้วก็ตั้งคำถามกับมันว่าเกิดอะไรขึ้น
แสดงว่าทิศทางเพลงอัลบั้มใหม่ของบิ๊กแอส จะเน้นไปที่การตั้งคำถามและหาคำตอบ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้หรือเปล่า
ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เท่าที่คุยกับตัวเองบ่อยๆ ผมตั้งคำถามเยอะ แต่ไม่พยายามไปค้นหาคำตอบแล้ว ทำไมมันเป็นแบบนี้นะ เป็นมากกว่าได้หรือเปล่า ไม่เป็นอย่างนี้ได้ไหม ตอนเด็กพยายามเท่ พยายามเข้าใจ ให้รู้สึกว่ากูแม่งเก๋าว่ะ ตอนนี้มีแต่ทำไมวะ ทำไมวะ ทำไมวะ (หัวเราะ)
อีกเรื่องที่ชัดเจนมากๆ คือ อยากอยู่กับความเป็นจริงให้จริงที่สุด บิ๊กแอสเหมือนรถไฟเหาะ ตีลังกาที่ขึ้นสุด ลงสุดมาแล้ว ทำอย่างไรให้เราอยู่ในวงการนี้ในสถานะแบบนี้ ไม่ต้องไปบนยอดเขาสูงๆ แต่ยังไม่อยากออกไปจากภูเขานี้ แล้วจะทำอย่างไรให้มีความสุขที่สุด
เพื่อนๆ ในวงผมมีครอบครัว มีลูก มีภาระ บทบาทต่างๆ หน้าที่ของผมคือ ประคองความฝันทุกคนให้อยู่บนความจริงให้ได้ ที่ผ่านมาผมเป็นคนที่บอกว่า ไอ้เหี้ย ต้องไปทำ ออกไปลุย รับงานเดือนละ 20-30 งาน แต่ตอนนี้บิ๊กแอสจะไม่รับงานวันอาทิตย์, จันทร์, อังคาร เพื่อให้วงมีเวลาให้ครอบครัวและส่วนต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาในชีวิต ถามว่าอยากได้เงินไหม โคตรอยากได้ อยากมีเยอะๆ (หัวเราะ) แต่ถ้ามีแล้วไม่ได้กลับไปดูแลพ่อแม่ มันจะคุ้มกันเหรอ
เพลง ทางผ่าน
เริ่มคิดเรื่องการอยู่กับความเป็นจริง บาลานซ์ชีวิต ดูแลชีวิตครอบครัวของเพื่อนๆ มาตั้งแต่เมื่อไร
จากตอนบิ๊กแอสเกิดการเปลี่ยนแปลงนักร้องนำ ก่อนที่แด๊ก (เอกรัตน์) อยู่ เราเห็นวงคาราบาวเป็นตัวอย่าง ก็คุยกันว่า จะเล่นดนตรีแบบอยู่ค้ำฟ้ายืนยงอย่างนั้นบ้าง คิดว่าโลกนี้เป็นของเรา และเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสอนผมเลยนะ ขนาดวงบิ๊กแอสที่ว่ากันว่ารักกันที่สุดในวงการเพลง เพราะโตมาด้วยกันตั้งแต่อายุ 15 ปี ไม่เห็นภาพเลยว่าจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งขึ้น มองไม่เห็นภาพเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแบบนี้ขึ้น
หลังจากนั้นผมเลิกตั้งความหวังเลยนะว่าบิ๊กแอสจะต้องไปไกล ไปอยู่ตรงโน้น ตรงนี้ ผมเลิกพาความรู้สึกครอบงำวงแบบนั้น เลิกเผด็จการแบบนั้น แล้วปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้น มองโลกความเป็นจริงมากขึ้นว่า เหี้ยเอ๊ย สุดท้ายชีวิตแม่งไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ เพราะฉะนั้น ทุกวินาทีคืออยู่กับความจริง เรียนรู้ แล้วดื่มด่ำกับมันให้มากที่สุด
ที่ไม่ตั้งความหวังเท่าเดิม เพราะว่าเข้าใจความไม่แน่นอนของชีวิตจริงๆ หรือแค่กลัวว่าการตั้งความหวังจะทำให้เจ็บแบบเดิมอีก
พอๆ กันนะ แต่เมื่อมาถึงอายุขนาดนี้ ผมว่าบิ๊กแอสกลัวอะไรน้อยลง ถามว่าอยากกลับไปอยู่จุดพีกเหมือนเดิมไหม วันนี้ก็ยังคิดหนักอยู่กับการแลกในสิ่งที่ตัวเองต้องดูแลรับผิดชอบ พ่อแม่ งานอื่นๆ หรืออะไรก็ตาม ถามว่าเข้าใจทั้งหมดไหม ก็ยังไม่แน่ใจ รู้แค่ว่าประมาณนี้โอเคแล้ว
เพราะเราผ่านการบีบบังคับให้ทุกคนต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นว่าทุกคนไม่มีความสุข เมื่อเดินทางถึงจุดหนึ่ง ชีวิตทุกคนจะมีอย่างอื่นมากกว่าดนตรี มากกว่าวงบิ๊กแอส แต่ที่ผ่านมาผมไม่สน เฮ้ย วงนี้สร้างชีวิตให้กับทุกคน ต้องตอบแทนมันอย่างโน้นอย่างนี้ หารู้ไม่ว่าทุกคนมีภาระหน้าที่ต่างกัน
เรื่องนี้สอนผมได้ว่า เรายังให้น้ำหนักกับวงมากที่สุด เพียงแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตอีกต่อไป บิ๊กแอสยังเป็นสิ่งที่ตื่นเช้ามาแล้วผมคิดถึงมันก่อนเสมอ แต่ระหว่างวันก็ทำอย่างอื่นได้บ้าง พอขึ้นไปบนเวทีโดยไม่ต้องบอกว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นสนุกมากขึ้น เพื่อนก็รู้สึกไม่กดดันเหมือนเดิม
“ผมอาจจะเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียดมากกว่าเดิมอีกหลายร้อยเท่า ถ้าอายุมากขึ้นด้วยความรู้สึกแบบเดิม ผมถึงขนาดตัดสินใจไม่มีลูกเลยนะ เพราะกลัวไม่มีเวลาให้กับบิ๊กแอส”
เริ่มสงสัยขึ้นมาจริงๆ ว่าเมื่อก่อนคุณเป็นคนแบบไหนกันแน่
(หัวเราะ) เมื่อใครเล่นผิดนิดหนึ่ง ผมตาเขียวเลยนะ คือเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียด กลับไปมองตัวเองก็ยังสงสัยว่า ทำไมมึงเป็นคนน่าเกลียดอย่างนี้วะ เห็นแก่ตัวจนเข้าข้างตัวเองไปว่า เราทุ่มให้วง 100% แล้วคนอื่นต้องเหมือนเรา หรือรู้ไม่ว่า ในความเป็นจริง เพื่อนๆ ก็ทุ่มใจให้วง 100% แน่ๆ แต่มีปัจจัยอื่นที่ทำให้ทำไม่ได้ขนาดนั้น
แล้วผมไม่เคยเห็นใจเพื่อน เห็นแก่ตัว ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว ผมจะมองว่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่บิ๊กแอสคือตัวปัญหา ตัวบั่นทอน เอามันออกไป แต่ ณ วันนี้พอคลายมันออก อาจจะไม่เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน แต่อยู่วงมีความสุขมากขึ้น
ถ้าไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้คุณจะยังเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียดคนนั้นอยู่ไหม
แน่นอนครับ (ตอบทันที) ผมอาจจะเป็นมนุษย์ที่น่าเกลียดมากกว่าเดิมอีกหลายร้อยเท่า ถ้าอายุมากขึ้นด้วยความรู้สึกแบบเดิม ผมถึงขนาดตัดสินใจไม่มีลูกเลยนะ เพราะกลัวไม่มีเวลาให้กับบิ๊กแอส
แต่พอรู้ตัวอีกที เห็นลูกเพื่อนๆ แล้วแม่ง เหี้ยเอ๊ย ทำไมกูตัดสินใจแบบนี้วะ แต่ไม่ได้โทษอะไรเลยนะ เมื่อเลือกแล้วก็อยู่กันแบบนี้แล้วกัน แค่ผ่อนตัวเองไปหาเรื่องใหม่ๆ ให้ชีวิตบาลานซ์มากขึ้น
ตอนนี้สามารถรับมือกับความคาดหวัง ยอมรับความเป็นจริงได้ดีขนาดไหนแล้ว
ยากเหมือนกัน เพราะโตมาเป็นคนแบบนี้ ยังแบกความคาดหวังของคน กลัวคนผิดหวังอยู่ อย่างวงบิ๊กแอสก็ออกไปเล่นคอนเสิร์ตแบบเต็มที่ทุกคืน เพราะไม่อยากให้คนผิดหวัง พอมาเป็นโชว์ไดเรกเตอร์คอนเสิร์ตก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอย่างแรกไม่อยากให้วงที่เราไปช่วยผิดหวัง สองคือไม่อยากให้คนที่เขาต่อคิวจองบัตร เสียเงิน ออกจากบ้าน ฝ่าฟันอะไรมามากมาย แล้วได้ดูอะไรที่ไม่เป็นอย่างเขาหวัง
ก็เลยตั้งใจทำให้มันดี ทุ่มตัวเองลงไป แล้วก็เข้าใจเวลาเห็นคนทำคอนเสิร์ตหลายๆ คนที่เขาอดหลับอดนอนก็เพื่อสิ่งนี้นี่หว่า ผมเดาว่า ความรู้สึกของคนที่ปีนเขาเอเวอร์เรสต์คงประมาณนี้นะ ยิ่งเหนื่อยเท่าไร วินาทีสุดท้ายที่งานจบ เราจะยิ่งมีความสุขเท่านั้น เป็นภูมิคุ้มกันที่ภาวนาว่ามันจะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นได้เห็นความสุขในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น เราสนุกไปกับเรื่องพวกนั้น ทำให้ผ่อนคลายลงได้เยอะ
“บางเรื่องควรจะเจ็บแค่ระดับ 1 แต่เราจะเจ็บกับมันในระดับ 10 บางเรื่องที่เบาสำหรับคนอื่น แต่กลายเป็นหนักสำหรับเรา แล้วต้องจมปลักอยู่กับอารมณ์ตลอดเวลา เพราะต้องเอามาทำงาน ก็เป็นความทุกข์ทนที่ต้องเจอ”
แต่ก่อนผ่อนคลายได้แบบนี้ คุณก็ร้องไห้ออกมาหลายครั้งตอนทำคอนเสิร์ต G19
อย่างแรกคือ การมาทำงานคอนเสิร์ตไม่ใช่ความฝันของชีวิต ถ้าเป็นความฝันเหมือนวงบิ๊กแอส เหมือนการทำเพลง เหนื่อยเท่าไรผมก็สู้ ไม่หลับไม่นอน 2 คืน เพื่อเขียนเพลงก็ทำมาแล้ว แต่งานคอนเสิร์ตอยู่ดีๆ ผมจับพลัดจับผลูได้มาทำ
แล้วพอไปเจออุปสรรคที่ต้องเจอกับคนหมู่มาก ต้องไปรับมือกับความรู้สึก ความคาดหวัง รายละเอียดของศิลปินแต่ละคน ซึ่งศิลปินเป็นมนุษย์อีกแบบหนึ่งที่มีความผิดปกติไม่มากก็น้อยจนเกินไปกว่าคนอื่นเสมอ เท่าที่ผมวิเคราะห์มานะ (หัวเราะ) กลายเป็นว่า ผมรับมือไม่ได้ ถอนตัวก็ไม่ได้ เพราะทำมาเกินครึ่งทางแล้ว ทำอย่างไรได้ล่ะ ก็ระเบิดมันออกมาเลย ผมไม่ได้ร้องไห้กับงานมานานมาแล้ว แฟนผมยังตกใจเลยว่าอะไรของมึงเนี่ย (หัวเราะ)
คำว่า ‘มนุษย์อีกแบบ’ ของศิลปินเป็นแบบไหน
เขาจะมีสายตาเวลามองของอะไรบางอย่างอีกแบบ ผมเคยคุยเรื่องนี้กับพี่ป้าง (นครินทร์ กิ่งศักดิ์) เขาบอกว่า เวลาคนอื่นมองเห็นขวดน้ำ แต่พวกคนทำงานศิลปะหรือนักแต่งเพลงจะเห็นเป็นอาวุธ เป็นขยะ เป็นอดีต เป็นความทรงจำ หรืออะไรต่างๆ ที่ไม่ใช่ขวดน้ำ
ผมก็เพิ่งมาเข้าใจนะว่าทำไมเราเขียนเพลงอย่างนั้นได้ ทำไมละเอียดอ่อนกับเรื่องพวกนี้ ทำไมลมที่คนอื่นมองเป็นลม ถึงกลายเป็นมีดแหลมๆ มาทิ่มหัวใจ เพราะเราเป็นคนช่างสังเกต ตีความอะไรลึกกว่าปกติ
บางเรื่องควรจะเจ็บแค่ระดับ 1 แต่เราจะเจ็บกับมันในระดับ 10 บางเรื่องที่เบาสำหรับคนอื่น แต่กลายเป็นหนักสำหรับเรา แล้วต้องจมปลักอยู่กับอารมณ์ตลอดเวลา เพราะต้องเอามาทำงาน ก็เป็นความทุกข์ทนที่ต้องเจอ
แล้วก็ทำให้ติ๊งต่างตัวเองเวลาเห็นไอดอลของเราที่เสียชีวิตจากเรื่องพวกนี้ เริ่มเข้าใจเขาเล็กๆ ว่า ทำไมถึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะเรื่องนี้ หรือเสียงแว่วๆ มาเบาๆ เลยนะว่า เหี้ย หยิ่งฉิบหายเลยว่ะ คนอื่นอาจไม่รู้สึกอะไร แต่มันอยู่ในหัวใจเราจนวันตายเลยนะ
เรื่องนี้คล้ายๆ กับนักแสดงที่ต้องทำงานกับอารมณ์ตัวละครมากๆ จนพาตัวเองออกมาจากความรู้สึกนั้นไม่ได้ แต่บางคนจะมีเทคนิคการแสดงบางอย่างที่เรียนรู้มา หรือมีแอ็กติ้งโค้ชช่วยพาเขาออกมาได้ในที่สุด กับนักแต่งเพลงที่ไม่มีศาสตร์นี้อยู่กับตัว จะออกมาจากความรู้สึกนั้นได้อย่างไร
(คิดนาน) ถ้ามีใครสักคนพาเขาออกมาได้ ผมว่าเราจะช่วยชีวิตได้อีกหลายคนเลยนะ เพราะเราอยู่กับอารมณ์จริงๆ แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้น วิเคราะห์จากตัวเองและคนใกล้ตัว ผมว่า แต่ละคนมีวิธีการเอาออกที่แตกต่างกันไป
อย่างตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวงบอดี้สแลม) ชัดเจนว่า เจอวิธีการเอาออกด้วยการพาตัวเองไปโลกอีกใบหนึ่ง จากโลกศิลปินที่เขารับความรู้สึกเข้ามา แบกเอาไว้จนหนักอึ้ง แต่โลกอีกใบของการวิ่ง เขามีแต่ผลักออก ส่งมอบให้กับคนอื่น เอาไปเลยครับ เอาไปเลย ทำให้บาลานซ์ ไม่อย่างนั้นตูนจะเป็นคนหนึ่งที่ใกล้เคียงกับที่พูดกันมาเมื่อกี้
อย่างน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งก็ไม่ต่างจากตูน แบกไว้เหมือนกัน วันหนึ่งไปเจอธรรมะ ซึ่งพาเขาไปโลกอีกใบหนึ่ง ผมคิดว่าการมีคนพาออกไปก็เป็นเรื่องดีถ้าทำได้ แต่ผมคิดว่า สุดท้ายต่อให้ยัดเยียดเท่าไรก็ไม่มีใครพาเขาออกมาได้ ถ้าเขาไม่ได้เจอโลกใบนั้นด้วยตัวเอง แต่ก็อย่างที่บอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะหาโลกใบนั้นเจอ
คุณก็แต่งเพลงมาเยอะ และเคยบอกว่า เวลาแต่งเพลงให้คนอื่น คุณต้องพยายามเข้าไปสิงในความรู้สึกให้เข้าใจอารมณ์ของคนนั้นให้ได้จริงๆ ก่อน เคยอยู่ในสภาวะที่ตกอยู่ในอารมณ์มากๆ และไม่สามารถพาตัวเองออกมาได้บ้างไหม
ไม่ใช่เรื่องเพลง แต่ผมเคยว่างเปล่ามากๆ ตอนวงบิ๊กแอสเกิดการเปลี่ยนแปลงนักร้องนำมาเป็นเจ๋ง (เดชา โคนาโล) นี่แหละ ก่อนเข้าช่วงผ่อนคลาย ไม่ตั้งความหวัง ยอมรับความจริงแบบที่บอกไปตอนแรก ผมอยู่ในจุดที่ไม่ใช่ปล่อยวางนะ แต่ปล่อยทุกอย่าง ไม่เอาอะไร จนชีวิตเป็นหลุมไปเลย
ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกไม่มีความหวัง อะไรคือความฝันต่อไปของกู ทั้งที่จริงๆ ยังอยู่ในความฝันนะ ยังเป็นนักแต่งเพลง นักดนตรี มีอัลบั้ม มีคนรู้จัก ออกไปเล่นคอนเสิร์ต แต่พอความฝันไปถึงจุดที่เดินไปก็ไม่สุด จะล้มก็ไม่ได้ เดินต่อก็ได้แค่นี้ จะกลับมาลากเพื่อนๆ ไปอีกรอบก็ไม่อยากทำแบบนั้น
เลยกลายเป็นว่า ตื่นมาถามตัวเองทุกเช้าว่า จะทำอะไรดีวะ ทำอันนี้ดีไหม อันไหนดีไหม ทุกคนจะได้รับโทรศัพท์ผมตอนตี 1 ชวนทำอะไรบางอย่างเสมอ จนตอนนี้ยังมีคนทวงอยู่เลยนะว่า ไม่ทำแล้วเหรอ (หัวเราะ) เป็นหลุมที่ตกลงกับตัวเองไม่ได้สักที ทั้งๆ ที่เขาว่ามานะครับว่า ถ้าคิดอะไรไม่ออก ให้มาคุยกับพี่กบ ไม่ว่าจะชีวิต การงาน ความรัก ผมก็แค่ไปจำคำพูดของคน แล้วมาบอกให้เขาฟังอีกที แต่พอเจอกับตัวเองจริงๆ แม่งไม่รอด
ผมเพิ่งมาพูดเรื่องนี้เมื่อไม่นานมานี้เองนะ เพื่อนสนิทที่สุดยังไม่รู้ ภรรยาไม่ต้องพูดถึง ถ้ารู้เขาคงช็อก พอพูดขึ้นมา อ๊อฟ (พูนศักดิ์ จตุระบุล) หันมาเลย เฮ้ย มึงหนักขนาดนี้เลยเหรอวะ ผมไม่เคยบอกใคร แต่อยู่ๆ ทำไมอยากพูดเรื่องนี้ไม่รู้ เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมีโมเมนต์ของมัน ถ้าเป็นโน้ตดนตรีก็มีท่อนเงียบของเพลงนั้นอยู่
สุดท้ายคุณพาตัวเองออกมาจากภาวะนั้นได้อย่างไร
สุดท้ายผมคุยกับพี่ป้าง แล้วเขาแนะนำทางออกสุดท้ายคือ จิตแพทย์ เบื้องต้นผมโทร.ไปปรึกษาอาการคร่าวๆ กำลังนัดแนะไปเจอ แต่ระหว่างรอวันไปหา ผมได้ทำคอนเสิร์ต G19 ที่ค่ายจีนี่ฯ ชวนทำ นึกไม่ออกว่าจะขึ้นมาจากหลุมนั้นอย่างไร แต่เหมือนอยู่ดีๆ โผล่ขึ้นมา อ้าว เจอโลกใหม่ว่ะ ลากผมไปเจอเรื่องใหม่ๆ เทคนิคใหม่ วิธีการใหม่ เรียนรู้เรื่องใหม่ ศึกษาระบบเครื่องเสียง อ่านหนังสือที่ตื่นมาไม่ต้องอยู่กับตัวเอง
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็หาอะไรทำมาตลอด แต่ยังไม่ใช่ แต่พอได้ยินโปรเจกต์นี้แล้วหัวใจเต้นแรงโดยอัตโนมัติ ผมใช้อัตราการเต้นของหัวใจมาตัดสินชีวิตตลอดนะครับ สมมติมี 3 ชอยส์ให้เลือก ผมจะเลือกอันที่ทำให้หัวใจผมเต้นแรงที่สุด แสดงว่ามันมีความยั่วยวนให้เรามากพอ ความตื่นเต้นท้าทายมันผลักชีวิตเรานะ เหมือนเข็มแหลมๆ ที่ทิ่มแล้วหัวใจเต้นแรง เหมือนตอนเด็กๆ เราเจอผู้หญิงที่ชอบแล้วหัวใจเต้นแรง อารมณ์เดียวกันเลย
“ผมเลยรู้สึกว่าอีกด้านหนึ่งของความกลัว มันผลักให้ชีวิตเราก้าวข้ามอะไรบางอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ หรือคนอื่นคิดว่าเราทำไม่ได้ ความกลัวเป็นแรงขับดันที่มีค่ามหาศาลเหมือนกันนะ”
นอกจากความตื่นเต้น ความกลัวก็ทำให้หัวใจเต้นแรงได้เหมือนกัน ถ้าตอนนั้นหัวใจแรงมาก แต่เป็นเพราะความกลัว คุณจะยังเลือกทางนั้นอยู่ไหม
ความกลัวสั่นกว่าความตื่นเต้นด้วยซ้ำ ไม่รู้ถูกหรือผิดนะ แต่ผมสักคำว่า Face to Fear เผชิญหน้ากับความกลัวเอาไว้ ผมเป็นคนขี้กลัวตั้งแต่เด็ก เคยให้สัมภาษณ์คนก็หาว่าตอแหล เพราะผมกลัวการเข้าร้านขายของชำ (หัวเราะ) กลัวผี กลัวทุกอย่างไปหมด
มีโมเมนต์หนึ่งตอนบวชป่าที่ไม่มีไฟฟ้าด้วยนะ ผมกลัวผีมากนะ แต่เลือกที่จะบอกตัวเองว่า ต้องเอาชนะให้ได้ เพราะต้องอยู่ตรงนี้อีกหลายวัน จะอยู่ด้วยอาการกลัวแบบนี้ไม่ได้ ผมตัดสินใจเดินเข้าไปในป่าช้า แล้วท่องว่า กูเป็นพระ กูเป็นพระ กูต้องไม่กลัว เดินอยู่นาน แล้วก็ไม่เจอผี กลับมานั่งจ้องกระจก แม่ง คิดไปเองทั้งนั้นเลยนี่หว่า ทุกวันนี้ยังมีเรื่องที่กลัวอยู่ เริ่มสะกดจิดตัวเองให้เอาชนะความกลัวตั้งแต่วันนั้น
กับอีกโมเมนต์สำคัญที่ทำให้ผมสักคำนี้คือ ตอนเปลี่ยนนักร้อง แล้วทุกคนบอกว่า มึงไม่รอดหรอก 99.99% ของโลกใบนี้ วงดนตรีเปลี่ยนนักร้องไม่สามารถเดินต่อไป ผมก็บอกตัวเองเหมือนเดิม กูจะรอด กูจะรอด กูจะไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ตัดสินใจเปรี้ยง อย่างน้อยก็ 5-6 ปีแล้วนะ ที่ยังพอเดินอยู่ในขบวนนี้ได้
ผมเลยรู้สึกว่า อีกด้านหนึ่งของความกลัว มันผลักให้ชีวิตเราก้าวข้ามอะไรบางอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ หรือคนอื่นคิดว่าเราทำไม่ได้ ความกลัวเป็นแรงขับดันที่มีค่ามหาศาลเหมือนกันนะ
มีความกลัวครั้งไหนหรือแบบไหนบ้างไหม ที่คุณจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ชนกับมัน
อายุประมาณนี้ ทำให้รู้สึกว่า เราพอจะเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรในชีวิตได้พอสมควร เราดมกลิ่นได้ว่าแถวๆ นี้มันเวิร์กหรอก มีภูมิคุ้มกันส่วนตัวที่สมัยเด็กไม่รู้ ก็เผชิญหน้ากับมันทุกอย่าง ตอนนี้เดาได้ว่า งานนี้คงมีอุปสรรคประมาณนี้แหละ รู้ว่าสิ่งที่หนักที่เหี้ยที่สุดที่ต้องเจอคืออะไร แล้วคุยกับตัวเองว่ารับได้ไหม ถ้ารับได้ ประคองได้ หัวใจเต้นแรงก็ทำ
คุณเองก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่ง เรื่องค่าแต่งเพลงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อ 20 ปีก่อนเลย และเราก็มักจะได้ยินเรื่องเล่าที่แสนเจ็บปวดของคนที่อยู่เบื้องหลังอยู่บ่อยๆ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้บ้างไหม
ผมกำลังหมกมุ่นกับโมเมนต์แถวๆ นี้มาก เวลาเจอหน้าใครในวงการดนตรี ผมจะบอกทุกคนเสมอว่า ณ นาทีนี้ วงการดนตรีเดินทางมาถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ถ้าเป็นผู้ดู จับตาดูให้ดีๆ ถ้าเป็นผู้เล่นให้รู้เลยว่า นี่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ผมพูดในฐานะคนที่อยู่ค่ายแกรมมี่ก็จริง แต่สามารถพูดได้ด้วยระบบที่โลกนี้เป็นไป มันกำลังล้างระบบเดิมตกขอบไปหมดแล้ว
เรื่องนี้น่าจะตอบโจทย์เกี่ยวกับการทำงานได้ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า ผมเชื่อว่า โลกใบนี้เสมอภาคแล้วด้วยโซเชียลมีเดีย คำพูดยอดฮิตเกี่ยวกับคำว่า Disrupt เกิดขึ้นกับวงการเพลงโดย 100% ค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่ก็โดน Disrupt เต็มที่แล้วตอนนี้
ผมมองว่า ต่อไปความเป็นค่ายเพลงจะเริ่มจางลง ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกนะ อีก 10 ปี อาจต้องกลับมาคุยกันใหม่ แต่ถ้าแกรมมี่ยังไม่ทำอะไรใหม่ๆ ยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แกรมมี่จะเป็นแค่บริษัทดูแลลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่ค่ายเพลงอีกต่อไป
ตอนนี้ทุกอย่างม้วนกลับหัวกลับหางกันหมด ใครผลิตเพลงที่เป็นต้นน้ำได้จะเป็นคนกุมทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาเพลงคือปลายน้ำ ค่าแต่งเพลง 5,000 บาท มิวสิกวิดีโอมีงบให้ 1 ล้านบาท ตอนนี้ทุกอย่างจะกลับกัน เมื่อคำว่าลิขสิทธิ์ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นในด้านที่ถูกต้อง เพราะทุกคนจะหวงแหนความเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานของตัวเอง
ที่บอกว่า คนเบื้องหลังอยู่ยาก มันแตกรายละเอียดยิบย่อยได้หลายอย่าง เขาอยู่ยาก เพราะสิทธิไม่ได้เป็นของเขา เช่น เขาไม่ได้แต่งเพลงนั้นโดยเบ็ดเสร็จ เพราะเพลงจะมีเนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียง โปรดิวซ์ ถ้าศิลปินอยู่ในก้อนนั้นโดยเบ็ดเสร็จได้ เขาจะเป็นเพลงนั้นเกือบ 100% และเกือบ 100% นั้นจะเดินทางไปหาปลายน้ำตัวด้วยเอง
สังเกตได้ว่า ทุกวันนี้เด็กที่แต่งเพลงเองได้ทั้งหมดไม่เดินเข้ามาหาค่ายเพลงแล้ว หรือไม่ก็เดินไปหาค่ายเพลงที่แบ่งสัดส่วน แบ่งผลประโยชน์โดยสมน้ำสมเนื้อ แล้วทุกวันนี้มีตัวเลือกในการเป็นเจ้าของสิทธิ์มากมาย เช่น 3-5 ปีแรก เป็นของค่ายกับวงร่วมกัน แล้วหลังจากนั้นกลับเป็นของวง
ผมเรียกว่า ทำให้ระบบนิเวศของวงการเพลงหลากหลายขึ้นแล้วกัน ไม่มีเป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 ทุกคนต่อสู้บนเวทีเดียวกัน ด้วยอาวุธที่มีพอๆ กัน ไม่มีใครปิดกั้นอะไรได้แล้ว โลกทุกวันนี้เป็นโลกของเด็กรุ่นใหม่ เขาคือคนที่ชี้ชะตา เป็นคนเล่นเกมนี้ วันนี้พวกเขาอยู่ที่ไหน ก็อยู่ข้างนอก อยู่บนโซเชียลมีเดีย อยู่กับวง และค่ายของตัวเอง
“ผมเชื่อแบบนี้นะว่า ทุกอย่างมีวงจรชีวิตของมัน กำเนิด เดินทาง สูงสุด และตกต่ำ ธรรมชาติจะจัดสรรวัฏจักรนี้ด้วยตัวเอง”
ถ้าเป็นแบบนี้ระบบของค่ายใหญ่จะยังมีความสำคัญอย่างไรกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไปแบบที่คุณบอก
ช่วงนี้ผมได้คุยกับหลายๆ คน หลายหน้าที่การงาน ทั้งที่มีค่ายและไม่มีค่าย จับความรู้สึกอย่างหนึ่งได้ กระแสการไม่มีค่ายเป็นเทรนด์ เห็นได้ชัดเจน รวดเร็ว จับต้องได้ แต่ไม่ยั่งยืน อย่างวงบิ๊กแอสอยู่ในฐานะที่เคยพีกสุด ลงต่ำสุด รู้ว่าวันไหนที่พีก มีงาน ค่ายไม่สำคัญหรอก เราจะมองว่าค่ายมาเอาส่วนแบ่ง มาหาผลประโยชน์ ไม่เห็นทำอะไรให้เราเลย นั่นเพราะเรามองแต่ตัวเอง
เราจะมองเห็นความมีค่าของค่ายเพลง เมื่อคุณอยู่ในช่วงขาลง ผมเชื่อว่า ถ้าไม่มีค่ายเมื่อไร วงจะมุดหายไปเลย เพราะคุณมีตัวคนเดียว ไม่มีคอนเน็กชัน ไม่มีเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้ยังพอแหวกว่ายในกระแสนี้ได้
ความเป็นค่ายอย่างน้อยก็มีคอนเน็กชันบางอย่างที่บอกกันได้ว่า เฮ้ย เอาวงนี้มาหน่อย ช่วยกัน แปะไว้ตรงนั้น ฝากตรงนี้ให้พอมีการเดินทางอยู่บ้าง อย่างน้อยแสดงให้เห็นว่า ยังมีงานอยู่ สักวันหนึ่งเมื่อมีคนได้ยิน มีคนนิยมชมชอบอีกครั้ง ก็อาจจะกลับขึ้นมาได้อีกที
ซึ่งเรื่องพวกนี้ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ลองจับตาดูก็ได้ วงไหนไม่มีค่าย ช่วงมีงาน เขาจะพีกและมีความรู้สึกแบบนั้น แต่ให้รอดูว่า วันที่เขาไม่มีกระแส เพลงใหม่ไม่ทำงานแล้ว ณ วันนั้นเขาจะรู้สึกว่าค่ายมีความสำคัญในการพึ่งพาอาศัยและเดินหน้าไปด้วยกัน
หมายความว่าค่ายใหญ่เองก็ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถอยู่ในความสำคัญของศิลปินในทุกๆ ช่วง ไม่ใช่แค่ให้มีความสำคัญเฉพาะช่วงขาลงด้วยหรือเปล่า
ค่ายเพลงต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เป็นไป และต้องใส่ใจในทุกกระบวนการของมัน อย่างเรื่องค่าแต่งเพลงที่ผมเคยบอกว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ได้ 5,000 บาท ตอนนี้ก็ยังเท่าเดิม ถ้ากลับมาใส่ใจตรงนี้เป็นการผลิตต้นน้ำ กลับหัวกลับหาง ให้ความสำคัญตรงนี้ใหม่ คุยเรื่องส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้ชัดเจน แต่งตัว ปรับบุคลิกใหม่ แล้วต้นน้ำจะพาเราไปหาสิ่งอื่นได้พร้อมๆ กัน
ต้นน้ำสำคัญมาก เพราะในค่ายใหญ่จะมีหลายองค์กรที่พอพึ่งพาให้ต้นน้ำทำงาน แล้วมีน้ำไหลไปหาเขา ธุรกิจโชว์บิส สำคัญที่สุด ที่ผ่านมาทำรายได้มากมายมหาศาล ทุกคนพุ่งมาที่การจัดคอนเสิร์ต เหมือนมีบ่อน้ำกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากตาน้ำเล็กๆ บนภูเขา
ทุกคนเห็นว่า มีค่าก็ไปตักน้ำมาใช้ แล้วไม่มีใครดูว่า บนภูเขาลูกนั้นเหลือต้นไม้อยู่กี่ต้นที่ทำให้ฝนตก ที่คอยผลิตน้ำ จนน้ำเริ่มไม่ไหลลงมา น้ำในบ่อก็เหลือน้อยลงทุกวัน สุดท้ายเมื่อไม่มีน้ำให้ตัก ธุรกิจโชว์บิสก็จะตาย ไม่มีเพลงให้วงเอาไปเล่น เอาไปโชว์ มันต้องคิดใหม่ ทำใหม่แบบนี้
ไม่ใช่แค่วงการดนตรีอย่างเดียว วงการอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ก็จะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่าคนเบื้องหลังต้องโหมทำงานหนักเหมือนกัน
นี่แหละที่เขาเรียกว่าชีวิต เพราะเอาจริงๆ เวลาเราบอกว่า ค่าแพงเพลงไม่ขึ้น อ้าว ก็ไปทำอย่างอื่นสิ เขาไม่ได้เอาปืนมาจี้ให้เราต้องทำต่อ เราดันหลงรักและยินดีที่จะทำมันต่อ
แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้โง่พอที่จะยอมรับและนอนรอความล่มสลาย เราพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยการเรียกร้องหรืออะไรก็ตาม เพียงแต่ตอนนี้ระบบมันทำงานของมันอยู่ ผมเชื่อแบบนี้นะว่า ทุกอย่างมีวงจรชีวิตของมัน กำเนิด เดินทาง สูงสุด และตกต่ำ ธรรมชาติจะจัดสรรวัฏจักรนี้ด้วยตัวเอง
ล่าสุดผมคุยกับเพื่อนที่จังหวัดกระบี่ เขาอธิบายเรื่องน้ำซัดชายหาด จนผมเข้าใจชีวิตขึ้นมาเลยนะว่า ทำไมช่วงโลซีซันถึงมีแต่ขยะเต็มชายหาด เขาบอกว่า มึงรู้ไหม ไม่ต้องทำอะไรหรอก เดี๋ยวพอถึงหน้าไฮซีซัน น้ำจะพัดออกไปเอง ซึ่งแน่นอนนะว่า ถ้าเราเห็นขยะแล้วไปเก็บ หรือสร้างและทิ้งขยะให้น้อยที่สุด นั่นคือสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายธรรมชาติจะทำหน้าที่ของมัน เพราะวันหนึ่งจะมีทุกสิ่งเกิดขึ้น และหายไป
นอกจากมองความเปลี่ยนแปลงของวงการดนตรีด้วยความเข้าใจ ลึกๆ แล้วในฐานะคนที่อยู่ในวงการมาตลอด ยังมีความกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวงบิ๊กแอสหรือตัวคุณเองอยู่อีกบ้างหรือเปล่า
มีความโชคดีบนความโชคร้าย คือวงบิ๊กแอสออกอัลบั้มในทุกข้อต่อของวงการดนตรี ตั้งแต่ออกเทป เปลี่ยนเป็น MP3 มาเป็นดาวน์โหลดริงโทน มาสู่สตรีมมิง ทุกช่วงจะมีความกลัวเกิดขึ้นตลอดว่า จะรอดไหมวะ เปลี่ยนแปลงอีกแล้วเหรอวะ
สิ่งที่ทำให้บิ๊กแอสอยู่รอดมา 20 ปี คือการแต่งเพลง บอกตัวเองว่า ต้องมีผลงานออกมาแค่นั้นเลย เพราะไม่มีประโยชน์เลยถ้ามัวแต่นั่งคร่ำครวญว่าจะรอดหรือไม่รอด อย่างน้อยถ้ามีเพลงออกมา มึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ดีหรือชั่วไม่รู้นะ เดี๋ยวเพลงจะบอกเอง แต่ถ้าไม่มีเพลงออกมานั่นแหละ มึงไม่รอดแน่ๆ
แล้วถ้ามองในฐานะภาพรวมของการเป็นนักแต่งเพลง ที่คุณเคยบอกว่า อยากทำงานนี้ไปตลอดชีวิตล่ะ มีความกังวลเหลืออยู่บ้างไหม
ผมสะท้อนคำถามนี้ด้วยประโยคของ พี่วิภว์ บูรพาเดชะ ที่เมื่อก่อนอยู่ทีมเขียนเพลงเดียวกันที่ค่ายมิวสิก บั๊ก เขาเคยบอกผมว่า กบรู้ไหม อาชีพนักแต่งเพลงมันไม่มีจริง ตอนนั้นผมไม่เคยเชื่อเลยนะ จนเวลาผ่านมาถึงตอนนี้ ผมถึงเข้าใจว่า นักแต่งเพลงมันไม่ใช่อาชีพจริงๆ
การเป็นนักแต่งเพลงของผมคืองานหนึ่งที่ผมรัก และทำให้เงินเพิ่มขึ้น แต่จะยึดเป็นอาชีพได้แค่ในช่วงวัยหนึ่งเท่านั้นเอง ในวันที่คนฟังรับสารประเภทเดียวกับเราอยู่ อาจจะอายุ 20 หรือ 30 ต้นๆ แต่พออายุ 40 จะรู้สึกทันทีว่า อาชีพนักแต่งเพลงอยู่โคตรยาก
เพราะฉะนั้น ผมว่าเราต้องเป็นให้ได้มากกว่านักแต่งเพลง ถ้ามีคนอยู่ได้ผมยินดีนะ เจ๋งมาก แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่มีวงบิ๊กแอส ผมจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ ยากมาก ผมกำลังจะบอกว่า คนรุ่นใหม่หรือใครก็ตามที่จะมาทางนี้ นอกจากแต่งเพลงแล้ว คุณต้องเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวงการเพลงให้ได้มากที่สุด เพราะวันหนึ่งคุณไม่รู้หรอกว่าจะเอามันไปใช้ประกอบอาชีพอื่นได้ แต่ต้องวงเล็บไว้ก่อนนะว่า ต้องบอกตัวเองว่า เราต้องเป็นนักแสดงให้ดีที่สุดอยู่เสมอนะ
เจ็บปวดหรือผิดหวังมากขนาดไหน ในวันที่ต้องยอมรับว่า การแต่งเพลงที่คุณรักมากๆ มันอาจไม่สามารถเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้จริงๆ
วันหนึ่งจะรู้เองว่า เราแต่งเพลงไปตลอดรอดฝั่งไม่ได้หรอก เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตอีกแบบ คิดอีกแบบ อายุ 40 ก็ใช้ชีวิตอีกแบบ ช่วงที่ผมเขียนเพลงไปสักพัก ก็มีความรู้สึกหนึ่งขึ้นมานะ โหยหานักแต่งเพลงยุคเก่าที่เก่งๆ เป็นครูบาอาจารย์ของเรา คิดว่าทำไมเขาไม่แต่งเพลงต่อ เสียดายฝีมือ
พออายุเท่านั้น เรารู้เลยว่า ณ ตอนนั้นเขาอยากคุยกับใครอยู่ เขารู้ตัวเองว่า สามารถคุยกับใครได้ และเลือกทำงานออกมาในรูปแบบไหน ผมเห็นครูบาอาจารย์ รุ่นพี่หลายคนไปบรรยาย แต่งเพลงเพื่อการกุศล เพื่อแคมเปญต่างๆ ที่ไม่ใช่แต่งเพลงเพื่อคนหมู่มากเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะคนหมู่มากเป็นเจนฯ ที่เปลี่ยนไป ผมเลยกลับไปหาคำตอบที่ว่า นักแต่งเพลงมีอายุของมัน พอถึงจุดหนึ่งเราจะแต่งเพื่ออีกจุดหนึ่ง ซึ่งจุดนั้นอาจจะไม่ทำเงินแล้ว
ตอนนี้ผมยังไปไม่ถึงจุดนั้น แค่เข้าใจความรู้สึกมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่า ในอัลบั้มนี้ก็อยากจะลองดูเหมือนกันว่า ถ้าพูดกับวัยรุ่น เราจะเขียนเพลงที่เขินตัวเองได้ขนาดไหน (หัวเราะ) เดี๋ยวมาลองดูกัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- Genie Fest 2020 ตอน Rock Mountain ที่กบรับหน้าที่เป็นโชว์ไดเรกเตอร์ คือเทศกาลดนตรีที่รวมศิลปินร็อก 25 Hours, Cocktail, Klear, Labanoon, Num Kala, Palmy, Paradox และ Potato มาโชว์สุดพิเศษด้วยความยาว 10 ชั่วโมงเต็ม
- งานจัดที่ Jolly Land เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2020 จะเปิดขายบัตรในวันที่ 5 มกราคม 2020
- ติดตามบทสัมภาษณ์ กบ บิ๊กแอส กับประสบการณ์ความสนุก เจ็บปวด และท้าทาย ในฐานะโชว์ไดเรกเตอร์หน้าใหม่ของเขาแบบเต็มๆ อีกครั้งได้ที่ THE STANDARD POP เร็วๆ นี้