เมื่อวานที่ผ่านมา (28 ตุลาคม) การเมืองชิลียังวุ่น หลังประชาชนจำนวนมากยังคงออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเญรา ก้าวลงจากตำแหน่ง แม้เขาจะมีคำสั่งปลดคณะรัฐมนตรีใหม่ยกชุด และยืนยันจะรับฟังเสียงประชาชนแล้วก็ตาม
นับเป็นวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของชิลี นับตั้งแต่ประเทศก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 1990
โดยผู้นำชิลีระบุจะเร่งปฏิรูปสังคม เพิ่มเงินค่าเเรงขั้นต่ำและเงินบำนาญ รวมถึงลดระดับค่ารักษาพยาบาลและค่าขนส่งมวลชลให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและยุติธรรม พร้อมระบุว่า ทางคณะรัฐบาลรู้ดีว่ามาตรการเหล่านี้อาจจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่พวกเราได้เริ่มเข้าสู่ก้าวแรกที่สำคัญแล้ว
ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงครั้งใหญ่นี้แล้วอย่างน้อย 17 ราย ผู้ชุมนุมประท้วงหลายพันรายถูกควบคุมตัว โดยชาวชิลีจำนวนไม่น้อยต่างหวังว่า “พวกเขาจะได้เห็นการเปิดรับและการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ใช่ซีนที่ยืนอยู่บนเวทีแล้วเรียกเสียงปรบมือ”
ผลสำรวจคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีชิลีโดย Cadem ชี้ว่า ขณะนี้มีชาวชิลีที่พึงพอใจต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีปิเรญาเพียง 14% เท่านั้น นับเป็นผู้นำประเทศที่ได้รับคะแนนนิยมน้อยที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคเผด็จการนายพล ออกุสโต ปิโนเชต์
ทางด้านอดีตประธานาธิบดีหญิงเพียงคนเดียวอย่าง มิเชล บาเชเล็ต ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธาน United Nations High Commissioner for Human Rights เผยต้องการตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน
โดยประธานาธิบดีปิเรญาเองก็ตอบรับ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลของตนโปร่งใส และไม่มีอะไรที่จะต้องปกปิด
ภาพ: Claudio Santana / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: