×

งานวิจัยให้คำตอบ ต้องใช้เวลาเยียวยาจิตใจนานแค่ไหนหลังการสูญเสีย

26.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างสุขภาพจิตของคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป และคนที่ไม่ได้ประสบกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเลย การที่จะให้คนที่กำลังประสบกับความสูญเสียกลับมามีสุขภาพจิตดีพอๆ กันกับคนที่ไม่ได้ประสบกับความสูญเสียเลยนั้น จำเป็นที่จะต้องชดใช้เงินให้กับคนที่สูญเสียถึง 312,000 ปอนด์ หรือประมาณ 14 ล้านบาท ถ้าคนที่เสียชีวิตไปเป็นคู่รักของเขา
  • จากผลการวิจัยความพึงพอใจในชีวิตก่อนและหลังการสูญเสียคู่รักของคนเยอรมันของแอนดรูว์ คลาร์ก (Andrew Clark) และเพื่อนๆ พบว่า คนเราส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียงแค่ปีสองปีหลังจากการตายของคนที่เป็นคู่รักเราเท่านั้นในการกลับมามีความสุขเหมือนเดิม
  • คนเราส่วนใหญ่มักจะประเมินความสามารถในการปรับตัวของความสุขของคนเราต่ำเกินไป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ในปีที่เราสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของเรานั้น เรามักจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าเราจะสามารถกลับมามีความสุขเหมือนเดิมได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาช่วยรักษาแผลใจให้กับคนเราได้จริงๆ

     “คุณยายสิ้นแล้วนะ เวลา 10.45 น.”

     เป็นสิ่งที่ผมเห็นเป็นสิ่งแรกบนไอแพดของผมเมื่อวันจันทร์ที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าผมจะทำใจไว้ก่อนตั้งนานแล้วว่า วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนที่ผมจะบินกลับมาสอนที่ประเทศอังกฤษ อาจจะเป็นวันสุดท้ายที่ผมได้อยู่กับคุณยาย ได้จับมือคุณยาย ได้คุย ได้หัวเราะกับคุณยาย ผมก็ทนไม่ได้ที่จะปล่อยโฮกลางเตียงนอนของผมและภรรยา เพราะคุณยายเป็นคนที่เลี้ยงผมและน้องสาวมากับมือตอนที่เรายังเป็นเด็กเล็กๆ ตอนที่คุณพ่อคุณแม่ของเรายังต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ผมและน้องสาวก็มีคุณยายนี่แหละที่เปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเราทั้งสองคน

     คุณยายเป็นคนใจดี โอบอ้อมอารี มีความอดทนอดกลั้นสูง คุณยายเป็นคนที่ดีใจที่สุดทุกครั้งที่ผมบินกลับไปเยี่ยมบ้าน คุณยายเป็นคนที่ผมรักมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของผม

 

 

Death is so much harder on the living

     พระพุทธศาสนาสอนเอาไว้ว่า ชีวิตคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องมีดับเป็นเรื่องธรรมชาติ สำหรับชาตินี้ คุณยายท่านได้ทำบุญทำกรรมมาแค่นี้เท่านั้น และตอนนี้คุณยายท่านก็ไปสบายแล้ว

     แต่สำหรับผม และผมเชื่อว่าก็คงจะไม่ใช่ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีความรู้สึกว่า ความตายของคนที่เรารักนั้นเป็นสิ่งที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถทำใจได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับการเปิด-ปิดสวิตช์ไฟ ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาจะสอนให้เรามองความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตคนเราก็ตาม

     คำถามสำคัญ 3 คำถามที่ผมมีเกี่ยวกับความตายของบุคคลที่เรารักในขณะนี้คือ

     1. ความสุขของคนเราลดลงมากน้อยแค่ไหนหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

      2. คนเราสามารถกลับมามีความสุขเหมือนแต่ก่อนหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้ไหม และถ้าได้ ต้องใช้เวลานานขนาดไหนในการเยียวยาความเจ็บปวดในครั้งนี้

      3. คนเราสามารถคาดการณ์ความสุขของตัวเองในอนาคตได้ดีมากน้อยแค่ไหนหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว

 

1. ความสุขของคนเราลดลงมากน้อยแค่ไหนหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

     จากผลงานวิจัยของผมและจากผลงานวิจัยของเพื่อนร่วมทางสายเดียวกันพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วความพึงพอใจของชีวิต (life satisfaction) และสุขภาพจิต (mental health) ของคนเรานั้นจะมีค่าลดลงอย่างมากในปีที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป แต่ความเจ็บปวดที่คนส่วนใหญ่จะประสบโดยเฉลี่ยแล้วนั้นมักจะมีค่าที่แตกต่างกัน ซึ่งค่าที่แตกต่างกันนี้ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลอันเป็นที่รักคนไหนเป็นคนที่ตายจากเราไป

     ถ้าดูจากผลงานวิจัยสุขภาพจิตของคนอังกฤษที่ผมทำกับแอนดรูว์ ออสวอลด์ (Andrew Oswald) แล้วละก็ จะสามารถเห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สุขภาพจิตของคนอังกฤษติดลบมากที่สุดในปีของการสูญเสียคู่ชีวิต รองลงมาก็คือการสูญเสียลูก รองลงมาอีกก็คือมารดา บิดา เพื่อนสนิท และพี่น้อง

     และถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างสุขภาพจิตของคนที่ในปีนั้นสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป และคนที่ในปีนั้นไม่ได้ประสบกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเลย ในการที่จะให้คนที่กำลังประสบกับความสูญเสียกลับมามีสุขภาพจิตดีพอๆ กันกับคนที่ไม่ได้ประสบกับความสูญเสียเลยนั้น เราจำเป็นที่จะต้องชดใช้เงินให้กับคนที่สูญเสียถึง 312,000 ปอนด์ (หรือประมาณ 14 ล้านบาทในอัตราแลกเปลี่ยนของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017) ถ้าคนที่เสียชีวิตไปเป็นคู่รักของเขา

     และถ้าคนที่เสียชีวิตเป็นลูกของเขา เราจำเป็นที่จะต้องชดใช้เงินให้กับคนที่สูญเสียถึง 126,000 ปอนด์ (ประมาณ 5.6 ล้านบาท)

     22,000 ปอนด์ (ประมาณ 1 ล้านบาท) ถ้าคนที่เสียชีวิตเป็นพ่อหรือแม่

     8,000 ปอนด์ (ประมาณ 3.5 แสนบาท) ถ้าคนที่เสียชีวิตเป็นเพื่อนสนิท

     1,000 ปอนด์ (ประมาณ 45,000 บาท) ถ้าคนที่เสียชีวิตเป็นพี่หรือน้อง

 

     ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเงินสามารถชดใช้ความรู้สึกโศกเศร้าที่มาพร้อมๆ กับความสูญเสียนะครับ แต่สิ่งที่อยากจะสื่อก็คือ ความรู้สึกถึงการสูญเสียนั้นมีค่าติดลบมากมายกว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินและความสุขอย่างที่เราอาจจะนึกไม่ถึงมาก่อน โดยเฉพาะการสูญเสียคู่รัก ลูก และบิดามารดา

 

2. คนเราสามารถกลับมามีความสุขเหมือนแต่ก่อนหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้ไหม และถ้าได้ ต้องใช้เวลานานขนาดไหนในการเยียวยาความเจ็บปวดในครั้งนี้

     จากผลการวิจัยความพึงพอใจในชีวิตก่อนและหลังการสูญเสียคู่รักของคนเยอรมันของแอนดรูว์ คลาร์ก (Andrew Clark) และเพื่อนๆ พบว่า ความพึงพอใจในชีวิตของผู้ชายและผู้หญิงเยอรมันลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปีของการสูญเสียคู่รักไป แต่โดยเฉลี่ยแล้วในเวลาเพียงแค่หนึ่งปีสำหรับผู้ชาย และสองปีสำหรับผู้หญิงเท่านั้น หลังจากนั้นความพึงพอใจในชีวิตของคนเราก็สามารถที่จะปรับตัวกลับคืนมาเหมือนเดิมได้

     พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียงแค่ปีสองปีหลังจากการตายของคนที่เป็นคู่รักเราเท่านั้นในการกลับมามีความสุขเหมือนเดิม

     เพราะอะไรความสุขของคนเราถึงสามารถปรับตัวกับความสูญเสียได้เร็วขนาดนั้น สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งก็คือ ในปีแห่งความสูญเสีย คนเรามักจะใช้เวลาส่วนใหญ่คิดถึงคนที่เราต้องสูญเสียไป แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จุดโฟกัสของคนเราก็มักจะขยับเขยื้อนไปที่อื่นแทน และจากการที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในปีแรกๆ ของการสูญเสียคิดถึงคนที่จากเราไป เพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้เวลาเท่าเดิมในการคิดถึง หรือถ้าคิดถึงก็จะคิดถึงแต่ในความทรงจำที่ดีอย่างเดียว

 

ความพึงพอใจของผู้ชายเยอรมันก่อนและหลังการเสียชีวิตของภรรยา (T=0)

ความพึงพอใจของผู้หญิงเยอรมันก่อนและหลังการเสียชีวิตของสามี (T=0)

ที่มา: Clark et al (2008)

 

3. คนเราสามารถคาดการณ์ความสุขของตัวเองในอนาคตได้ดีมากน้อยแค่ไหนหลังจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว

     จากผลงานวิจัยล่าสุดของเรโต โอเดอร์แมตต์ (Reto Odermatt) และอโลอิส สตุทเซอร์ (Alois Stutzer) ที่ใช้ข้อมูลของการคาดการณ์ความพึงพอใจในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า (future life satisfaction) ของคนที่สูญเสียคู่รักในประเทศเยอรมนีพบว่า ในปีแห่งการสูญเสีย (หรือในปีที่เรากลายเป็นพ่อหม้ายหรือแม่หม้าย) คนเราส่วนใหญ่มักจะคิดว่าชีวิตในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นก็คงจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่คงจะไม่ได้ดีขึ้นไปมากกว่านี้สักเท่าไร

     แต่ที่ไหนได้ พอครบรอบ 5 ปีแห่งการสูญเสียปุ๊บ ทั้งเรโตและอโลอิสกลับพบว่า คนเราส่วนใหญ่กลับมีความสุขโดยเฉลี่ยสูงกว่าความสุขที่พวกเราเคยคาดการณ์เอาไว้ในอดีต

     พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราส่วนใหญ่มักจะประเมินความสามารถในการปรับตัวของความสุขของคนเราต่ำเกินไป ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ในปีที่เราสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของเรานั้น เรามักจะไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าเราจะสามารถกลับมามีความสุขเหมือนเดิมได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาช่วยรักษาแผลใจให้กับคนเราได้จริงๆ

 

ที่มา: Odermatt & Stutzer (forthcoming)

 

     สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าการวิจัยของผมและเพื่อนๆ จะไม่สามารถช่วยเยียวยาความรู้สึกโศกเศร้าที่ผมมีจากการสูญเสียคุณยายของผมได้ แต่ผมก็หวังว่าอย่างน้อยผมก็จะสามารถปรับตัวปรับใจให้กลับมารู้สึกโอเคเหมือนเดิมได้ในอีกไม่ช้า และผมก็ยังหวังอีกว่า ทุกๆ ครั้งที่ผมคิดถึงคุณยายในอนาคต ผมจะสามารถมองย้อนกลับไปพร้อมๆ กับรอยยิ้มแทนน้ำตาแห่งความคิดถึงและความทรงจำที่ดีที่ผมและครอบครัวของผมมีให้กับท่านอย่างเดียว

     รักและคิดถึงคุณยายครับ

 

อ้างอิง:

  • Clark, A.E., Diener, E., Georgellis, Y. and Lucas, R.E., 2008. Lags and leads in life satisfaction: A test of the baseline hypothesis. Economic Journal, 118(529), F222–F243
  • Odermatt, R. and Stutzer, A., Forthcoming. (Mis-) predicted subjective well-being following life events. Journal of European Economic Association.
  • Oswald, A.J. and Powdthavee, N., 2008. Death, happiness, and the calculation of compensatory damages. Journal of Legal Studies, 37(S2), pp.S217-S251.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising