กลุ่มการเมือง Union หรือการรวมตัวของพรรค Christian Democratic Union (CDU) และ Christian Social Union in Bavaria (CSU) ของเยอรมนีได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ (32.9%) ทำให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) สามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกเป็นสมัยที่ 4 อย่างไรก็ตามคะแนนของกลุ่ม Union ลดลงต่ำสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ตั้งแต่เยอรมนีมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกันที่พรรคขวาจัด (AfD) ได้เข้าไปมีที่นั่งในสภาตามระบอบบัญชีรายชื่อตามที่คาดการณ์ (12.6%) ขณะที่พรรค Social Democratic Party (SPD) ที่ได้คะแนนตามมาเป็นอันดับสอง (20.8%) และเป็นพรรคที่เคยจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับกลุ่ม Union ในรัฐบาลที่ผ่านมาตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาล แต่เป็นฝ่ายค้านแทนในครั้งนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้อังเกลา แมร์เคิลใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลเป็นเดือน
การที่อังเกลา แมร์เคิลรักษาตำแหน่งได้อีกสมัย จะส่งผลให้นโยบายสำคัญๆ ของเธอดำเนินต่อไปทั้งการยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ การคว่ำบาตรรัสเซียจากวิกฤตไครเมีย การไม่สนับสนุนนโยบายทางทหารของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีเหนือ การต่อต้านตุรกีไม่ให้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป รวมถึงการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
ปัจจัยที่ทำให้อังเกลา แมร์เคิลชนะการเลือกตั้งทั่วไปเป็นสมัยที่ 4
อังเกลา แมร์เคิล คือ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งถึง 4 สมัย ซึ่งหมายความว่า เธอดำรงตำแหน่งมาแล้ว 12 ปี และจะดำรงตำแหน่งไปอีก 4 ปี หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นกลางสมัยที่ 4 ของเธอ
ณัฐนันท์ คุณมาศ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปศึกษาชี้ว่า อังเกลา แมร์เคิลคือผู้นำที่มีฐานเสียงจากคนหลากหลายกลุ่ม “ในการเมืองเยอรมนีนั้น Politics of Hope หรือการเมืองแห่งความหวังจะได้รับการยอมรับมากกว่า Politics of Hate หรือการเมืองแห่งความเกลียดชัง ซึ่งแม้ว่าอังเกลา แมร์เคิลจะมีความเป็นขวากลาง แต่เธอคือผู้นำที่มีฐานเสียงจากทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มวัยรุ่น อย่างเช่น นโยบายเปิดพรมแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น นโยบายเปิดพรมแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ และตัวพรรคคู่แข่งอย่าง SPD เองก็ไม่ได้เสนอทางเลือกอะไรใหม่ ทางด้านโยบายต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน นโยบายสวัสดิการภายในประเทศก็โดนบดบังโดย Merkel ในช่วงร่วมรัฐบาล”
สอดคล้องกับ ลูคัส แม็กซิมิเลียน มูลเลอร์ (Lukas Maximilian Mueller) นักวิจัยด้านการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคประจำมหาวิทยาลัย Freiburg ของเยอรมนีที่สะท้อนกับ THE STANDARD ว่า นอกจากอังเกลา แมร์เคิลจะยังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางแล้ว พรรคคู่แข่งอย่างพรรค Social Democratic Party (SPD) ที่ส่งตัวแทนอย่าง มาร์ติน ชูลซ์ (Martin Schultz) ลงสมัครนั้นอ่อนแอด้วยเช่นกัน “ที่ผ่านมาอังเกลา แมร์เคิลประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนจุดยืนต่อนโยบายสำคัญๆ ตามกระแสความคิดเห็นของสาธารณชน ทำให้เธอไม่ได้มีจุดยืนที่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง
“ไม่ว่าจะเป็นทั้งนโยบายยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2020 หรือกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันที่ทำให้เธอได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
ส่วนในด้านนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยที่ในเบื้องต้นถูกคาดการณ์ว่า จะกระทบต่อความนิยมในตัวเธอ แต่เธอก็ประสบความสำเร็จในการนำจุดยืนด้านศีลธรรมและมนุษยชนมาต่อสู้ในเรื่องนี้
“สิ่งที่น่ากังวลคือการเมืองเยอรมนีที่ขึ้นอยู่กับอังเกลา แมร์เคิลมากเกินไป อาจกระทบต่อประชาธิปไตยของเยอรมนีในระยะยาวได้ เพราะประชาชนดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกมากนักในการเมืองเยอรมนี พรรคสำคัญๆ รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลติดต่อกันหลายสมัย และมีนโยบายที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่สิ่งนี้มีข้อดีคือทำให้พรรคฝ่ายขวาจัดขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเมืองเยอรมนีได้ยาก”
โดยที่ผ่านมานั้นสมัยที่หนึ่งและสมัยที่สามของอังเกลา แมร์เคิลนั้นเป็นรัฐบาลผสมระหว่างสองพรรคใหญ่ที่สุดของเยอรมนี (Grand Coalition) คือ Union (พรรค Christian Democratic Union และพรรค Christian Social Union in Bavaria) กับพรรค Social Democrats Party (SPD) ทำให้การเมืองเยอรมนีที่ผ่านมาจะไม่มีสองขั้วพรรคที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังเช่นในการเมืองของประเทศอื่น แต่ครั้งนี้พรรค SPD ตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาล และเป็นฝ่ายค้านแทน
การเข้ามาเป็นสมาชิกรัฐสภาของพรรคฝ่ายขวาจัดเป็นครั้งแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แม้การเลือกตั้งของเยอรมนีครั้งนี้จะไม่เห็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่นการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์หรือฝรั่งเศสในต้นปีที่ผ่านมา เพราะนโยบายของพรรคใหญ่ๆ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่กระแสฝ่ายขวาในการเมืองเยอรมนีก็มีปรากฏให้เห็นเช่นกัน โดยครั้งนี้พรรค Alternative for Deutschland (AfD) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011 สามารถเข้าไปมีที่นั่งได้ในสภาตามระบอบบัญชีรายชื่อตามที่คาดการณ์ และได้คะแนนตามมาเป็นอันดับ 3 โดยได้คะแนน 13.1% ซึ่งสูงกว่าที่โพลสำรวจเคยคาดการณ์ว่า พรรค AfD จะได้คะแนนราว 8-11% โดยกฎหมายของเยอรมนีกำหนดว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 5% จะมีที่นั่งในรัฐสภา ทำให้ครั้งนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่พรรคฝ่ายขวาจัดสามารถเข้าไปมีที่นั่งในสภา
ณัฐนันท์ คุณมาศ มองว่า “แม้พรรคฝ่ายขวาจัดอย่าง AfD จะไม่ได้รับเชิญเข้าไปร่วมรัฐบาลผสม เพราะพรรคการเมืองใหญ่ในเยอรมนี จะไม่เอาการเมืองมา ‘เล่น’ โดยยอมรวมกับพรรคสุดโต่งเพื่อเพียงแค่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ยังต้องมองต่อว่าการที่พรรค AfD จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านได้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นรัฐบาลผสมหลากสีเหมือนธงชาติจาเมกา หรือ ‘Jamaica Coalition’ ระหว่างสามพรรคการเมือง (ดำ (CDU) เหลือง (FDP) เขียว (Green) ซึ่งเปลี่ยนจากรัฐบาลผสมเดิมระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่”
เช่นเดียวกับ ลูคัส แม็กซิมิเลียน มูลเลอร์ ที่มองว่า “แม้พวกเขาจะไม่ได้เข้าไปเป็นรัฐบาล แต่การที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้พวกเขามากพอที่ทำให้พวกเขามีที่นั่งในสภาก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกอะไรเช่นกัน อย่างไรก็ตามผมมองว่าการเข้ามาของพรรค AfD จะไม่เปลี่ยนอะไรมากนัก เพราะพรรคสำคัญๆ ของเยอรมนียังมีแนวคิดทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน”
อนาคตของสหภาพยุโรปในยุคของอังเกลา แมร์เคิลอีกเป็นครั้งที่ 4
แม้อังเกลา แมร์เคิลจะเป็นผู้นำระดับประเทศ แต่อิทธิพลและนโยบายของเธอมีอิทธิพลอย่างมากในระดับภูมิภาคหรือสหภาพยุโรป ซึ่งตั้งแต่เธอเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เธอเผชิญกับทั้งวิกฤตหนี้ยุโรป การทะลักของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ รวมถึงภัยการก่อการร้าย
โดยจุดยืนการเปิดรับผู้ลี้ภัย และการช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศสมาชิกในช่วงวิกฤตหนี้ยุโรปของอังเกลา แมร์เคิลนั้นถูกตั้งคำถามจากทั้งประเทศสมาชิกและชาวเยอรมันเอง อย่างเช่น การเปิดรับผู้ลี้ภัยที่ถูกบางฝ่ายมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก ที่ชาวเยอรมันบางส่วนไม่พอใจที่รัฐใช้ภาษีของพวกเขาไปช่วยเหลือประเทศอื่น และทำให้บางประเทศสมาชิกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความมีอำนาจ (Hegemony) ของเยอรมนี หรือสหภาพยุโรปเองว่าทำให้พวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจน้อยลง
ลูคัส แม็กซิมิเลียน มูลเลอร์ มองว่า “ความเป็นผู้นำของเยอรมนียิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะวิกฤตยุโรปเช่นนี้ แต่บทบาทของเยอรมีต่อสหภาพยุโรปหลังจากนี้คือ ต้องทำให้ประเทศสมาชิกรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น หรือรู้สึกว่าพวกเขาได้เสนอทางเลือกต่อปัญหาต่างๆ มากขึ้น อย่างเช่นเรื่องการรับผู้ลี้ภัย แม้ผมจะสนับสนุนการรับผู้ลี้ภัย แต่การไม่มีช่องทางการเสนอทางเลือกของฝ่ายต่างๆ อย่างเพียงพอ จะเป็นภัยคุกคามต่อสหภาพยุโรปเอง เราจะเริ่มเห็นการพูดคุยเรื่องนี้ในฮังการีหรือเชก ซึ่งถ้าเยอรมนียังคงพฤติกรรมเช่นนี้ก็จะเสี่ยงต่อเยอรมนีเอง เพราะตอนนี้เกมเปลี่ยนแล้ว”
การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ของอังเกลา แมร์เคิลยังสำคัญมากเพราะเกิดขึ้นในช่วงการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
ณัฐนันท์ คุณมาศ มองว่า “การได้อังเกลา เมอร์เคิลกลับมาเป็นผู้นำจะทำให้จุดยืนของสหภาพยุโรปต่อการเจรจา Brexit กับสหราชอาณาจักรมีความต่อเนื่อง และทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นว่าจะคงความร่วมมือด้านไหนไว้บ้าง นอกจากนี้อังเกลา แมร์เคิลยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสในการแก้ไขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปชายชอบ ด้วยการมีนโยบายการคลังที่ร่วมกันมากขึ้น และยังมีนโยบายต่อเกาหลีเหนือที่สอดคล้องกันคือ ไม่สนับสนุนนโยบายทางทหารของทรัมป์ แต่สนับสนุนการเจรจา”
โดยที่ผ่านมาจุดยืนต่อเรื่อง Brexit ของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ยังค่อนข้างคลุมเครือ ซึ่งล่าสุดเธอได้กล่าวต่อเรื่องนี้ในอิตาลีว่า เธอต้องการให้สหราชอาณาจักรยังอยู่ภายใต้ตลาดเดียว (Single Market) ของสหภาพยุโรปหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เดือนมีนาคมปี 2019) ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี และยังต้องการเปิดรับการอพยพเข้าของชาวยุโรป เนื่องจากสหราชอาณาจักรอาจจะยังไม่พร้อมกับผลของ Brexit เลยโดยทันที
ลูคัส แม็กซิมิเลียน มูลเลอร์ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องแนวคิดการรวมตัวของสหภาพยุโรป ในช่วงที่แนวคิดนี้เริ่มสั่นคลอนว่า “สหภาพยุโรปยังหนีไม่พ้นอิทธิพลของผู้นำของแต่ละประเทศ และประชาชนเองก็ยังรู้สึกว่าการเมืองระดับประเทศมีอิทธิพลต่อพวกเขามากกว่า ถ้าประเทศสมาชิกอยากจะให้การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง และมีความร่วมมือมากขึ้น รัฐสภายุโรปควรจะมีบทบาทหรือมีตัวตนมากกว่านี้ หรือประชาชนควรจะมีส่วนร่วมต่อสหภาพยุโรปมากขึ้น แนวคิดนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ต่อเมื่อเราให้เวลากับแต่ละประเทศในการมีเศรษฐกิจที่มั่นคงก่อน แต่ผมมองว่านี่เป็นเป้าหมายระยะยาวมาก และไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหม แต่คงไม่เกิดขึ้นในสิบปีข้างหน้าแน่นอน”
Cover Photo: Odd ANDERSEN/AFP