‘เศรษฐกิจดิจิทัล’
‘การพลิกโฉม’
‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน’
‘ยุค 4.0’
จะด้วยความกังวลต่อกระแส Disruption หรือเศรษฐกิจซบเซามานาน รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล และทำให้เกิดโครงการและหน่วยงานต่างๆ อาทิ การร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล การจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Goverment) เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานการบริหารงาน บุคลากรภาครัฐและการให้บริการแก่ประชาชน ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ‘พร้อมเพย์’ (PromptPay) แต่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือเป้าหมายใหญ่ที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ประเทศพัฒนา’ ผ่านกลไกที่เรียกว่า ‘ประชารัฐ’ อันหมายถึง ‘ประชาชนนำ’ แล้วรัฐจะเป็นฝ่ายหนุน
งานมหกรรม Digital Thailand Big Bang 2017 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นไทยแลนด์’ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21-24 กันยายนที่ผ่านมา ก็ยิ่งตอกย้ำถึงทิศทางที่ประเทศ (ตั้งเป้าว่า) กำลังจะไป
ทิศทางนั้นเป็นแบบไหน คงไม่ใช่แค่เราที่อยากรู้ บรรดามหาชนที่เดินกันขวักไขว่ในงานตั้งแต่วันแรกน่าจะสงสัยเช่นกันว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน?
‘โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน’ คือสโลแกนของงาน Digital Thailand Big Bang 2017
เมสเสจหลักของงานนี้ก็คือ การพาประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เวทีโลก
โดยรัฐบาลจะขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม 3 ด้าน นั่นคือ
ด้านที่ 1 โครงการเน็ตประชารัฐ มีวัตถุประสงค์คือ ให้ประชาชนเข้าถึงการสื่อสารและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น สร้างรายได้ ลดการผูกขาดจากนายทุน กระจายโอกาส ฯลฯ
ด้านที่ 2 โครงการ Digital Park Thailand ที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัลในภูมิภาค ตามนโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โครงการนี้ยังผนวกกับการสนับสนุนธุรกิจเริ่มต้น การจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT) และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับ Smart City
ด้านที่ 3 การเชื่อมโยงไทยไปสู่โลก เช่น การเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยรัฐบาลได้เร่งจัดตั้งธุรกิจ Ease of Doing Business ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลก อาทิ OECD ในเรื่องระบบข้อมูลด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ITU ในการขับเคลื่อนดิจิทัลในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมสตาร์ทอัพโลก (General Entrepreneurship Network หรือ GEN) ในเรื่องของการพัฒนาและเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพดิจิทัลของไทย และการสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์
ภายในงานยังมีโซนจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งของคนไทยและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นยกทัพหุ่นยนต์และบริการดิจิทัล อาทิ ระบบยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกมาให้ชมและทดลองกันอย่างใกล้ชิด มีเวทีแข่งขันหุ่นยนต์และการพิตช์โปรเจ็กต์ของสตาร์ทอัพ ขณะที่บริษัทจีนซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์หลักของงานนี้ก็ครองพื้นที่ใหญ่และความสนใจของผู้เข้าชมมากเป็นพิเศษ เช่น Huawei ที่นำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตในโลกอนาคตอย่าง บ้านอัจฉริยะและการเกษตรอัจฉริยะ, โมเดลธุรกิจแชร์จักรยานของ OFO ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ผู้บริหารของ Xiaomi ก็ได้เข้าร่วมเจรจากับทางรัฐบาลเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าพันธมิตรเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญต่อเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลอย่างแน่นอน
โลกเปิดมานานแล้ว (รัฐ)ไทยเริ่มปรับ เหลือแค่ว่าประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร
เมื่อโลกหันมาฟัง ‘จีน’
เมื่อไรกันที่โลกต้องก้าวตามจีน?
วันที่จีนก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก
ไอทียักษ์ของจีนติดอันดับบริษัทที่มูลค่าสูงสุดในโลก?
เมื่อทรัมป์ประกาศว่าอเมริกาต้องมาก่อน?
แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีปัญหาเรื่องภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ แต่จีนกลับทวีบทบาทความสำคัญบนเวทีโลกยิ่งขึ้นทุกขณะ หลังจากทรัมป์ประกาศต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และชี้จุดยืนชัดเจนว่า จากนี้ไป ‘อเมริกาจะต้องมาก่อน’ สปอตไลต์จึงส่องมายังแดนมังกร
ที่สำคัญ จีนกำลังยกระดับตัวเองสู่ศูนย์รวมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกภายในปี 2025 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันแบบก้าวกระโดด ซึ่งแน่นอนว่าจีนมีโอกาสสูงมาก ดังที่เราได้เห็น Tech Giants เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Alibaba, Tencent, Xiaomi, Huawei และ JD.com จนกระทั่งมาถึงยุคของสตาร์ทอัพ รัฐบาลก็ประกาศตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพและลงทุนกับการวิจัยพัฒนาเป็นจำนวนมาก พร้อมปรับกระบวนทัศน์ใหม่ว่า จีนจะต้องผลิตสินค้านวัตกรรมที่มีคุณภาพไม่แพ้ชาติใด ตามยุทธศาสตร์ Made in China 2025
“หลายปีมานี้ บริษัทซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมคลาวด์ของจีนก้าวหน้าและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกอย่างมาก” เดวิด จง รองประธานฝ่ายการตลาดนานาชาติ จากบริษัทคิงซอฟต์ ออฟฟิศ กล่าวบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ ‘How to build a Digital Nation’
“นี่ไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นข้ามคืน แต่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย” เดวิดกล่าว
เขาเล่าว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ อุตสาหกรรมไอทีของจีนต้องผ่านความท้าทาย 4 ด่านใหญ่ด้วยกัน จนสยายปีกเป็นผู้นำแห่งอุตสาหกรรมดิจิทัล
ยุคแรก เป็นยุคทองของบริษัทข้ามชาติครองตลาด เช่น Microsoft, Oracle และ IBM จีนเป็นเพียงผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ยุคที่สอง จีนเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้บริษัทไอทีจีนเติบโตพุ่งทะยานและขยายกิจการอย่างรวดเร็ว เช่น Neusoft และ CS&S บริษัทซอฟต์แวร์
ยุคที่สาม ยุคอินเทอร์เน็ตถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการไอทีจีน เกิดบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถในการแข่งขันและเข้าใจความต้องการของตลาดท้องถิ่นเป็นอย่างดี จนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน เช่น Baidu, Alibaba, Tencent, Xiaomi, Jingdong และ DiDi
ยุคที่สี่ เขาให้คำนิยามว่าเป็น ‘From Copy to China to Copy to Global’
จีนเคยขึ้นชื่อว่าเป็น ‘จอมก๊อป’ ตัวยง แต่วันนี้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีกลับ ‘เลียนแบบ’ นวัตกรรมที่จีนสร้างขึ้น
ความสำเร็จของ Tech Giants บนเวทีโลกได้เบิกทางให้สตาร์ทอัพใหม่กล้าบุกตลาดต่างประเทศไวขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสตาร์ทอัพของรัฐบาล เช่น OFO ธุรกิจไบก์แชริ่งอันดับหนึ่งในจีน กำลังขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า วันนี้บริษัทจีนกำลังเป็นผู้กำหนดเทรนด์ธุรกิจและเทคโนโลยีของโลก จึงไม่แปลกที่รัฐบาลไทยจะเชิญบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนมาเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ด้วย
เดวิด จง ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยนั้นเหนียวแน่นมาโดยตลอด สถานการณ์ปัจจุบันของไทยคล้ายกับจีนในช่วงโลกาภิวัตน์ และจีนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือไทยขับเคลื่อนสู่ 4.0 พร้อมกับแนะนำ 3 สิ่งที่ไทยต้องมี นั่นคือ
‘มองไปข้างหน้า สร้างนวัตกรรม และปรับตัวให้เท่าทัน’
จะก้าวสู่ตลาดใหม่ ต้องอาศัยกลยุทธ์ Localization นำข้อมูลความรู้ท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้
ถ้าอยากรู้ว่าเทรนด์ต่อไปคืออะไร ก็ต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด
จะฉวยคว้าโอกาสใหม่ ก็ต้องหมั่นพัฒนาสินค้าและธุรกิจด้วยนวัตกรรม
นั่นคือสิ่งที่จีนเรียนรู้และผงาดขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำ’ ได้ในวันนี้
ถอดบทเรียนจาก Xiaomi
วิทยากรที่ขึ้นมารับไมค์ต่อจากเดวิด จง คือ หวัง เฉียง รองประธานบริหารอาวุโสแห่ง Xiaomi
Xiaomi เป็นค่ายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดย เล่ย จุน (Lei Jun) ซึ่งเคยเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 2 แห่งวงการสตาร์ทอัพจีนในปี 2014 มีมูลค่ากว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Apple แห่งเมืองจีน’
หวัง เฉียง กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ Xiaomi คือ ‘นวัตกรรมสำหรับทุกคน’
“คำว่า ‘ทุกคน’ หมายความว่าเราจะผลิตสินค้าสู่ตลาดแมส ไม่ใช่แค่เซกเมนต์ใดเซกเมนต์หนึ่ง ‘นวัตกรรม’ แปลว่าเราจะใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น”
Xiaomi เปลี่ยนความคิดที่ว่าสินค้าจีนมีราคาถูกแต่ไร้คุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานของสินค้าจากจีนเสียใหม่ โดยลงทุนออกแบบฮาร์ดแวร์และเฟิร์มแวร์เอง ไม่กั๊กสเป็ก และขายในราคาถูกกว่าคู่แข่งเกือบครึ่ง ปี 2014 บริษัททำยอดขายสมาร์ทโฟนได้ถล่มทลายกว่า 61 ล้าน จนเขย่าบัลลังก์ของ Apple และ Samsung ในตลาดจีนมาแล้ว
เล่ย จุน เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร WIRED ว่า Xiaomi ไม่เหมือนกับบริษัทจีนทั่วไป และต้องการยกระดับมาตรฐานของสินค้าจากจีนให้สูงขึ้นกว่าที่เคย เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ว่า นับจากนี้จีนจะไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าราคาถูกและลอกเลียนแบบคนอื่นอีกต่อไป”
ช่วงปี 2015-2016 ยอดขายของบริษัทตกลงมาอยู่อันดับที่ 4 ของตลาด และเสียส่วนแบ่งให้กับ Huawei ที่ขึ้นครองอันดับ 1 รองลงมาคือ Oppo และ Vivo
อย่างไรก็ดี ยอดขายของ Xiaomi กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 59% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2017 บริษัทแตกไลน์มาจับกลุ่มสินค้า IoT (Internet of Things) และมุ่งสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต โดยผนึกกำลังกับ Nokia
ปัจจุบัน Xiaomi ขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เม็กซิโก และรัสเซีย
หวัง เฉียงเล่าว่า บางคนมองว่า Xiaomi เป็นบริษัทซอฟต์แวร์บ้าง ฮาร์ดแวร์บ้าง ซึ่งถูกหมด เพราะโมเดลธุรกิจประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ
- ฮาร์ดแวร์ เช่น สมาร์ทโฟน ทีวี และอุปกรณ์ IoT
- แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต เช่น MIUI ระบบปฏิบัติการที่บริษัทพัฒนาขึ้นบนแอนดรอยด์ ธุรกิจเกม และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และบริการด้านการเงิน
- New Retail หรือธุรกิจค้าปลีกที่ผนวกช่องทางออนไลน์ หรือ Mobile-commerce เข้ากับร้านออฟไลน์ที่มีแผนจะเปิดในไทยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังตั้งตัวเป็น Incubator หรือศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าร่วมโครงการมากถึง 89 บริษัท
แม้ว่า เดวิด จง และ หวัง เฉียง จะไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดของวิธีสร้างศักยภาพทางดิจิทัลให้กับประเทศมากนัก แต่การปรากฏตัวของทั้งสองบนเวทีมหกรรม Digital Thailand Big Bang 2017 ก็พิสูจน์เรื่องหนึ่งว่า จีนก้าวขึ้นมาเป็น ‘ผู้นำด้านนวัตกรรม’ อย่างแท้จริง
เพราะวันนี้ จีนไม่ได้ส่งออกแค่ ‘นวัตกรรม’ แต่รวมไปถึง ‘Know-How’ ที่พาจีนเปลี่ยนผ่านจาก ‘ผู้ตาม’ มาเป็น ‘ผู้นำ’ โดยมาในรูปแบบ ‘ความร่วมมือ’ กับรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวแน่ๆ
ก็หวังแต่ว่าไทยจะรู้คำตอบในเร็วๆ นี้ว่าเรากำลังจะ ‘ส่งออก’ อะไรในวันหน้า
อ้างอิง:
- connectedfuture.economist.com/wp
- content/uploads/2016/11/Connecting_Capabilities_White_Paper_Asian_Digital_Transformation_Index_v6.pdf
- www.bloomberg.com/news/articles/2017-06-26/former-tech-copycat-china-turns-tables-on-innovation
- www.wired.co.uk/article/xiaomi-lei-jun-internet-thinking
- www.ft.com/content/bd3e3af2-6ac9-11e7-b9c7-15af748b60d0
- รายงาน The Asian Digital Transformation โดย The Economist Intelligence Unit เปิดเผยดัชนีชี้วัดศักยภาพด้าน Digital Transformation โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT แหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ และความร่วมมือระหว่างองค์กรกับพันธมิตร พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 8 จาก 11 ประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศด้านดิจิทัล