Q: บังเอิญเจอว่าลูกน้องกำลังหางานใหม่อยู่ รู้สึกใจหายเหมือนกันค่ะว่าเราทำอะไรผิดหรือเปล่า ควรเรียกมาคุยดีไหมคะ ไม่อยากให้เขาออกไปเลย หาคนใหม่ก็ยากค่ะ แล้วจะคุยอย่างไรไม่ให้เขาลาออกคะ
A: ไม่ผิดที่ลูกน้องจะมองหางานใหม่ และไม่ผิดที่คุณจะไม่อยากเสียเขาไป ทั้งสองสิ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เข้าใจได้ และเราต้องอยู่กับมันได้ครับ
ผมเคยทราบมาว่าบางบริษัทวางระบบไอทีที่พนักงานไม่รู้ว่าทุกหน้าเว็บที่เราเข้านั้นมีบันทึกไว้หมด นอกจากบันทึกว่าเข้าเว็บอะไรบ้างแล้ว ยังบันทึกไว้ด้วยว่าเราใช้เวลาในหน้าเว็บนั้นนานแค่ไหน ลึกไปกว่านั้นคือระบบยังทำการแคปหน้าจอบันทึกไว้ด้วยตามเวลาที่กำหนด ถ้านั่นยังไม่หวาดเสียวพอ บางที่วางระบบขนาดที่มีอีเมลแจ้งเตือนหัวหน้าทันทีที่ลูกน้องเข้าเว็บไซต์หางาน เพื่อส่งสัญญาณบอกหัวหน้าว่าให้จับตาดูลูกน้องคนนี้หน่อย เขาอาจจะมีเรื่องไม่สบายใจบางอย่างอยู่ หัวหน้าเข้าไปคุยกับเขาหน่อย เผื่อจะช่วยลูกน้องคนนี้ให้สบายใจขึ้นได้
แต่คุณคิดว่าเราห้ามลูกน้องไม่ให้หางานใหม่ได้เหรอครับ มันก็เหมือนกับห้ามเขารู้ว่าโลกภายนอกบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง เราห้ามกันไม่ได้หรอกครับ
การที่ลูกน้องมองหางานใหม่อยู่นั้น มันก็เป็นไปได้ทั้งการที่ลูกน้องแค่อยากรู้ว่าตลาดงานภายนอกตอนนี้เขาเป็นอย่างไรกัน มีงานแบบไหนอยู่บ้าง มองหาคนแบบไหน มองหาทักษะแบบไหน สวัสดิการเป็นอย่างไรบ้าง หรือไม่ก็ไปอัปเดตโปรไฟล์สักหน่อย เผื่อว่าถ้ามีโอกาสเข้ามาก็อาจจะพิจารณา เลือกหรือไม่เลือกก็อีกเรื่องหนึ่ง
อันที่จริงผมคิดว่าข้อมูลเรื่องตลาดแรงงานนี้รู้ไว้ก็เป็นประโยชน์หมด และเราควรต้องรู้ด้วย มันคือการรู้ว่าเราอยู่จุดไหนในตลาดแรงงาน เราได้รับผลตอบแทนที่รับได้ไหม มีพื้นที่ไหนที่น่าสนใจบ้าง การขยับเขยื้อนในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ถ้าจะเติบโตเส้นทางมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ารู้ว่าเราได้เงินเดือนน้อยหรือตำแหน่งน้อยกว่าที่ตลาดให้ ก็ไม่ผิดที่เราจะรู้สึกว่ามีปัญหา ก็ในเมื่อองค์กรกำลังเอาเปรียบเขาอยู่ และก็ต้องกลับมามองว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเราได้อยู่ในจุดที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ถ้าเราพบว่าสิ่งที่เราได้รับสูงกว่าระดับตลาดทั่วไป พึงระลึกไว้เลยว่าเราก็ต้องทำงานให้คุ้มกับสิ่งที่องค์กรให้มา เพราะถ้าเรามีคุณค่าไม่เท่ากับสิ่งที่องค์กรให้มา เรานี่แหละที่จะมีปัญหา เพราะเขาจะจ่ายแพงกว่าตลาดเพื่อให้ได้คุณภาพงานที่ไม่คุ้มค่าทำไมล่ะ จริงไหมครับ เช่นเดียวกัน คนเป็นหัวหน้ายิ่งต้องรู้เลยว่าตลาดข้างนอกเป็นอย่างไร เพื่อจะกลับมามองว่าองค์กรของเรามีอะไรไปสู้เขาได้ไหม เรามีอะไรดึงดูดพนักงานใหม่หรือช่วยรักษาพนักงานเก่าไว้ได้บ้าง เพราะฉะนั้น รู้ไว้ก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน
ขณะเดียวกันมันก็เป็นไปได้ที่ลูกน้องหางานใหม่เพราะเขาไม่พอใจกับงานที่ทำอยู่ ซึ่งถ้าเราพอจะรู้ได้ว่าเขามีปัญหา เราอาจจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ หลายปัญหาหัวหน้าสามารถช่วยแก้ไขได้โดยไม่ต้องปล่อยให้ลูกน้องเดินมาลาออกก่อน เพราะถ้าถึงจุดนั้นก็สายเกินไปแล้ว
เป็นเรื่องดีครับที่คุณรู้สึกว่าอยากจะคุยกับลูกน้อง แต่ผมแนะนำครับว่าอย่าไปบอกลูกน้องว่าเรารู้ว่าเขากำลังหางานใหม่ ให้เราคุยกับเขาว่าเขารู้สึกอย่างไรกับงาน เขาวางแผนการเติบโตไว้อย่างไร ติดขัดตรงไหนบ้างไหม แล้วลองวิเคราะห์ว่าตอนนี้ใจของเขาอยู่ที่ระดับไหน ระดับที่ใจไม่อยู่แล้ว ยังไงก็จะลาออก หรือระดับที่เราช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้แล้วเขาจะรู้สึกดีขึ้น และอาจทำให้เขาตัดสินใจได้ว่าจะอยู่หรือจะไป หรือระดับที่รู้สึกโอเคอยู่ แต่สามารถดีขึ้นกว่านี้ได้
หน้าที่ของหัวหน้าอย่างเราคือช่วยเขาแก้ปัญหาครับ แล้วสิทธิ์ในการจะอยู่หรือไปเป็นสิทธิ์ของเขา เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถ้าแก้ปัญหาได้แล้วเขาอยู่ต่อก็เป็นเรื่องดี จะได้ไม่มีอะไรติดขัดในการทำงานของเขา แต่ถ้าแก้ปัญหาได้แล้วแต่เขาก็ยังจะไปอยู่ดี ให้คิดว่านี่ก็เป็นเรื่องดี เพราะเราแก้ปัญหาให้เขาก่อนเขาลาออกแล้ว ไม่อย่างนั้นปัญหามันก็ยังอยู่เหมือนเดิม และเราก็จากกันด้วยดี เขาก็ได้เห็นว่าหัวหน้าพยายามแก้ปัญหาให้เขาแล้ว ดีกว่าหัวหน้าไม่ทำอะไรเลย
ถามเขาด้วยความรู้สึกว่าเราอยากช่วยเขาแก้ปัญหา ไม่ได้ถามด้วยความรู้สึกว่าเราอยากรั้งเขาเอาไว้ให้ทำงานต่อ เพราะอย่างที่ผมบอกครับ สิทธิ์ในการอยู่หรือไปเป็นเรื่องของเขา บางทีการรั้งลูกน้องไว้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีกับชีวิตลูกน้อง ถ้าสิ่งที่เขาเจออยู่มันไม่ดีจริงๆ ให้คิดว่าอะไรก็ตามที่ดีกับลูกน้อง ทางนั้นดีที่สุด หัวหน้าไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของลูกน้องครับ หน้าที่ของเราคือในระหว่างที่เขาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหน ขอให้เราทำให้เขาเติบโตและได้เรียนรู้ที่จะเป็นหัวหน้าที่ดีได้ต่อ ให้เขามองมาที่เราแล้วรู้สึกว่า ดีใจจริงๆ ที่มีเราเป็นหัวหน้า ถ้าเราเป็นหัวหน้าที่ดี เราก็จะอยู่ในใจเขาแบบนั้น แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าที่ไม่ดี เขาก็จะไม่อยากมีหัวหน้าที่ไม่ดีในชีวิตนักหรอกครับ
คุยอย่างไรไม่ให้เขาลาออก ไม่สำคัญเท่า คุยอย่างไรแล้วทำให้เขาสบายใจขึ้น และได้ช่วยเขาแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องจะลาออกหรือไม่นั้น ปล่อยให้เขาเป็นคนตัดสินใจครับ นอกจากใช้โอกาสนี้ในการคุยกับลูกน้องแล้ว ใช้โอกาสนี้ในการกลับมาปรับปรุงตัวเองและพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น เพราะคนที่จะบอกได้ว่าองค์กรนี้ดีหรือไม่ดีในจุดไหนก็คือพนักงานเองนี่แหละครับ
ถ้าเราทำองค์กรของเราให้ดี เราเป็นหัวหน้าที่ดี มีเส้นทางการเติบโตให้ลูกน้อง ทำให้เขาทำงานที่รู้สึกตัวเองมีคุณค่า เราจะมองการลาออกว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีครับ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตแตกต่างกัน และเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่เขาเจอ เอาว่าระหว่างที่เขาอยู่กับเรา ทำให้เขารู้สึกประทับใจที่สุด เพื่อที่วันที่เขาก้าวออกไปจากเรา เขาจะก้าวออกไปด้วยความรู้สึกที่ดี เขาจะไปบอกคนอื่นๆ ว่ามันเจ๋งขนาดไหนที่เคยได้ทำงานที่นี่
ลองรับฟังเขาดีๆ ครับ เราอาจจะพบว่า ระหว่างความยากลำบากในการหาคนใหม่กับความยากลำบากที่ลูกน้องกำลังเจออยู่นั้นมันเทียบกันไม่ได้เลยก็ได้นะครับ เขาอาจจะทุกข์มากกว่าเราก็ได้ ตอนนี้ช่วยเขาแก้ปัญหาก่อน พอเขารู้สึกดีขึ้นแล้ว เขาจะเลือกเองว่าเขาจะทำอย่างไรต่อ แต่ที่แน่ๆ เขาจะมองหัวหน้าคนนี้ว่า หัวหน้าเป็นห่วงเขา หัวหน้าฟังเขา
ทำให้พนักงานมีความสุขก่อน ถ้าองค์กรดี หาคนใหม่มันไม่ยากหรอกครับ และคนที่ยังอยู่ก็จะอยู่ดีมีสุขด้วย
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า